กทม.จัดงบซื้อเครื่องอัดฟางข้าว หนุนเกษตรกรลดเผา ต้นเหตุ PM2.5 พร้อมทดลองใช้สารย่อยตอซังข้าวเพิ่มแนวทางแทนการเผา ช่วยลดฝุ่นพิษ
นายพรพรหม ณ.ส.วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร (Chief Sustainability Officer) เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาการเผาตอซังและฟางของเกษตรกรในพื้นที่เพื่อลดการปล่อย PM2.5 ว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้หาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกร กำจัดตอซังและฟางข้าวหลังเก็บเกี่ยวแทนการเผาในที่โล่งปัจจุบันสำนักพัฒนาสังคม ได้รับงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องอัดฟางข้าว จำนวน 3.6 ล้านบาท เพื่อนำมาให้เกษตรกรยืมมาอัดฟางข้าวในไร่ของตนเอง โดยสามารถมาดำเนินการขอยืมที่สำนักพัฒนาสังคม และเมื่อรัฐสามารถสนับสนุนเกษตรกรให้มีเครื่องมือในการกำจัดฟางข้าวในรูปแบบอื่นได้ ก็จะสามารถลดการเผาในพื้นที่ และส่งเสริมประโยชน์จากการไม่เผาชีวมวล ซึ่งเป็นไปตามภารกิจในแผนปฏิบัติการแก้ไขฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง
นอกจากนี้ กทม.ยังมีแผนจัดทำสถานที่เก็บฟางที่ถูกอัดก้อนไว้ ก่อนจำหน่ายให้แก่ผู้ที่สนใจ อาทิ ผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารสัตว์ ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ ผู้ผลิตวัสดุกันกระแทกสำหรับขนส่งสินค้าและอาหาร ผู้ผลิตพลังงานทางเลือก เป็นต้น และผู้ที่สนใจเหล่านี้จะเดินทางมาซื้อฟางอัดก้อนโดยตรงกับเกษตรกร ซึ่งในบางช่วงราคาดีก็สามารถจำหน่ายได้ทันที แต่ถ้าหากราคาตก การที่เกษตรกรมีสถานที่เก็บไว้รอจำหน่ายก็จะเป็นการดี
นายพรพรหม กล่าวอีกว่า นอกจากเครื่องอัดฟางข้าว กทม.ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่อยู่ระหว่างการทดลองใช้คือ การใช้สารชีวภัณฑ์ทางการเกษตร ย่อยสลายตอซังและฟางข้าว ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้นำมาให้เกษตรกรในพื้นที่เขตหนองจอก ทดลองใช้สารชีวภัณฑ์ทางการเกษตร หรือหัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ทำปุ๋ยหมัก เพื่อเป็นแนวทางให้แก่เกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ในการจัดการตอซังและฟางข้าวแทนการเผา โดยการผสมหัวเชื้อจุลินทรีย์และน้ำ ฉีดพ่นทั่วบริเวณแปลงนาที่มีตอซังและฟางข้าว จากนั้นใช้รถขลุบย่ำเพื่อให้ตอซังข้าวล้มลงราบกับพื้น และสังเกตการณ์สภาพแปลงนาในระยะเวลา 7 วัน หากตอซังและฟางข้าวย่อยสลาย เกษตรกรสามารถเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมดินปลูกได้ตามปกติ
ทั้งนี้ ข้อมูลด้านการเกษตรของกรุงเทพฯโดยกลุ่มงานส่งเสริมเกษตรกรรม สำนักงานการส่งเสริมอาชีพสำนักพัฒนาสังคม กทม.มีพื้นที่เกษตรทั้งหมด 117,344.008 ไร่ จำนวนครัวเรือนเกษตรกร 16,420 ครัวเรือน (เกษตรกร 1 ราย ทำมากกว่า 1 อย่าง) แบ่งเป็น ด้านพืช ด้านปศุสัตว์และด้านประมง โดยด้านพืชมีจำนวน 95,195.92 ไร่ จำนวนครัวเรือน 9,793 ครัวเรือน เฉพาะทำนา จำนวน 80,988 ไร่ (3,295 ครัวเรือน) กระจายอยู่ในพื้นที่เขตหนองจอก คลองสามวา ลาดกระบัง มีนบุรี สายไหม ทวีวัฒนา สะพานสูง หนองแขม ประเวศ บางเขน และบางขุนเทียน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี