เอ่ยคำว่า “ทรมาน-อุ้มหาย” ในความเข้าใจของคนทั่วไป หากเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐก็มักจะนึกถึงการควบคุมตัวโดยตำรวจ ดังกรณีของคดีอื้อฉาว “ถุงดำคลุมหัว”เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 จนกลายเป็นกระแสให้เกิดการผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ออกมาบังคับใช้หรือหากเป็นพื้นที่ที่ใช้กฎหมายพิเศษก็อาจเป็นโดยทหาร รวมถึงเจ้าหน้าที่เรือนจำ (ผู้คุม)ในกรณีของผู้ต้องโทษจำคุก
อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่ที่เพิ่งออกมานั้น ต้องบอกว่า “ใกล้ตัวกว่าที่คิด” เพราะก่อนหน้านี้ไม่น่าจะมีใครในสังคมไทยที่มองว่า “พฤติกรรมการลงโทษนักเรียนที่รุนแรงเกินกว่าเหตุของครูบาอาจารย์ในสถานศึกษา” จะเข้าข่ายความผิดเรื่องทรมาน-อุ้มหาย ถึงกระนั้นก็ต้องเตือนกันไว้ “หลังจากนี้ต้องระวัง” ดังมุมมองที่ ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ไว้ในวงเสวนา “ก้าวต่อไปกับการป้องกันการทรมาน” เมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. 2567 เนื่องในโอกาสครบ 1 ปี ที่กฎหมายกำหนดความผิดฐานทรมานและอุ้มหายมีผลบังคับใช้
วงเสวนานี้ที่จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผศ.ดร.รณกรณ์ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย อันเป็นตำแหน่งตามมาตรา 14 (4) ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 กล่าวว่า เนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้มีความก้าวหน้า ซึ่งหลายประเทศแม้มีการระบุความผิดฐานทรมานหรืออุ้มหาย แต่น่าจะมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ระบุความผิดฐานลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยมักจะไปอยู่ในหมวดความผิดทางอาญาตามกฎหมายทั่วไป
แต่กฎหมายของไทย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 เขียนไว้ใน “มาตรา 6” ระบุว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐลงโทษหรือกระทำด้วยประการใดที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกลดทอนคุณค่าหรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ หรือเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจ ที่มิใช่การกระทำความผิดตามมาตรา 5 ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”, การกระทำตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงอันตรายอันเป็นผลปกติหรือสืบเนื่องจากการลงโทษทั้งปวงที่ชอบด้วยกฎหมาย
โดย มาตรา 5 ของ พ.ร.บ. นี้ ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (1) ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม (2) ลงโทษผู้ถูกกระทำเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำหรือสงสัยว่ากระทำของผู้นั้นหรือบุคคลที่สาม (3) ข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม (4) เลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำทรมาน
ขณะที่ “มาตรา 3” ให้นิยาม “เจ้าหน้าที่รัฐ” ไว้ว่า หมายถึง “บุคคลซึ่งใช้อำนาจรัฐหรือได้รับมอบอำนาจ หรือได้รับการแต่งตั้ง อนุญาต สนับสนุน หรือยอมรับโดยตรงหรือโดยปริยายจากผู้มีอำนาจรัฐให้ดำเนินการตามกฎหมาย” ซึ่งตัวอย่างหนึ่งคือ “ครูในสถาบันการศึกษาของรัฐ” ไม่ว่ามีสถานะเป็นข้าราชการหรือครูอัตราจ้าง หากลงโทษนักเรียนด้วยวิธีที่เข้าข่ายโหดร้ายย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็จะมีความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ด้วย และ “มาตรา 36” ระบุว่า ผู้กระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“โรงเรียนรัฐเป็นอยู่แล้ว ถ้าเขาไม่ได้มีอำนาจ ซึ่งกระทรวงศึกษาฯ ไม่ได้ให้อำนาจเขาอยู่แล้วในการที่เขามาตีเรา ในการมากล้อนผม ในการมาทำร้ายร่างกายเราอันนี้เป็นอยู่แล้ว เพราะไปประเทศอื่นปกติมันต้องถึงขั้นทรมาน แต่กฎหมายไทยลดระดับแม้ไม่ถึงทรมาน ลดระดับมาแค่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี แค่ทำให้เราอับอายขายหน้า ลดศักดิ์ศรีปฏิบัติกับเราเหมือนเราไม่ใช่คนเท่าเทียมกับครู แบบนี้ก็ผิดมาตรา 6” ผศ.ดร.รณกรณ์ กล่าว
ผศ.ดร.รณกรณ์ ยังกล่าวด้วยว่า ปกติเวลาพูดถึงกฎหมาย พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ก็จะเน้นไปที่ตำรวจ ทหาร ราชทัณฑ์ แต่จริงๆ ใน คกก.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มีแนวคิดว่า ในปี 2567 เป้าหมายอีกกลุ่มที่จะเดินสายไปพูดคุยทำความเข้าใจ หรือทำ Outreach Program (การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์) ก็คือโรงเรียน แต่ก็ต้องรอให้ร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ผ่านออกมาบังคับใช้เสียก่อน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเดือนพฤษภาคม 2567 เพื่อให้มีการจัดสรรงบประมาณมาทำงานในส่วนนี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี