‘ธรรมนัส’ตั้งโต๊ะแถลงเช็คบิลเพิ่ม 3 บริษัทปลอมเอกสารนำเข้า‘หมู-วัวเถื่อน’กว่า 5.9 ล้านกิโลกรัม เสียหายกว่า 3 พันล้านบาท คาดเหตุจูงใจเลี่ยงภาษี-เลี่ยงกักกันโรค เรียก 1 บริษัทเข้ารายงานตัว แต่ขอเลื่อน อ้างต้องทำเอกสารเยอะ จ่อเอาผิดเพิ่ม 9 บริษัท
25 มีนาคม 2567 ที่รัฐสภา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ แถลงผลการตรวจจับการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ว่า นโยบายสำคัญคือการประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรผิดกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกร และกระทบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างมาก สินค้าหลายประเภทที่เราปราบปรามจริงจังทำให้ราคาพืชผลเกษตร มีการยกฐานะในตัวขึ้น เช่น สินค้าประเภทยางพารา จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าเราเดินทางมาถูกในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นห่วงคือการปราบปรามสินค้าภาคปศุสัตว์ และภาคประมง ตามที่เป็นข่าวมาตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งหลังดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องและบริษัทที่เกี่ยวข้องแล้ว และตั้งชุดเฉพาะกิจ “พญานาคราช” มีการสืบสวนขยายผลตั้งแต่ที่จับกุมครั้งแรกจนถึงทุกวันนี้ โดยจากลงพื้นที่ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2566 ทำให้พบว่าในการลักลอบซุกซ่อนชิ้นส่วนสุกรปะปนมากับสินค้าประเภทประมง จึงขยายผลจนนำมาสู่การแจ้งความดำเนินคดีต่อตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากตรวจพบว่า มีการปลอมแปลงเอกสารการนำเข้าสัตว์น้ำ 20 คดี
ล่าสุดวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ชุดเฉพาะกิจพญานาคราชได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนกลางอีก 1 ราย จำนวน 220 คดี ที่มีการปลอมแปลงเอกสารเพื่อใช้ประกอบการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ โดยพบว่ามีการยื่นขอนำเข้าหัวปลาแซลมอน และปลาจวด แต่สินค้าที่นำเข้ามาจริงกลับเป็นเนื้อสุกร 1,859,270 กิโลกรัม (กก.) เนื้อวัว 4,135,306 กิโลกรัม จาก 220 ตู้ คิดน้ำหนักรวมแล้วประมาณ 5,994,576 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 1,407.187 ล้านบาท นอกจากนั้น ทั้งนี้ ผู้แทนจากกระทรวงเกษตรไปยื่นดำเนินคดีกับบริษัท 3 แห่ง และตรวจสอบแล้วพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารเพิ่มเป็น 2 เท่า สร้างความเสียหายประมาณเกือบ 3,000 ล้านบาท
ด้านนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการตรวจสอบสามารถดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ที่ตำรวจสอบสวนกลางกับบริษัท 3 แห่ง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด โดยสิ่งที่พบความผิดปกติ ณ วันนี้ คือ มีการใช้ใบรับรองสุขอนามัยสัตว์บกที่หน่วยงานผู้รับรองประเทศต้นทางออกให้ มาปลอมแปลงข้อมูลบางส่วนให้เป็นใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำ และนำมาใช้ประกอบการยื่นขออนุญาตนำเข้าต่อด่านตรวจประมงชลบุรี โดยมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลใบรับรอง เช่น ปลอมแปลงรายการสินค้าหมู หรือวัวเป็นปลาจวดแช่แข็ง มีการเปลี่ยนแปลงพิกัดจากหมูหรือวัวแช่แข็ง เป็นพิกัด ปลาแช่แข็ง ซึ่งก่อนแจ้งความดำเนินคดี เราได้ตรวจสอบ ยืนยัน ไปยังประเทศบราซิลซึ่งเป็นประเทศต้นทางแล้ว ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากสถานทูตบราซิลประจำประเทศไทยว่า ใบรับรองที่บริษัทดังกล่าวยื่นประกอบขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำนั้นไม่ได้ออกโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบของบราซิล และเป็นเอกสารปลอม
นายบัญชา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทที่เอ่ยนามใน 4 ข้อ 1. ความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารตามมาตรา 264 ฐานความผิดใช้เอกสารปลอมมาตรา 268 ฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 137 และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 ผ่านนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จตามมาตรา 14 ( 1 ) และ(2 ) รวมคดีทั้งหมดที่ไปแจ้งความ 220 คดี กรมประมงขอให้ผู้เกี่ยวข้อง นำข้อมูลพยานหลักฐานข้อเท็จจริงมาชี้แจงกับพนักงานสอบสวนเพื่อต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และขอบอกว่าตอนนี้กำลังมีการตรวจสอบเพิ่มเติมหากพบพฤติกรรม ลักษณะดังกล่าวอีก ก็จะเร่งดำเนินการต่อไป
ด้าน พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า จากการตรวจสอบ พบว่าน่าจะมีมูลเหตุจูงใจอยู่ 2 ประเด็น โดยประเด็นแรก คือ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี เนื่องจากการนำเข้า เป็นซากสัตว์หรือหมู หรือเนื้อ จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้านำเข้าเป็นปลา ก็จะไม่ต้องเสียภาษี ประเด็นที่ 2 เพื่อหลีกเลี่ยงการกักกันโรค เพราะถ้าแจ้งว่าเป็นเนื้อสัตว์ก็จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบของกรมปศุสัตว์
“ดังนั้นเราสงสัยว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนประทุษกรรมที่ใช้ในการนำเข้าหมูหรือเนื้อเถื่อนเข้ามาในประเทศไทยผ่านบริเวณท่าเรือ เบื้องต้นได้มีการออกหมายเรียกบริษัทไปแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งทางบริษัทแจ้งว่าขอขยายเวลาเข้ามาพบ เนื่องจากมีเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมากที่ต้องนำมาชี้แจง ยืนยันว่าเราจะร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ กรมประมง กรมปศุสัตว์ ในการสืบสวนขยายผลไปยังกลุ่มนายทุนที่อยู่เบื้องหลังต่อไป” พล.ต.ต.วิทยา กล่าว
ขณะที่ พล.ต.ต.เอกรัตน์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) กล่าวว่า นอกจากการดำเนินคดีอาญา ที่มีการแถลงไปแล้วอีกส่วนหนึ่งคือ ความผิดมูลฐานข้อมูลทางการเงินและการกระทำความผิดมูลฐาน ป.ป.ง.จะไปดำเนินการทางแพ่งต่อ ทุกคดีเพราะฉะนั้น นอกจากติดคุกแล้วก็ยังหมดตัวด้วย
ด้าน พ.อ.วิรักษ์ สัตบุศย์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช กล่าวว่า คดียังไม่จบแค่นี้ เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการที่จะดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันอีก 9 บริษัท ซึ่งยังรอหลักฐานประกอบเล็กน้อย รวม 400 กว่าคดี
เมื่อถามว่า เอกสารเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเป็นชุดเดียวกันกับคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)กำลังดำเนินการอยู่หรือไม่ อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า เป็นชุดเดียวกันแต่ในส่วนของกรมประมงและชุดพญานาคราชและทรงป้องกันการนำเข้าสินค้าประมงผิดกฎหมายนำมาขยายผล
พ.อ.วิรักษ์ กล่าวว่า แรกเริ่ม ที่เราสงสัยเพราะรมว.เกษตรฯ เข้าไปตรวจสอบที่แหลมฉบัง ซึ่งหนึ่งในตู้คอนเทนเนอร์นั้นพบว่า ข้างหน้าเป็นสำแดงผิดประเภท พอตรวจไปท้ายคอนเทนเนอร์กลายเป็นหมู ทำให้เราฉุกคิด และรมว.กษตรฯ ได้สั่งให้กรมประมงจัดตั้งวอร์รูมขึ้นมาตรวจสอบ จึงนำเอกสารใบรับรองสุขภาพสัตว์มาไล่เลียงตั้งแต่ต้นทาง ดังนั้นนี่ถือเป็นการค้นพบความผิดปกติเส้นทางใหม่
ด้าน ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ถามว่าเป็นการดำเนินคดีบริษัทที่ดีเอสไอกำลังดำเนินคดีอยู่หรือไม่ ก็ต้องตอบว่า ส่วนใหญ่ใช่ แต่ก็จะเพิ่มอีกประมาณ 5 บริษัท ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ สืบเนื่องจากที่ดีเอสไอดำเนินคดีแก่ผู้นำเข้า 161 ตู้ แต่หลังจากเราขยายผล เราสามารถตรวจสอบและพบหลักฐานอันเป็นที่มาที่ไปว่าเราดำเนินคดีเพิ่มอีก 220 คดี และ ณ วันนี้ ตรวจสอบเบื้องต้นก็จะเพิ่มอีกเป็น 400 คดี นั่นหมายความว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตรไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้าน บาทหรืออาจจะถึง 10,000 ล้านบาท ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่เราจะขยายผลต่อไป
เมื่อถามว่าจะมีการประสานไปยังดีเอสไอ เพื่อรับไว้เป็นคดีพิเศษหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นประเด็นใหม่นายฯ ก็อยากให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง อย่างไรก็ตามเรื่องนี้หากเกี่ยวข้องกับคดีเก่าก็จะประสานไปยังดีเอสไอต่อไป ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ไว้ใจการทำงานของดีเอสไอ แต่เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันทำงานเพื่อแก้ปัญหาของเกษตรเกษตรกร
เมื่อถามต่อว่า ทางดีเอสไอจะมีการแถลงปิดคดีในเดือนเม.ย.นี้ ถือว่า ทำงานรวดเร็วทันใจหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ส่วนตัวประสานงานกับดีเอสไอมาตลอด หลายๆ คดีถือว่าทำงานรวดเร็ว แต่คดีที่กำลังจะเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมที่สร้างความเสียหายให้กับภาคการเกษตรพันถึงหมื่นล้านบาทนั้น จำเป็นต้องทำงานใกล้ชิด อย่างละเอียด ซึ่งนายกฯ มีความเห็นว่าต้องมอบหมายให้ตำรวจสอบสวนกลางเป็นผู้ดำเนินคดี นอกจากนี้ ตนได้ให้มอบหมายให้อธิบดีทั้ง 2 กรม ว่าหากมีเจ้าหน้าที่รัฐของกระทรวงเกษตรไม่ว่าระดับไหนมีส่วนเกี่ยวข้องก็ให้ดำเนินคดีไม่มีเว้น ตอนนี้มีการตั้งคณะกรรมการ ไต่สวนสอบสวนเรื่องนี้อยู่
ขณะที่ พ.อ.วิรักษ์ กล่าวว่า เอกสารหลักฐานที่เราตรวจเจอ ก่อนหน้านี้ทาง ดีเอสไอมาขอกรมประมงและกรมปศุสัตว์ สำหรับ เอกสารที่เปิดวันนี้เป็นเอกสารที่ต้องใช้ความชำนาญเป็นการเฉพาะ ไม่ใช่เฉพาะแค่กรมประมงเท่านั้น แต่ต้องเอาเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ที่มีความเชี่ยวชาญมานั่งชนกันและหาสาเหตุร่วมกัน ดังนั้นหากไม่ใช่ผู้ชำนาญการ ตอบได้เลยว่ามันไม่ใช่เอกสารที่จะตรวจพบความผิดปกติได้ง่าย
เมื่อถามว่า มีการเจอตอใหญ่หรือไม่ แล้วจะโค่นนั้นหรือไม่ ร.อ. ธรรมนัส กล่าวว่า เราทำงานตามหน้าที่เพื่อตอบสังคมให้ได้ว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ ถึงแม้หนทางข้างหน้าจะเจออุปสรรคอะไรก็ตาม แต่นายกฯ ได้กำชับตนแล้วว่าให้เดินหน้าเต็มที่ ดังนั้นตนจึงทำงานเต็มที่และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะป.ป.ง. หรือสอบส่วนกลาง ในการทำงานร่วมกัน อย่างไรก็ตามตนไม่อยากใช้คำว่าโค่น แต่เราจะทำลายระบบวงจรอุบาศก์นี้ให้ได้ ทั้งนี้ขอย้ำว่า ตอนนี้มีการตรวจสอบ ขึ้นทะเบียนตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นไว้หมดแล้ว ดังนั้นตู้เย็นหรือคอนเทนเนอร์ของบริษัท ใดก็ตามในการสมรู้ร่วมคิดก็จะจัดการดำเนินคดี ดังนั้นสิ่งที่ท่านสร้างมาทั้งชีวิตอาจจะติดลบหรือเป็นศูนย์ ////-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี