กรมอุตุฯ ออกประกาศเตือน 65 จังหวัด รับมือฝนถล่ม 24-26 มิถุนายนนี้ ส่วนเพชรบูรณ์ อ่วม ฝนตกหนักจนน้ำท่วมฉับพลัน พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 10 ไร่ ขณะที่อุดรฯ พายุฝนซัดต้นไม้ใหญ่โค่นทับเส้นทางหลายแห่งการจราจรโกลาหล แถมไฟฟ้าดับทั้งคืน กู้ภัยต้องเร่งเข้าเคลียร์เส้นทาง แก้ไขปัญหา
เมื่อวันที่ 23มิถุนายนกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน ฉบับที่ 4 (118/2567) มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 24-26 มิถุนายน 2567 ว่ามรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับแนวร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ส่วนจังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้ วันที่ 23 มิถุนายน2567 ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี และสระบุรีภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราดภาคใต้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง
วันที่ 24 มิถุนายน 2567 ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร และตากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี และสระบุรี ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง
วันที่ 25-26 มิถุนายน 2567 ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งจึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
เวลา 02.00 น.วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเกิดฝนตกอย่างหนักบริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ ส่งผลให้มีน้ำป่าไหลลงสู่พื้นที่ ต.ซับเปิบ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ จนเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายหลายสิบไร่ นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ทางการเกษตรถูกน้ำป่าพัดพาไปกับกระแสน้ำ ได้รับความเสียหาย ทั้งรถอีแต๊ก หรือรถไถนาเดินตาม ต้องจมอยู่ในน้ำ 4 คัน แต่เกษตรกร เจ้าของรถ สามารถกู้ขึ้นมาได้เพียง 1 คัน ส่วนที่เหลืออีก 3 คัน ยังไม่พบ ซึ่งคาดว่าต้องรอน้ำลดลงเสียก่อนถึงจะออกตามหาทรัพย์สิน และอุปกรณ์การเกษตร ที่ยังคงสูญหายได้
นายเจน ขุนทด ผู้ใหญ่บ้านหมู่10 ต.วังโป่ง อ.วังโป่ง เปิดเผยว่า เหตุเกิดขึ้นราว 02.40น.ตอนแรกคิดว่าเป็นเสียงลม พอตนตื่นขึ้นมาดูก็พบว่าเป็นกระแสน้ำ ซึ่งตอนนั้นระดับน้ำท่วมสูง ส่วนน้ำที่ลงมาก็คือน้ำจากเทือกเขา ไหลลงมาจากทางซับเปิบ ส่วนพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ทั้งสวนแตงโม สวนฟักทอง และสวนมันเทศ รวมทั้งอุปกรณ์ทางการเกษตรที่ถูกกระแสน้ำพัดพา ช่วงเกิดน้ำป่าไหลหลาก ชาวบ้านที่นอนเฝ้าอยู่ในไร่ในสวน ต้องพากันหลบหนีเอาตัวรอด จึงต้องปล่อยทรัพย์สินทิ้งไว้
ขณะที่ จ.อุดรธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ได้เกิดพายุฝนถล่มอย่างหนักในหลายพื้นที่ของจ.อุดรธานี โดยเฉพาะอ.บ้านดุง อ.เพ็ญอ.หนองหานอ.พิบูลย์รักษ์และอ.กู่แก้ว เกิดพายุฝนถล่มลงมาจนทำให้ต้นไม้ใหญ่ล้มทับเส้นทาง โดยที่ ต.บ้านดุงต.วังทอง ต.บ้านจันทน์ อ.บ้านดุง ตั้งแต่แยกบ้านเหล่าอุดมไปจนถึงบ้านบ่อศิลา ต.บ้านจันทน์ มีต้นไม้ใหญ่ล้มทับเส้นทางขวางถนนตลอดแนว ซึ่งผู้ใช้รถใช้ถนนต้องหลีกเลี่ยงและจอดรถกะทันหัน นอกจากนี้ยังมีต้นไม้ใหญ่ล้มขวางถนนระหว่าง อ.บ้านดุง-อ.เพ็ญบ้านนาโฮงไปยังบ้านถ่อนคำหวด และอีกหลายจุด
ขณะเดียวกัน พายุฝนถล่มอย่างหนักยังทำให้ไฟฟ้าดับไปทั้งอำเภอดังกล่าวทางหน่วยกู้ภัยต้องเร่งนำรถ 6 ล้อและเลื่อยยนต์ไปตัดต้นไม้ใหญ่ออกจากถนน เพื่อเคลียร์เส้นทาง โดยใช้เวลาตลอดทั้งคืน
ส่วนที่ อ.กู่แก้ว ต้นยางยักษ์อายุกว่า 100 ปี ที่อยู่บริเวณหน้าวัดป่าศรีคุณาราม ได้ถูกพายุพัดจนหักโค่นลงมาทับรถยนต์ของชาวบ้านได้รับความเสียหาย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี