ศธ.-สพฐ.ร่วมลงนาม MOU "โรงเรียนร่วมพัฒนา" จับมือภาคเอกชน-ประชาสังคม ยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสเท่าเทียมทุกพื้นที่
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. เป็นผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ โครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” (Partnership School Project) ระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ กับ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้บริหารของ ศธ. ผู้แทนจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เข้าร่วมในพิธี ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของความร่วมมือเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยในรูปแบบการมีส่วนร่วม โครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” Partnership School Project ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเล็งเห็นว่าการศึกษาคือรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือวัฒนธรรม ดังนั้น การพัฒนาระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ จึงไม่ใช่เพียงหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยให้มีคุณภาพ ครอบคลุม และเท่าเทียม โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษา สร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ส่งเสริมการพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน สร้างต้นแบบของการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน อีกทั้งการลงนามบันทึกความเข้าใจในวันนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจร่วมกันของทุกภาคส่วนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับระบบการศึกษาไทย ส่งเสริมให้ผู้มีส่วนร่วมสนับสนุนการจัดการศึกษาตามบริบทที่แตกต่าง รวมทั้งเป็นการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอีกด้วย
โอกาสนี้ ขอขอบคุณผู้สนับสนุนโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ซึ่งประกอบด้วยองค์กรภาคเอกชน หน่วยงานภาคประชาสังคม จากหลากหลายภาคส่วน อาทิ คุณมีชัย วีระไวทยะ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มตั้งแต่ต้น รวมถึงประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ให้ความอนุเคราะห์ให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการ และผู้สนับสนุนจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนทรัพยากรด้านต่างๆ ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ การพัฒนาหลักสูตร และการนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งไม่เพียงช่วยให้โรงเรียนในโครงการมีศักยภาพที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับเยาวชนไทยซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
"ผมเชื่อมั่นว่าโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” Partnership School Project จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ เยาวชนไทยจะได้รับโอกาสที่เท่าเทียมในการพัฒนาตนเอง และมีความพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้จะเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ สามารถปรับตัวและตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตได้ นอกจากนี้ โครงการยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็งและความยั่งยืนในระยะยาวอีกด้วย ผมหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม “จับมือ” “ร่วมพัฒนา” “ขยายผล” ยกระดับการศึกษาในระดับประเทศ และเป็นต้นแบบที่สำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษาที่ ครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นพลังนำพาการศึกษาไทยให้ก้าวไปทัดเทียมนานาประเทศต่อไป" รมว.ศธ.กล่าว
ทางด้าน นางเกศทิพย์ กล่าวว่า ด้วยประเทศไทยมีการปฏิรูปการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 จนมาถึงการปฏิรูปรอบที่สองเมื่อปี พ.ศ.2552 แต่คุณภาพการศึกษาของประเทศโดยรวม ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย Thailand 4.0 ได้มีมติในการประชุม เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 กำหนดให้จัดการศึกษาในรูปแบบ “สถานศึกษาร่วมพัฒนา” (Partnership School) โดยมอบหมายให้นายมีชัย วีระไวทยะ และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ ขับเคลื่อนโครงการนี้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยขอให้ดำเนินการตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการพื้นที่จังหวัดต่างๆ ตามความเหมาะสม โดยมีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต โดย สพฐ. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 โดยเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสอดคล้องกับความต้องการเฉพาะด้านของบริบทแต่ละชุมชน
"โครงการนี้จะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการจัดการศึกษาทุกระดับ ภายใต้หลักการ “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” โดยใช้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” พร้อมทั้งพัฒนานวัตกรรมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้านการสร้างความร่วมมือ ด้านการบริหารวิชาการ ด้านการระดมทรัพยากรและงบประมาณ ด้านการพัฒนาครูและบุคลากร และด้านการพัฒนาผู้เรียน ภายใต้การสนับสนุนทรัพยากรจากผู้สนับสนุนและทุกภาคส่วน และพัฒนาโรงเรียนในโครงการให้มีศักยภาพในการพัฒนาผู้เรียนให้ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” มีศักยภาพและความพร้อมสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ จบแล้วมีงานทำและมีรายได้ที่เหมาะสมในการดำรงชีวิต เชื่อว่าความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการลดช่องว่างด้านความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล และการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการศึกษาของประเทศไทยต่อไป" รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี