'ทวี' นำถก'อิตาเลียนไทยฯ-ไชน่า เรลเวย์ฯ'จ่ายเงินเยียวยาผู้เสียหายเจ็บ-ตาย ปมตึก สตง.ถล่ม ระบุบาดเจ็บรายละ 2 แสนบาท เสียชีวิตจ่ายรายละ 1ล้านบาท คาดเตรียมวงเงินเยียวยากว่า 95 ล้านบาท ยืนยันหากเอกสารครบพร้อมจ่ายทันที
วันที่ 29 เมษายน 2568 เวลา 17.50 น. ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 1 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค พ.ต.ท.อมร หงษ์ศรีทอง ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ รอง ผบช.น. ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายเกรียงศักดิ์ กอวัฒนา รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และนายชวนหลิง จาง กรรมการบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันหารือข้อเสนอแนวทางการเยียวยาด้านมนุษยธรรมผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อาคารสำนักงาน สตง. ถล่ม
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า วันนี้มีการหารือกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการช่วยเหลือทั้งตัวญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ จากผู้ที่ได้รับผลกระทบเหตุการณ์อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.แห่งใหม่ถล่ม โดยช่วยเหลือเป็นเงินด้านมนุษยธรรมที่ไม่ได้เกี่ยวกับคดีอาญาหรือคดีแพ่ง และไม่มีผลผูกพันกับคดีแต่อย่างใด หรือส่งผลกระทบต่อการดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งแต่อย่างใด คดีความเป็นเรื่องที่ว่าไปตามพยานหลักฐานทางกฎหมาย และเนื่องด้วยมีปัญหาเรื่องการพิสูจน์ทราบว่าญาติผู้เสียชีวิตคนใดสมควรจะได้รับเงินตามกฎหมาย ซึ่งสภาทนายความก็ช่วยเหลือเรื่องนี้ โดยจะมีการจัดตั้งกลุ่มย่อยขึ้นมาประกอบด้วย ตำรวจ ดีเอสไอ สภาทนายความ และผู้แทนกิจการร่วมค้าฯ เพื่อพิสูจน์ทราบตัวญาติที่เหมาะสมและรีบจ่ายเงินช่วยเหลือทันที โดยกิจการร่วมค้าได้เตรียมงบประมาณที่จะจ่ายเงินให้ครอบครัวผู้ประสบภัยเหล่านี้ไว้แล้วกว่า 95 ล้านบาท
สำหรับบุคคลสูญหาย ยืนยันจะจ่ายเงินให้กับผู้ที่มีรายชื่อสูญหายตามหลักเกณฑ์เดียวกับผู้เสียชีวิตที่พบศพ ยืนยันว่าผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายตอนนี้รวม 94 ราย จะได้รับการเยียวยาทุกราย แต่ขั้นตอนจะผ่านทางสภาทนายความเพื่อให้ช่วยกลั่นกรองเรื่องนี้ และทางกิจการร่วมค้าจะรอเอกสารยืนยันจากทางราชการเป็นหลัก เพราะในบางรายมีความยุ่งยากที่จะจ่ายเงิน ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาภายหลัง
ขณะที่ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เผยว่า วันนี้เป็นการแสดงเจตจำนงช่วยเหลือผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ โดยจะไม่ผูกพันในเรื่องคดีอาญาและคดีแพ่ง โดยจะช่วยเหลือผู้เสียชีวิต รายละ 1 ล้านบาท ส่วนผู้บาดเจ็บ รายละ 2 แสนบาท และการดำเนินคดีอาญายังคงเป็นไปตามกฎหมาย ขณะนี้อยู่ในกระบวนการแจ้งข้อหาแล้ว และผู้ต้องหามีสิทธิ์แก้ข้อกล่าวหาและต่อสู้คดี ซึ่งดีเอสไอก็จะพิจารณาคำให้การและพยานหลักฐาน ก่อนสั่งคดีต่อไป
ด้าน นายเกรียงศักดิ์ กอวัฒนา รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตนขอบคุณหน่วยงานของรัฐที่ช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างบริษัทกับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม ยืนยันที่ผ่านมาไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้จัดตั้งเต๊นท์อำนวยการเพื่อรับเรื่องจากผู้ประสบภัยมาตลอด เรามีรายชื่อผู้ประสบภัยอยู่ และเยียวยาเบื้องต้นช่วยเหลือค่าทำศพในรายที่นิติเวชได้พิสูจน์ทราบแล้ว และจ่ายเงินช่วยเหลือผู้บาดเจ็บไปแล้ว ส่วนเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม มีการพูดคุยมาตลอดว่าจำเป็นต้องจัดเงินก้อนหนึ่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ญาติผู้เสียชีวิต โดยจะมอบให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตรายละ 1 ล้านบาท ส่วนผู้บาดเจ็บให้เงินช่วยเหลือ 2 แสนบาท ในช่วงที่ขาดรายได้และรักษาตัวจากการบาดเจ็บ โดยเงินจำนวนนี้ยังไม่รวมค่ารักษาพยาบาล
ส่วน ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ระบุว่า สภาทนายความได้ตั้งคณะทำงาน ลงพื้นที่อำนวยความสะดวกให้ครอบครัวผู้ประสบภัย ในการรับเรื่องร้องเรียน นำไปสู่ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย สภาทนาย ความในฐานะที่เป็นคนกลางก็ยินดีให้ความร่วมมือกับทุกฝ่าย เฉพาะกรณีที่เสียชีวิต มีผู้ร้องเรียนมายังสภาทนายความ 21 ราย ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทย 16 ราย ที่เหลือเป็นชาวต่างชาติ และคนไทยจำนวนหนึ่งก็ยังไม่พบร่าง ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อมีการรื้อสิ่งก่อสร้างออกทั้งหมดแล้ว ก็น่าจะพบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ซึ่งญาติของผู้เสียชีวิตก็ได้นำหลักฐานต่าง ๆ เช่นสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน บันทึกประจำวันที่ไปแจ้งความกับตำรวจ และใบมรณะบัตร มาให้สภาทนายความ ซึ่งกรณีหลักฐานครบ กิจการร่วมค้าฯ ก็จะสามารถจ่ายเงินได้ทันที ถ้ามีการพิสูจน์อัตลักษณ์เรียบร้อย แต่จะมีบางส่วนกรณีชาวต่างชาติ ที่บางรายพบร่างแล้ว แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์ได้ว่าเป็นใคร ต้องรอญาติทางเมียนมามาพิสูจน์ดีเอ็นเอ ซึ่งเมื่อวานนี้ (28 เม.ย.) ก็ได้มีการหารือกับล่ามชาวต่างชาติว่าการเดินทางจากประเทศเมียนมาจะเสียค่าใช้จ่าย ก็จะประสานสถานทูตไทยที่เมียนมา ให้ญาติเหล่านี้ไปเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอที่สถานทูตไทยแทนการเดินทางมาเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ส่วนปัญหาตอนนี้มักจะมีคนมาอ้างว่าเป็นทายาท ถ้าหากไม่มีการกลั่นกรอง ก็อาจเป็นประเด็นปัญหาตามมา จึงต้องตรวจสอบกลั่นกรองว่าบุคคลที่มารับเงินกรณีที่เสียชีวิต ว่าเป็นทายาทโดยธรรมหรือไม่ โดยจะพิจารณาจากลำดับทายาทโดยธรรม ถ้ามีคนมาอ้างหลายคน ก็ต้องพิสูจน์
ขณะที่ นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า เกณฑ์การพิจารณาบุคคลที่สมควรได้รับเงินเยียวยานั้น คนๆ นั้นต้องได้รับผลกระทบจากผู้เสียชีวิต เพราะเงินตรงนี้ไม่ใช่ทรัพย์มรดก ถ้าคนๆนี้เสียชีวิตทำให้บุคคลใดนั้นได้รับผลกระทบ ทางกรมคุ้มครองสิทธิฯ ก็จะพิจารณาเรื่องนี้ด้วย แม้ว่าผู้เสียชีวิตจะไม่ได้จดทะเบียนสมรส หรือผู้เสียชีวิตไม่ได้จดทะเบียนหย่า และเป็นเพียงการอยู่กินทางพฤติ นัยก็ตาม
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รายงานสถานการณ์ตึกถล่ม ณ เวลา 18.00 น. วันที่ 29 เม.ย.68 ยอดผู้ประสบภัยขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 103 ราย เสียชีวิต 66 ราย รอพิสูจน์อัตลักษณ์ 0 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และสูญหาย 28 ราย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี