ครบ 6 ปี สอวช. ‘ดร.สุรชัย’เดินหน้าวางยุทธศาสตร์‘อววน.’ปี 68-71 วางหมากขับเคลื่อนนโยบาย รับมือโลกเปลี่ยนไว เลือกทำเรื่องใหญ่ ใช้เครื่องมือ Foresight นำประเทศสู่อนาคต
2 พฤษภาคม 2568 ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เผยทิศทางการดำเนินงานของหน่วยงาน ในโอกาสที่ สอวช. ก้าวสู่ปีที่ 6 ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 โดยมุ่งวางบทบาทเชิงรุกในฐานะผู้นำด้านนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศ สานต่อความแข็งแกร่งที่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคที่เป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. รวมอายุการทำงานครบ 16 ปี
ดร.สุรชัย กล่าวย้อนถึงจุดเริ่มต้นของ สอวช. ว่าเกิดจากการเปลี่ยนผ่านจาก สวทน. ที่มีบทบาททางนโยบายที่มีพื้นฐานจากวิชาการอย่างชัดเจน โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการ สวทน. คนแรก เป็นผู้วางรากฐานและนำผลงานเชิงนโยบายเข้าสู่ระดับชาติ เช่น Talent Mobility และ Food Innopolis ต่อมา ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการฯ คนถัดมา ก็ได้ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และพาเข้าสู่ยุค สอวช. อย่างเป็นทางการ ในฐานะผู้อำนวยการคนแรก ได้สร้างความเชื่อมั่นจากภาคเอกชนอย่างกว้างขวาง
ภายใต้การนำของ ดร.สุรชัย เขาย้ำว่า สอวช. ยุคนี้ จะไม่จำกัดการทำงานเฉพาะประเด็น แต่จะเน้นการ ปรับตัวให้ทันโลกปัจจุบันและเตรียมการสำหรับโลกอนาคต โดยมี “เครื่องมือ Foresight” หรือการคาดการณ์อนาคต เป็นเรดาร์คอยจับสัญญาณล่วงหน้า และส่งต่อให้ทีมงานกำหนดนโยบายให้เสร็จภายใน 3 เดือน พร้อมนำเสนอได้ทันที ลดการทำงานที่กระจายหรือที่ไกลตัว และเน้น “งานใหญ่ งานหลัก” ที่เป็นความจำเป็นของประเทศ
หนึ่งในประเด็นที่ต้องเร่งรับมือ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ไม่เพียงกระทบการส่งออกผ่านกำแพงการค้าใหม่ แต่ยังสร้างความท้าทายแก่ภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมไทย ดร.สุรชัย ย้ำว่า เทคโนโลยีที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้องถูกผลักดันมาใช้แทนระบบเดิม พร้อมออกแบบเครื่องมือเตือนภัย และแนวทางป้องกันผลกระทบจากน้ำท่วม น้ำแล้ง ไปจนถึงการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งมีแนวโน้มกระทบพื้นที่ชั้นในอย่างกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ สอวช. ยังได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหนึ่งในกลไกหลักในการปฏิรูประบบ ววน. รอบใหม่ หลังจากใช้งานระบบเดิมมา 5 ปี ซึ่งพบจุดที่ควรปรับปรุง อาทิ การจัดทำนโยบายและแผนที่ต้องคมมากขึ้น งานวิจัยที่ต้องตอบโจทย์ประเทศ การจัดสรรทุนวิจัยและบริหารจัดการทุนที่มีประสิทธิภาพ การเชื่อมต่อกันระหว่างงานวิจัยของหน่วยงานให้ทุนและลดการซ้ำซ้อน การติดตามและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ และมีประโยชน์ต่อการจัดทำนโยบายในรอบใหม่ พร้อมทั้งย้ำเป้าหมายใหม่ของ สอวช. ว่าจะไม่ทำทุกเรื่อง แต่จะเลือกเรื่องที่ “ประเทศไทยเก่งพอ แข่งขันได้จริง” เช่น การเกษตร ท่องเที่ยว อาหาร การแพทย์ และอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน โดย สอวช. จะจัดทำกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. ปี 2571–2575 เพื่อกำหนดทิศทางระดับชาติร่วมกับหน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป. อว.)
#วางยุทธศาสตร์ 4 ปี ย้ำบทบาทหนุนเศรษฐกิจไทยสู่รายได้สูง
ผู้อำนวยการ สอวช. ยังได้เปิดเผยถึงแผนและทิศทางการดำเนินงานของ สอวช. พ.ศ. 2568 – 2571 โดยมุ่งขับเคลื่อนพันธกิจตามกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อยกระดับระบบ ววน. และการอุดมศึกษาไทยให้เป็นกลไกหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ภายใต้หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“ในระยะ 4 ปีข้างหน้า สอวช. จะมุ่งเน้นการดำเนินงานตามบทบาทที่กำหนดใน พ.ร.บ. สภานโยบาย พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ. ส่งเสริม ววน. พ.ศ. 2562 โดยครอบคลุมทั้งการเสนอแผนยุทธศาสตร์ด้าน ววน. และการอุดมศึกษา การบูรณาการข้อมูล การติดตามผล และการเสนอกรอบงบประมาณประจำปี พร้อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ” ผอ.สอวช. ย้ำ
ดร.สุรชัย กล่าวด้วยว่า สอวช. ให้ความสำคัญกับการวิจัยเชิงนโยบาย เพื่อพัฒนาแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food) การแพทย์เชิงท่องเที่ยว เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันของไทยในเวทีโลก โดยแผนยุทธศาสตร์ใหม่ของ สอวช. จะครอบคลุมประเด็นเร่งด่วนในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ การยกระดับระบบวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต การปฏิรูปมหาวิทยาลัย (University Transformation) และการใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ชีววิทยาสังเคราะห์ (SynBio) และควอนตัมเทคโนโลยี (Quantum Technology)
#HASS มีบทบาท ขับเคลื่อนชาติด้วยพลังมนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และสังคมศาสตร์
อีกหนึ่งภารกิจสำคัญคือการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ที่เพิ่มบทบาทของสาขามนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และสังคมศาสตร์ (HASS) ให้เป็นส่วนสำคัญในการออกแบบนโยบายและพัฒนาประเทศ สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติในระยะยาว หนุนให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) สร้างระบบถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับสูง โครงการเร่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนจะถูกขับเคลื่อนผ่านกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีขององค์การสหประชาชาติ (NDE Thailand) โดย สอวช. วางเป้าหมายเพิ่มการถ่ายทอดเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเสริมบทบาทของไทยในเวทีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) และสร้างพันธมิตรนโยบายทั่วโลก
นอกจากนี้ สอวช. ยังเตรียมขยายบทบาทศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค หรือ APEC Center for Technology Foresight (APEC CTF) ให้เป็นกลไกสนับสนุนการออกแบบนโยบายเชิงคาดการณ์ (Foresight) ทั้งระดับชาติและระหว่างประเทศ พร้อมสร้างความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำอย่าง OECD, ASEAN และ UN ขณะเดียวกัน ได้ตั้งเป้าจัดตั้ง Thailand Foresight Alliance การประชุมวิชาการประจำปี และรางวัลนักนโยบาย ววน. ดีเด่นแห่งชาติ รวมถึงการจัดตั้ง NXPO Consultancy Unit เพื่อเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาด้านนโยบายที่เข้มแข็งและเชี่ยวชาญเฉพาะทาง
ดร.สุรชัย ได้สรุปกรอบการดำเนินงานของ สอวช. โดยขับเคลื่อนด้วย 3 แกนหลัก ได้แก่ 1. การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง 2. Digital Transformation เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และ 3. Carbon Neutrality Transformation สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี