ผู้เชี่ยวชาญด้านคุมงานก่อสร้างฯ เข้าให้ข้อมูล DSI วิเคราะห์ปม"จุดวิบัติอาคาร สตง.ถล่ม" ชี้การแก้ไขแบบครั้งที่ 4 หัวใจสำคัญ เพราะแก้ไข Core Lift (การแก้ไขผนังปล่องลิฟต์) และส่วนควบอื่นๆ
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2568 ที่กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กองคดีฮั้วประมูล) ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ชั้น 7 ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายวิระ เรืองศรี ผู้จัดการบริษัท 3117 บิม เมเนจเม้นท์ จำกัด (3117 BIM Management) เปิดเผยถึงการเข้าพบคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้ข้อมูลเรื่องโครงสร้างตึก สตง.และให้ข้อสังเกตจุดวิบัติของตึก สตง.เนื่องด้วยนายวิระ เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการควบคุมงานก่อสร้าง การออกแบบก่อสร้าง การให้คำปรึกษาการก่อสร้าง มีประสบการณ์เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบบจำลองข้อมูลอาคารด้วยโปรแกรม BIM (Building Information Modeling)
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เผยว่า จากการที่ดีเอสไอได้ดำเนินการสอบสวนขยายมาต่อเนื่อง โดยได้เชิญผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้าง การควบคุมงานก่อสร้าง การให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรมโครงสร้าง มาให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ในการนำเข้าสำนวนคดีนั้น วันนี้ก็ได้เชิญ นายวิระ เรืองศรี ผู้จัดการบริษัท 3117 บิม เมเนจเม้นท์ จำกัด (3117 BIM Management) มาให้ข้อมูลเรื่องโครงสร้างตึก สตง.ถล่ม และข้อสังเกตจุดวิบัติของตึก สตง.เนื่องด้วยนายวิระ เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการควบคุมงานก่อสร้าง การออก แบบก่อสร้าง การให้คำปรึกษาการก่อสร้าง มีประสบการณ์เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบบจำลองข้อมูลอาคารด้วยโปรแกรม BIM (Building Information Modeling) โดยนายวิระ ได้มีการตั้งข้อสังเกตในส่วนที่พบเห็นจากวิดีโอตึก สตง.ถล่ม เมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฐานราก เรื่องผนังปล่องลิฟต์ การแก้ไขผนังปล่องลิฟต์ วิเคราะห์สาเหตุว่าทำไมจึงต้องมีการแก้ไขแบบ เนื่องด้วยเห็นความเชื่อมโยงของเสา 2 ต้น ของตัวอาคารที่มีการวิบัติพัง จึงเชื่อได้ว่าเสา 2 ต้นนี้ อาจคือจุดวิบัติของตัวอาคาร
ทั้งนี้ นายวิระ เปิดเผยว่า วันนี้ตนได้ให้ข้อสังเกตกับดีเอสไอใน 3 ประเด็น คือ 1.เหตุของการแก้ไขสัญญา จำนวน 9 ครั้ง 2.ประเด็นเชิงวิศวกรรม การตั้งข้อสังเกตของโครงสร้างอาคาร และ 3.ประเด็นที่มาของผู้ออกแบบ วิศวกร และผู้ควบคุมงาน ซึ่งในการแก้ไขแบบสัญญาทั้ง 9 ครั้ง ต้องเน้นไปที่การแก้ไขแบบครั้งที่ 4 เพราะมันคือการแก้ไข Core Lift (การแก้ไขผนังปล่องลิฟต์) ผนังรับแรงเฉือน และส่วนควบอื่นๆ ทั้งหมด ทั้งการแก้ไข Core Wall ส่วนอาคาร A ชั้น B1-3 คือการแก้คานที่งานระบบเดิมไม่ผ่าน จึงต้องแก้คานด้วย ดังนั้น การแก้ไขผนังปล่องลิฟต์ จึงมีตั้งแต่ชั้น 1 จนถึงหลังคา (Rooftop) ซึ่งจริงๆ แล้วสาระสำคัญของสัญญาการแก้ไขแบบทั้ง 9 ครั้ง มีสำคัญอยู่แค่ครั้งเดียว คือ ครั้งที่ 4 จึงทำให้ส่วนที่เหลือเป็นการแก้ไขเรื่องตัวเลข ตัวเงิน การขยายสัญญา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการแก้ไขแบบ อาทิ การแก้ไขแบบครั้งที่ 1 คือ การลดเสาเข็มต้นหนึ่งของบ่อถังน้ำชั้นใต้ดินที่ไม่ได้มีผลต่ออาคาร เพียงแค่จำนวนเข็มเกิน
ส่วนการแก้ไขครั้งที่ 2 คือ การเปลี่ยนฝ้าเพดานอาคาร เป็นต้น ทั้งนี้ ตนจึงมองว่าการแก้ไขสัญญามันคือการเอื้อให้ผู้รับเหมาหรือไม่ เพราะมันมีการแก้ไขกิจกรรมงวดงานและมูลค่างาน ดังนั้น ในบรรดางานแก้ไขสัญญา 9 ครั้ง มันมีการแก้ไขเกี่ยวกับสัญญาการก่อสร้างเพียงครั้งเดียว (ครั้งที่ 4) ขณะที่เหลือคือสัญญาการแก้ไขงวดงาน แก้ไขขยายสัญญา แก้ไขแผนงาน แก้ไขสัญญาเป็นศูนย์ค่าปรับเป็นศูนย์ อาทิ ครั้งที่ 7 กับครั้งที่ 8 คือการแก้ไขสลับกิจกรรมในงวดงาน ซึ่งมันสามารถใช้ดูได้ว่า เป็นการเอื้อให้ผู้รับเหมาสามารถเบิกงวดงานได้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น มีอยู่ 10 เรื่อง ผู้รับเหมาดำเนินการเสร็จ 5 เรื่อง แต่เลื่อนเอา 5 เรื่องออกไปก่อน แล้วให้ผู้รับเหมาที่ทำเสร็จ 5 เรื่องเบิกเงินไปก่อนหรือไม่
นอกจากนี้ ตนยังตรวจสอบพบว่า สัญญาเริ่มเมื่อวันที่ 30 พ.ย.แต่พอผ่านไป 501 วัน กลับมีการมาแก้ไขสัญญาครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการลดเสาเข็มบริเวณงานชั้นใต้ดิน ทั้งที่ผ่านไปแล้ว 500 วัน ซึ่งมันก็เป็นคำถามต่อว่า แล้วก่อนหน้านี้ทำอะไรกันอยู่ รวมถึงจ่ายเงินเดือนให้ผู้ควบคุมงานไปกี่เดือนแล้ว แต่ผู้รับเหมาเพิ่งมาทำงานตอกเสาเข็ม
นายวิระ เผยอีกว่า สำหรับกรณีที่กฎกระทรวงฯ ออกตาม พ.ร.บ.การควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มีการระบุว่า ทางเดินต้องมีระยะไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร แต่มันแก้ 2 จุด คือ 2.10 เมตร กับ 1.50 เมตร ซึ่ง 1.50 เมตร ต้องขยายให้ได้ 1.60 เมตร เนื่องจากต้องเป็นผิวกระเบื้องข้างละ 5 ซม.ซึ่งจากเดิม 2.00 เมตร ก็ขยายเป็น 2.10 เมตร เพราะมีฟินิชชิ่งอยู่หน้าห้องน้ำอีกประมาณ 7 - 8 ซม.จึงได้เป็น 2.10 เมตร คำถามคือ 1.50 เมตร ขยายเพื่อให้มันสอดคล้องกับกฎหมาย แล้ว 2.10 เมตรนี้ ขยายเพื่ออะไร ในเมื่อกฎหมายไม่ต้องการก็ไม่จำเป็นต้อขยายก็ได้ เพราะมันเป็นทางเดินอยู่หน้าห้องน้ำ จึงสงสัยว่าทำไมต้องขยายเป็น 2.10 เมตร แต่เมื่อไปดูแบบ กลับพบว่าตรงนั้นคือลิฟต์ของผู้บริหาร เป็นกระเบื้องหินแกรนิตที่มองแล้วหรู จึงสงสัยว่าจะเพิ่มเป็น 2.10 เมตร ทำไม
นายวิระ เผยต่อว่า ยังมีประเด็นเรื่องการล็อคสเปคปล่องลิฟต์ของผู้ออกแบบ ทำให้ลดผนังปล่องลิฟต์ไม่ได้ ทั้งที่มันลดได้ เพราะถ้าลดผนังปล่องลิฟต์ข้างละ 5 ซม.อย่างไรก็ใส่ลิฟต์ได้อยู่แล้ว แต่ปรากฏว่า ในครั้งแรกของการออกแบบ ผู้ออกแบบจะมีการเลือกรุ่นลิฟต์ ขนาดลิฟต์ ยี่ห้อลิฟต์ไว้ ซึ่งใน TOR (รายการประกอบแบบลิฟต์) ที่ผู้รับจ้างเป็นผู้ซื้อลิฟต์ ต้องซื้อยี่ห้อนี้ รุ่นนี้ แบรนด์นี้ ขนาดปล่องเท่านี้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ก็ต้องไปดูต่อว่ามันเป็นการล็อคสเปคลิฟต์หรือไม่ เพื่อว่าต้องเป็นยี่ห้อนี้เท่านั้น หรือลิฟต์มันแก้ไขอะไรไม่ได้เลย หรือมันเพราะสาเหตุใดกันแน่ที่ทำให้ลดไม่ได้
นายวิระ เผยด้วยว่า สำหรับเรื่องการเซ็นชื่อรับรองในเอกสารการแก้ไขแบบ ตนให้ความเห็นว่าหากเป็นงานสถาปัตย์ จะต้องมีวุฒิสถาปนิกเป็นผู้เซ็นรับรองด้วย แต่ถ้าเป็นงานโครงสร้างจะต้องเป็นวิศวกรผู้ควบคุมงาน เพราะมันเป็นไปตามข้อกำหนดของ สตง.ที่ระบุว่า แบบที่ผู้ออกแบบรับรองนั้น ให้รับรองร่วมโดยผู้ออกแบบควบคุมงาน (กิจการร่วมค้า PKW) ฉะนั้น ถ้าผู้ออกแบบโอเค ทางกิจการร่วมค้า PKW จึงต้องหาวุฒิวิศวกรมาตรวจแบบ ซึ่งการเซ็นลงลายมือชื่อ คือ การตรวจว่าตรงกับที่ผู้ออก แบบต้องการหรือไม่ เพราะผู้ออกแบบคือคนตรวจรอบแรก แล้วถ้าผู้ออกแบบตรวจรอบแรกโอเคก็ส่งให้มีการแก้ไข แต่ก่อนที่จะส่งให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง ก็ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเงื่อนไขของ สตง.ว่าแบบทุกครั้งก่อนจะส่งให้ผู้รับเหมา ต้องหาวุฒิมาตรวจแบบก่อน
นายวิระ เผยต่อว่า ส่วนเรื่องวิศวกรรมโครงสร้าง คือเรื่องฐานราก ทำไมด้านหลังของตึก สตง.ทรุดจุดแรก ซึ่งมันมีการแก้ไขตัวฐานรากเพิ่มเติม จากแบบตามสัญญา เพราะมันมี 2 แบบ คือแบบตามสัญญา และแบบแก้ไข แต่ทางผู้รับเหมาก็ทำให้มันดีขึ้น ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของเขา นอกจากนี้ แบบในการเสริมเหล็กผนังอาคาร 3 ชั้นของลานจอดรถ สตง. (มีการใส่เหล็กทุกเสา ไม่มีแตก) และการเสริมเหล็กอาคาร 30 ชั้น (เหล็กเล็ก) มันมีความแตกต่าง อาจเป็นผู้ออกแบบคนละคน ซึ่งพบว่าเป็นคนละคนจริงๆ แต่สามารถทำได้ เพราะคนละตึกกัน อย่างไรก็ตาม มันคือความบกพร่องอย่างหนึ่งของอาคาร 30 ชั้น ต้องดูว่าการเสริมเหล็กถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องไปดูที่การคำนวณ
"ส่วนที่ว่าทำไมอาคารจึงเอียงไปอีกฝั่ง สไลด์ไปข้างหลัง ซึ่งก็จะสอดคล้องกับปล่องลิฟต์มัดนั้นมันอ่อน อาคารเลยไม่เซหรือทรุดลงตรงๆ และหากดูตามภาพในไซต์งาน จะมีเสา 5 ต้น ของชั้น 19 เรียงในหลุมลิฟต์เป็นแถว เรียงปักทิ่มดิน นี่คือบทพิสูจน์ว่า อาคารมันสไลด์ไปข้างหลัง จึงทำให้เสาชุดนี้ขาด ขาดแล้วก็ไหลตรงๆ เพราะปล่องลิฟต์โล่ง เสาจึงเรียงตามภาพ" นายวิระ ระบุ
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี