จเรตำรวจแห่งชาติ หารือ ตำรวจไซเบอร์อินเดีย พบมีคดีคอลเซ็นเตอร์มากกว่าไทยเกือบ 10 เท่า
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการค้ามนุษย์ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (ผอ.ฉก.88) / ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศตคม.ตร.) / ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศปอส.ตร.) เปิดเผยว่า จากมาตรการของรัฐบาลไทยในการกดดันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองเมียวดี และเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ของประเทศเมียนมา ในบริเวณแนวชายแดนติดกับประเทศไทย โดยได้มีการตัดไฟ อินเทอร์เน็ต และน้ำมัน ที่มีการนำไปใช้ในเขตพื้นที่ดังกล่าว ส่งผลให้มีการร่วมกันระดมกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 สามารถควบคุมตัวบุคคลจาก 36 ประเทศ ทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้จำนวน 7,514 คน โดยมีบุคคลสัญชาติจีนมากที่สุด จำนวน 5,414 คน , สัญชาติอินโดนีเซีย เป็นอันดับที่สอง จำนวน 653 คน และสัญชาติอินเดีย เป็นอันดับที่สาม จำนวน 587 คน ซึ่งจากจำนวนคนที่ได้รับการยืนยันว่าทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จำนวน 8,988 คน ได้มีการส่งกลับประเทศต้นทางไปแล้ว จำนวน 7,514 คน เหลืออยู่อีกจำนวน 1,474 คน อยู่ระหว่างรอการส่งกลับ
เมื่อวันที่ 5 - 7 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ธัชชัยฯ พร้อมด้วย พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี , พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และ พ.ต.อ.สัญญา เนียมประดิษฐ์ รองผู้บังคับการกองการต่างประเทศ เดินทางไปประเทศอินเดีย เพื่อร่วมหารือเรื่องการต่อต้านการค้ามนุษย์ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยมากที่สุด และคาดว่าจะมีชาวอินเดียอีกเป็นจำนวนมากที่ยังทำงานอยู่ในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทั้งฝั่งประเทศเมียนมา กัมพูชา และลาว
จากการหารือร่วมกับทางสำนักงานตำรวจข่าวกรอง (Intelligence Bureau) และสำนักงานตำรวจไซเบอร์ (Indian Cyber Crime Coordination Centre) ของประเทศอินเดีย พบว่าประเทศอินเดียมีสถิติการรับแจ้งความคดีคอลเซ็นเตอร์มายังศูนย์รับแจ้งความ เฉลี่ยประมาณ 7,000 คดีต่อวัน (ประเทศไทยเฉลี่ยการรับแจ้งความออนไลน์ 800 คดีต่อวัน) โดยคดีที่เกิดขึ้นมากที่สุดคือ การหลอกให้ลงทุน (Investment Scam) เช่นเดียวกับประเทศไทย มูลค่าความเสียหายโดยรวม (รวบรวมเฉพาะที่เกิดขึ้นกับพลเมืองจากประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เมื่อปี พ.ศ.2567 จำนวนประมาณ 43,000 ล้านบาท (ประเทศไทย รวบรวมจากเหตุที่รายงานทั้งหมดในประเทศ โดยเฉลี่ยจำนวนประมาณ 30,000 ล้านบาท) โดยศูนย์รับแจ้งความคดีคอลเซ็นเตอร์ของประเทศอินเดียตั้งอยู่ที่กรุงนิวเดลี (เมืองหลวง) รับแจ้งทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง มีผู้แทนจากตำรวจ ธนาคาร ผู้ให้บริการโทรศัพท์ คอยช่วยเหลือในทางคดีนั่งประจำที่ศูนย์ฯ
ทั้งนี้ คนอินเดียที่เข้าไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จะมาจากการไปสมัครงานที่เผยแพร่อยู่ในเพจต่างๆ จากบริษัทปลอมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ส่วนใหญ่จะอ้างว่าจ้างให้มาทำงานในประเทศไทย โดยออกค่าเดินทางต่าง ๆ ให้ โดยเมื่อถึงไทยแล้วแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะพาลักลอบข้ามแดนไปยังเมืองเมียวดี หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเมียนมา หรือพาเดินทางจากสนามบินไปยังชายแดน เพื่อข้ามไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองปอยเปต เมืองพนมเปญ เมืองสีหนุวิลล์ หรือเมืองบาเวต ประเทศกัมพูชา หรือเดินทางไปทำงานที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ประเทศลาว โดยกลุ่มคนอินเดียเหล่านี้จะทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกประชาชนในประเทศอินเดีย ซึ่งส่วนหนึ่งพบว่าเงินที่หลอกได้มีการถอนเงินจากบัญชีธนาคารในประเทศไทย รวมทั้งใช้เครือข่ายสื่อสารของไทยในการโทรกลับไปหลอกคนอินเดีย
ทางศูนย์ไซเบอร์อินเดียยังได้แสดงผลคดีที่มีการจับกุมการปลอมตัวเป็นตำรวจอินเดีย (Digital Arrest) โดยวิดีโอคอลพูดคุยข่มขู่เหยื่อให้เกิดความกลัวเพื่อเอาทรัพย์สินของประชาชนไป ลักษณะคล้ายคลึงกับการหลอกลวงในประเทศไทยที่มีกลุ่มคนไทยขายชาติที่เรียกกันว่า “ร้อยเวรปอยเปต” มาข่มขู่คนไทยเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า จากการไปเยือนและร่วมหารือปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์กับทางประเทศอินเดีย ทำให้เห็นว่าปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นปัญหาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน น่าเชื่อว่าการก่ออาชญากรรมเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกันในหลายประเทศ ทางประเทศอินเดียยังได้มีการกล่าวชื่นชมมาตรการของ นางสาว แพทองคำ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ที่มีมาตรการตัดไฟ อินเทอร์เน็ต และน้ำมัน ไปยังเมืองเมียวดี และเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเมียนมา ส่งผลให้มีการระดมกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ช่วยเหลือประชาชนในประเทศต่างๆ กว่า 36 ประเทศ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมที่น่ารังเกียจนี้ โดยประเทศอินเดียมีสถิติการถูกหลอกลวงของประชาชนลดลงอย่างเห็นได้ชัด
พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตำรวจไทยและอินเดียจะมีการร่วมมือกันในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนทั้งสองประเทศ
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี