เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2568 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานประชุมประสานภารกิจ โดยมีผู้บริหารศธ.เข้าร่วมประชุม ณ ห้องราชวัลลภ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า ได้มีการประชุมขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานผลการดำเนินงานต่างๆ ที่มีความคืบหน้าเป็นอย่างดีในการทำงาน นอกจากนี้ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ก็ได้รายงานเกี่ยวกับแนวทางการยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากลของไทย ซึ่งในหลักการของ OECD การศึกษาใน ค.ศ.2030 เป็นการวางกรอบ สิ่งที่ผู้เรียนและครูต้องมีเพื่อที่จะประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย ความรู้, ทักษะ, สมรรถนะ, และค่านิยม และหลักของ OECD กับการศึกษาใน ค.ศ.2040 เป็นการวางกรอบ โดยให้ความสำคัญกับครู และการเรียนการสอนของครู เพราะครูเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนา การพัฒนาครูจะทำให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งองค์ประกอบความเป็นครูในปี 2040 ควรมี 3 ด้าน ได้แก่ สมรรถนะของครู, ความเป็นอยู่ของครู, ความสามารถของครูในการกำหนดทิศทาง
ทั้งนี้ สกศ.ได้วิเคราะห์เบื้องต้นว่า การบรรลุเป้าหมายการศึกษาปี 2030 และ 2040 ประกอบด้วย 4 มิติ คือ การออกแบบหลักสูตรใหม่ที่ตอบโจทย์, การปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน, การประเมินผลต้องเป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างยืดหยุ่น ประเมินได้ในหลายมิติ, และการพัฒนาระบบนิเวศทางการศึกษา
นอกจากนี้ สกศ.ได้ประเมินความพร้อมด้านการใช้ AI ในการศึกษา พบว่า ประเทศไทยมีสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่เพียงพอในการใช้งานภายในโรงเรียน มีเจ้าหน้าที่เทคนิคเพียงพอ มีระบบข้อมูลนักศึกษาที่ครอบคลุมและทันสมัย มีมาตรการความปลอดภัยของข้อมูลที่ดี และมีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการบูรณาการ AI ในระบบการศึกษา แต่สิ่งที่ต้องการพัฒนาเพิ่มเติม คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการเรียนการสอนของนักเรียนและการพัฒนาวิชาชีพครูอย่างต่อเนื่อง สรุปผลการประเมินเบื้องต้น พบว่าไทยมีความพร้อมในการใช้ AI ในการศึกษา โดยด้านที่จำเป็นต้องพัฒนาเร่งด่วน คือ การก่อตั้งระบบและการบริหารจัดการ
"การประชุมวันนี้ทุกหน่วยงานได้มีการอภิปรายและระดมสมองร่วมกัน โดยมิติหลักๆ หารือเรื่อง AI ที่จะนำเข้ามาใช้กับการศึกษา และการทำงานร่วมกัน ผมได้สื่อสารกับผู้บริหารทุกคน ในการดำเนินการ นโยบายของผม อยากให้เกิดขึ้นกับประชาชนชาวไทยและทรัพยากรต่างๆ ให้มีพื้นฐานทางด้านภาษา 3 + 1 ซึ่ง 3 คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และ +1 คือ ดิจิทัล, AI เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีขบวนการที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้น และมีการพัฒนาให้ก้าวหน้า โดยต้องเริ่มตั้งแต่ระดับผู้บริหารลงไปถึงครูและส่งต่อไปถึงนักเรียน ซึ่งจะเป็นผลผลิตของเราต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของดิจิทัล และ AI ศธ.จะมีการดำเนินการขับเคลื่อน โดยให้ทุกหน่วยงานไปคิดกันว่าเราจะใช้ AI มาเป็นผู้ช่วยของทุกคนได้อย่างไร เช่น นำมาช่วยในการทำงาน ช่วยในการเรียนการสอน แต่การจะนำมาเป็นผู้ช่วยที่ดีได้ เราก็ต้องเรียนรู้ว่าเขามีศักยภาพและสมรรถนะอย่างไร เพื่อนำมาใช้ในการสื่อสารและในการทำงานร่วมกัน หวังว่าเราจะดำเนินการไปได้ด้วยดี และให้เริ่มต้นขับเคลื่อนการพัฒนายกระดับคุณภาพการศึกษาจากปัจจุบัน 2025 สู่เป้าหมาย 2030 และ 2040" รมว.ศธ.กล่าว
รมว.ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่ตนได้เดินทางไปร่วมประชุมระดับโลกด้านการศึกษาดิจิทัล ประจำปี 2568 (2025 World Digital Education conference) เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เสนอในที่ประชุม 4 มาตรการ หนึ่งในนั้นคือความร่วมมือเรื่องการแบ่งปัน โดยจะทำแพลตฟอร์มต่างๆ ขึ้นมา และจะมีการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาของจีนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาของอาเซียน เพื่อพูดคุยกันในการดำเนินการ และมีการพูดถึงเรื่องขอทุนการศึกษาที่เราจะต้องมีการดำเนินการเพิ่มขึ้น รวมถึงได้หารือเรื่อง AI ซึ่งจีนได้มีการพัฒนาไปค่อนข้างมากแล้ว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี