เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2568 ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการปราบปราม ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ป., พ.ต.อ.สุเทพ โตอิ้ม รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.เอกสิทธิ์ ปานสีทา ผกก.4 บก.ป., พ.ต.ท.เจษฎา แก้วจาเครือ, พ.ต.ท.อรรถวิทย์ สุขทัศน์, พ.ต.ท.เอนก บุญตา, พ.ต.ท.กิตติพงษ์ ศิลาพันธุ์, พ.ต.ท.ชนะ ขำทอง รอง ผกก.4 บก.ป. เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย ว่าที่ พ.ต.ท.อัคนี ณ บางช้าง สว.กก.4 บก.ป.พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม ร่วมกันจับกุม น.ส.บวรรัตน์ฯ อายุ 22 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ 296/2568 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2568
ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนและเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด” สถานที่จับกุม กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม แขวงจอมพล เขตจตุจักร จ.กรุงเทพฯ
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ผู้เสียหายได้รับโทรศัพท์จากบุคคลอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทขนส่งเอกชน แจ้งว่ามีพัสดุต้องสงสัยที่ภายในบรรจุพาสปอร์ตของชาวเมียนมา สมุดบัญชีธนาคารหลายรายการ รวมถึงบัญชีธนาคารที่มีชื่อของผู้เสียหายอยู่ด้วย จากนั้นผู้ต้องหาได้ใช้เบอร์โทรศัพท์ปลอมเป็นสายด่วน 191 โทรกลับมาหาผู้เสียหาย อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้งว่า ผู้เสียหายอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการฟอกเงิน และเสนอให้เพิ่มเพื่อนไลน์ โดยใช้ชื่อและตราของหน่วยงานราชการปลอม พร้อมวิดีโอคอลใส่เครื่องแบบตำรวจ อ้างข้อกฎหมายและข่มขู่ให้โอนเงินเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงโอนเงินจำนวน 3 ครั้ง รวมทั้งสิ้นกว่า 150,000 บาท ต่อมาทราบว่าถูกหลอก จึงเข้าแจ้งความ
จากการสืบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจพบเส้นทางการเงินโยงถึงหลายบัญชี หนึ่งในนั้นเป็นชื่อของ น.ส.บวรรัตน์ฯ ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหา ก่อนจับกุมตัวผู้ต้องหา เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมนายกฤตธีฯ สามีของ น.ส.บวรรัตน์ฯ ตามหมายจับศาลอาญาในความผิดเกี่ยวกับ “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ที่ จ.อุทัยธานี ซึ่งขณะจับกุมนายกฤตธีฯ นั้น น.ส.บวรรัตน์ฯ ได้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่จับตนเองไปด้วย อ้างว่าตนก็น่าจะมีหมายจับ และไม่อยากห่างสามี แต่ตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบหมายจับแต่อย่างใด
ต่อมาหลังจากจับกุมตัวนายกฤตธีฯ เจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า น.ส.บวรรัตน์ฯ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับจริง และทราบว่า น.ส.บวรรัตน์ฯ ย้ายมาอยู่ใกล้เรือนจำ ต่อมาพี่สาวของ น.ส.บวรรัตน์ฯ ทราบว่า น.ส.บวรรัตน์ฯ มีหมายจับ จึงติดต่อเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม เพื่อขอมอบตัวตามความประสงค์ของ น.ส.บวรรัตน์ฯ ที่ต้องการติดคุกและออกคุกมาพร้อมกับนายกฤตธีฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการจับกุม น.ส.บวรรัตน์ฯ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ไม่ให้การใดๆ
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี