เด็กช้างเผือกสมัครทุน ODOS รุ่น 1 คึกคัก กว่าครึ่งเป็นเด็กยากจน รัฐบาลเดินหน้าต่อ เปิดรับสมัครทุน ODOS รุ่น 3 เตรียมพร้อม เด็ก ม.4 และ ปวช.1 สาย STEM เรียนมหาลัยชั้นนำ
วันที่ 14 กรกฎาคม 2568 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ผศ.ดร.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ.)เป็นประธานการประชุมชี้แจงสถานศึกษา เพื่อรับสมัครนักเรียนและนักศึกษาเข้าร่วมโครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ (ODOS) ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพปีที่ 1 (รุ่นที่ 3) ผ่านระบบTeleconference ถึงแนวทางการดำเนินโครงการทุน ODOS รุ่นที่ 3 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเยาวชนที่มีศักยภาพแต่ขาดโอกาสและทุนทรัพย์ ให้ได้รับการเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา โดยเฉพาะในสาขา STEM ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
ผศ.ดร.ลิณธิภรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนยากจนและขาดโอกาส ซึ่งข้อมูลจากการรายงานความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของ กสศ. ระบุว่า ในปีการศึกษา 2567 มีเพียง 13.49% ของนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ ที่สามารถเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึงกว่า 2 เท่า โครงการทุน ODOS นี้ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการลงทุนเพื่ออนาคต ผ่านการศึกษาในยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ และเปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนไทย เช่นโครงการทุน ODOS และโครงการ Thailand Zero Dropout ล้วนเป็นตัวอย่างของกลไกเชิงนโยบาย ที่จะช่วยเปิดโลกทัศน์ และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้และการตามความฝันของเด็กไทย ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
“โครงการ ODOS ไม่เพียงให้ทุนการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นกลไกสำคัญที่สะท้อนถึงจุดยืนด้านความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดโอกาสให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และโอกาส ได้ก้าวเข้าสู่ระบบอุดมศึกษาอย่างมีศักดิ์ศรีและความหวัง และภายใต้การบริหารงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมโดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนที่ยากจนและขาดโอกาส” รมช.ศธ. กล่าว ผศ.ดร.ลิณธิภรณ์ กล่าวต่อว่า ทุน ODOS รุ่นที่ 3 มีจำนวน 1,200 ทุน โดยคัดเลือกจาก 602 สถานศึกษาที่มีความพร้อมด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม นวัตกรรม และภาษาอังกฤษ ทั้งในระดับมัธยมปลายและสายอาชีพ ครอบคลุมโรงเรียน SMTE โรงเรียนที่จัดการเรียนรู้แบบ STEM ศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) และสถานศึกษาในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. เป้าหมายหลักคือการสร้างเส้นทางการเรียนรู้แบบไร้รอยต่อจากระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่ระดับอุดมศึกษาอย่างเต็มศักยภาพ โดยนักเรียนที่ได้รับทุนจะได้รับการดูแลทั้งด้านวิชาการ ภาษาอังกฤษ ทักษะชีวิต และสุขภาวะจิตใจ เพื่อเตรียมความพร้อมในการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ
“ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ และเงื่อนไขการออกสลากการกุศล ซึ่งมีเงื่อนไขอนุมัติโครงการละไม่เกิน 1,000 ล้านบาทและต้องผูกพันวงเงินภายในระยะเวลา 2 ปี จึงเป็นที่มาในการเสนอรายชื่อโรงเรียนที่มีความพร้อมเท่ากับจำนวนงบประมาณที่ทำได้ จำนวน 602 แห่ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้จัดทำบัญชีรายชื่อสถานศึกษาที่มีความพร้อมในการจัดการเรียนรู้ด้าน STEM และภาษาอังกฤษ ทั้ง 602 แห่งขึ้นมา และทุน ODOS ปัจจุบัน เน้นการเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้านก่อนเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา สำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และขาดโอกาส ซึ่งมักมีความเปราะบางมากกว่ากลุ่มอื่น” ผศ.ดร.ลิณธิภรณ์ กล่าว
ด้าน ดร.ธีราภา ไพโรหกุล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง) ในฐานะ ประธานอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสรรหาและคัดเลือกผู้รับทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ กล่าวว่า ทุน ODOS ใหม่ เป็นทุนการศึกษามุ่งเป้า (Precision Education Scholarship) เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี และมีศักยภาพ เพื่อศึกษาต่อในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ด้าน STEM และ STEM + ทั้งนี้ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการให้ทุน ODOS เป็น “สะพานของโอกาส” ที่พาเด็กช้างเผือกก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไปสู่การเป็นพลเมืองคุณภาพของประเทศ
การคัดเลือกทุน ODOS ในรุ่นนี้ ดำเนินการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการฯ โดยให้ความสำคัญกับนักเรียนจากครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษเป็นลำดับแรก ผู้สมัครต้องมีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 มีความสามารถโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สุขภาพกายใจแข็งแรง มีความประพฤติดี และได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง โดยสถานศึกษาจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้การเสนอชื่อเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้
สำหรับเหตุผลที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับสาขา STEM นั้น ดร.ธีราภา ระบุว่า จากข้อมูลจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ระบุว่า ระหว่างปี 2563–2567 ประเทศไทยมีความต้องการแรงงานระดับสูงในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-curve ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ พลังงานชีวภาพ และการแพทย์ครบวงจร โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยี วิศวกรรม และวิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ เช่น วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และนักเทคโนโลยีชีวภาพ
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรายงาน “The Future of Jobs Report 2025” ของ World Economic Forum ซึ่งคาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 ตำแหน่งงานดั้งเดิมจะหายไปกว่า 92 ล้านตำแหน่ง และจะมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้นราว 170 ล้านตำแหน่ง โดยทักษะสำคัญที่ตลาดแรงงานต้องการ ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง สะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนากำลังคนด้าน STEM เป็นหัวใจสำคัญของการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ขณะที่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การรับสมัครในรุ่นที่ 1 ได้เปิดรับสมัครนักเรียนชั้น ม.6 และ ปวช.3 เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง มีนักเรียนที่ได้รับการเสนอชื่อและยืนยันใบสมัครเรียบร้อยแล้วจำนวน 1,718 คน (แบ่งเป็น นร.ม.6 จำนวน 1,551 คน และ ปวช.3 จำนวน 167 คน) ในจำนวนนี้กว่าครึ่งเป็นนักเรียนจากครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษ จำนวน 817 คน คิดเป็น 47.56% และอีก 901 คน หรือ 52.44% มาจากครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เกินปีละ 12,000 บาท ที่สะท้อนให้เห็นชัดเจน คือ จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด มีถึง 1,278 คน ที่มีเกรดเฉลี่ยสะสมในช่วง 3.50–4.00 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เด็กยากจนจำนวนมากมีศักยภาพทางวิชาการสูง และหากได้รับโอกาสที่เหมาะสม ย่อมสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างแน่นอน
“ผมขอขอบคุณครูและสถานศึกษาทุกแห่ง ที่ร่วมกันค้นหาและเสนอชื่อนักเรียนทุน ODOS รุ่นที่ 1 ทำให้เราค้นพบนักเรียนช้างเผือกที่มีผลการเรียนดี แต่มีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากับคนอื่น ให้ได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้น ซึ่งบทบาทของสถานศึกษามีความสำคัญอย่างมาก เพราะครูและผู้บริหารโรงเรียนคือผู้ที่รู้จักนักเรียนดีที่สุด และเป็นกลไกหลักในการส่งต่อโอกาสให้ถึงมือเด็กที่เหมาะสม” ดร.ไกรยส กล่าว
นอกจากนี้ ตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้การสนับสนุนครอบคลุมต่อเนื่องในทุกระดับชั้น ดร.ไกรยส ระบุว่า รัฐบาลยังมีแผนเปิดรับสมัครทุน ODOS รุ่นที่ 2 ในช่วงเดือน ก.ย.นี้ สำหรับนักเรียนชั้น ม.5 และ ปวช.2 เพื่อเติมเต็มระบบการดูแลอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่ระดับ ม.4–6 และ ปวช.1–3 โดยมีเป้าหมายสนับสนุนเยาวชนในกลุ่มเป้าหมายให้สามารถเตรียมตัวอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงระดับอุดมศึกษาอย่างครอบคลุมทุกมิติ
ทั้งนี้ ทุน ODOS รุ่นที่ 3 เปิดรับสมัคร ระหว่างวันที่ 14 กรกฎาคม – 8 สิงหาคม 2568 เวลา 17.00 น. ผ่านเว็บไซต์ของ กสศ. scholarshipreg.eef.or.th สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02-079-5457 ต่อ 11 (ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี