ที่ลานพญาศรีสัตตนาคราช ริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม ผศ.ดร.ปุณณฑรีย์ เจียวิริยบุญญา คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ร่วมกับเทศบาลเมืองนครพนม (ทม.ฯ) นำโดย นางอุบลรัตน์ ไชยพานิชย์ รองปลัดเทศบาลฯ รักษาการปลัดเทศบาลเมืองนครพนม นางภาวิณี โสมณวัตน์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม นางสุพรรณี หล้าดี ผู้อำนวยการส่วนบริหารการศึกษา ทม.ฯ และ นางศิริพร วังริยา รองผู้อำนวยการสถานศึกษา รักษาการผู้อำนวยการ โรงเรียนเทศบาล 1 หนองแสง (รร.ท.1) นำนักศึกษาและน้อง นร.ชั้น ป.4 รร.ท.1 ช่วยกันเก็บเพื่อคัดแยกขยะจากวัสดุเหลือใช้ โดยเฉพาะพานบายศรีที่ผู้ศรัทธาถวายต่อองค์พญาศรีสัตตนาคาร ช่วงงานบวงสรวงระหว่างวันที่ 7-13 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นครพนมดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เป็นเมืองที่ผู้คนมีศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อองค์พญาศรีสัตตนาคราช โดยผู้คน วัฒนธรรมประเพณี และเครื่องสักการะบูชา คือศรัทธาอันบริสุทธิ์ ผ่านพานบายศรีที่ผลิตอย่างประณีตจากใบตองสด และกำลังจะเปลี่ยนเป็นวัสดุเหลือใช้ที่ต้องจัดการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความคงอยู่ของความเชื่อ ความศรัทธา
มหาวิทยาลัยนครพนม จึงได้เกิดโครงการวิจัยการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงนาคาวิถี บนความหลากหลายของอัตลักษณ์ ทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ลุ่มน้ำโขง สู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวจังหวัดนครพนม โดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยนครพนม ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่โรงเรียนเทศบาล 1(หนองแสง) โดยใช้นวัตกรรมกระดาษใยกล้วย ที่ผลิตจากเศษใบตองซึ่งได้จากพานบายศรี ที่ผ่านการกราบไหว้ขอพรจนสำเร็จ นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์พานบายศรีจากกระดาษใยกล้วย อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จ จากการบันดาลพรที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยฝีมือการทำอย่างวิจิตรบรรจงของครูและนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 1(หนองแสง) ซึ่งเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้
นอกจากพานบายศรีใยกล้วยแล้ว ยังมีผ้าห่มพระธาตุ ที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องโมบายนำโชค เข็มกลัดดอกกันเกรา ถุงผ้ามงคล การใช้งานวิจัยนี้สามารถแรงศรัทธาควบคู่ไปกับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.ปุณณฑรีย์ เจียวิริยบุญญา คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม เปิดเผยว่าหลายคนคงทราบว่าตอนนี้นครพนมไม่ใช่เมืองรองอีกต่อไป เราเป็นเมืองหลักแห่งการท่องเที่ยว และหนีไม่พ้นเราเป็นเมืองท่องเที่ยวสายมู สายศรัทธาและความเชื่อ ซึ่งองค์พญาศรีสัตตนาคราชเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ทุกคนจะต้องมา และรู้จักเป็นอย่างดี ทุกครั้งที่มาบวงสรวงสักการะบูชาองค์พญาศรีสัตตนาคราช เราก็จะมาพร้อมกับเครื่องบายศรี ที่ผลิตจากวัสดุเช่นใบตอง ที่มีหลายรูปทรง เช่นรูปเศียรพญานาค ฯลฯ ซึ่งพานบายศรีเหล่านี้ เมื่อนำมาบูชาองค์ปู่แล้ว พานนี้ก็จะมีการลาเครื่องบายศรีและนำไปทิ้ง ซึ่งการนำไปทิ้งพบว่ายังไม่มีกระบวนการคัดแยกขยะ ตรงนี้ถ้าเรามาสร้างกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วม โดยดึงนักศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.นครพนม ร่วมกับ นร.รร.ท.1 ซึ่งถ้าในอนาคตก็จะสามารถดึงนักเรียน นักศึกษาจากหลายสถาบันใน จ.นครพนม ให้มีส่วนร่วมในกระบวนเรียนรู้กับเรา ในคณะทีมนักวิจัยการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงนาคาวิถี สู่การพัฒนาเป็นเศรษฐกิจสีเขียว ภายใต้การประยุกต์ใช้สิ่งเราเรียกว่าเป็นทุนวัฒนธรรมหรือซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของนครพนม ก็คือองค์ความรู้เรื่องการเคารพบูชาองค์พญาศรีสัตตนาคราช เข้ามาผสมและบูรณาการร่วมกับนวัตกรรม
สิ่งที่นักวิจัยนำเสนอก็คือ หลังจากเราคัดแยกขยะ ก็จะได้เศษใบตองจากพานบายศรีที่เป็นวัสดุเหลือใช้ ก็เอามาทำเป็นกระดาษใยกล้วย ซึ่งฟังก์ชั่นจะคล้ายๆกระดาษสา แต่อันนี้ทำจากเศษใบตองที่มาจากการสักการะบูชาองค์ปู่พญาศรีสัตตนาคราช คือมาจากบายศรีสดเดิมที่เราทิ้ง ก็เอามาคัดแยกขยะเลือกเฉพาะเศษใบตอง มาปั่นผสมกับโซดาไฟและต้มขึ้นโครงทำเป็นกระดาษ เท่านั้นยังไม่พอเรายังเคลือบสารเป็นน้ำตาเทียน โดยนำมาจากวัดพระธาตุพนมฯ และทำเป็นสองวัสดุ คือ 1.กระดาษใยกล้วย ซึ่งเอามาพับเป็นบายศรี Zero Waste หรือการลดขยะให้เหลือศูนย์ 2.ใช้เป็นวัสดุทดแทนโฟม เป็นโครงร่างของพานบายศรี โดยได้รับรางวัลจากการประกวดวิจัยของ ม.นครพนม
สนธยา ทิพย์อุตร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี