สพฐ.เปิดเวทีวิชาการระดมสมอง 11 หน่วยงาน TZD จัดทำแผนทิศทางการขับเคลื่อนรวมพลังหุ้นส่วนการศึกษาสู่เป้าหมาย Zero Dropout มุ่งเป้า‘ไม่ปล่อยให้เด็กคนใดหลุดออกจากสายตาของระบบการศึกษา’
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2568 ที่โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพมหานคร ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาวิชาการ “Set Zero Dropout Symposium 2025” และจัดทำแผนทิศทางการขับเคลื่อนรวมพลังหุ้นส่วนการศึกษา สู่เป้าหมาย Zero Dropout พร้อมทั้งร่วมพิธีแสดงเจตนารมย์ และมอบเกียรติบัตรให้แก่หุ้นส่วนการศึกษา จาก 11 หน่วยงาน TZD โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วม
โดย นายพัฒนะ พัฒนทวีดล กล่าวว่า ในนามสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ที่ได้ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิด และร่วมรับฟังแนวทางการขับเคลื่อนพลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่สำคัญยิ่งของประเทศ นั่นคือ ‘การไม่ปล่อยให้เด็กคนใดหลุดออกจากสายตาของระบบการศึกษา’ และ วันนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่เรารวมพลังของหน่วยงาน 11 ภาคี ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กรุงเทพมหานคร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อน Thailand Zero Dropout – เด็กทุกคนต้องได้เรียน และเรียนในแบบที่เหมาะกับเขา
“ สิ่งที่เรามาร่วมกันในวันนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ ‘เวทีวิชาการ’ แต่คือ ‘เวทีของการลงมือเปลี่ยนแปลง’ ที่จะทำให้ทุกภาคส่วนเห็น ว่าโรงเรียนไม่ใช่เพียงสถานที่ แต่คือระบบที่พร้อมจะปรับตามชีวิตของเด็กแต่ละคน ทั้งในรูปแบบของหนึ่งโรงเรียนสามรูปแบบ โรงเรียนมือถือ ศูนย์การเรียน หรือ การจัดการศึกษาควบคู่อาชีพที่สะท้อน ‘ชีวิตจริงเป็นห้องเรียน’ ผมขอขอบคุณครูและโรงเรียนนำร่องทุกแห่ง ผู้แทนจากเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ และ ภาคีหุ้นส่วนจากภาครัฐ เอกชน ชุมชน ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดบทเรียน เพื่อร่วมกันออกแบบทิศทางการขับเคลื่อน Zero Dropout ระยะต่อไป อย่างมีพลังและเป็นระบบ และให้การประชุมในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและเชิงพื้นที่ ที่ไม่ใช่แค่การตามเด็กกลับมาเรียนเท่านั้น แต่คือการ ‘ออกแบบระบบให้เด็กไม่ต้องหลุด’ ตั้งแต่แรก ” รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ด้าน ดร.อนุกูล ศรีสมบัติ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 ในฐานะคณะกรรมการดำเนินงานโครงการฯ กล่าวว่า โครงการการประชุมสัมมนาวิชาการ “Set Zero Dropout Symposium 2025” และจัดทำแผนทิศทางการขับเคลื่อนรวมพลังหุ้นส่วนการศึกษา สู่เป้าหมาย Zero Dropout มี 3 วัตถุประสงค์หลัก คือ 1.เพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ที่ตอบโจทย์นโยบาย Thailand Zero Dropout และยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมายประชากรวัยเรียนกลุ่มอายุ 3 – 18 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น 2.เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลประชากรวัยเรียนกลุ่มอายุ 3 – 18 ปี กับหน่วยงานระดับจังหวัดในการค้นหา พัฒนา ส่งต่อกลุ่มเป้าหมายเด็กนอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น และ 3.เพื่อสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาในระดับภูมิภาค ที่เป็น Best Practice ในการบริหารจัดการแก้ปัญหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่นให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา
“ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54 ที่บัญญัติให้มีการดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึงการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รวมทั้งสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และ มาตรา 258 จ (4) ที่ครอบคลุมทั้งการพัฒนาเด็กเล็ก การสร้างโอกาสทางการศึกษา การปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาครู และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่เน้นการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ในศตวรรษที่ 21 ดังนั้น สพฐ.ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงนำนโยบายขับเคลื่อน 4 มาตรการ Thailand Zero Dropout, นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, และนโยบาย สพฐ.มากำหนดเป็นมาตรการในการช่วยเหลือเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่นให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างมีคุณภาพ จึงได้จัดทำโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) ยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กนอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่นด้วยการศึกษาที่ยืดหยุ่น (Flexible Education for Out-of-School Children and Youth Project) ซึ่งการนำนโยบายสู่การปฏิบัติได้อย่างทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องสร้างต้นแบบสู่การต่อยอดขยายผล และสร้างความยั่งยืนการจัดการแก้ปัญหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่นกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา” ดร.อนุกูล กล่าว.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี