6 มี.ค.56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ ส.ส.นราธิวาส และนายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง 3 คนร่วมกันแถลงข่าวไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไปลงนามความร่วมมือกับกลุ่มบีอาร์เอ็น
นายประเสริฐ กล่าวว่า เป็นการทำงานแบบนักการตลาด มีความรีบร้อน เร่งรีบ และอยากถามว่ารัฐบาลคาดหวังอะไรกับการลงนามความร่วมมือ เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบก็ไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นสูงนับตั้งแต่ลงนามกันวันที่ 28 ก.พ. เป็นต้นมา มีเพียงวันที่ 3 มี.ค. คือ วันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพียงวันเดียวเท่านั้นที่เงียบสงบ“
ในทำสัญญาดังกล่าวไม่ได้มีการขอให้ฝ่ายผู้ก่อการวางอาวุธ เท่ากับความรุนแรงยังคงจะเกิดขึ้นทุกวัน และจะมีความสงบให้กับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างไร อีกทั้ง ยังต้องระวังมือที่ 3 จะเข้ามาสร้างสถานการณ์ ที่อาจจะเป็นข้ออ้างให้กลุ่มผู้ก่อการอ้างได้ว่ารัฐบาลไม่ทำตามสัญญา และจะกลายเป็นการเพิ่มความรุนแรงได้”
นายประเสริฐ กล่าวว่า การที่รัฐบาลไปลงนามในสัญญานั้นอยู่ในสถานะอะไร เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ เพราะถ้าหากเป็นเซ็นสัญญาเอ็มโอยูธรรมดา ก็จะไม่จำเป็นที่จะต้องมีผลในทางปฎิบัติจริง ดังนั้น รัฐบาลน่าจะนำเรื่องดังกล่าวผ่านสภาตามมาตรา 190 ก่อนที่จะไปทำการเจรจา เพื่อหวังผลให้เกิดความร่วมมือนั้น มีประสิทธิภาพสามารถปฏิบัติได้จริง
“รัฐบาลต้องมีความจริงใจ อย่าทำการตลาด หากหวังว่าจะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ โดยให้มีผลในทางปฏิบัติจริงก็จะต้องมาชี้แจงต่อสภาฯ มิเช่นนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวของรัฐบาลก็เป็นเพียงการปาหี่”
ด้าน นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า การที่ พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ระบุว่า อาจมีการพิจารณาปรับใช้จากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคง ใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี, อ.เบตง อ.กาบัง จ.ยะลา และ อ.แว้ง อ.สุขิริน จ.นราธิวาส หลังเจรจาบีอาร์เอ็น ว่า แปลกใจมาก ตอนแรกรัฐบาลบอกว่าจะปรับมาใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง แต่ เลขาฯสมช.กลับต้องรอคุยกับกลุ่มก่อความไม่สงบก่อน ทั้งที่ 5 อำเภอดังกล่าวนั้นก็ได้รับการสนุบสนุนจาก ศอ.บต. และยังมีความพร้อมทั้งประชาชน และเจ้าหน้าที่ที่จะต้องดูแลปัญหาด้วยตัวเอง
“สมช.กำลังนำพี่น้องใน 5 อำเภอ มาเป็นตัวประกัน ในการเจรจากลับกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งทำให้มองได้ว่ารัฐบาลนี้ขาดความชัดเจนในการแก้ปัญหา จึงอยากขอความชัดเจนในภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ติดสินใจอย่างเป็นธรรม โดยคิดถึงประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากที่สุด”นายสุรเชษฐ์ กล่าว
ขณะที่นายอันวาร์ กล่าวว่า สัญญาทางบวกในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่มีเลย ครั้งแรกมอบอำนาจให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงดูแล ก็บอกว่าจะลงพื้นที่หลังเสร็จการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ชีวิตของคนในพื้นที่มีค่าน้อยกว่าการเมืองของพรรคเพื่อไทย ตอนนี้ให้ สมช.มาดูและ หาก ร.ต.อ.เฉลิม คิดว่าอยู่เฉยๆ ไม่ทำงาน ไม่ต้องลงพื้นที่ และจะเกิดความสงบขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ขอให้ลาออกไปเลย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี