วันนี้ (22 ตุลาคม 2562) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 3 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ 1. ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. 2. ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. 3. ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 3 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
1.1 แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงาน หรือลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
1.2 แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ โดยให้มีอำนาจในการออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับสำนักงานเกี่ยวกับการแต่งตั้งและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ
1.3 กำหนดให้แต่งตั้งผู้อำนวยการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีเหตุต้องแต่งตั้งผู้อำนวยการ และหากมีเหตุจำเป็นให้ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 60 วัน
1.4 แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้อำนวยการ โดยกำหนดให้ผู้อำนวยการต้องมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เหมาะสมกับกิจการของศูนย์ตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของศูนย์ สามารถทำงานให้ศูนย์ได้เต็มเวลา รวมทั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชนด้วย
1.5 กำหนดให้การแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง และลงโทษทางวินัยผู้ตรวจสอบภายใน ให้ผู้อำนวยการและคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาร่วมกัน แล้วเสนอให้คณะกรรมการให้ความเห็นชอบก่อนจึงดำเนินการได้
2. ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
2.1 แก้ไขบทนิยามคำวา “ชีววิทยาศาสตร์” และคำว่า “คณะกรรมการ” เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559
2.2 แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของศูนย์ โดยให้มีวัตถุประสงค์ในการเชื่อมโยงระหว่างผลงานวิจัยด้านชีววิทยาศาสตร์ไปสู่การแปลงเป็นเชิงพาณิชย์โดยการต่อยอดการวิจัยผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม
2.3 แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการ โดยกำหนดให้ประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องไม่เป็นข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2.4 แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ โดยให้มีอำนาจในการแต่งตั้งและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ การกำหนดขอบเขตเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบและผู้ตรวจสอบภายใน
2.5 แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้อำนวยการ โดยกำหนดให้ผู้อำนวยการต้องมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เหมาะสมกับกิจการของศูนย์ตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของศูนย์ สามารถทำงานให้ศูนย์ได้เต็มเวลา รวมทั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชนด้วย
2.6 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดแต่งตั้งผู้อำนวยการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีเหตุต้องแต่งตั้งผู้อำนวยการ และหากมีเหตุจำเป็นให้ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 60 วัน
2.7 กำหนดให้การแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง และลงโทษทางวินัยผู้ตรวจสอบภายใน ให้ผู้อำนวยการและคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาร่วมกัน แล้วเสนอให้คณะกรรมการให้ความเห็นชอบก่อนจึงดำเนินการได้
3. ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
3.1 แก้ไขบทนิยามคำว่า “คณะกรรมการ” และ “กรรมการ” เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559
3.2 แก้ไขให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกา
3.3 แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของศูนย์ โดยให้ศูนย์มีวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการข้อมูลและสารสนเทศ
3.4 แก้ไขปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการ โดยกำหนดให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นบุคคลซึ่งมิใช่ข้าราชการที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงาน หรือลูกจ้างของส่วนราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3.5 แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ โดยกำหนดให้มีอำนาจในการออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับศูนย์ในการแต่งตั้ง และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ การกำหนดเครื่องแบบผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง รวมถึงเครื่องหมายของศูนย์
3.6 กำหนดให้ดำเนินการแต่งตั้งผู้อำนวยการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่มีเหตุต้องแต่งตั้งผู้อำนวยการ และหากมีความจำเป็นให้ขยายได้ไม่เกิน 60 วัน
3.7 แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้อำนวยการ โดยกำหนดให้ผู้อำนวยการต้องมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เหมาะสมกับกิจการของศูนย์ตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของศูนย์ สามารถทำงานให้ศูนย์ได้เต็มเวลา รวมทั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชนด้วย
3.8 กำหนดให้การแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง และลงโทษทางวินัยผู้ตรวจสอบภายใน ให้ผู้อำนวยการและคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาร่วมกัน แล้วเสนอให้คณะกรรมการให้ความเห็นชอบก่อนจึงดำเนินการได้
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ. 2562 รวม 3 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ 1. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดราคาประเมิน การจัดทำบัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง และแผนที่ประกอบการประเมินราคาที่ดิน พ.ศ. …. 2. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดราคาประเมินห้องชุดและการจัดทำบัญชีราคาประเมินห้องชุด พ.ศ. …. และ 3. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการปรับปรุงราคาประเมินทรัพย์สิน ในกรณีที่ราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด แตกต่างจากราคาประเมินในบัญชีราคาประเมินทรัพย์สิน พ.ศ. …. รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดราคาประเมิน การจัดทำบัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง และแผนที่ประกอบการประเมินราคาที่ดิน พ.ศ. ….
1.1 กำหนดให้ในการประเมินราคาทรัพย์สิน ให้ราคาที่ดินมีหน่วยเป็นบาทต่อตารางวา และให้ราคาสิ่งปลูกสร้างมีหน่วยเป็นบาทต่อตารางเมตร
1.2 กำหนดให้การประเมินราคาที่ดินให้ดำเนินการโดยใช้วิธีเปรียบเทียบราคาตลาดก่อน ถ้าไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีเปรียบเทียบราคาตลาดได้ให้ใช้วิธีการอื่น ๆ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐกำหนด
1.3 กำหนดขั้นตอนและกระบวนการในการประเมินราคาที่ดิน
1.4 กำหนดให้การกำหนดราคาที่ดินให้คำถึงถึงตำแหน่งที่ตั้ง แปลงที่ดิน และลักษณะรูปแปลงที่ดิน
1.5 กำหนดให้การกำหนดราคาประเมินที่ดินที่กรมที่ดินยังไม่สร้างระวางแผนที่เพื่อลงตำแหน่งที่ตั้งแปลงที่ดินในการประเมินราคาที่ดิน เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐกำหนด
1.6 กำหนดให้การประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างให้ใช้วิธีต้นทุน หรือวิธีต้นทุนทดแทน ในการพิจารณา และกำหนดวิธีการประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างโดยวิธีต้นทุน
1.7 กำหนดให้ค่าเสื่อมราคาของสิ่งปลูกสร้าง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐกำหนด
1.8 กำหนดให้การกำหนดราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะพิเศษ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐกำหนด
1.9 กำหนดให้บัญชีราคาประเมินที่ดินต้องมีรายละเอียดของแปลงที่ดินอย่างน้อยประกอบด้วย ตำแหน่งที่ดิน และราคาประเมินที่ดิน
1.10 กำหนดให้แผนที่ประกอบการประเมินราคาที่ดินให้อ้างอิงจากระวางแผนที่ที่กรมที่ดินหรือหน่วยงานอื่นจัดทำขึ้นเพื่อลงตำแหน่งที่ตั้งของแปลงที่ดิน
1.11 กำหนดให้รูปแบบบัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง และแผนที่ประกอบการประเมินราคาที่ดินให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐกำหนด
2. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดราคาประเมินห้องชุดและการจัดทำบัญชีราคาประเมินห้องชุด พ.ศ. ….
2.1 กำหนดให้ในการประเมินราคาห้องชุด ให้ราคาประเมินห้องชุดมีหน่วยเป็นบาทต่อตารางเมตร
2.2 กำหนดให้การประเมินราคาห้องชุดให้ใช้วิธีเปรียบเทียบราคาตลาด วิธีรายได้ วิธีต้นทุน หรือวิธีอื่น ๆ ตามระเบียบที่คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐกำหนด แล้วแต่กรณี
2.3 กำหนดขั้นตอนและกระบวนการในการประเมินราคาห้องชุด
2.4 กำหนดให้ในการประเมินราคาห้องชุด ให้คำนึงถึงทำเลที่ตั้ง คุณภาพอาคารและห้องชุด สิ่งอำนวยความสะดวก สภาพแวดล้อม รวมทั้งการดูแลรักษาและการบริหารจัดการอาคาร
2.5 กำหนดให้อาคารชุดโครงการใดประกอบด้วยอาคารหลายอาคาร การกำหนดราคาประเมินห้องชุดจะกำหนดราคาเป็นกลุ่มอาคารหรือแยกเป็นแต่ละอาคารก็ได้
2.6 กำหนดให้อาคารชุดใดมีทรัพย์ส่วนบุคคลที่จัดไว้เป็นของห้องชุดเฉพาะห้อง ให้กำหนดราคาประเมินแยกไว้ต่างหากจากราคาประเมินห้องชุด
2.7 กำหนดให้บัญชีราคาประเมินห้องชุด อย่างน้อยต้องประกอบด้วยชื่ออาคาร ที่ตั้ง และราคาประเมินห้องชุด
3. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการปรับปรุงราคาประเมินทรัพย์สิน ในกรณีที่ราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด แตกต่างจากราคาประเมินในบัญชีราคาประเมินทรัพย์สิน พ.ศ. ….
3.1 กำหนดให้ในระหว่างที่บัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างและห้องชุดมีผลบังคับใช้ให้คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐประจำจังหวัด ตรวจสอบราคาที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างหรือห้องชุดที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
3.2 กำหนดให้นำข้อมูลราคาซื้อขายทรัพย์สินในท้องตลาดที่มีการซื้อขายกันตามปกติที่ได้จากการตรวจสอบตามข้อ 3.1 มาทำการวิเคราะห์ และเปรียบเทียบกับราคาประเมินทรัพย์สินที่มีผลบังคับใช้ในรอบบัญชีนั้น หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าราคาที่ดิน หรือห้องชุดที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดแตกต่างจากราคาประเมินที่ดิน หรือห้องชุดในบัญชีราคาประเมินทรัพย์สินคำนวณเป็นร้อยละเกินกว่าร้อยละสิบห้า ให้คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐประจำจังหวัดดำเนินการในแต่ละกรณี ดังนี้
3.2.1 ที่ดิน ให้ปรับปรุงราคาประเมินที่ดินที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ที่มีการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งจัดทำบัญชีราคาประเมินที่ดิน และแผนที่ประกอบการประเมินราคาที่ดิน
3.2.2 ห้องชุด ให้ปรับปรุงราคาประเมินห้องชุด ที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ที่มีการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งจัดทำบัญชีราคาประเมินห้องชุด
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการอนุญาตเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการอนุญาตเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงวัฒนธรรมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงคมนาคมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ.2524
2. กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการฮัจย์ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจดทะเบียน สถานที่ยื่นคำขอ เอกสารและหลักฐานประกอบคำขอ การวางเงินสดหนังสือค้ำประกันธนาคาร ขั้นตอนในการพิจารณาอนุญาต และอายุของใบอนุญาต ตลอดจนแบบท้ายกฎกระทรวงฯ ให้มีความชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น
3. กำหนดมาตรการในการคุ้มครองผู้ไปประกอบพิธีฮัจย์ ได้แก่ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบกิจการฮัจย์ต้องจัดทำเอกสารการโฆษณาหรือชี้ชวน ต้องจัดให้มีผู้นำกลุ่มผู้ไปประกอบพิธีฮัจย์เดินทางไปกับผู้ไปประกอบพิธีฮัจย์ ต้องจัดให้มีการประกันภัยสำหรับอุบัติเหตุ ต้องมีการควบคุมผู้นำกลุ่มผู้ไปประกอบพิธีฮัจย์ด้วยการขึ้นทะเบียน ผ่านการอบรม มีการออกบัตรประจำตัว และต้องสังกัดผู้ประกอบกิจการฮัจย์
4. กำหนดแนวทางการใช้อำนาจของคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทยในการสั่งพักใช้ใบอนุญาต การสั่งเพิกถอนใบอนุญาต และการยกเลิกใบอนุญาต ตลอดจนการพิจารณาคืนหลักทรัพย์ค้ำประกัน
5. กำหนดมาตรการคุ้มครองบรรดาใบอนุญาตที่ออกตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2541 ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2524 ก่อนวันที่กฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับ ให้คงใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าใบอนุญาตนั้นสิ้นอายุ และให้คำขอรับใบอนุญาตที่ได้ยื่นไว้นั้นเป็นคำขอตามกฎกระทรวงฉบับนี้โดยอนุโลม
6. ปรับปรุงแก้ไขแบบ สกฮ.1 สกฮ.2 ก-ค ในข้อ 6-8 ท้ายกฎกระทรวงฯ โดยให้เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทยเป็นผู้มีอำนาจลงนามแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้ง การพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และการทำบัญชีสำรองเพื่อเลื่อนขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระในคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้ง การพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และการทำบัญชีสำรองเพื่อเลื่อนขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระในคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
2. ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
อว. เสนอว่า โดยที่มาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 บัญญัติให้มีคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรียกโดยย่อว่า “กมอ.” ประกอบด้วย ประธานกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินเจ็ดคน โดยมีรองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการ และความในวรรคเจ็ด บัญญัติให้คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้ง การพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และการทำบัญชีสำรองเพื่อเลื่อนขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้ง การพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และการทำบัญชีสำรองเพื่อเลื่อนขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระในคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วิธีการได้มา การแต่งตั้ง การพ้นจากตำแหน่ง ของประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
2. ให้คณะกรรมการการอุดมศึกษามีหน้าที่เสนอชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนำรายชื่อผู้ซึ่งไม่ได้รับการแต่งตั้งไปจัดทำบัญชีสำรอง เพื่อการเลื่อนขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวน องค์ประกอบ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มา คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวน องค์ประกอบ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มา คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
อว. เสนอว่า พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 67 บัญญัติให้มีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมคณะกรรมการการอุดมศึกษาและคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เพื่อทำหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เช่น การกำกับดูแลการจัดการศึกษา คุณภาพการศึกษา และการกำหนดหลักสูตรการศึกษา หรือมาตรฐานหลักสูตรการศึกษา และความในวรรคสอง บัญญัติให้จำนวน องค์ประกอบ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มา คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวน องค์ประกอบ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มา คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดจำนวน องค์ประกอบ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา ประกอบด้วย ประธานกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 คน และรองปลัดกระทรวงที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการ รวม 8 คน
2. กำหนดการแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่งของประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาคราวละ 4 ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งใหม่อีกได้แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
3. กำหนดเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา
4. กำหนดวิธีการได้มาซึ่งประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา โดยให้ที่ประชุมร่วมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือมอบหมายสำนักงานปลัดกระทรวง ดำเนินการรวบรวมและเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต่อที่ประชุมร่วมพิจารณา และนำเสนอรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแต่งตั้งต่อไป
6. เรื่องร่างกฎกระทรวงยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราตามมาตรา 12 (1) ประเภทนักท่องเที่ยว ชนิดใช้ได้ครั้งเดียว เป็นการชั่วคราว พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราตามมาตรา 12 (1) ประเภทนักท่องเที่ยว ชนิดใช้ได้ครั้งเดียว เป็นการชั่วคราว พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ ตช. เสนอว่า
1. ตช. ได้ตรวจสอบข้อมูลสถิติผู้โดยสารที่มาขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa On Arrival) ในช่วงก่อนมีการยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและช่วงที่มีการยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมแล้ว พบว่า แนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยและขอรับการตรวจลงตรามีเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเมื่อเปรียบเทียบในช่วงที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมฯ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2561 มีนักท่องเที่ยวจำนวน 1,923,032 คน กับช่วงที่ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมฯ ในช่วงตั้งแต่ วันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 จำนวน 4,236,781 คน ปรากฏว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 120 ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยว ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ของประเทศไทย อันส่งผลให้ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ เทศกาลปีใหม่ เทศกาลตรุษจีน และเทศกาลสงกรานต์ เห็นควรขยายมาตรการในการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราของคนต่างด้าวซึ่งประสงค์จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวเป็นเวลาไม่เกินสิบห้าวัน ในกรณียื่นขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa On Arrival) ที่มีการเก็บอัตราค่าธรรมเนียม ประเภทนักท่องเที่ยว ชนิดใช้ได้ครั้งเดียว จำนวนเงิน 2,000 บาท ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 30 (พ.ศ. 2559) ออกตามความในพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยให้ยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นการชั่วคราวต่อไปอีก 6 เดือน จนถึงหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563
2. ตช. ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยแม้จะก่อให้เกิดความสูญเสียรายได้ของรัฐ ประมาณ 10,764 ล้านบาท จากมาตรการขยายการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แต่คาดว่าจะมีรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวประมาณ 144,732 ล้านบาท
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
ให้ยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราของคนต่างด้าว ซึ่งประสงค์จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวไม่เกิน 15 วัน ในกรณียื่นขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa On Arrival) ที่มีการเก็บอัตราค่าธรรมเนียม ประเภทนักท่องเที่ยว ชนิดใช้ได้ครั้งเดียว จำนวนเงิน 2,000 บาท ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 30 (พ.ศ. 2559) ออกตามความในพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เป็นการชั่วคราวโดยให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563
เศรษฐกิจ - สังคม
7. เรื่อง ขอเสนอมาตรฐานสถิติเพื่อให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบมาตรฐานสถิติที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และประกาศใช้เป็นมาตรฐานในการผลิตสถิติ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐนำมาตรฐานดังกล่าวใช้เป็นแนวทางในการจัดทำข้อมูลสถิติของหน่วยงานต่อไป เพื่อให้ข้อมูลสถิติของประเทศสามารถแลกเปลี่ยน เชื่อมโยง และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่จัดทำขึ้นต่างช่วงเวลาและต่างแหล่งข้อมูลได้ร่วมกันสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจในการกำหนดนโยบายหรือตอบโจทย์ตัวชี้วัดต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม เกิดความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากรในการผลิตสถิติของประเทศ
2. ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐจัดทำสถิติให้เป็นไปตามแผนกำหนดความรับผิดชอบในการดำเนินงานทางสถิติตามแผนแม่บท1 และดำเนินการให้ถูกต้อง ตามมาตรฐานสถิติ
3. ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐจัดส่งข้อมูลการใช้มาตรฐานสถิติ รวมถึงรายละเอียดของข้อมูล (Metadata) ตามมาตรฐานที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กำหนด ทั้งข้อมูลระดับย่อย (Microdata)2 และข้อมูลสถิติ เพื่อให้ สสช. รวบรวมเป็นข้อมูลในการจัดทำศูนย์กลางรายการข้อมูลภาครัฐ (National Data Catalogue and Directory services) และเพื่อให้สามารถติดตามและประเมินสถานการณ์การพัฒนาสถิติของประเทศให้มีคุณภาพตามหลักการพื้นฐานสถิติทางการและสอดคล้องตามมาตรฐานสากล สามารถนำมาใช้สนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลร่วมกันได้อย่างคุ้มค่า
-------------------------------------------------------------
1 แผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2559 – 2564) ได้มีการกำหนดแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสถิติ และได้กำหนดผู้รับผิดชอบโครงการไว้ในบทที่ 6 แผนปฏิบัติการ
2 Metadata คือ ข้อมูลรายละเอียดที่อธิบายถึงความเป็นมาของข้อมูล เช่น ชื่อเรื่อง ชื่อผู้รับผิดชอบ ลักษณะของข้อมูล หน่วยของข้อมูล วันเดือนปีที่ปรับข้อมูล เป็นต้น ส่วน Microdata คือข้อมูลระดับย่อยหรือข้อมูลสถิติ เช่น อายุ เพศ ประเทศ สถานภาพการทำงาน หรืออุตสาหกรรม เป็นต้น
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เนื่องจากการผลิตสถิติของแต่ละหน่วยงานในประเทศไทยยังคงมีความเหลื่อมล้ำด้านมาตรฐานและคุณภาพของข้อมูลสถิติ ทำให้ไม่สามารถใช้ข้อมูลหรือบูรณาการข้อมูลร่วมกันได้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จึงได้นำเสนอ “มาตรฐานสถิติ” ซึ่งเป็นการกำหนดหรือแนวทางที่ตกลงร่วมกันในการเก็บรวบรวมข้อมูลและสารสนเทศขึ้นมา เพื่อใช้เป็นองค์ความรู้ในการจัดทำนโยบายและใช้ในการตัดสินใจเพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ โดย ดศ. ได้นำเสนอมาตรฐานสถิติมาในครั้งนี้จำนวน 4 มาตรฐาน ได้แก่ (1) หลักการพื้นฐานสถิติทางการ โดยอ้างอิงตามมาตรฐาน Fundamental Principles of Official Statistics (FPOS) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) โดยในส่วนของประเทศไทยได้มีการถอด FPOS ออกเป็นหลักปฏิบัติการเพื่อจัดการคุณภาพสถิติทางการประเทศไทย (Thailand Statistics Code of Practice: TCoP) เพื่อให้เข้าใจง่ายในเชิงปฏิบัติ (2) แนวทางการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานสถิติทางการ ซึ่งเทียบเคียงจากมาตรฐาน FPOS (3) นโยบายด้านมาตรฐานสถิติในการผลิตสถิติทางการ เพื่อให้สามารถบูรณาการและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งอ้างอิงจากหลักการที่ 9 ของ FPOS (ใช้มาตรฐานสากล) และหลักปฏิบัติข้อที่ 8 ของ TCoP (ความสอดคล้องและเปรียบเทียบกันได้) และ (4) มาตรฐานการผลิตสถิติ โดยนำเสนอมาในครั้งนี้ 5 ตัวแปร (จากทั้งหมดประมาณ 30 ตัวแปร) ได้แก่ เพศ อายุ ประเทศ สถานภาพการทำงาน และอุตสาหกรรม
2. นอกจากนี้ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านการจัดทำระบบสถิติระบบเดิมเป็นระบบใหม่เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดศ.จึงได้จัดทำกระบวนการเปลี่ยนผ่านมาตรฐานสถิติ สรุปดังนี้
2.1 หากหน่วยงานยังไม่มีการจัดทำข้อมูล ยังไม่มีการจัดทำมาตรฐาน หรือมีมาตรฐานที่ไม่เหมาะสม ให้ปรับเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานตามที่ ดศ. เสนอในครั้งนี้ โดย สสช. จะเข้าไปร่วมพัฒนาและให้ความรู้ในเชิงวิชาการเพื่อให้มาปรับใช้ตามมาตรฐานที่เสนอนี้ โดยการเชื่อมโยงมาตรฐานเดิมและมาตรฐานใหม่เข้าด้วยกันด้วยวิธีใช้ตารางเปรียบเทียบ (Mapping) และทำการพยากรณ์แบบมองย้อนหลัง (Backcasting) เพื่อให้ได้ข้อมูลชุดใหม่ ซึ่งในขณะนี้ สสช. อยู่ระหว่างการพัฒนาคู่มือในการพยากรณ์แบบมองย้อนหลังดังกล่าว
2.2 หากหน่วยงานมีภารกิจการทำงานตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานตนเอง และมีความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรฐานสถิติหรือมาตรฐานการผลิตสถิติเฉพาะด้าน (เช่น กรมศุลกากรจำเป็นต้องใช้มาตรฐานอัตราพิกัดอัตราศุลกากรที่อ้างอิงตาม Harmonized System) หน่วยงานสามารถพิจารณาเองได้ว่าจะใช้มาตรฐานเดิมหรือจะปรับมาใช้มาตรฐานใหม่ แต่หน่วยงานจะต้องทำตารางเปรียบเทียบเพื่อให้สามารถบูรณาการข้อมูลร่วมกันได้
2.3 ในกรณีที่หน่วยงานไม่สามารถใช้ตามมาตรฐานสถิติตามที่เสนอได้นั้น หน่วยงานจะต้องแสดงข้อมูลมาตรฐานที่ตัวเองใช้ไว้อย่างชัดเจนและต้องตั้งสถานะว่าข้อมูลของหน่วยงานไม่สามารถบูรณาการกับหน่วยงานอื่นได้
2.4 เมื่อหน่วยงานได้ทำการปรับมาตรฐานสถิติเป็นระบบใหม่แล้ว สสช. จะทำการประเมินคุณภาพสถิติทางการตามหลักการ TCoP ทั้งนี้ สสช. ได้จัดทำคู่มือการประเมินคุณภาพสถิติทางการไว้แล้วและจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสถัดไป
ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรฐานสถิติแล้ว สสช. จะร่วมมือกับ ดศ. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐในการส่งเสริมให้หน่วยงานต่าง ๆ ใช้มาตรฐานสถิติเพื่อความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการจัดทำศูนย์กลางรายการข้อมูลภาครัฐ
8. เรื่อง กรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,443,891 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 346,262 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) กรอบการลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่อง วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,243,891 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 296,262 ล้านบาท และ (2) กรอบการลงทุนสำหรับการเพิ่มเติมระหว่างปี วงเงินดำเนินการ จำนวน 200,000 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 50,000 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และการลงทุนที่ใช้เงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้ดำเนินการได้เมื่อได้รับอนุมัติตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุน
2. เห็นชอบให้ สศช. ปรับวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2563 ให้สอดคล้องกับผลการจัดสรรงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมถึงงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม งบกลาง หรืองบประมาณที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการงบประมาณ หรือได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ (สงป.) แล้ว และปรับเพิ่มกรอบวงเงินดำเนินการ และกรอบวงเงินเบิกจ่ายลงทุนให้สอดคล้องกับการอนุมัติการลงทุนเพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้ทันทีภายในปีงบประมาณ
3. มอบหมายให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) เป็นผู้พิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลงงบลงทุนระหว่างปีในส่วนงบลงทุนเพื่อการดำเนินงานปกติ และโครงการต่อเนื่องที่การเปลี่ยนแปลงไม่มีผลกระทบต่อสาระสำคัญและกรอบวงเงินโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้แล้ว ในช่วงระหว่างการโอนภารกิจด้านการวิเคราะห์งบลงทุนรัฐวิสาหกิจไปให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ดำเนินการ
4. เห็นชอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ระดับกระทรวงและระดับรัฐวิสาหกิจ โดยให้กระทรวงเจ้าสังกัดและรัฐวิสาหกิจรับข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ และรายงานผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะทุกไตรมาส และเห็นควรให้รัฐวิสาหกิจรายงานผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานและการลงทุนปี 2563 ให้ สศช. ทราบภายในทุกวันที่ 5 ของเดือนอย่างเคร่งครัด รวมทั้งรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการลงทุนทุกไตรมาส เพื่อประโยชน์ในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจได้อย่างต่อเนื่อง
5. รับทราบประมาณการงบทำการประจำปีงบประมาณ 2563 ที่คาดว่า จะมีกำไรสุทธิประมาณ 79,850 ล้านบาท และประมาณการแนวโน้มการดำเนินงานช่วงปี 2564 – 2566 ของรัฐวิสาหกิจในเบื้องต้นที่คาดว่า จะมีการลงทุนเฉลี่ยประมาณปีละ 393,090 ล้านบาท และผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณปีละ 98,764 ล้านบาท
6. สำหรับการเตรียมความพร้อมดำเนินภารกิจด้านการวิเคราะห์งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 2564 เห็นชอบให้คงภารกิจการพิจารณาไว้ที่ สศช. โดยให้ สศช. ดำเนินการขอตั้งกองงบลงทุนรัฐวิสาหกิจตามขั้นตอนต่อไป
9. เรื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ระยะที่ 2
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติดังนี้
1. เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้ 1) มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” 2) มาตรการลดภาระเพื่อที่อยู่อาศัย 3) มาตรการเพื่อสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. 4) มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน (Front Load)
2. เห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินการในมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” โดยมีเป้าหมายตามที่กระทรวงการคลังขยายเพิ่มผู้ลงทะเบียนใหม่ไม่เกิน 3 ล้านคน คิดเป็นวงเงินที่รัฐบาลสนับสนุนเพื่อเป็นสิทธิ์ในการซื้อสินค้าและบริการจำนวน 1,000 บาทต่อคน รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 3,000,000,000 บาท โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,000,000,000 บาท และส่วนที่เหลืออีกจำนวน 1,000,000,000 บาท ใช้จ่ายจากงบประมาณ ของ ททท. ที่สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณให้แล้วจำนวน 10,000,000,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะมีเหลือเพียงพอ สำหรับค่าใช้จ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับ ร้อยละ 15 และร้อยละ 20 ของยอดที่ชำระเงินจ่ายจริง เห็นควรให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ภายในกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบไว้แล้ว เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
3. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 และปีต่อๆ ไป จำนวน 1,182.18 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. ทั้งนี้ ให้ ธอส. ทำความตกลงในการเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวตามภาระที่เกิดขึ้นจริงกับสำนักงบประมาณต่อไป
4. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีห้องชุด ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
สาระสำคัญ
เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนให้สามารถดำรงชีพได้ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กระทรวงการคลังเห็นสมควรเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ระยะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย 4 มาตรการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” (มาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ)
1.1 เรื่องเดิม :
(1) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 และ 10 กันยายน 2562 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” (มาตรการฯ) เพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันลงทะเบียน และมีบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 10 ล้านคน เพื่อใช้จ่ายในจังหวัดที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่เลือกที่ไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน ผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ (g-Wallet) ดังนี้
(1.1) รัฐบาลสนับสนุนวงเงินเพื่อเป็นสิทธิ์ในการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการฯ จำนวน 1,000 บาท ต่อคน
(1.2) กรณีที่ผู้ลงทะเบียนเติมเงินเพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พักรวมถึงบริการต่าง ๆ ตามปกติของที่พักนั้น ค่าซื้อสินค้าท้องถิ่น ค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ หรือค่าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในท้องถิ่นนั้น เช่น สปา การเช่าพาหนะ ค่าบริการนำเที่ยวในพื้นที่ เป็นต้น จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการฯ รัฐบาลจะสนับสนุนเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 15 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน)
การซื้อสินค้าและบริการตามข้อ (1.1) และ (1.2) ต้องเป็นการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวจากบัญชี g-Wallet ในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่รับชำระเงินด้วยแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด
ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติกรอบวงเงิน 19,093.50 ล้านบาท สำหรับดำเนินมาตรการฯ โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 10,043.50 ล้านบาท สำหรับวงเงินส่วนที่เหลือเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายชดเชยจำนวนเท่ากับร้อยละ 15 ของยอดเงินที่จ่ายจริง จำนวน 9,050 ล้านบาท ให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามขั้นตอนต่อไป
(2) กระทรวงการคลังได้กำหนดเงื่อนไขให้การใช้จ่ายตามข้อ (1.1) เป็นการใช้จ่ายในจังหวัดที่เลือกตอนลงทะเบียน 1 จังหวัดที่มิใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน และการใช้จ่ายตามข้อ (1.2) สามารถเลือกใช้จ่ายในจังหวัดใดก็ได้ที่ไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน เพื่อให้เกิดการกระจายการใช้จ่ายไปสู่เศรษฐกิจฐานรากให้มากขึ้น รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ เช่น เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ที่ต้องใช้ภายใน 14 วันนับจากวันถัดจากวันที่ได้รับ SMS ยืนยันสิทธิ์ ข้อยกเว้นการใช้สิทธิ์ g-Wallet ช่อง 2 โดยการใช้จ่ายค่าโดยสารเครื่องบิน ค่ารถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด ค่าบริการนำเที่ยวที่ไม่ใช่บริการนำเที่ยวในท้องถิ่นนั้นจะไม่ได้รับเงินชดเชย เป็นต้น
(3) การดำเนินมาตรการฯ ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยขณะนี้มีผู้ได้รับสิทธิ์ทั่วประเทศครบ 10 ล้านคนแล้ว จากที่กำหนดให้ลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2562 มีผู้มาใช้สิทธิ์แล้ว 8,665,849 ราย มีการใช้จ่ายรวม 8,443 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายตามข้อ (1.1) ผ่าน g-Wallet ช่อง 1 ประมาณ 8,321 ล้านบาท สำหรับการใช้จ่ายตามข้อ (1.2) ผ่าน g-Wallet ช่อง 2 มีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 38,545 ราย มียอดใช้จ่ายประมาณ 122 ล้านบาท โดยการใช้จ่ายกระจายสู่ทุกภูมิภาคครบ 77 จังหวัด ซึ่งการใช้จ่ายที่กรุงเทพฯ คิดเป็นเพียงร้อยละ 13 ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด และการใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดเล็กตามวัตถุประสงค์ของมาตรการฯ โดยคิดเป็นร้อยละ 82 ส่วนการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขามีสัดส่วนเพียง ร้อยละ 18 ซึ่งการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวมีความคุ้มค่า เนื่องการก่อให้เกิดผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ (Multiple Effects) อันจะทำผลกระทบรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 เท่าภายใต้เงื่อนไขประชาชนบริโภคเพิ่มขึ้น ร้อยละ 60 ของวงเงินที่ได้รับ
1.2 วัตถุประสงค์ : เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการเดินทางไปท่องเที่ยวและใช้จ่ายซึ่งจะทำให้มีการกระจายการใช้จ่ายไปยังเศรษฐกิจฐานราก ให้ชุมชนได้รับประโยชน์มากขึ้น
1.3 กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ลงทะเบียน และมีบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 3 ล้านคน
1.4 ระยะเวลาโครงการ : ขยายระยะเวลามาตรการฯ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และดำเนินมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562
1.5 วิธีดำเนินโครงการ :
(1) ขยายการเปิดรับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ สำหรับประชาชน จำนวน 1 ล้านคน และเปิดรับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ จำนวน 2 ล้านคน โดยผู้ลงทะเบียนใหม่ทั้ง 3 ล้านคน จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามข้อ 1.1 (1) (1.1) เช่นเดียวกับผู้ได้รับสิทธิ์ 10 ล้านคนแรก
(2) ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ตามข้อ 1.1 (1) (1.2) โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 20 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน สำหรับวงเงินใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 20,000 บาทต่อคน) ซึ่งรวมถึงผู้ที่ได้รับสิทธิ์ 10 ล้านคนแรก ที่ยังไม่ถูกตัดสิทธิ์
(3) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุน และเงินชดเชยที่ได้รับให้ครอบคลุมมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ โดยให้กรมสรรพากรเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
(4) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ให้ความอนุเคราะห์การตรวจสอบข้อมูลบุคคลจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์สำหรับการดำเนินมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ
2. มาตรการลดภาระภาษีเพื่อที่อยู่อาศัย
2.1 วัตถุประสงค์ : เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่ไม่สูงนักเหมาะสมกับศักยภาพของประชาชนแต่ละกลุ่ม โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยใหม่สร้างเสร็จพร้อมอยู่
2.2 กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย
2.3 ระยะเวลาโครงการ : วันที่ประกาศกระทรวงหาดไทยมีผลบังคับใช้ – วันที่ 24 ธันวาคม 2563
2.4 วิธีการดำเนินโครงการ : ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิมร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 เฉพาะการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย และการจดทะเบียนการโอน และการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน
2.5 สูญเสียรายได้ : คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 2,652.20 ล้านบาท จากการปรับลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์
3. มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. (มาตรการสินเชื่อฯ)
3.1 วัตถุประสงค์ : เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่ไม่สูงนักเหมาะสมกับศักยภาพของประชาชนแต่ละกลุ่ม โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ และเงื่อนไขผ่อนปรน
3.2 กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย
3.3 ระยะเวลาโครงการ : คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ – วันที่ 24 ธันวาคม 2563
3.4 วิธีดำเนินโครงการ : ธอส. จะสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ และเงื่อนไขผ่อนปรน ให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย ทั้งนี้ การขอสินเชื่อและการให้สินเชื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ธอส.
3.5 งบประมาณ : รัฐบาลชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยให้แก่ ธอส. เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,182.18 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้ ธอส. ทำความตกลงในการเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวตามภาระที่เกิดขึ้นจริงกับสำนักงบประมาณต่อไป
4. มาตรการการเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน (Front Load)
4.1 วัตถุประสงค์ : เพื่อให้มีเม็ดเงินสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน ลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
4.2 กลุ่มเป้าหมาย : หน่วยรับงบประมาณ
4.3 ระยะเวลาโครงการ : เดือนพฤศจิกายน – เดือนธันวาคม 2562 (2 เดือน)
4.4 วิธีดำเนินโครงการ : หน่วยรับงบประมาณเร่งรัดเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน สำหรับวงเงินที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ
10. เรื่อง แนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณใช้เป็นแนวทางประกอบการวางแผนการดำเนินงานและกำหนดแผนการปฏิบัติงาน ให้สอดคล้องกับกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตลอดจนกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญของเรื่อง
สงป. รายงานว่า แนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สรุปสาระสำคัญและขั้นตอนได้ ดังนี้
1. แนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
1.1 พิจารณาทบทวนและปรับปรุงเป้าหมาย กลยุทธ์ ผลผลิต/โครงการ กิจกรรม ตัวชี้วัดผลสำเร็จ ผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
1.2 การจัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2560 – 2564) แผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายสำคัญของรัฐบาล
1.3 ให้ความสำคัญกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อให้การดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณที่มีเป้าหมายร่วมกันมีความเชื่อมโยง สอดคล้อง สนับสนุนซึ่งกันและกัน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และไม่ซ้ำซ้อนกัน
1.4 การจัดทำงบประมาณมิติพื้นที่ (Area) ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพื้นที่ ระดับภูมิภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด และท้องถิ่น ตลอดจนยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยให้หน่วยรับงบประมาณเข้าไปมีส่วนร่วมดำเนินการจัดทำแผนและให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง
1.5 การจัดทำรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้หน่วยรับงบประมาณแสดงวัตถุประสงค์ แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ที่มาและประมาณการรายได้ ผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการจ่ายงบประมาณ และจัดทำรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการของหน่วยรับงบประมาณ เป้าหมายยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และนโยบายงบประมาณ วงเงิน โครงสร้างงบประมาณ ตลอดจนพิจารณาถึงความพร้อม ขีดความสามารถในการใช้จ่ายงบประมาณและความครอบคลุมทุกแหล่งเงินทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ สำหรับหน่วยรับงบประมาณที่จะขอรับการจัดสรรงบประมาณซึ่งจะต้องมีการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติก่อนเสนอรายละเอียดคำของบประมาณส่ง สงป.
2. ปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป็นการกำหนดแผนและขั้นตอนการปฏิบัติงานในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่บทบัญญัติของกฎหมายกำหนดไว้
11. เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 4/2562
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (รศก.) ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตามที่ รศก. เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
รศก. รายงานว่า รศก. ได้ประชุมครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 โดยสรุปสาระสำคัญและมีมติที่ประชุมสรุปได้ ดังนี้
1. เรื่องเพื่อพิจารณา : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในระยะสั้น และระยะกลาง – ยาว เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของไทยในปี 2562 โดยกำหนดเป้าหมายให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 ไม่ต่ำกว่า 39.8 ล้านคน และมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 2.04 ล้านล้านบาท และในปี 2563 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 41.8 ล้านคน รายได้รวม 2.22 ล้านล้านบาท ซึ่งภายใต้แต่ละมาตรการประกอบด้วยกลุ่มมาตรการ กิจกรรม ระยะเวลาดำเนินการ และหน่วยงานรับผิดชอบ ดังนี้
มาตรการ |
แนวทาง/กิจกรรม/ระยะเวลาดำเนินการ |
หน่วยงานรับผิดชอบ |
มาตรการระยะสั้น (ภายในปี 2562) แบ่งเป็น 3 กลุ่มมาตรการ 12 กิจกรรม |
||
1. มาตรการด้านการเงิน การคลัง และกฎหมาย |
1.1 คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Refund) ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเพิ่มร้านค้าที่สามารถทำรายการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มจุดให้บริการในพื้นที่เมืองและคืนภาษีในรูปแบบเงินสด ณ จุดขาย (3 เดือน) |
กระทรวงการคลัง (กค.) (กรมสรรพากร) |
1.2 ทบทวนข้อกฎหมาย ระเบียบ มาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวของคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย ได้แก่ มาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 (3 เดือน) |
สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) |
|
1.3 การหักรายจ่าย 2 เท่าของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดอบรม สัมมนาภายในประเทศ (3 เดือน) |
กค. (กรมสรรพากร) / สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) |
|
1.4 ปรับปรุงระเบียบการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุในต่างประเทศ พ.ศ. .... เพื่อสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างการบริหารพัสดุและกรณีมีกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติในต่างประเทศ สำหรับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามพันธกิจขององค์กรในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย (3 เดือน) |
กค. (กรมบัญชีกลาง) / ททท. |
|
2. มาตรการอำนวยความสะดวกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน |
2.1 อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวโดยเร่งดำเนินมาตรการด้านการตรวจลงตรา (วีซ่า) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการแล้วเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 (เรื่อง มาตรการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวไทยในช่วงต้นฤดูกาลท่องเที่ยว) ได้แก่ (1) การอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยได้ 2 ครั้ง ภายในระยะเวลา 6 เดือน (Double Entries Visa) (2) การอนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับอนุญาตให้พำนักในประเทศไทยที่มีความประสงค์จะออกไปต่างประเทศชั่วคราวและระยะเวลาในการได้รับอนุญาตเดิมยังเหลืออยู่ สามารถกลับเข้ามาในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าอีก (Re – Entry Permit) และ (3) การอนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางผ่านด่านทางบกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (3 เดือน) |
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) / ตม. / กระทรวงมหาดไทย (มท.) / กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) / สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) |
2.2 ขยายระยะเวลาการเปิดด่านชายแดนจาก 08.30 – 16.30 น. เป็น 24 ชั่วโมง ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดยาว จำนวน 2 ด่าน ได้แก่ ด่านชายแดนไทย – มาเลเซีย และด่านชายแดนไทย – ลาว เป็นระยะเวลา 3 เดือนและติดตามประเมินผล (3 เดือน) |
ตม. / มท. / กต. / ททท. |
|
2.3 ขอความร่วมมือ กต. ในการเร่งรัดการใช้ระบบตรวจตราคนต่างด้าวที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทยทางอิเล็กทรอนิกส์ (e - Visa) ให้ครอบคลุมกับนักท่องเที่ยวชาวจีนทั่วประเทศ |
กต. / มท. / ตม. |
|
2.4 เร่งประชาสัมพันธ์ระบบคัดกรองและตรวจสอบเอกสารล่วงหน้าทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ประสงค์จะยื่นขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (e - Visa On Arrival : e - VOA) ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น (3 เดือน) |
ตม. / ททท. |
|
2.5 ทบทวนบทบัญญัติของกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ ตม. ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมถือบัตรเครดิตหรือการใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) (มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดจำนวนเงินให้คนต่างด้าวต้องมีติดตัวในขณะเดินทางเข้าราชอาณาจักร ที่กำหนดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต้องสำแดงเงินสด 20,000 บาท) (3 เดือน) |
ตม. / มท. / สมาคมธนาคารไทย |
|
3. มาตรการกระตุ้นตลาดและเพิ่มค่าใช้จ่าย |
3.1 โครงการ Amazing Thailand Grand Sale “Passport Privileges” โดยการเพิ่มสิทธิการได้รับส่วนลด/สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่แสดงหนังสือเดินทาง และเพิ่มส่วนลดอีกร้อยละ 5 สำหรับนักท่องเที่ยวอาเซียนและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาจากประเทศคู่ร่วมเจรจาที่จะเข้าร่วมการประชุมอาเซียน รวมทั้งลดหย่อนค่าบริการในการส่งสินค้าผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กลับประเทศอาเซียน (3 เดือน โดยจะดำเนินการตั้งแต่ 1 พฤศจิการยน 2562 – 31 มกราคม 2563) |
กก. / ททท. / กต. / กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) / กค. / บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) / บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด / สมาคมผู้ค้าปลีกไทย / สมาคมศูนย์การค้าไทย |
3.2 โครงการประชุมเมืองไทยภูมิใจช่วยชาติ โดยการให้ Voucher 20,000 บาทต่องานหรือกลุ่ม เพื่อกระตุ้นให้บริษัท (Corporate) จัดประชุมองค์กรและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลในประเทศไทย ทั้งนี้ จะต้องจัดประชุมข้ามจังหวัดของพื้นที่ที่องค์กรนั้น ๆ จัดตั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ต่ำกว่า 40 คน และมีการพักค้างคืนอย่างน้อย 1 คืน (3 – 6 เดือน) |
สสปน. /สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย / สำนักงบประมาณ (สงป.) |
|
3.3 ส่งเสริมการจัดประชุมภาครัฐ (Government Meeting) โดยขอความร่วมมือให้จัดประชุมสัมมนานอกสถานที่ (สถานที่ประชุมของเอกชน) ในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ (3 เดือน) |
สสปน. |
|
มาตรการระยะกลาง – ยาว (ปี 2563 เป็นต้นไป) แบ่งเป็น 3 กลุ่มมาตรการ 5 กิจกรรม |
||
1. มาตรการด้านการเงิน การคลัง และกฎหมาย |
1.1 ส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสถานพักแรม และให้สินเชื่อพิเศษสำหรับผู้ประกอบการสถานพักแรมในการปรับปรุงสถานประกอบการและบริการให้มีมาตรฐาน (6 เดือน) |
บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) / มท. (กรมการปกครอง) / กก. (กรมการท่องเที่ยว) |
2. มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน |
2.1 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในด้านความปลอดภัยและลดจำนวนการสูญเสียชีวิตและการบาดเจ็บของนักท่องเที่ยว (1 ปี) |
กระทรวงคมนาคม (คค.) / มท. (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) / ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) / กก. |
2.2 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยด้านวัฒนธรรม โดยเพิ่มจำนวนแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกทั้งในส่วนที่เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมและ/หรือมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (สิ่งที่เป็นความรู้ ประเพณี พิธีกรรม การแสดง ดนตรี งานช่าง ฯลฯ เช่น การแสดงโขน เป็นต้น) (1 ปี) |
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) / กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) |
|
3. มาตรการกระตุ้นตลาดและเพิ่มค่าใช้จ่าย |
3.1 จัดกิจกรรมมหกรรมระดับโลกหรือกิจกรรมขนาดใหญ่ (World Event / Mega Event) เช่น การจัดงานวิ่ง (Trail/Ultra Trail, Amazing Thailand Marathon Series) การแข่งขันจักรยาน (Tour de France) มหกรรมด้านความงาม สุขภาพและสาธารณสุข (World Cannabis Expo, World Health & Wellness Expo) เป็นต้น (6 เดือน – 1 ปี) |
กก. / ททท. / การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) / สสปน. / กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) / คค. / สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) / สงป. |
3.2 การดึงงานประชุมองค์กรจากต่างประเทศมาจัดในประเทศไทยโดยมุ่งเน้นการจัดงานขนาดใหญ่หรืองานที่มีผลกระทบสูง รวมถึงกระจายพื้นที่จัดงานสู่ภูมิภาค (6 เดือน – 1 ปี) |
สสปน. / สงป. |
มติ รศก.
1) เห็นชอบในหลักการของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวระยะสั้นและระยะกลาง – ยาว รวม 17 กิจกรรม ตามที่ กก. เสนอ โดยมอบหมาย กก. ประสานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดการดำเนินมาตรการกระตุ้นและส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้
2) สำหรับมาตรการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ หรือมาตรการที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานรัฐ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
2. เรื่องเพื่อทราบที่สำคัญ ดังนี้
เรื่อง |
มติที่ประชุม |
2.1 คณะรัฐมนตรีมีมติ (7 ตุลาคม 2562) รับทราบสรุปผลการประชุม รศก. ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามสรุปผลการประชุมดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป |
รับทราบ |
2.2 สถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด 1) สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในเดือนสิงหาคม 2562 • เศรษฐกิจของหลายประเทศยังชะลอตัวลงตามการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลดลงของการส่งออกเป็นสำคัญ และสอดคล้องกับการปรับลดประมาณการขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) โดยล่าสุด ณ เดือนตุลาคม 2562 WTO ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2562 เป็นร้อยละ 2.3 และร้อยละ 1.2 ลดลงจากร้อยละ 2.6 และร้อยละ 2.6 ตามลำดับ จากประมาณการเดิมในเดือนเมษายน 2562 • สถานการณ์ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ ๆ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ (1) มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังคงยืดเยื้อและทวีความรุนแรงมากขึ้น (2) มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปภายหลังจาก WTO ได้ให้ความเห็นชอบต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาในการเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งผลให้ในวันที่ 18 ตุลาคม 2562 สหรัฐอเมริกาเตรียมเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหภาพยุโรป มูลค่ารวมประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ (3) การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ยังคงไม่แน่นอน และมีความเป็นไปได้ที่สหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง (No – deal Brexit) ในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 • อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศยังอยู่ในระดับต่ำและส่วนใหญ่ยังต่ำกว่าค่ากลางของเป้าหมายเงินเฟ้อ ส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
|
(1) มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในช่วงที่เหลือของปี 2562 และปี 2563 รวมถึงการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจด้วย (2) มอบหมาย กก. เร่งดำเนินมาตรการกระตุ้นและส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมาย |
2) ภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2562 • องค์ประกอบที่ขยายตัวได้ดีขึ้น ได้แก่ การผลิตภาคเกษตร รายได้ภาคเกษตร จำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และรายจ่ายลงทุนของรัฐบาล ในขณะที่องค์ประกอบที่ชะลอตัว ได้แก่ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ส่วนองค์ประกอบที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ มูลค่าการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม
• เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล |
|
2.3 สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในมุมมองของภาคเอกชนและข้อเสนอแนะ โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้า แห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 2.7 – 3.0 ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 2.9 – 3.3 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 โดยเฉพาะภาคการส่งออกยังอยู่ในสภาวะอ่อนแรง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างจำกัด ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนสรุปได้ ดังนี้ 1) กกร. เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจเพิ่มเติมสำหรับผู้ประกอบการ เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การงดเว้นจัดเก็บภาษีบำรุงท้องถิ่นแก่กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในพื้นที่ประสบอุทกภัย การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อซ่อมแซมเครื่องจักรและฟื้นฟูสถานประกอบการ เป็นต้น 2) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรมไทย สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เสนอให้มอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบประเมินผลมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” โดยการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนผู้ใช้สิทธิ์และผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการ ตลอดจนข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงระบบการให้บริการในระยะต่อไป และเห็นควรให้มีการดำเนินมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ในระยะที่สอง โดยพิจารณาปรับมาตรการจูงใจให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายในร้านค้าขนาดเล็กหรือสินค้าในชุมชนได้มากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงระบบการยืนยันตัวตนและระบบการชำระเงินให้สามารถใช้งานได้สะดวกและมีเสถียรภาพมากขึ้น 3) ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเสนอให้รัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e - Government) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งผลักดันโครงการดิจิทัลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การสร้างระบบข้อมูลกลาง เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการวางแผนด้านการลงทุนและด้านสาธารณูปโภคของหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น |
รับทราบ |
12. เรื่อง สรุปผลการประชุมมอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ปี 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบสรุปผลการประชุมมอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ปี 2563
2. มอบหมาย ทส.กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในการประชุมมอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562
สาระสำคัญของเรื่อง
ทส. รายงานว่า
1. พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชน ก่อให้เกิดความเดือดร้อน นอกจากนี้ปัญหาหมอกควันยังส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงบดบังทัศนวิสัยการจราจรทั้งทางบกและทางอากาศ ซึ่งพบว่ามีการยกเลิกและเลื่อนเที่ยวบินเนื่องจากทัศนวิสัยต่ำกว่าเกณฑ์ปลอดภัย จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานจะต้องเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2563
2. ทส. ได้จัดประชุมมอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานในการมอบนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่าง ทส. มท. กระทรวงสาธารณสุข กห. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คค. กษ. สำนักนายกรัฐมนตรี จังหวัด 9 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน และตาก) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้ปล่อยขบวนคาราวานบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 31 หน่วยงาน และภาคประชาชน จำนวนรวม 1,500 คน เพื่อเป็นการเริ่มต้นการปฏิบัติการต้านการเผาและลดหมอกควันในปี 2563 โดยมุ่งหวังให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือกับประชาชน ให้ร่วมเป็นส่วนสำคัญในการลดและเลิกการเผา และช่วยสนับสนุนการเฝ้าระวังการเกิดไฟและหมอกควัน หนุนเสริมการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนืออย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้มอบนโยบายการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้
หน่วยงานรับผิดชอบ |
รายละเอียด |
ทส. |
- ลดจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ป่าให้เป็นศูนย์ ระหว่างวันที่ 15 มีนาคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 - ระดมสรรพกำลัง อุปกรณ์ เครื่องมือจากนอกพื้นที่มาเสริมการลาดตระเวน เฝ้าระวังและดับไฟป่า ไม่ให้เกิดการลุกลามของไฟจนไม่สามารถควบคุมได้ - เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 1 ล้านบาทต่อจังหวัด เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันปัญหาหมอกควันภาคเหนือของ 9 จังหวัดภาคเหนือ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9 ล้านบาท - ให้ความช่วยเหลือและร่วมมือกับประเทศในอุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการป้องกันและ แก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนตามกลไกอาเซียนภายใต้ข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนอย่างจริงจัง |
มท. |
- อำนวยการสั่งการ (Single command) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดติดตามสถานการณ์และบูรณาการสั่งการป้องกันและควบคุมการเผาในจังหวัดอย่างเคร่งครัด หากพบค่าฝุ่นละออง สูงเกินมาตรฐานให้ประกาศห้ามเผาโดยทันที - จัดระเบียบการเผาอย่างเป็นระบบ ให้ทยอยเผาในปริมาณที่ฝุ่นละอองไม่เกินมาตรฐาน - สั่งการไปถึงระดับตำบล โดยเฉพาะตำบลที่เสี่ยงเผาซ้ำซาก ให้นายอำเภอองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่ดูแลอย่างใกล้ชิด |
กห. |
- สนับสนุนการลาดตระเวนและดับไฟทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศอย่างเต็มที่ - หารือในกรอบความร่วมมือของคณะกรรมการชายแดนเพื่อให้ความร่วมมือ และกำชับให้ควบคุมการเผาบริเวณชายแดนอย่างเคร่งครัด |
คค. |
กวดขันไม่ให้มีการเผาในพื้นที่ริมทางหลวงโดยเด็ดขาด |
กษ. |
- เร่งเปลี่ยนพื้นที่เกษตรทั้งหมดใน 9 จังหวัดภาคเหนือไปสู่การเป็นเกษตรปลอดการเผาภายใน 3 ปี - กำกับให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์งดสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตรที่มาจากการบุกรุกป่าอย่างเด็ดขาด - เตรียมความพร้อมการทำฝนหลวงในช่วงวิกฤตหมอกควัน |
ทุกหน่วยงาน |
สร้างความเป็นเอกภาพของข้อมูลเพื่อการสั่งการที่ถูกต้องและลดความตื่นตระหนกของประชาชน โดยดำเนินการ ดังนี้ - เผยแพร่ข้อมูลจุดความร้อน พื้นที่เกิดไฟไหม้ จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และข้อมูลคุณภาพอากาศ จากกรมควบคุมมลพิษ - ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเชิงวิชาการที่ถูกต้องกับประชาชน โดยปรับรูปแบบการรายงานข้อมูล และสถานการณ์ให้น่าสนใจและเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงต้องเป็นชุดข้อมูลเดียวกันไม่ให้เกิดความสับสน - สื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนถึงการดำเนินงานของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของหน่วยงานให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น และให้ความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้มากขึ้น - ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้าน ฝุ่นละออง” อย่างเข้มงวดเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว |
ต่างประเทศ
13. เรื่อง การเข้าเป็นสมาชิกสภาน้ำแห่งเอเชีย (Asia Water Council : AWC)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการเข้าเป็นสมาชิกสภาน้ำแห่งเอเชีย (Asia Water Council : AWC) ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
AWC เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรและเป็นเครือข่ายของสภาน้ำโลก ตั้งอยู่ ณ เมืองแทจอน สาธารณรัฐเกาหลี มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นและรองรับการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการบริหารจัดการน้ำในภูมิภาคเอเชีย โดยเน้นการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างทั่วถึง การสร้างความเข้าใจร่วมกันในประเด็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหา และเพื่อก่อตั้งภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในเอเชียและองค์กรนานาชาติเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคอื่นทั่วโลก รวมถึงเป็นการดำเนินการแก้ปัญหาด้านน้ำที่ช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งตรงกับภารกิจของ สทนช.ในฐานะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักเป้าหมายที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล
โดยโครงสร้างการบริหาร ประธานมาจาก Korea water Resources Corporation: K-water (หน่วยงานจัดการน้ำของสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นศูนย์จัดการความรู้เรื่องการบริหารคุณภาพน้ำในภูมิภาค) คณะกรรมการสภา (Board of Council) คณะผู้บริหาร (คณะกรรมการบริหาร) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของสมาชิก และมีคณะกรรมการด้านวิชาการ 6 ด้าน (ด้านนโยบายและวางแผน ด้านอาหาร น้ำ พลังงาน ด้านการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านระบบนิเวศ และด้านองค์ความรู้และการเผยแพร่) ซึ่งสมาชิกประกอบด้วย องค์กร สถาบันการศึกษา 110 แห่ง หน่วยงานภาครัฐ 18 แห่ง และองค์กรนานาชาติ 22 แห่ง ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นสมาชิกแล้วมี 3 ประเทศ ได้แก่ หน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำของประเทศอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกAWC จะทำให้มีสิทธิ์ออกเสียงและเลือกตั้งกรรมการบริหาร การสมัครเป็นกรรมการบริหารและกรรมการวิชาการ รวมทั้งการสมัครแข่งขันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ดังนี้
1. เป็นการเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาขีดความสามารถทางด้านงานวิจัย องค์ความรู้และนวัตกรรม จากการส่งผู้แทนประเทศเข้าร่วมกิจกรรม
2. เป็นการแสดงบทบาทของไทยในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ การแก้ไขปัญหาด้านน้ำ และการแลกเปลี่ยนเชิงนโยบาย
3. ส่งเสริมและพัฒนาผู้เชี่ยวชาญไทยด้านน้ำด้วยการส่งเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการต่างๆ
4. ใช้โอกาสดังกล่าวสร้างและหรือขยายเครือข่ายภาคีด้านน้ำ ของประเทศไทยในระดับภูมิภาคให้แน่นแฟ้นและเข้มแข็งยิ่งขึ้น
14. เรื่อง ขอความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีต่อขอบเขตอำนาจหน้าที่ (TOR) องค์กรเฉพาะสาขาภายใต้รัฐมนตรีแรงงานอาเซียน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบขอบเขตอำนาจหน้าที่ (TOR) จำนวน 4 ฉบับ เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานร่วมรับรองโดยไม่มีการลงนาม ดังนี้ (1) TOR เจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียน (ASEAN Senior Labour Officials Meeting : SLOM) (2) TOR คณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียนว่าด้วยแนวปฏิบัติที่ก้าวหน้าด้านแรงงานเพื่อเสริมสร้างการแข่งขันในอาเซียน (The Senior Labour Officials Meeting Working Group on Progressive Labour Practices to Enhance the Competitiveness of ASEAN : SLOM - WG) (3) TOR คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติให้เป็นไปตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว (ASEAN Committee on the implementation of the ASEAN Declaration on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers : ACMW) และ (4) TOR เครือข่ายด้านความปลอดภัยและอาชีว อนามัยอาเซียน (ASEAN Occupational Safety and Health Network : ASEAN - OSHNET)
อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของ TOR ดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งให้ชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย
สาระสำคัญของ TOR 4 ฉบับดังกล่าว เป็นเอกสารกำหนดกรอบการดำเนินงานของกลไกภายใต้รัฐมนตรีแรงงานอาเซียน (ALMM) เช่น พันธกิจ องค์ประกอบ โครงสร้าง กลไกการดำเนินงาน รวมทั้งบทบาทและหน้าที่ของประธานซึ่งจะต้องได้รับการรับรอง (โดยไม่มีการลงนาม) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก่อนที่จะนำไปใช้ปฏิบัติเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่อไป ดังนี้
1. TOR เจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียน (SLOM) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมและความยั่งยืนของภูมิภาคผ่านการขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศระดับภูมิภาคให้เกิดแรงงานสัมพันธ์ที่ดี การมีผลิตภาพของงาน
2. TOR คณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียนว่าด้วยแนวปฏิบัติที่ก้าวหน้าด้านแรงงานเพื่อเสริมสร้างการแข่งขันในอาเซียน (SLOM - WG) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ SLOM โดยกระตุ้นให้มีการรับรองแนวปฏิบัติด้านแรงงานเพื่อเสริมสร้างการแข่งขันในตลาดแรงงาน
3. TOR คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติให้เป็นไปตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว (ACMW) การขับเคลื่อนคำมั่นภายใต้ปฏิญญาเซบูและฉันทามติอาเซียน (การพัฒนากลไกอาเซียนเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว) ผ่านความร่วมมือระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสานและดำเนินงานกับองค์กรอาเซียนเฉพาะสาขาอื่น ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงานต่างด้าว
4. TOR เครือข่ายด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอาเซียน (ASEAN - OSHNET) เพิ่มขีดความสามารถของสถาบันอาชีวอนามัยและความปลอดภัยระดับภูมิภาคในเรื่องการตรวจอาชีวอนามัยและความปลอดภัย การส่งเสริม การฝึกอบรม และการวิจัย รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข่าวสารอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ
15. เรื่อง การปรับเพิ่มโควตาผู้เข้าร่วมโครงการตรวจลงตราทำงานและท่องเที่ยวไทย – ออสเตรเลีย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการต่อการตอบรับข้อเสนอเพิ่มโควตาผู้เข้าร่วมโครงการตรวจลงตราทำงานและท่องเที่ยวไทย – ออสเตรเลีย (Work and Holiday Visas : WHV) ของฝ่ายออสเตรเลียในลักษณะต่างตอบแทน จาก 500 คน เป็น 2,000 คนต่อปี และให้กระทรวงการต่างประเทศ มีหนังสือตอบฝ่ายออสเตรเลียแจ้งความเห็นชอบต่อการปรับเพิ่มโควตาผู้เข้าร่วมโครงการ WHV จาก 500 คน เป็น 2,000 คนต่อปี ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการต่างประเทศ รายงานว่า ฝ่ายไทยและฝ่ายออสเตรเลียได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการ WHV เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2547 แล้ว ซึ่งในภาคผนวก 2 (Annex II) ภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ กำหนดให้มีการประเมินจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการฯ ทุก ๆ ปี ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงจำนวนของผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ โดยรายละเอียดของโครงการฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
โครงการ WHV มีวัตถุประสงค์เพื่อการเดินทางท่องเที่ยวและสามารถทำงานเพียงครั้งคราวระหว่างการท่องเที่ยวดังกล่าวได้ ซึ่งแต่ละฝ่ายสามารถเดินทางได้หลายครั้งสำหรับการทำงานและท่องเที่ยวเป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน โดยคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการฯ เช่น มีอายุระหว่าง 18 – 30 ปี มีประกาศนียบัตรระดับอุดมศึกษา มีความรู้ภาษาอังกฤษในระดับที่ประเมินได้ว่าอยู่ในขั้นอย่างน้อยใช้งานได้ ต้องเดินทางคนเดียว (ไม่มีผู้ติดตาม) ไม่เคยเข้าร่วมโครงการ WHV มาก่อน มีความประพฤติและสุขภาพดี มีเงินทุนเพียงพอที่จะดูแลตนเองได้
โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการรับสมัคร คัดกรอง และออกหนังสือรับรองถึงสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยเพื่อขอรับตรวจลงตรา WHV ให้แก่เยาวชนไทยผู้เข้าร่วมโครงการฯ ต่อมาฝ่ายไทยและฝ่ายออสเตรเลียได้มีการปรับเพิ่มโควตาผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ (1) ปี พ.ศ. 2550 จากเดิม 100 คน/ปี ปรับเพิ่มเป็น 200 คน/ปี และ (2) ปี พ.ศ. 2552 จากเดิม 200 คน/ปี ปรับเพิ่มเป็น 500 คน/ปี ทั้งนี้ การปรับเพิ่มโควตาดังกล่าวได้มีการจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตระหว่างกัน
16. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจร่วมว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจร่วมว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และอนุมัติให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจร่วมว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงอุสาหกรรมสามารถดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งให้ชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เรื่อง การจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ) ด้วย
สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณของโครงการอบรมการยกระดับการพัฒนานโยบายอุตสาหกรรมสำหรับประเทศไทยในกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Training on Enhancement of Industrial Policy Development for lancang – Mekong Countries) ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงอุตสาหกรรมขอรับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (MLC Special Fund) ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation: MLC) จำนวนเงิน 450,000 หยวน (65,385 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2 ล้านบาท) โดยโครงการฯ เป็นการอบรมเจ้าหน้าที่/ข้าราชการระดับกลางจากประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เนื้อหาการอบรมที่สำคัญ เช่น สถานะด้านอุตสาหกรรมของประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือฯ นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สำคัญ แนวทางส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น และจะเป็นกลไกในการส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างกันของประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างหน่วยงานปฏิบัติอันจะเป็นประโยชน์ต่อการประสานงานด้านอุตสาหกรรมระหว่างกันในอนาคต
17. เรื่อง การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการเตรียมการสำหรับองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบให้ อว. (ปส.) ในฐานะตัวแทนของประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการเตรียมการสำหรับองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Preparatory Commission for the Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty Organization: CTBTO PrepCom) ตอบรับการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมที่เกี่ยวข้อง CTBTO PrepCom ได้แก่ National Data Center Capacity Building Workshop and Regional Seismic Travel Time in Combination with Data Sharing and Integration Training ณ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามหนังสือแลกเปลี่ยน
2. เห็นชอบหนังสือแลกเปลี่ยนสำหรับการประชุมดังกล่าว (ตามข้อ 1) ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำที่มิใช่สารัตถะสำคัญของหนังสือแลกเปลี่ยนให้ ปส. หารือกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเพื่อพิจารณาดำเนินการแทนคณะรัฐมนตรีโดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก
3. อนุมัติให้เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นผู้ลงนามในหนังสือตอบรับการเป็นเจ้าภาพการประชุมดังกล่าวไปยัง CTBTO PrepCom
สาระสำคัญของร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ มีเนื้อหาเกี่ยวกับด้านเอกสิทธิ์และความคุ้มกันและการอำนวยความสะดวกที่ฝ่ายไทยจะต้องพิจารณาให้แก่เจ้าหน้าที่ของ CTBTO PrepCom และผู้เข้าร่วมการประชุมที่เกี่ยวข้องกับ CTBTO PrepCom ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวมุ่งเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ และการดำเนินการของ CTBTO PrepCom ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถระดับชาติและระดับภูมิภาคในการดำเนินการตามสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ ซึ่งประเทศไทยในฐานะสมาชิก CTBTO PrepCom (ประเทศไทยลงนามสนธิสัญญาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 และได้เป็นภาคีสนธิสัญญาฯ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561) จะได้ใช้โอกาสดังกล่าวแสดงถึงเจตนารมณ์ในการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในทุกมิติและทุกระดับที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศเพื่อผลักดันให้สนธิสัญญาดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไป
18. เรื่อง เอกสารที่จะมีการรับรองในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 19
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างเอกสารที่จะมีการรับรองตามข้อ 1.1 ระหว่างการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ASEAN Telecommunications and Information Technology
Ministers Meeting : TELMIN) ครั้งที่ 19 ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้ ดศ. ดำเนินการได้ โดยให้เสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองเอกสารตามข้อ 1.
[ร่างเอกสารที่จะมีการรับรองจะต้องผ่านการพิจารณาในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ASEAN Telecommunications and Information Technology Senior Officials Meeting : TELSOM) ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 22 - 23 ตุลาคม 2562 ก่อนได้รับการรับรองในการประชุม TELMIN ครั้งที่ 19
ระหว่างวันที่ 24 - 25 ตุลาคม 2562 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)]
สาระสำคัญของเรื่อง
ดศ. รายงานว่า
1.1 สปป.ลาว กำหนดจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม TELMIN ครั้งที่ 19 และ TELSOM ครั้งที่ 20 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 21 - 25 ตุลาคม 2562 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยในการประชุมผู้นำเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และผู้นำสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ [ASEAN TELSOM – ASEAN Telecommunication
Regulators’ Council (ATRC) Leaders’ Retreat Meeting] ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 22 – 23 สิงหาคม 2562 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ที่ประชุมได้มีการหารือการเตรียมการสำหรับการประชุม TELMIN ครั้งที่ 19 โดยที่ประชุมรับทราบว่า จะมีการนำเสนอให้มีการรับรองเอกสารจำนวน 5 ฉบับ ได้แก่
(1) ร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ (Vientiane Declaration) ว่าด้วยการเชื่อมโยงอัจริยะเพื่อการเปลี่ยนแปลงอาเซียนเข้าสู่ยุคดิจิทัล)
(2) ร่างข้อเสนอแนวทางสำหรับกลไกการไหลเวียนข้อมูลข้ามพรมแดนของอาเซียน (Proposed Approach for ASEAN Cross Border Data Flows Mechanism) เป็นแนวทางแบบสมัครใจเพื่ออำนวยความสะดวกการไหลเวียนข้อมูลในอาเซียนและอยู่บนหลักการที่สอดคล้องกับกรอบการคุ้มครองข้อมูลของอาเซียน
(3) ร่างแนวปฏิบัติของอาเซียนเพื่อการฟื้นฟูและซ่อมบำรุงเคเบิลใต้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (ASEAN Guidelines for Strengthening Resilience and Repair of Submarine Cables)
(4) ร่างขอบเขตการปฏิบัติงานการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล (Terms of Reference ASEAN Digital Ministers’ Meeting)
(5) ร่างขอบเขตการปฏิบัติงานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัล (Term of Reference
ASEAN Digital Senior Officials’ Meeting)
1.2. ร่างเอกสารตามข้อ 1.1 ได้ผ่านการพิจารณาและเป็นไปตามความเห็นส่วนใหญ่ของประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว ในลำดับถัดไป ร่างเอกสารจะต้องผ่านการพิจารณาในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ASEAN Telecommunications and Information Technology Senior Officials Meeting : TELSOM) ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 22-23 ตุลาคม 2562 ก่อนได้รับการรับรองในการประชุม TELMIN ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 24 - 25 ตุลาคม 2562 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
1.3 ร่างเอกสารที่จะรับรองในระหว่างการประชุม TELMIN ครั้งที่ 19 เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนในการดำเนินกิจกรรมและความร่วมมือด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศรวมถึงด้านดิจิทัลให้มีความก้าวหน้า
19. เรื่อง การประชุมใหญ่ระดับโลกว่าด้วยวิทยุคมนาคม ปี ค.ศ.2019 ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบเอกสารท่าทีของประเทศไทยสำหรับการเข้าร่วมการประชุมใหญ่ระดับโลกว่าด้วยวิทยุคมนาคมปี ค.ศ. 2019 ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และมอบหมายให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยหรือผู้แทนไทยที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะพิจารณาใช้ดุลยพินิจตามสถานการณ์โดยยึดความเหมาะสมและผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ
2. มอบอำนาจให้แก่หัวหน้าคณะและรองหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการอภิปรายลงมติ และลงนามในกรรมสารสุดท้ายของการประชุมใหญ่ระดับโลกว่าด้วยวิทยุคมนาคม ปี ค.ศ. 2019 ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ
3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือแต่งตั้งผู้แทน (Credentials) โดยมอบอำนาจตามข้อ 2 ให้แก่หัวหน้าคณะและรองหัวหน้าคณะผู้แทนไทย
สาระสำคัญของเรื่อง
การประชุมใหญ่ระดับโลกว่าด้วยวิทยุคมนาคมปี ค.ศ. 2019 (World Radiocommunication Conference –WRC-19) กำหนดให้จัดขึ้นทุก 3 - 4 ปี โดยจะมีคณะผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลของประเทศสมาชิก ITU (ปัจจุบันมีจำนวน 193 ประเทศ) เข้าร่วมประชุมและมีสิทธิในการออกเสียงในนามรัฐบาล ที่ประชุม WRC -19 จะพิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อข้อเสนอแนะและข้อมติทางด้านวิทยุคมนาคม รวมทั้งพิจารณาข้อเสนอแนะของประเทศสมาชิก รับทราบรายงานผลการดำเนินงานและกิจกรรมของภาควิทยุคมนาคม นอกจากนี้ ที่ประชุม WRC-19 จะพิจารณาทบทวนข้อมติและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของที่ประชุมครั้งที่ผ่าน ๆ มาแล้วให้ข้อเสนอแนะต่อกลุ่มศึกษาสำหรับดำเนินกิจกรรมทางด้านวิทยุคมนาคมสำคัญเร่งด่วน ตลอดจนพิจารณาข้อศึกษาเชิงเทคนิคและตัดสินการปรับปรุง/เพิ่มเติมการกำหนดย่านความถี่สากลสำหรับการใช้งานในกิจการโทรคมนาคม รวมทั้ง การแก้ไขยกเลิกและปรับปรุงข้อบังคับวิทยุ (Radio Regulations) เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาของเทคโนโลยีและให้ประเทศสมาชิกหรือสมาชิกภาควิทยุคมนาคมให้ถือปฏิบัติต่อไป
20. เรื่อง การเปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ 2 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอ ดังนี้
1. การเปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพามิตรภาพไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตอนยิน แห่งที่ 2
2. การดำเนินการใด ๆ บริเวณจุดผ่านแดนจะต้องระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายและผลกระทบต่อความมั่นคง และให้ส่วนราชการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2542 และเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 อย่างเคร่งครัด
3. มอบหมายกระทรวงมหาดไทยดำเนินการและประสานจังหวัดตากกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์และการบริหารจัดการพื้นที่ โดยกำหนดให้สะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ 2 ใช้สำหรับเดินทางเข้า – ออกของบุคคล รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถโดยสาร และรถบรรทุกขนาดใหญ่ และดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการบริหาร บำรุงรักษา และการใช้สะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ 2 (ร่วมไทย – เมียนมา) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2562 รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่รับทราบเกี่ยวกับข้อกำหนดและแนวทางปฏิบัติการใช้สะพานแห่งที่ 2 ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 และ 17 กันยายน 2562 อนุมัติการจัดทำและลงนามร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาว่าด้วยการบริหารการบำรุงรักษา และการใช้สะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย – ตองยิน แห่งที่ 2 โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ลงนามในร่างความตกลงดังกล่าว ซึ่งต่อมาได้มีการลงนามในข้อตกลงดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2562 โดยร่างความตกลงฯ ในส่วนของการจัดตั้งองค์กรบริหารและบำรุงรักษาสะพานกำหนดให้ทั้งสองฝ่าย (ไทย – เมียนมา) จัดตั้งคณะกรรมาธิการบริหาร บำรุงรักษา และการใช้สะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ 2 (ร่วมไทย – เมียนมา) เพื่อปรึกษาหารือและตกลงวิธีการบริหาร การบำรุงรักษา และการใช้สะพาน ซึ่งต่อมาคณะกรรมาธิการฯ ได้มีจัดประชุมร่วมกัน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2562 ณ กรุงเนปยีดอ เมียนมา โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันเกี่ยวกับรายละเอียดการบริหาร บำรุงรักษา และการใช้สะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ 2 เช่น ระเบียบการจราจรบนสะพาน (กำหนดยานพาหนะที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สะพาน ประเภทของยานพาหนะที่ได้รับอนุญาตให้ผ่านสะพาน จำกัดความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) การผ่านสะพานห้ามบุคคลทั่วไปเดินผ่านสะพาน ยกเว้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กำหนดเวลาเปิดใช้สะพานตั้งแต่ 06.30 – 18.30 น. (เวลาประเทศไทย) ทุกวัน หรือ 06.00 – 18.00 น. (เวลาเมียนมา) การผ่านแดนโดยพิธีตรวจคนเข้าเมืองและพิธีศุลกากร ให้เจ้าหน้าที่แต่ละฝ่ายปฏิบัติตามข้อกำหนดตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย ตามข้อตกลงที่เกี่ยวข้องระหว่างไทยและเมียนมา โดยสินค้าผ่านแดนให้ปฏิบัติตามความตกลงในเรื่องสินค้าผ่านแดน และการเปิดใช้สะพาน ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันว่า จะเปิดใช้งานสะพานอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 โดยฝ่ายไทยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานในพิธีเปิดการใช้สะพานดังกล่าว
21. เรื่อง บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงกลาโหมสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ดังนี้
1. ให้กระทรวงกลาโหม จัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงกลาโหมสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือ
2. ให้ผู้บัญชาการทหารเรือหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ร่วมลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ
3. หากมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของร่างบันทึกความเข้าใจฯ โดยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ให้กระทรวงกลาโหมพิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม
(ผู้บัญชาการทหารเรือมีกำหนดลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ร่วมกับผู้บัญชาการทหารเรือสหพันธรัฐรัสเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกองทัพเรือ ระหว่างวันที่ 23 – 25 ตุลาคม 2562)
สาระสำคัญของเรื่อง
ไทยและสหพันธรัฐรัสเซียมีความสัมพันธ์ทางทหารที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน มีพัฒนาการความร่วมมือที่ก้าวหน้ามาเป็นลำดับตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 และวันที่ 12 เมษายน 2559 ซึ่งการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงกลาโหมสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงกลาโหมสหพันธรัฐรัสเซีย ในระดับกองทัพเรือ
ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือของทั้งสองประเทศ โดยเป็นกรอบความร่วมมือในเชิงกว้างและเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพเรือไทยผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การฝึกศึกษา การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญและประสงค์จะกระชับความร่วมมือกับมิตรประเทศทั้งในกรอบทวิภาคีและภูมิภาค
22. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารสุดท้ายของการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM Summit) ครั้งที่ 18 และร่างปฏิญญากรุงบากู
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างเอกสารสุดท้าย (Draft Final Document) ของการประชุม NAM Summit ครั้งที่ 18 และร่างปฏิญญากรุงบากู (Baku Declaration) และให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ร่วมรับรองเอกสารดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของร่างเอกสารฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยก่อนการรับรอง ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถใช้ดุลยพินิจดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งในการเจรจาและดำเนินการแก้ไข
2. หากถ้อยคำเรื่องทะเลจีนใต้ในเอกสารสุดท้าย ไม่สอดคล้องกับท่าทีร่วมของอาเซียนในเรื่องนี้ อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมลงนามในหนังสือแจ้งข้อสงวน (reservation) หรือหนังสืออื่น ๆ ที่เป็นการแจ้งท่าทีของอาเซียนต่อถ้อยคำในเอกสารสุดท้ายเช่นเดียวกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอื่น ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนต่อเอกสารสุดท้ายของการประชุม NAM Summit ครั้งที่ 17 ณ เกาะมาร์การิตา เวเนซุเอลา เมื่อปี 2559
3. หากปรากฏว่า เนื้อหาหรือถ้อยคำของเอกสารสุดท้ายและปฏิญญากรุงบากูที่ได้รับรองในที่ประชุม NAM Summit ครั้งที่ 18 ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์และท่าทีไทยในสาระสำคัญ แสดงท่าทีเชิงลบ หรือมีถ้อยคำรุนแรงประณามประเทศอื่นใด อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือแจ้งข้อสงวน (reservation) หรือแสดงท่าทีที่อธิบายอย่างระมัดระวังถึงเหตุผลของไทยซึ่งทำให้ไม่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาหรือถ้อยคำดังกล่าวได้ ซึ่งการแจ้งข้อสงวนเป็นแนวทางที่ไทยปฏิบัติมาโดยตลอด
สาระสำคัญ
1. ร่างเอกสารสุดท้าย (Final Document) สะท้อนท่าที พัฒนาการ และการดำเนินการของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในเรื่องต่าง ๆ ในระดับโลกและภูมิภาค อาทิ ปัญหาการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการปฏิรูปสหประชาชาติ
2. ร่างปฏิญญากรุงบากู (Baku Declaration) มีสาระสำคัญย้ำหลักการต่าง ๆ ที่กลุ่ม NAM ให้ความสำคัญ เช่น การเคารพในอำนาจอธิปไตย การระงับกรณีพิพาทโดยสันติ การงดเว้นการคุกคามและใช้กำลัง การร่วมกันตอบสนองต่อข้อท้าทายของโลกในยุคปัจจุบัน และการธำรงไว้ซึ่งคุณค่าของระบอบพหุภาคีและความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ร่างปฏิญญาฯ ยังอยู่ระหว่างการเจรจาปรับถ้อยคำ และหากประเทศสมาชิกตกลงกันได้ จะเสนอให้ที่ประชุมระดับผู้นำ ระหว่างวันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2562 รับรองต่อไป
ทั้งนี้ การประชุม NAM Summit จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 26 ตุลาคม 2562 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน โดยการพิจารณาและการรับรองร่างเอกสารสุดท้ายและร่างปฏิญญากรุงบากูเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมดังกล่าว จะมีขึ้นในห้วงการประชุมระดับผู้นำ ระหว่างวันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2562
แต่งตั้ง
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงแรงงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ รวม 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
1. นางสาวดวงพร พรพิทักษ์พันธุ์ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ (นักวิชาการแรงงานทรงคุณวุฒิ) สำนักงานประกันสังคม ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2562
2. นายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน (นักวิชาการแรงงานทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2562
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นางสาวนุชจรี วงษ์สันต์ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและประเมินผลการพัฒนา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายไพศาล วรสถิตย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตะกั่วป่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพังงา สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ (กระทรวงการต่างประเทศ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 6 ราย ดังนี้
1. นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน
2. นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อธิบดีกรมพิธีการทูต ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ
3. นายจิตติพัฒน์ ทองประเสริฐ เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพิธีการทูต
4. นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา เครือรัฐออสเตรเลีย
5. นายเชิดเกียรติ อัตถากร เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสารนิเทศ
6. นายเอกพล พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมยุโรป ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ - เลสเต
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง สับเปลี่ยนหมุนเวียน และทดแทนผู้ที่เกษียณอายุราชการ ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศตามข้อ 1. 4. และ 6. รวม 3 ราย ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ
27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอแต่งตั้ง นายนิวัฒน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ รองอธิบดีกรมพลศึกษา ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 5 ราย ดังนี้
1. นายรัตนะ สวามีชัย รองเลขาธิการ (นักบริหารระดับต้น) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมประมง แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
3. นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมส่งเสริมการเกษตร แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
4. นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมปศุสัตว์ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
5. นายประยูร อินสกุล รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมส่งเสริมสหกรณ์ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 8 ราย ดังนี้
1. นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายศรีชัย พรประชาธรรม เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
3. นายประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
4. นางปัทมา วีระวานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
5. นางรักขณา ตัณฑวุฑโฒ ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 2 สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
6. นายธีรพงษ์ สารแสน ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 10 สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
7. นายพีระ รัตนวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
8. นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน ทดแทนตำแหน่งที่ว่างและตำแหน่งที่จะว่าง
30. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 3 ราย ดังนี้
1. นายพงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับต้น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข
2. นางสาววิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับต้น สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข
3. นางอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับต้น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
31. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายปริญญา พัฒนภักดี เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) แทน นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ที่ลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป และให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานกรรมการซึ่งตนแทน (ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 24 กรกฎาคม 2563)
32. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารออมสิน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายพชร อนันตศิลป์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารออมสิน แทน นายอำนวย ปรีมนวงศ์ ประธานกรรมการเดิมที่ขอลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว (ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 17 ธันวาคม 2564)
33. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอการแต่งตั้ง นายสุพันธุ์ มงคลสุธี เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) แทน นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ ที่ลาออก (ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 25 กันยายน 2563) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี