วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / การเมือง
สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2562

สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2562

วันอังคาร ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2562, 15.44 น.
Tag : สรุปมติคณะรัฐมนตรี ครม. คณะรัฐมนตรี
  •  

วันนี้ (17 ธันวาคม 2562) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย


1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะของที่ราชพัสดุ ในท้องที่แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ....

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะของที่ราชพัสดุ ในท้องที่แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา 

                   กำหนดให้ถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะของที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท. 1514 เฉพาะในส่วนของที่ราชพัสดุโฉนดที่ดินเลขที่ 213316 เลขที่ดิน 58 เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ 19 ตารางวา ในท้องที่แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร

 

2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ….. ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม การชำระค่าธรรมเนียม และการยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง พ.ศ. ....

รวม 3 ฉบับ

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ….. ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม การชำระค่าธรรมเนียม และการยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

                   เป็นการกำหนดให้กิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กำหนดมาตรฐานสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง และกำหนดค่าธรรมเนียมของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ตามลำดับ เพื่อให้สามารถควบคุมดูแลและกำกับดูแลการประกอบกิจการดังกล่าว เป็นไปตามมาตรฐานและมีคุณภาพ อันเป็นการคุ้มครองผู้มารับบริการตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ดังนี้

                   1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. …..  มีสาระสำคัญคือ 

                             1.1 กำหนดให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

                             1.2 กำหนดให้สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ 

                             1.3 กำหนดนิยาม “กิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง” หมายถึง บริการที่เกี่ยวกับการดูแล ส่งเสริม ฟื้นฟูสุขภาพ หรือการประคับประคองผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงที่มีปัญหาด้านสุขภาพโดยวิธีการจัดกิจกรรมในระหว่างวัน หรือการช่วยเหลือในการดำรงชีวิต หรือการจัดสถานที่เพื่อพำนักอาศัยหรือสถานที่บริบาลดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง รวมถึงการจดแจ้งการจัดบริการของหน่วยงานภาครัฐตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด และกำหนดยกเว้นในกรณีที่เป็นการดำเนินการในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล

                             1.4 กำหนดลักษณะกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ได้แก่ (1) สถานที่ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงระหว่างวัน หมายถึง สถานที่ที่จัดกิจกรรม การดูแลส่งเสริม ฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยไม่มีการพักค้างคืน (2) สถานที่พำนักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ หมายถึง สถานที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีวัตถุประสงค์ในการดูแล ส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพ (3) สถานที่บริบาลดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง หมายถึง สถานที่ที่จัดกิจกรรมการดูแล ส่งเสริม ฟื้นฟูสุขภาพ และประคับประคอง ผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยมีการพักค้างคืน 

                             1.5 กำหนดบทเฉพาะกาลให้แก่ผู้ซึ่งประกอบกิจการสถานประกอบการที่ให้บริการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ดังกล่าวอยู่ในวันก่อนที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือคำขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการต่อผู้อนุญาตภายใน 180 วันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต หรือขึ้นทะเบียนแล้วให้ประกอบกิจการหรือให้บริการต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตหรือไม่รับขึ้นทะเบียนจากผู้อนุญาต

                   2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญคือ

                             2.1 กำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ (1) กำหนดลักษณะทั่วไปฯ ได้แก่ การกำหนดทำเลที่ตั้ง สภาพแวดล้อม การประสานงานแจ้งเหตุเตือนภัย กำหนดลักษณะของห้องน้ำการเดินสายไฟ รวมทั้งกำหนดลักษณะของเครื่องเรือนต้องมีความปลอดภัยในการใช้สอย (2) กำหนดลักษณะเฉพาะกรณีเป็นสถานที่พำนักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ กำหนดให้พื้นที่ให้บริการต้องมีความกว้างทางเดินหากใช้รถเข็นนั่ง ไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ที่พักอาศัยของผู้รับบริการต้องปลอดจากเหตุรำคาญ ซึ่งอาจรบกวนความเป็นอยู่ที่สุขสบาย รวมทั้งการจัดหน่วยบริการในการประสานงานแจ้งเหตุเตือนภัยตลอด 24 ชั่วโมง (3) กำหนดลักษณะเฉพาะกรณีเป็นสถานที่บริบาลดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ได้แก่ กำหนดให้พื้นที่ที่ให้บริการต้องมีความกว้างระหว่างเตียงไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ความกว้างทางเดินหากใช้รถเข็นนั่งไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ที่พักอาศัยของผู้รับบริการต้องปลอดจากเหตุรำคาญ ซึ่งอาจรบกวนความเป็นอยู่ที่สุขสบาย รวมทั้งการจัดให้มีหน่วยบริการในการประสานงาน แจ้งเหตุเตือนภัยตลอด 24 ชั่วโมง

                             2.2 กำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัย (1) กำหนดลักษณะโดยทั่วไปด้านความปลอดภัยของกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ได้แก่ การจัดให้มีชุดปฐมพยาบาลระบบป้องกันและควบคุมการติดเชื้อที่เหมาะสม มีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้และติดตั้งเครื่องดับเพลิง การฝึกอบรมผู้ดำเนินการและพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย บุคลากรต้องได้รับการอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพ (Cardio pulmonary resuscitation, CPR) และมีการฝึกซ้อมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง มีมาตรการตรวจสอบระบบความปลอดภัยในการให้บริการปีละ 1 ครั้ง (2) กำหนดลักษณะเฉพาะกรณีเป็นสถานที่พำนักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และสถานที่บริบาลดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ได้แก่ มีอุปกรณ์ช่วยฟื้นคืนชีพ เช่น ถุงลมช่วยหายใจ (Ambu bag) อุปกรณ์เปิดทางเดินหายใจ (Mouth gag) ไม้กดลิ้น และสัญญาณเรียกฉุกเฉิน มีเครื่องกระตุกหัวใจ (AED) อย่างน้อย 1 เครื่อง วางในจุดที่มองเห็นได้ชัดเจน 

                             2.3 กำหนดมาตรฐานด้านการให้บริการ (1) กำหนดลักษณะโดยทั่วไปด้านการให้บริการของกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ได้แก่ การจัดทำทะเบียนประวัติของผู้รับบริการ การประเมินความต้องการการดูแลและความสามารถในการสื่อสารของผู้รับบริการเมื่อแรกรับ การกำหนดแนวทางการปฏิบัติในการส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงการฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุ การให้บริการดูแลกิจวัตรประจำวัน (ADL) และกิจวัตรประจำวันต่อเนื่อง (IADL) การจัดให้มีกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวม การบันทึก ติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาวะของผู้รับบริการ การทำสัญญาหรือข้อตกลงการให้บริการระหว่างผู้ประกอบการกับญาติสายตรงหรือผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้ที่ผู้รับบริการได้มอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน การคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งการจัดให้มีกิจกรรมสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของผู้รับบริการตามความเหมาะสม (2) กำหนดลักษณะเฉพาะกรณีเป็นสถานที่พำนักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ การประสานงานกับทีมสหสาขาวิชาชีพในการให้การดูแลด้านการส่งเสริมสุขภาพและการฟื้นฟูแก่ผู้สูงอายุตามชุดสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุ การมีระบบการส่งต่อในกรณีผู้รับบริการเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน (3) กำหนดลักษณะเฉพาะกรณีเป็นสถานที่บริบาลดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ได้แก่ การประสานงานกับทีมสหสาขาวิชาชีพในการให้การดูแลด้านการส่งเสริมสุขภาพ การฟื้นฟู และการประคับประคองแก่ผู้สูงอายุตามชุดสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุและตามแผนการรักษาของผู้ประกอบวิชาชีพ              การมีระบบการส่งต่อในกรณีผู้รับบริการเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน รวมทั้งมีสัดส่วนของผู้ให้บริการ 1 คน ดูแลผู้รับบริการไม่เกิน 5 คน

                   3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม การชำระค่าธรรมเนียม และการยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญคือ 

                             3.1 กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยคิดค่าธรรมเนียมตามลักษณะและขนาดพื้นที่การให้บริการ 

                             3.2 กำหนดให้การคำนวณพื้นที่การให้บริการของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพให้คำนวณตามแบบแปลนแผนผังแสดงพื้นที่การให้บริการของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ได้ยื่นไว้ พร้อมกับคำขอรับใบอนุญาตหรือคำขอต่ออายุใบอนุญาต แล้วแต่กรณี

                             3.3 กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ชำระค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปีในปีแรกพร้อมกับการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและให้ถือว่าวันที่ชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นวันครบกำหนดชำระค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปีในปีต่อ ๆ ไปตลอดระยะเวลาที่ยังประกอบกิจการอยู่ 

                             3.4 กำหนดให้ผู้รับอนุญาตต้องแสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปีไว้ในที่เปิดเผยและมองเห็นได้ชัดเจน ณ สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ 

                             3.5 กำหนดสถานที่การยื่นคำขอชำระค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงนี้ 

                             3.6 กำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง สำหรับกรณีที่เป็นการดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ มูลนิธิองค์กรระหว่างประเทศ

 

เศรษฐกิจ - สังคม

3. เรื่อง ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและอนุกรรมการที่คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้ง

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและอนุกรรมการที่คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ

                   สาระสำคัญของเรื่อง

                   ศธ. รายงานว่า 

                   1. พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 17 บัญญัติให้ประธานกรรมการนโยบายฯ รองประธานกรรมการนโยบายฯ กรรมการนโยบายฯ และอนุกรรมการที่คณะกรรมการนโยบายฯ แต่งตั้ง ได้รับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด  

                   2. ศธ. ได้เทียบเคียงกับอัตราเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนของคณะกรรมการซึ่งปฏิบัติหน้าที่สำคัญระดับชาติตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดรายชื่อคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน และอัตราเบี้ยประชุมเป็นรายเดือนและเป็นรายครั้งสำหรับกรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ พ.ศ. 2558 เช่น คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ (กยค.) คณะอนุกรรมการ กยค. คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) คณะอนุกรรมการ กยส. คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และคณะอนุกรรมการ               ก.ค.ศ. เพื่อเสนอเป็นค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์สำหรับคณะกรรมการนโยบายฯ และอนุกรรมการที่คณะกรรมการนโยบายฯ แต่งตั้งตามนัยมาตรา 17 สำหรับสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการนโยบายฯ และอนุกรรมการที่คณะกรรมการนโยบายฯ แต่งตั้ง ศธ. ได้นำหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการตามพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาปรับใช้กับคณะกรรมการนโยบายฯ เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าพาหนะ และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นต้องจ่ายเนื่องในการปฏิบัติงาน สรุปได้ ดังนี้

 

ประเภท

 

 

อัตราเบี้ยประชุม* (บาท/คน/เดือน)

ประโยชน์ตอบแทนอื่น

เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก อ้างอิงตามพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

เป็นข้าราชการ

ไม่เป็นข้าราชการ

1. คณะกรรมการนโยบายฯ

1.1 ประธานกรรมการ

10,000

ได้รับในอัตราที่ราชการกำหนด

สำหรับข้าราชการพลเรือน

ได้รับในอัตราเทียบเท่ากับตำแหน่งปลัดกระทรวง

1.2 รองประธาน

9,000

1.3 กรรมการ

8,000

2. คณะอนุกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการนโยบายฯ

2.1 ประธานอนุกรรมการ

5,000

 

เหมือนคณะกรรมการนโยบายฯ

 

ได้รับในอัตราเทียบเท่ากับตำแหน่งอธิบดี

2.2 รองประธานอนุกรรมการ

4,500

2.3 อนุกรรมการ

4,000

         

          หมายเหตุ : *อัตราเบี้ยประชุมจะจ่ายให้เฉพาะในเดือนที่มีการประชุมและกรรมการที่เข้าร่วมประชุมเท่านั้น

 

4. เรื่อง รายงานการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Labour Administration Centre)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอรายงานการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Labour Administration Centre) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 ให้ รง. จัดทำฐานข้อมูลแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันและประมาณการความต้องการแรงงานในสาขาต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (19 มีนาคม และ 25 มิถุนายน 2562) รับทราบรายงานการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์บริหารแรงงาน EEC ด้วยแล้ว ทั้งนี้ รง. ได้ขับเคลื่อนศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

                   1. ผลการดำเนินงานในรอบ 12 เดือน (1 ตุลาคม 2561 - 30 กันยายน 2562) และแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (1 ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2563) สรุปได้ดังนี้

                                                                                                 หน่วย : คน

ภารกิจ

ผลรอบ 12 เดือน

แผนปี 63

(เป้าหมาย)

เป้าหมาย

ผลการดำเนินการ

ด้านการจัดหางาน

1. จัดหางานให้กลุ่มอุตสาหกรรมปัจจุบัน

28,809

29,262

(ร้อยละ 101.58)

28,000

2. แนะแนวอาชีพให้นักเรียน นักศึกษา

41,513

43,617

(ร้อยละ 105.07)

130,800

3. ตรวจลงตราและออกใบอนุญาตทำงาน

9,750

19,928

(ร้อยละ 204.39)

10,500

4. จัดหางานให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะเปิดรับในอนาคต

-

-

92,618

ด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน

1. ฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน

7,580

9,244

(ร้อยละ 121.96)

10,000

2. ส่งเสริมสถานประกอบการยกระดับทักษะแรงงาน

575,361

668,000

(ร้อยละ116.11)

600,000

ด้านสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

1. ตรวจแรงงานในระบบ

- 42,500 คน

 

- 1,305 แห่ง

- 81,961 คน

(ร้อยละ 192.85)

- 1,354 แห่ง

(ร้อยละ 103.76)

- 43,000 คน

 

- 1,400 แห่ง

2. ตรวจและกำกับสถานประกอบการตามมาตรฐานกฎหมายความปลอดภัย

- 52,700 คน

 

- 870 แห่ง

- 146,859 คน

(ร้อยละ 279)

- 891 แห่ง

(ร้อยละ 102.42)

- 64,800 คน

 

- 900 แห่ง

ด้านประกันสังคม

1. แนะนำสิทธิประโยชน์ด้านประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน

2,393,700

2,567,785

(ร้อยละ 107.28)

2,513,000

2. ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน

53,589

150,155

(ร้อยละ 280.20)

58,850

3. ส่งเสริม e-Service และ             e–Payment

32,114

50,350

(ร้อยละ 156.78)

35,300

         

                   2. รง. โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี จังหวัดชลบุรี เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานไทยให้เป็นแรงงานฝีมือชั้นสูงรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ EEC และพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออก เพิ่มผลิตภาพแรงงานและลดต้นทุนของผู้ประกอบการในการรองรับการใช้เครื่องจักรกลอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในการผลิตทดแทนการใช้แรงงาน รวมทั้งสร้างผู้ฝึกสอน (Trainer) และครูฝึกต้นแบบด้านเครื่องจักรอัตโนมัติ (Automation) ที่ทันสมัย โดยมีแผนการดำเนินงาน ดังนี้

แผน

แนวทางดำเนินการ

แผนระยะที่  1           

(ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563)

- สร้างหลักสูตร สร้างครูต้นแบบ ฝึกอบรมร่วมกับภาคเอกชนทั้งในและนอกสถานที่

- เป้าหมายการฝึกอบรมในปี 2563 จำนวน 1,100 คน 5 สาขา ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติ จำนวน 440 คน สาขาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม จำนวน 220 คน สาขาการเขียนโปรแกรมด้านการผลิต จำนวน 200 คน สาขาเทคโนโลยีการผลิต จำนวน 140 คน และสาขาการบริหารการผลิต จำนวน 100 คน รวมงบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น 3,520,000 บาท

แผนระยะที่ 2           

(ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565)

สร้างเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานเพิ่มเติม

แผนระยะที่ 3           

(ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2567)

ดำเนินงานเต็มรูปแบบ พัฒนาระบบทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน พัฒนาระบบการฝึกอบรมทั้งแบบ Online และ Offline ร่วมกับหน่วยงานภาคการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน

 

5. เรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2562

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2562 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสาม ปี 2562

              1.1 การชะลอตัวของเศรษฐกิจยังไม่ปรากฏผลกระทบต่อตลาดแรงงานมากนัก

                   ไตรมาสสาม ปี 2562 ผู้มีงานทำลดลงร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยภาคเกษตรมีการจ้างงานลดลงร้อยละ 1.8 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 จากปัญหาภัยธรรมชาติ และการจ้างงานภาคนอกเกษตรลดลงร้อยละ 2.3 ตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการหดตัวของการส่งออก

                   ชั่วโมงการทำงานทรงตัว โดยเฉลี่ยแรงงานยังคงมีชั่วโมงทำงานยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 0.4 ส่วนค่าจ้างแรงงานในภาพรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยค่าจ้างแรงงานโดยรวมเฉลี่ยเท่ากับ 14,334 บาท/เดือน ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนเท่ากับ 12,847 บาท/เดือน เพิ่มขึ้นประมาณ               ร้อยละ 1.9 เมื่อหักอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 0.6

                   ผู้ว่างงานมีจำนวน 0.349 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 คิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 1.04 สาเหตุสำคัญมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและปัญหาภัยธรรมชาติ ส่วนแนวโน้มการจ้างงานในไตรมาสสี่ ปี 2562 คาดว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจยังไม่ปรากฏผลกระทบต่อตลาดแรงงานมากนัก ชี้ให้เห็นจากตัวเลขจากการสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากร เดือนตุลาคม 2562 กำลังแรงงานและผู้มีงานทำลดลงร้อยละ 1.7 และ 1.6 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งคาดว่ามีการเคลื่อนย้ายออกจากกำลังแรงงาน โดยพบว่าผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 19.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ประกอบกับโครงสร้างตลาดแรงงานไทยมีความยืดหยุ่นซึ่งแรงงานที่ถูกเลิกจ้างในระบบสามารถย้ายไปทำงานนอกระบบได้ง่าย โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม

                   อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณของผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตามต่อไป เช่น (1) ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (2) คำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศที่ปรับตัวลดลง โดยคำสั่งซื้อในประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน ขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก และ (3) การทำงานล่วงเวลาลดลง

                   ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญกับตลาดแรงงาน

                   (1) การติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างอย่างใกล้ชิด และการติดตามตรวจสอบให้แรงงานได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งอำนวยความสะดวกและประสานจัดหางานให้กับแรงงาน

                   (2) การดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อแรงงาน เช่น

                        (2.1) การขอความร่วมมือสถานประกอบการชะลอการเลิกจ้างเป็นลำดับ เช่น การลดชั่วโมง/ วันทำงานและการหยุดการทำการชั่วคราว โดยการเลิกจ้างควรเป็นแนวทางสุดท้าย

                        (2.2) มาตรการในการเพิ่ม/ปรับเปลี่ยนทักษะแรงงานให้สามารถทำงานที่แตกต่างไปจากเดิมหรือเปลี่ยนไปประกอบอาชีพใหม่ได้ โดยเฉพาะแรงงานไร้ทักษะ เนื่องจากการดึงดูดการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลักจะทำให้ความต้องการแรงงานทักษะมากขึ้น

 

                   1.2 หนี้ครัวเรือนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง

                        สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสอง ปี 2562 มีมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.8 ชะลอลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 6.3 ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.7 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองชะลอตัวลงเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน ส่วนภาพรวมคุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อหลายประเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสสาม ปี 2562 มีมูลค่า 133,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.81 ต่อสินเชื่อรวม ขณะที่แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในช่วงครึ่งหลังปี 2562 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งแรกของปี แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ยังคงมีเพิ่มขึ้น

                   1.3 การเจ็บป่วยยังต้องเฝ้าระวัง โรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

                        ไตรมาสสาม ปี 2562 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 5.2 โดยผู้ป่วยโรคปอดอักเสบลดลงร้อยละ 31.1 และผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลงร้อยละ 1.3 แต่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.9 เนื่องจากในหลายพื้นที่ยังมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

                   1.4 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น

                        ไตรมาสสาม ปี 2562 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ขยายตัวร้อยละ 3.1 โดยปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขยายตัวร้อยละ 3.0 ขณะที่การบริโภคบุหรี่ขยายตัวร้อยละ 2.9 และมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ การบริโภคเบียร์ไร้แอลกอฮอล์และบุหรี่ไฟฟ้า

                   1.5 คดียาเสพติดเพิ่มสูง และต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันการกระทำรุนแรงทางร่างกาย/เพศ

                         ไตรมาสสาม ปี 2562 คดีอาญารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 เป็นคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.8 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 และแม้ว่าคดีชีวิต ร่างกาย และเพศจะมีสัดส่วนคดีเพียงร้อยละ 3.5 ของคดีอาญารวม แต่คดีดังกล่าวมีผลกระทบต่อเหยื่อผู้ถูกกระทำทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จึงควรสร้างความตระหนักและร่วมป้องกันและขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในทุกรูปแบบให้หมดสิ้นไป

                   1.6 การเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และมูลค่าความเสียหายลดลง

                        ไตรมาสสาม ปี 2562 สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 11.1 ผู้เสียชีวิตและมูลค่าความเสียหายลดลงร้อยละ 0.9 และ 2.1 ตามลำดับ รถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดยังคงเป็นรถจักรยานยนต์ สาเหตุของอุบัติเหตุอันดับแรกเกิดจากการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด               จึงต้องรณรงค์ให้ความรู้เพื่อควบคุมพฤติกรรมการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางถนน

          2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ

              2.1 เด็กไทย 1 ใน 5 เป็นเด็กยากจนหลายมิติ

                   จากรายงานดัชนีความยากจนหลายมิติของกลุ่มเด็กในประเทศไทย ระบุว่าในปี 2558/59 ในภาพรวมของประเทศมีสัดส่วนของเด็กที่มีความยากจนหลายมิติ คิดเป็นร้อยละ 21.5 สำหรับสาเหตุหลักอันดับหนึ่ง ได้แก่ มิติด้านการศึกษา รองลงมาคือมิติด้านสุขภาพ หากเปรียบเทียบระหว่างภูมิภาคพบว่า                                    ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่เด็กมีความยากจนหลายมิติมากที่สุด โดยเด็กในช่วงอายุ 0 - 4 ปี มีสัดส่วนของเด็กยากจนหลายมิติสูงที่สุด เด็กเพศชายมีค่าดัชนีความยากจนหลายมิติมากกว่าเพศหญิง รวมถึงระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือนนั้นสามารถส่งผลต่อความยากจนหลายมิติของกลุ่มเด็กในครัวเรือนได้ด้วยเช่นกัน

              2.2 การป้องกันเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์

                   จากรายงาน 2018 Digital Intelligence Quotient (DQ) Impact Report ซึ่งสำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 8 – 12 ปี จำนวน 1,300 คนทั่วประเทศ พบว่า เด็กไทยยังมีทักษะความฉลาดทางดิจิทัลต่ำ โดยร้อยละ 60 มีความเสี่ยงจากภัยออนไลน์ ภัยที่พบมากที่สุด คือ การถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ การเข้าถึงสื่อลามกและพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้า การติดเกม และการถูกล่อลวงออกไปพบคนแปลกหน้า ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และมีความฉลาดทางดิจิทัล ทั้งนี้ ควรเริ่มตั้งแต่ปฐมวัยเพราะเด็กเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่รายล้อมไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

              2.3 รูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่

                   ปัจจุบันแรงงานในประเทศไทยมีลักษณะการทำงานแบบคนรุ่นใหม่มากกว่า 2 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 300,000 – 600,000 คน โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 2524 – 2544 ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เติบโตมาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต อาชีพที่ผู้ว่าจ้างนิยมจ้างบุคคลในลักษณะการทำงานแบบคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย 4 อันดับแรก ได้แก่ กราฟิกดีไซน์ การตลาดออนไลน์และโฆษณา การทำเว็บและโปรแกรมมิ่ง และงานเขียนและแปลภาษา อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่ทำงานในรูปแบบใหม่ยังไม่มีความตระหนักถึงเรื่องการวางแผนด้านการเงินในอนาคตเท่าที่ควร

          3. บทความเรื่อง “ความก้าวหน้าการพัฒนาคนของประเทศไทย”

              ความก้าวหน้าการพัฒนาคนของประเทศไทยปี 2562 ในภาพรวมของประเทศมีความก้าวหน้าค่อนข้างคงที่ โดยค่าดัชนีการพัฒนาคนในปี 2562 เท่ากับ 0.6219 ใกล้เคียงกับปี 2558 และ 2560 และมีความก้าวหน้ามากขึ้นใน 4 ด้าน คือ ด้านการศึกษา ด้านชีวิตการงาน ด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม และด้านคมนาคมและการสื่อสาร ขณะที่มีความก้าวหน้าลดลง ใน 4 ด้าน คือ ด้านสุขภาพ ด้านรายได้ ด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน และการมีส่วนร่วม

               ความก้าวหน้าการพัฒนาคนเชิงพื้นที่ ภาคกลางมีความก้าวหน้าการพัฒนาคนมากที่สุด โดยมีการพัฒนาคนมากกว่าภาคอื่น ๆ ใน 3 ด้าน คือ ด้านสุขภาพ ด้านรายได้ และด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ขณะที่ภาคใต้ 3 จังหวัดชายแดนมีความก้าวหน้าน้อยที่สุด โดยมีการพัฒนาคนน้อยที่สุด 4 ด้าน คือ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านชีวิตการงาน และด้านรายได้

               ความท้าทายต่อการพัฒนาความก้าวหน้าของคนในประเทศไทย ได้แก่

(1) การสร้างเสริมสุขภาวะ เพื่อลดการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ (2) การยกระดับคุณภาพการศึกษาและลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างพื้นที่ โดยปรับระบบบริหารจัดการสถานศึกษาขนาดเล็กให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน พัฒนาระบบประเมินคุณภาพสถานศึกษาที่ยึดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นหลัก รวมทั้งให้การช่วยเหลืออุดหนุนและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลเพื่อเพิ่มอัตราการเข้าเรียนต่อระดับมัธยมปลายและอาชีวศึกษา (3) การยกระดับรายได้ โดยสนับสนุนการมีที่ดินทำกินอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการจ้างงานนอกฤดูกาลในพื้นที่ที่มีการว่างงาน ตลอดจนส่งเสริมทักษะการบริหารเงิน (4) การขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมโดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ รวมทั้งส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณอายุ และ (5) การสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีความเปราะบางและพื้นที่ในเขตเมือง โดยสร้างและพัฒนาผู้นำ การเปลี่ยนแปลงในชุมชน การส่งเสริมต่อยอดความรู้และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการความรู้ชุมชน ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน

 

6. เรื่อง การจัดกิจกรรม “ความสุขแบบวิถีไทย” ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2563 (กระทรวงวัฒนธรรม)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ เรื่อง การจัดกิจกรรม “ความสุขแบบวิถีไทย” ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นการเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมในช่วงของการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เพื่อสร้างความสุขให้แก่ประชาชนในมิติทางศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม จำนวน 4 กิจกรรม สรุปได้ ดังนี้

                       1. กิจกรรมทำความดีช่วงปีใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคล ได้แก่ 1) สวดมนต์ข้ามปีถวายพระราชกุศล เสริมสิริมงคลทั่วไทย 2563 ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2562 – 1 มกราคม 2563 ณ วัด ศาสนสถาน และสถานที่จัดกิจกรรมทั่วประเทศ 2) จัดช่องทางพิเศษและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มาไหว้พระช่วงปีใหม่ โดยกรุงเทพมหานครจัดกิจกรรม “ไหว้พระ 10 วัด สืบสิริสวัสดิ์ 10 รัชกาล” พร้อมทั้งให้บริการเดินรถปรับอากาศ องค์การขนส่งมวลชลกรุงเทพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จำนวน 10 วัด ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2562 – 1 มกราคม 2563 และส่วนภูมิภาคร่วมมือทางวัดจัดช่องทางอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มาไหว้พระหรือสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามวัดสำคัญของจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และ 3) สักการะพระพุทธรูปสำคัญ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สักการะพระพุทธรูป “พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน: พิพิธทศปฏิมาอารยศิลป์” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยมีพระพุทธสิหิงค์ (ศิลปะไทย) พระพุทธปฏิมาสำคัญประจำพระราชวังบวรสถานมงคลที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญยิ่งองค์หนึ่งของประเทศไทย เป็นประธาน พร้อมอัญเชิญพระพุทธรูปพุทธศิลป์นานาประเทศ อีก 9 องค์ ส่วนภูมิภาค อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญเพื่อให้นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปได้เข้าไปสักการะ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ

                       2. กิจกรรมท่องเที่ยวสุขสันต์ในแหล่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ได้แก่ 1) เปิดแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ให้เข้าชมฟรี โดยเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จำนวน 41 แห่ง และอุทยานประวัติศาสตร์ จำนวน 11 แห่ง ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนเข้าชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2562 – 1 มกราคม 2563 และ 2) เปิดหอศิลป์ร่วมสมัยให้ประชาชนเข้าชมฟรี ในวันที่ 29 ธันวาคม 2562 และ 2 มกราคม 2563 รวมถึงขอความร่วมมือหอศิลป์ภาคเอกชนในส่วนภูมิภาค เปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรีหรือลดค่าเข้าชมเป็นกรณีพิเศษ

                       3. กิจกรรมความหลากหลายทางวัฒนธรรมนำความสุข ได้แก่ 1) กิจกรรมศิลปวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ระหว่างเดือนธันวาคม 2562 – มกราคม 2563 โดยหน่วยงานในสังกัด วธ. ในส่วนภูมิภาคทุกจังหวัด ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ จัดกิจกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชนในจังหวัด และจัดการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ระหว่างวันที่ 5 – 31 มกราคม 2563 ณ สถานศึกษาในสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และ 2 ) กิจกรรม ทึ่ง! หนังโลก ร่วมกับเจแปน ฟาวน์เดชั่น กรุงเทพมหานคร มอบของขวัญเนื่องในวันครบรอบ 124 ปี วันกำเนิดภาพยนตร์โลก และส่งความสุขปีใหม่ด้วยการจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง “Seven Samurai : เจ็ดเซียนซามูไร” ในวันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2562 ณ โรงภาพยนตร์สกาลา กรุงเทพมหานคร

                       4. กิจกรรมส่งความสุขปีใหม่ด้วยของขวัญวิถีไทย ได้แก่ 1) ให้บริการบัตรอวยพรส่งความสุขปีใหม่รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์การ์ด ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2562 – 15 มกราคม 2563 รวมทั้งสอนวิธีการจัดทำบัตรอวยพรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์การ์ดผ่านช่องทางออนไลน์ และจัดอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจ ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร และ 2 ) กิจกรรม “ของขวัญ ของฝาก จากวัฒนธรรมไทย” โดยคัดเลือกผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นของแต่ละจังหวัด (Cultural Product of Thailand: CPOT) และจัดงานออกร้านจำหน่าย สาธิต และจัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นในพื้นที่ต่าง ๆ ในรูปแบบ “Road Show” ในช่วงเดือนธันวาคม 2562

 

7. เรื่อง แผนงาน/โครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ (ปีพุทธศักราช 2563) ให้แก่ประชาชน (กระทรวงกลาโหม)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอแผนงาน/โครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ (ปีพุทธศักราช 2563) ให้แก่ประชาชน ภายใต้การดำเนินโครงการ “เติมความสุข ให้คนไทย จากใจทหาร” ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2562 – 6 มกราคม 2563 โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มงานหลัก ได้แก่ งานสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน งานการช่วยเหลือประชาชน และงานให้บริการและอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนได้เฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ ปีพุทธศักราช 2563 อย่างมีความสุข โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

 

กลุ่มงานหลัก

โครงการ/กิจกรรม

งานสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

การจัดเตรียมความพร้อมของกำลังพล เพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนในพื้นที่ตามแนวชายแดนและพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านความมั่นคงของประเทศ

งานช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยว

การจัดตั้งจุดบริการช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยจัดจุดพักรถเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ ซึ่งจะมีการให้บริการสุขาเคลื่อนที่ การบริการเครื่องดื่มและอาหารว่าง การบริการทางการแพทย์ การบริการตรวจสภาพและซ่อมแซมยานพาหนะตามถนนสายหลักด้านหน้าที่ตั้งของหน่วยทหาร รวมถึงถนนสายรองที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าพื้นเมืองราคาถูก การแสดงดนตรีและสันทนาการ จุดบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตและชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ และการบริการนวดผ่อนคลายจำนวนกว่า 600 จุดทั่วประเทศ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวทางทะเล

งานให้บริการและอำนวยความสะดวกอื่น ๆ

การจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคราคาถูก ภายในพื้นที่ของหน่วยทหารทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยในการลดค่าครองชีพ

เปิดแหล่งท่องเที่ยวและพิพิธภัณฑ์ในเขตทหารทั่วประเทศ ให้ประชาชนสามารถเข้าชมโดยไม่คิดค่าบริการ

ให้บริการศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยดำเนินการให้บริการประชาชนในหน่วยทหารทั่วประเทศ

 

8. เรื่อง แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เสนอแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 ซึ่งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 เห็นชอบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด อำเภอ และกรุงเทพมหานคร ใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการฯ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

                   1. การรณรงค์ภายใต้หัวข้อ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” ได้กำหนดช่วงการดำเนินการเป็น 3 ช่วงเวลา ดังนี้

ช่วงเวลา

แนวทางการดำเนินการ

1 พฤศจิกายน 2562 – 2 มกราคม 2563

ช่วงการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจัดทำแผนงาน/กิจกรรมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผ่านทุกช่องทางการสื่อสารเพื่อให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย

1 – 26 ธันวาคม 2562

ช่วงเตรียมความพร้อม

- ให้จัดตั้งศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ฯ เพื่ออำนวยการ ควบคุม กำกับ ดูแล และติดตามประเมินผลการดำเนินงานในพื้นที่

- ให้หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จังหวัด และกองบัญชาการตำรวจนครบาลจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action plan) เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน 

- ให้ ศปถ. จังหวัดและกรุงเทพมหานคร บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนดำเนินการในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach)

27 ธันวาคม 2562 – 2 มกราคม 2563

ช่วงควบคุมเข้มข้น ให้หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จังหวัดและกรุงเทพมหานคร เพิ่มความเข้มข้นโดยเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง และให้จัดตั้งจุดตรวจ/จุดบริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน รวมทั้งจัดเตรียมความพร้อมด้านการตอบสนองหลังการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

                   2. การกำหนดระดับความเสี่ยงของสถานการณ์อุบัติเหตุ เป็น 4 ระดับ โดยกำหนดจากสถิติจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (ปี 2560 – 2562) ดังนี้

ระดับความเสี่ยง

จำนวนอำเภอ

ระดับความเสี่ยงสีแดง

34

ระดับความเสี่ยงสีส้ม

138

ระดับความเสี่ยงสีเหลือง

664

ระดับความเสี่ยงสีเขียว

42

                   3. การกำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดย ศปถ. ได้กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach) เพื่อการดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวม 7 มาตรการ ได้แก่

มาตรการ

สาระสำคัญ

3.1 การลดปัจจัยเสี่ยงด้านคน

- บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง

- รณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยทางถนน

3.2 การลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม

- ดำเนินมาตรการ “1 ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย”

- สำรวจตรวจสอบลักษณะกายภาพของถนน จุดเสี่ยง จุดอันตราย เพื่อปรับปรุงซ่อมแซม รวมทั้งตรวจสอบสิ่งอันตรายข้างทาง

- แก้ไขปัญหาบริเวณจุดตัดทางรถไฟให้มีความปลอดภัยในการสัญจร

- เตรียมช่องทางพิเศษ ทางเลี่ยงทางลัด และติดตั้งเครื่องหมายและป้ายเตือน 

3.3 การลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ

- กำกับ ควบคุม ดูแลรถโดยสารสาธารณะดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย

- เข้มงวด กวดขันกับผู้ใช้รถกระบะที่บรรทุกน้ำหนักเกิน รถยนต์ตู้ส่วนบุคคลหรือรถเช่า ให้มีมาตรฐานความปลอดภัย

3.4 การช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ

- เตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และหน่วยบริการการแพทย์ หน่วยกู้ชีพและกู้ภัย

- ประชาสัมพันธ์ระบบการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ผู้ประสบเหตุควรจะได้รับ เช่น ช่องทางการแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน การจ่ายค่ารักษาพยาบาลผ่านระบบ e-claim และการจ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใน 24 ชั่วโมง 

3.5 การดูแลความปลอดภัยทางน้ำ

- จัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยทางน้ำ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

- ตรวจสอบความปลอดภัยของเรือโดยสารและโป๊ะเทียบเรือ และจัดเจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือ

3.6 การดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว

- เข้มงวด กวดขัน ดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวเป็นพิเศษตั้งแต่สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ สนามบิน และเส้นทางที่เข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว

- รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้เดินทางอย่างระมัดระวังและเคารพกฎจราจร 

3.7 การบริหารจัดการ

- ให้จัดตั้งศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ฯ เพื่ออำนวยการควบคุม กำกับ ดูแล และติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ

- ให้จังหวัดและกรุงเทพมหานครดำเนินการตามมาตรการ “ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์” อย่างเข้มข้น

- ให้คณะทำงานวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทางถนนตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

 

9. เรื่อง ขอเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้งบประมาณภายใต้มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้”

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอขอเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้งบประมาณวงเงินสิทธิ์ในการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการส่งเสริม “ชิมช้อปใช้” (มาตรการส่งเสริมฯ) และมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” (มาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ) g-Wallet ช่อง 1 คงเหลือจำนวน 262,003,000 บาท เป็นเงินชดเชยค่าซื้อสินค้าและบริการผ่าน g-Wallet ช่อง 2 แทน

                   สาระสำคัญ

                   1. มาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ เป็นการให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันลงทะเบียน และมีบัตรประจำตัวประชาชน รวมจำนวนไม่เกิน 15 ล้านคน (มาตรการส่งเสริมฯ ไม่เกิน 10 ล้านคน และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ไม่เกิน 5 ล้านคน) โดยผู้ลงทะเบียนจะได้รับสิทธิประโยชน์เพื่อการใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวในจังหวัดที่เลือกที่ไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน ผ่าน  g-Wallet ดังนี้

                       1.1 รัฐบาลสนับสนุนวงเงินสำหรับบัญชี g-Wallet ช่อง 1 จำนวน 1,000 บาท ต่อคน เพื่อเป็นสิทธิ์ในการซื้อสินค้าและบริการในจังหวัดที่เลือกไว้เมื่อตอนลงทะเบียนกับผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมบัญชีกลางกำหนด และติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” เฉพาะผู้ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการส่งเสริมฯ ไม่เกิน 10 ล้านคน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 และผู้ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ไม่เกิน 3 ล้านคน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 สำหรับผู้ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ไม่เกิน 2 ล้านคน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 จะไม่ได้รับวงเงินสนับสนุนดังกล่าว

                       1.2 กรณีที่ผู้ลงทะเบียนเติมเงินเข้าบัญชี g-Wallet ช่อง 2 เพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พัก รวมถึงบริการต่าง ๆ ตามปกติของที่พักนั้น ค่าซื้อสินค้าท้องถิ่น ค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ หรือค่าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในท้องถิ่นนั้น เช่น สปา การเช่าพาหนะ ค่าบริการนำเที่ยวในพื้นที่ เป็นต้น ในจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้านกับผู้ประกอบการร้านค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมบัญชีกลางกำหนด และติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” รัฐบาลจะสนับสนุนเงินชดเชยเข้าบัญชี g-Wallet ช่อง 2 ดังนี้

                             (1) เงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 15 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน)

                             (2) เงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 20 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน สำหรับวงเงินใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 20,000 บาทต่อคน)

                   2. มาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ เพิ่มเติม ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 เห็นชอบให้การใช้จ่ายค่าสินค้าและบริการผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ตามมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ให้สามารถใช้จ่ายได้ทุกจังหวัด รวมทั้งจังหวัดตามทะเบียนบ้านโดยให้รวมถึงค่าบริการแพ็กเกจที่พักพร้อมการเดินทางหรือบริการที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนค่าสินค้าและบริการผ่านระบบที่ตรวจสอบการทำธุรกรรมได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด

                   ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มกราคม 2563 ซึ่งกระทรวงการคลังได้กำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินชดเชย โดยประชาชนที่มีการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2562 ได้รับเงินชดเชยภายในเดือนธันวาคม 2562 การใช้จ่ายเงินเดือนธันวาคม 2562 ได้รับเงินชดเชยภายในเดือนมกราคม 2563 และการใช้จ่ายในเดือนมกราคม 2563 ได้รับเงินชดเชยภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

                   3. ความคืบหน้าการดำเนินมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2562 มีผู้ได้รับสิทธิ์ 14,354,159 ราย โดยมีผู้ใช้สิทธิ์รวมเป็นจำนวน 11,787,584 ราย มียอดการใช้จ่ายทั้งสิ้น 21,546 ล้านบาท

                   4. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้รับจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 10,000,000,000 บาท และเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,000,000,000 บาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 12,000,000,000 บาท โดยให้กรมบัญชีกลางเป็นผู้อนุมัติและดำเนินการแทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยผ่านวิธีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณแทนกัน ซึ่งผลการเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ จากการใช้จ่ายของประชาชนผ่าน g-Wallet ช่อง 1 ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2562 เป็นเงินทั้งสิ้น 11,737,997,000 บาท ซึ่งจะทำให้มีเงินคงเหลือจำนวนทั้งสิ้น 262,003,000 บาท

 

ต่างประเทศ

10. เรื่อง การเข้าร่วม NDC Partnership ของประเทศไทย

                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วม Nationally Determined Contribution Partnership (NDC Partnership) โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานประสานงานหลัก (Focal Point) ของประเทศร่วมกัน และเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความจำนงอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วม NDC Partnership และมอบหมายให้ สผ. ยื่นหนังสือดังกล่าว เพื่อแสดงเจตจำนงอย่างเป็นทางการในการเข้าร่วม NDC Partnership ตามขั้นตอนต่อไป ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

                   อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมร่างหนังสือแสดงความจำนงอย่างไม่เป็นทางการจากที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปแล้วหากการปรับเปลี่ยนไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้สามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ด้วย

                   สาระสำคัญของเรื่อง

                             1. NDC Partnership เกิดขึ้นครั้งแรกในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 22 (COP22) เมื่อปี พ.ศ. 2559 ณ เมืองมาร์ราเกซ ราชอาณาจักรโมร็อกโก โดย NDC Partnership จะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกทั้งในด้านวิชาการ (Technical Assistance) ด้านผลิตผลทางความรู้ (Knowledge Products) และด้านการสนับสนุนทางการเงิน (Facilitating Finance) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาพใหญ่ (Large – scale Climate Target) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยการเข้าร่วม NDC Partnership เป็นไปโดยความสมัครใจ ปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิก NDC Partnership จำนวน 100 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียนจำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2562)

                             2. NDC Partnership มีวัตถุประสงค์ จำนวน 5 ประการ ดังนี้

                            2.1 บูรณาการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวาระการพัฒนา (ภายใต้กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน) ให้มีความสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น

                             2.2 สนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศและความมือทวิภาคีที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและส่งเสริมและต่อยอดกับการดำเนินงานของประเทศ

                             2.3 เพิ่มศักยภาพการเข้าถึงการดำเนินงาน เครื่องมือ และทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับ NDC ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งความช่วยเหลือทางวิชาการและพื้นฐานความรู้ที่เกี่ยวข้อง

                             2.4 เพิ่มแรงผลักดันทางการเมือง โดยให้ความสำคัญกับพันธกรณีและความตระหนักของฝ่ายการเมือง เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมกับการดำเนินงาน NDC ซึ่ง NDC Partnership จะสนับสนุนการดำเนินงาน NDC ในขั้นตอนต่าง ๆ รวมทั้งการผลักดันให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน

                             2.5 ส่งเสริมการกำหนดและนำนโยบายและยุทธศาสตร์ระยะยาวไปปฏิบัติ เพื่อมุ่งสู่การกำหนด NDC ที่มีความท้าทายอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เนื่องจากการกำหนด NDC ในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสได้

 

11. เรื่อง ร่างเอกสารขอบเขตหน้าที่ของศูนย์ระดับโลกเพื่อการศึกษาแม่น้ำโขง

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างเอกสารขอบเขตหน้าที่ (Term Of Reference : TOR)  ของศูนย์ระดับโลกเพื่อการศึกษาแม่น้ำโขง (The Global Center for Mekong Studies : GCMS) และอนุมัติให้สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (สป.กต.) GCMS Thailand Center โดยผู้อำนวยการสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ให้การรับรอง TOR ของศูนย์ GCMS ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่าง TOR ของศูนย์ GCMS ให้กระทรวงการต่างประเทศ สามารถดำเนินการได้โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของไทย โดยไม่ต้องเสนอปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำนั้นให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ

                   สาระสำคัญร่าง TOR ของศูนย์ GCMS สรุปได้ ดังนี้

                   1. วิสัยทัศน์ ศูนย์ GCMS ถูกกำหนดให้เป็นเครือข่ายเพื่อความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางวิชาการของสถาบันคลังสมองในกลุ่มประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง มีเป้าหมายเพื่อให้การสนับสนุนทางปัญญาแก่กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง

                   2. การดำเนินงาน ศูนย์ GCMS ของแต่ละประเทศมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการแต่งตั้งผู้ประสานงานเพื่อเข้าร่วมการประชุมประสานงานของศูนย์ GCMS โดยการประชุมผู้ประสานงานฯ จะเป็นกลไกลเพียงหนึ่งเดียวในการตัดสินใจโดยอยู่บนพื้นฐานของหลักฉันทามติและการปรึกษาหารือที่ใกล้ชิดและฉันมิตร

                   3. กิจกรรม ประธานร่วมจะจัดการประชุมเครือข่ายคลังสมองของศูนย์ GCMS ทุกปี โดยศูนย์ GCMS อาจนำเสนอข้อเสนอ/ข้อเสนอแนะ ผลงานวิจัย และการจัดกิจกรรมที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยเสนอผ่านช่องทางคณะทำงานร่วมทางการทูต และที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ไปยังที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้างเพื่อพิจารณาตามลำดับ ทั้งนี้ ศูนย์ GCMS จะดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ได้แก่ ฉันทามติ ความเท่าเทียมกัน การปรึกษาหารือร่วมและการประสานงาน ความสมัครใจ การมีส่วนร่วมและการได้รับประโยชน์ร่วมกัน การเคารพในกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งสอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศ ระเบียบ ข้อบังคับ และขั้นตอนของแต่ละประเทศสมาชิก บนพื้นฐานแห่งเจตนารมณ์แห่งมิตรภาพ การเปิดกว้าง การมีส่วนร่วม และเสริมสร้างสาขาที่สำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียน และความร่วมมืออาเซียน – จีน และสอดประสานกับกลไกความร่วมมือในอนุภูมิภาคที่มีอยู่

                   4. งบประมาณ งบประมาณหลักในการดำเนินกิจกรรมของศูนย์ GCMS จะมาจากกองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง

                   5. กระบวนการทบวน เนื้อหาของขอบเขตหน้าที่นี้จะได้รับการทบทวนโดยผู้ประสานงานของ ศูนย์ GCMS เพื่อการศึกษาแม่น้ำโขงเมื่อเห็นว่าเหมาะสมและมีความจำเป็น

 

12. เรื่อง การลงนามในร่างความตกลงสำหรับดำเนินโครงการภายใต้กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างความตกลงสำหรับดำเนินโครงการภายใต้กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง และอนุมัติให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างความตกลงสำหรับดำเนินโครงการภายใต้กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างความตกลงดังกล่าว ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

                   สาระสำคัญของร่างความตกลงฯ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณโครงการที่ได้รับอนุมัติจากฝ่ายจีนให้เกิดประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมสำหรับความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

                             1. หลักการเบื้องต้น: มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดสันติภาพและความมั่นคง ต่อสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง โดยปฏิบัติตามเจตนารมณ์ในการปรึกษาหารือ ความร่วมมือ การช่วยเหลือ และมีผลประโยชน์ร่วมกัน เคารพกฎหมายและกฎระเบียบของทั้งไทยและจีน และร่วมกันติดตามประเมินโครงการและการใช้กองทุน

                             2. โครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ: ได้แก่ โครงการ Demonstration on Forestry Poverty Alleviation in Thailand จำนวนเงิน 2,430,000 หยวน (RMB)

                             3. การจัดสรรงบประมาณ: ฝ่ายจีนจะจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนเต็มให้กับฝ่ายไทยภายใน 20 วันทำการ หลังจากการลงนามในร่างความตกลงฯ และฝ่ายไทยจะแจ้งการได้รับเงินอย่างเป็นทางการภายใน 10 วันทำการ หลังจากได้รับการจ่ายเงิน

                             4. การบริหารจัดการและประเมินผล: ฝ่ายไทยมอบหมายให้กรมป่าไม้ รับผิดชอบในการวางแผนและดำเนินโครงการ รวมทั้งบริหารงบประมาณโครงการฯ โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่กำกับ ดูแล ตรวจสอบความก้าวหน้า ประสิทธิภาพของการดำเนินโครงการและการใช้งบประมาณให้เป็นไปตามข้อกำหนด ทั้งนี้ ฝ่ายไทยจะเร่งรัดหน่วยงานดำเนินโครงการจัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการเมื่อเสร็จสิ้นแล้ว รวมทั้งดำเนินการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนหลังโครงการเสร็จสมบูรณ์ และนำส่งงบประมาณส่วนที่เหลือให้แก่ฝ่ายจีนภายใน 3 เดือนหลังจบโครงการ

 

13. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมสำหรับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระดับรัฐมนตรี อย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 3

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมสำหรับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระดับรัฐมนตรี อย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 3 และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง และอนุมัติให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายถาวร เสเนียม) หรือผู้ได้รับมอบหมาย ร่วมให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

                   สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ร่วมฯ มีดังนี้

                             1. การดำเนินการตามความตกลง GMS Cross-Border Transport Agreement (CBTA) ระยะแรก การรับทราบว่าประเทศสมาชิก 3 ประเทศได้ออกใบอนุญาตการขนส่งทางถนน “ระยะแรก” และเอกสารนำเข้าชั่วคราวแล้ว และให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะกรรมการอำนวยความสะดวกการขนส่งแห่งชาติ (NTFCs) ติดตามการดำเนินการออกใบอนุญาตการขนส่งทางถนนของประเทศสมาชิกให้เสร็จสมบูรณ์และตรวจสอบการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจ “ระยะแรก” อย่างจริงจัง และรายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการร่วมฯ เพื่อทราบปีละสองครั้ง และเห็นชอบร่วมกัน ดังนี้

                                      (1) เจ้าหน้าที่อาวุโสควรมีการปรับปรุงสถานะข้อมูลหมายเลขทะเบียนรถที่มีการแจ้งเวียนให้ประเทศสมาชิกรับทราบผ่านธนาคารพัฒนาเอเชียอย่างเป็นประจำ

                                      (2) ยานพาหนะที่ได้รับใบอนุญาตการขนส่งทางถนน “ระยะแรก” และเอกสารนำเข้าชั่วคราว ควรที่จะสามารถทำการเดินรถได้ในทุกเส้นทางที่ระบุไว้ในพิธีสาร 1 และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ณ ด่านพรมแดนที่ระบุไว้ในพิธีสาร 1 ควรอนุญาตให้ยานพาหนะที่มีหมายเลขทะเบียนรถตามที่แต่ละประเทศได้แจ้งเวียนผ่านธนาคารพัฒนาเอเชียเข้าในประเทศของตนได้

                                      (3) เจ้าหน้าที่อาวุโสควรร่างขั้นตอนเพื่อใช้เป็นแนวทางในการนำยานพาหนะเข้าถึงระบบศุลกากรผ่านแดนของแต่ละประเทศ

                                      (4) คณะอนุกรรมการด้านศุลกากรของ CBTA จะพิจารณาในประเด็นการจัดทำบันทึกความเข้าใจในอนุภูมิภาคอย่างเป็นทางการ รวมถึงบันทึกความเข้าใจแบบทวิภาคี หรือในรูปแบบภาคผนวกของบันทึกความเข้าใจ “ระยะแรก” สำหรับการเข้าถึงระบบศุลกากรผ่านแดนของแต่ละประเทศและจะรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งถัดไป

                                      (5) ยานพาหนะที่มีใบอนุญาตการขนส่งทางถนน  “ระยะแรก” และเอกสารนำเข้าชั่วคราว ควรมีสิทธิเข้าถึงสถานที่ทุกแห่งที่ระบุไว้ในพิธีสาร 1 เช่นเดียวกันยานพาหนะท้องถิ่น โดยจะต้องไม่ทำการขนส่งภายในประเทศของประเทศภาคีคู่สัญญา

                                      (6) การสิ้นสุดของการมีผลบังคับใช้บันทึกความเข้าใจในการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จะขยายระยะเวลาออกไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เพื่อให้ตรงกับระยะเวลาที่เมียนมาจะเข้าร่วมดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจ “ระยะแรก”

                             2. การขยายพิธีสาร 1 ของความตกลง CBTA การรับทราบว่าประเทศสมาชิก 2 ประเทศ คือ ไทยและเมียนมาได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเปิดเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศและจุดข้ามแดนเพิ่มเติม ภายใต้พิธีสาร 1 ของ CBTA แล้วและขอให้ประเทศสมาชิกที่เหลือดำเนินกระบวนการภายในของตนให้แล้วเสร็จเพื่อให้สามารถลงนามได้ภายในวันที่ 21 มีนาคม 2563

                             3. การติดตามและประเมินผล การมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะกรรมการอำนวยความสะดวกการขนส่งแห่งชาติ (NTFC) ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล ณ จุดข้ามแดนที่ระบุไว้ในพิธีสาร 1 และเส้นทางที่ขยายเพิ่มเติมที่แนบท้ายบันทึกความเข้าใจฯ และจัดส่งข้อมูลภายในวันที่ 31 มกราคม 2563 เพื่อให้สถาบันลุ่มน้ำโขงดำเนินการติดตามและประเมินผลการดำเนินการ “ระยะแรก” โดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งที่ 8 ในปี 2563

 

แต่งตั้ง

14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

                   1. นางสาววิลาวัลย์ ตาน้อย ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบราชการ 2 ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ (นักพัฒนาระบบราชการทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2562

                   2. นางศิริพร วัยวัฒนะ ผู้อำนวยการกองกิจการองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐรูปแบบอื่น ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ (นักพัฒนาระบบราชการทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2562  

                   3. นางสาววิริยา เนตรน้อย ผู้อำนวยการกองบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ (นักพัฒนาระบบราชการทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2562   

                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

 

15. เรื่อง การแต่งตั้งโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ การแต่งตั้งโฆษก อว. ซึ่งแต่งตั้งให้นายอภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ เป็น โฆษก อว. ตามคำสั่ง อว. ที่ 116/2562 เรื่อง แต่งตั้งโฆษก อว. สั่ง ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562

 

16. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ตามนัยมาตรา 14 วรรคสองแห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 ดังนี้ 

                   1. นายวิทยา ยาม่วง                          ประธานกรรมการ 

                   2. นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์                   กรรมการ

                   3. นายสุเมธ สังข์ศิริ                          กรรมการ

                   4. นางปาณิสรา ดวงสอดศรี                  กรรมการ

                   5. พลตำรวจโท กรไชย คล้ายคลึง           กรรมการ

                   6. นายภาณุทัด แนวจันทร์                   กรรมการ

                   7. นายจำเริญ โพธิยอด                       กรรมการ 

                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป

 

17. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการสภาการศึกษา แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา และการวัดและประเมินผลการศึกษา ที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอ ดังนี้

                   1. รับทราบกรณี รองศาสตราจารย์จีรเดช อู่สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา และการวัดและประเมินผลการศึกษาในคณะกรรมการสภาการศึกษา 

                   2. เห็นชอบแต่งตั้ง นายวณิชย์ อ่วมศรี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา และการวัดและประเมินผลการศึกษา ในคณะกรรมการสภาการศึกษา แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ (ตามข้อ 1.)

                   และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน โดยให้การแต่งตั้งมีผลตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสภาการศึกษาในครั้งต่อไปให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 (เรื่อง การดำเนินการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย)

 

18. เรื่อง การบรรจุข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษากลับเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอให้บรรจุ ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล พนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ซึ่งเดิมเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ได้ลาออกจากราชการ เพื่อเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย) กลับเข้ารับราชการ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

 

19. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชน

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชน ดังนี้

                   1. นายมรกต พิธรัตน์               เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินระดับชุมชน  

                   2. นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย           เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาชุมชน

                   3. นายนิพนธ์ ฮะกีมี                เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย

                   4. นายนรินทร์ กัลยาณมิตร        เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจ การเงินหรือการคลัง

                   5. นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ       เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบัญชี

                   6. นายสุรพล โอภาสเสถียร         เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารความเสี่ยงหรือการประกันภัย

                   7. นายผยง ศรีวณิช                 เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยี 

                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป

 

20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2568
  • เช็ครายชื่อ! ครม.มีมติแต่งตั้งข้าราชการหลายตำแหน่ง เช็ครายชื่อ! ครม.มีมติแต่งตั้งข้าราชการหลายตำแหน่ง
  • วัยโจ๋รอเก้อ! เงินหมื่นเฟส 3 ดิจิทัลวอลเล็ต ยังไม่เข้า ครม. ขอฟังความเห็นก่อน วัยโจ๋รอเก้อ! เงินหมื่นเฟส 3 ดิจิทัลวอลเล็ต ยังไม่เข้า ครม. ขอฟังความเห็นก่อน
  • ยก 2 คำถามฟาดวุฒิภาวะ‘อิ๊งค์’ ปรับ‘นายกรัฐมนตรี’ก่อนปรับครม. ยก 2 คำถามฟาดวุฒิภาวะ‘อิ๊งค์’ ปรับ‘นายกรัฐมนตรี’ก่อนปรับครม.
  • เช็ครายชื่อ! ครม.มีมติแต่งตั้งข้าราชการหลายตำแหน่ง เช็ครายชื่อ! ครม.มีมติแต่งตั้งข้าราชการหลายตำแหน่ง
  • สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 29 เมษายน 2568 สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 29 เมษายน 2568
  •  

Breaking News

เริ่มแล้ว!!! การแข่งขันเรือใบ Trat Regatta 2025 ระดับนานาชาติครั้งแรกในจังหวัดตราด

'โฆษก​ มท.'แจงแล้ว! ​ปมเรียก​สรรพนาม'คุณลูกค้า'แทน'คุณลุง​-​คุณป้า'

ด่วน!เปิดชื่อ 55 สว. เรียกรับทราบข้อหาปม'คดีฮั้ว' แบ่งเป็น 3 ลอต

ชั้น 14 ส่อวุ่นอีก!!! 'รพ.ราชทัณฑ์'เล็งฟ้องศาลเพิกถอนมติ'แพทยสภา'

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved