เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 วิมล ไทรนิ่มนวล นักเขียนรางวัลซีไรต์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุเนื้อหาว่า “ประวัติศาสตร์ความหิว”
ผมซาบซึ้งดีว่า “หิว” นั้นเป็นอย่างไร
คนรวยหิวไม่ต้องทุกข์วิตกอะไร แต่คนจนหิวเหมือนตกลงสู่หุบเหวแห่งความมืดมน ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ฟ้าจะสว่าง หรือไต่ขึ้นพ้นขอบเหวได้
ในวัยเด็ก..ผมเรียนชั้นประถมอยู่ที่บ้านนอก (อ.บางเลน จ.นครปฐม) เป็นช่วงเวลาที่หิวอย่างทรมานมาก เพราะไม่มีข้าวไปกินที่โรงเรียนได้ทุกวัน..มีแต่ข้าว ไม่มีกับข้าว สตางค์ก็มีบ้างไม่มีบ้าง
ตอนพักเที่ยงก็ได้แต่มองเพื่อนนักเรียนล้อมวงกินข้าวกันที่ระเบียง บางวันเพื่อนก็เรียกให้กินด้วย แต่ถ้าวันไหนเพื่อนไม่เรียก หรือผมไม่ได้เอาข้าวไป..พอตกบ่ายก็หิวจนตาลาย เรียนไม่รู้เรื่อง มึนหัวจะเป็นลม ได้แต่เร่งเวลาเรียนให้หมดเร็วๆ จะได้กลับไปกินข้าวคลุกกะปิหรือน้ำปลาที่บ้าน
ตอนเลิกเรียน..ระหว่างเดินกลับบ้านก็มักจะเป็นลมนอนฟุบพิงคันนาเสมอ ถ้าเป็นหน้าข้าวกำลังท้องก็จะดึงปล้องของมันมากินนมข้าว แต่เมื่อเพื่อนบอกว่า ถ้าขโมยข้าวคนอื่นกิน จะต้องเกิดเป็นควายให้เขาใช้ทำงาน 100 ชาติ ผมจึงต้องยอมหิวต่อไป
เมื่อพ่อแม่เปลี่ยนจากชาวนาเป็นชาวอพยพ...เข้าไปอยู่ในสลัมห้วยขวาง ผมเข้าเรียนชั้นประถม 6-7 ที่นั่น (ร.ร.ประชาราษฏร์อุปถัมภ์) ก็หิวบ้างอิ่มบ้าง และก็มักจะหมดแรงตอนเดินกลับบ้านบ่อยๆ
พอเข้าเรียนชั้นมัธยม 1 (ร.ร.กุนนทีรุทธาราม วิทยาคม) ก็ยังคงหิวบ้างอิ่มบ้างอย่างเดิม แต่น้อยลง เพราะมีสตางค์ซื้อน้ำหวานบ้าง ขนมบ้าง จนเรียนชั้นมัธยม 2 อาจารย์ใหญ่จึงให้ทุนอาหารกลางวันๆละ 2 บาท ก็เอาสมทบกับสตางค์ที่แม่ให้พอได้ซื้อข้าวแกงกินทุกวัน (ข้าวแกงจานละ 2.50 บาท)
ผมหมดปัญหาเรื่องหิวอย่างที่ไม่รู้ว่า วันต่อไปจะกินอะไร ก็ต่อเมื่อถึงปี พ.ศ.2519 เพราะได้ทำงานที่มั่นคง (ข้าราชการครู แต่ก็ลาออกในอีก 10 ปีต่อมา) เมื่อนับประวัติศาสตร์ความหิวของผมก็ 20 ปีพอดี
เพราะซาบซึ้งกับความหิวนี้ดี ผมจึงไม่รีรอที่จะช่วยทั้งคนและสัตว์ที่หิวเสมอมา..อย่างน้อยก็ให้มันได้อิ่มสักมื้อ แม้ตัวเองจะหิวบ้างอดบ้างก็ไม่ทุกข์ร้อนอะไร เพราะรู้ว่า ไม่ได้หิวถาวรอย่างที่เคยเป็นมา
เพราะเป็นชนอพยพ - เร่ร่อนเช่าห้องอยู่ในถิ่นห้วยขวางหลายที่ ครั้งสุดท้ายพ่อปลูกกระต๊อบลงในบึงน้ำครำ ตรงข้ามตลาดเปรมฤทัยแค่ถนนคั่น และต้องลุ้นระทึกอยู่ตลอดเวลาว่าเมื่อไหร่จะโดนไล่ ผมจึงเข้าใจคนไม่มีบ้านและคนสิ้นไร้ไม้ตอกดี (จึงปลูกบ้านให้คนไร้บ้านที่ไม่เคยรู้จักอยู่มา 10 กว่าปีแล้ว)
ทุกวันนี้ผมไม่มีปัญหาเรื่องหิว (วันหน้าไม่แน่) แต่ก็ไม่ได้เชื่อว่า จะไม่มีคนหิวอีกแล้ว ตรงกันข้ามผมยังเห็นคนหิว คนไร้บ้าน คนไร้ที่ดินทำกิน คนที่ทำงานหนักแต่ก็ยังหิวอยู่ดี
และผมก็เห็นคนขี้เกียจ ขี้ขโมย ขี้โกง ติดการพนัน ติดยา เช่นเดียวกัน แต่คนเหล่านี้ไม่ใช่ข้ออ้างที่เราจะไม่เกื้อกูลกัน...เมื่อรัฐบาลมีโครงการจะช่วยเหลือคนหิว - คนจน ผมก็ไม่ค้าน แต่ก็ไม่สบายใจที่ได้รู้ว่า คนที่ไม่ควรจะได้รับความช่วยเหลือกลับได้ ส่วนคนที่ควรจะได้กลับไม่ได้
เรื่องเงินช่วยเหลือต่างๆแบบให้เปล่านี้จะมีต่อไปอีก ท่ามกลาง “วิถีชีวิตที่ใครมือยาวสาวได้สาวเอา” แต่ผมอยากเห็นการช่วยเหลือที่ “คนหิว - คนจน” สามารถพึ่งพาตัวเองไม่ให้หิวได้ตลอดไปมากกว่า...
รัฐบาลจึงต้องหาตัว “คนหิว - คนจนที่อยากพึ่งพาตัวเองจริง” ให้ได้ก่อน จึงสนับสนุนเงินและความรู้ รวมทั้งติดตามดูแลอย่างเข้มงวด เพราะผมก็เห็นว่ามีคนหิว - คนจนบางส่วนไม่อยากพึ่งพาตัวเองจริง
รัฐบาลไหนทำอย่างนี้ผมก็เชียร์ เพราะอยากเห็น “ประวัติศาสตร์ความหิว” เป็นเพียงตำนานไว้เล่าให้ลูกหลานฟัง.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี