วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / การเมือง
สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 21 เมษายน 2563

สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 21 เมษายน 2563

วันอังคาร ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2563, 18.19 น.
Tag : สรุปมติคณะรัฐมนตรี ครม. คณะรัฐมนตรี
  •  

วันนี้ (21 เมษายน 2563) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบ Video Conference ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย


1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป โดยให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตาม หมวด 16 การปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

                   สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ 

                   1. แก้ไขเพิ่มเติมความในวรรคสี่ ของมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 เพื่อกำหนดให้กรณีผู้มีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดินขอออกเอกสารสิทธิ ในการพิจารณาของศาล ให้ศาลแจ้งหน่วยงานของรัฐผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินของรัฐตามกฎหมายได้มีส่วนให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของศาล โดยตรวจสอบกับระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศหรือระวางรูปถ่ายทางอากาศฉบับที่ทำขึ้นก่อนสุด เท่าที่ทางราชการมีอยู่ประกอบการตรวจสอบตำแหน่งที่ดินและข้อเท็จจริงอื่น พร้อมทั้งทำความเห็นเสนอต่อศาล เป็นการเพิ่มเติมนอกเหนือจากความเห็นของกรมที่ดิน  

                   2. คำขอออกเอกสารสิทธิจากหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ยื่นไว้ก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ ให้ปฏิบัติตามมาตรา 8 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551

 

2. เรื่อง แก้ไขกฎกระทรวงที่ทับซ้อนกับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย รวม 7 ฉบับ

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง รวม 7 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

                   กค. เสนอว่า

                   1. โดยที่พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป นั้น มาตรา 120/1 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialised Financial Institutions : SFIs) ถือปฏิบัติหรือปฏิบัติเพิ่มเติมจากที่กฎหมายจัดตั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้ (2) การดำรงเงินกองทุนและสินทรัพย์ และ (7) การบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแล SFIs ในเรื่องการจัดชั้นสินทรัพย์และการกันเงินสำรอง การดำรงเงินกองทุน และการดำรงเงินสดสำรองและสินทรัพย์สภาพคล่องแล้ว ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีความเป็นมาตรฐานสากล มีความยืดหยุ่น และเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป  

                   2. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า หลักเกณฑ์การกำกับดูแล SFIs ของ ธปท. ตามข้อ 1. มีความเป็นมาตรฐานสากลและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ประกอบกับเพื่อมิให้หลักเกณฑ์การกำกับดูแล SFIs ทับซ้อนกัน สมควรยกเลิกหลักเกณฑ์การกำกับดูแล SFIs ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง รวม 7 ฉบับ

จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวง รวม 7 ฉบับ มาเพื่อดำเนินการ

                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 

                   1. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2551 และให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันตามที่ ธปท. กำหนด  

                   2. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินสดสำรองและสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินสดสำรองและสินทรัพย์สภาพคล่อง ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2551 และให้ ธ.ก.ส. ดำรงเงินสดสำรองและสินทรัพย์สภาพคล่องตามที่ ธปท. กำหนด 

                   3. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2549 และให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด 

                   4. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2547 และให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด 

                   5. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย  พ.ศ. 2547 และให้ ธอท. ดำรงเงินสดสำรองและสินทรัพย์สภาพคล่องตามที่ ธปท. กำหนด

                   6. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า แห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวง (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2536 และให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด 

                   7. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2547 และให้บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด

 

3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ....

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป 

                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 

                   ปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2545 ดังนี้ 

 

การแบ่งส่วนราชการปัจจุบัน

การแบ่งส่วนราชการที่ขอปรับปรุง

1. สำนักงานเลขานุการกรม

2. สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

3. กองแผนงาน

4. สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน

5. สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

1. สำนักงานเลขานุการกรม (คงเดิม)

2. สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง              (คงเดิม)

3. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน (เปลี่ยนชื่อ)

4. กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน (เปลี่ยนชื่อ)

5. กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล (เปลี่ยนชื่อ)

6. กองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง (ตั้งใหม่)

7. กองกฎหมาย (ตั้งใหม่)

8. สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (ตั้งใหม่)  

9. สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 (ตั้งใหม่)

10. สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 (ตั้งใหม่)

11. สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 (ตั้งใหม่)

12. สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (ตั้งใหม่)

13. สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 (ตั้งใหม่)

14. สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 (ตั้งใหม่)

 

4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าตอบแทนรายปีสำหรับผู้รับอนุญาตปลูกสร้างอาคาร หรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ พ.ศ. ....

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าตอบแทนรายปีสำหรับผู้รับอนุญาตปลูกสร้างอาคาร หรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้

                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง  

                   1. ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 64 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456  

                   2. กำหนดวิธีการ อัตราค่าตอบแทน และลักษณะของสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำที่ผู้ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำ ต้องเสียค่าตอบแทนเป็นรายปีตามอัตรา ดังนี้

อัตราค่าตอบแทนตามร่างกฎกระทรวงฯ ที่ คค. เสนอ

อัตราค่าตอบแทน ตาม พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 และ (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560

ประเภท

อัตราค่าตอบแทนตารางเมตรละ

(1) ท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา

(2) สถานที่จอดและเทียบเรือสำราญและกีฬา

(3) อาคารหรือสิ่งอื่นใดนอกเหนือจาก (1) และ (2)

250 บาท

100 บาท

 

50 บาท

ไม่น้อยกว่าตารางเมตรละ 50 บาท และถ้าเป็นอาคารหรือสิ่งอื่นใดซึ่งมีลักษณะหรือวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ ให้เสียเป็น 2 เท่า ของอัตราดังกล่าว

กรณีอาคารหรือสิ่งอื่นใดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ ให้ผู้รับอนุญาตเสียค่าตอบแทนเป็น 2 เท่าของอัตราตามตาราง

                   3. กำหนดลักษณะของสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำและประเภทของบุคคลที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนการเสียค่าตอบแทนเป็นรายปี 

                   4. กำหนดวิธีการคำนวณพื้นที่ของสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำที่ได้รับอนุญาต เพื่อนำมาคำนวณอัตราค่าตอบแทนเป็นรายปี โดยให้คำนวณตามพื้นที่ที่ล่วงล้ำเข้าไปตามความเป็นจริง เศษของพื้นที่ไม่ถึง 1 ตารางเมตร ให้คิดเป็น 1 ตารางเมตร ในกรณีที่การล่วงล้ำลำแม่น้ำครอบคลุมพื้นที่สาธารณะซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะนั้นได้ ให้คำนวณพื้นที่ตามขอบเขตที่อาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำนั้นครอบคลุมทั้งหมด

 

5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. ....

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ ดศ. รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม สำนักงาน ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 

                   ดศ. เสนอว่า 

                   1. สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) มีภารกิจในการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลประชากรของประเทศในรูปของสำมะโนประชากร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานของประชากร (เพศ อายุ สัญชาติ การศึกษา การทำงาน) ตามที่อยู่จริงและที่อยู่อาศัย เพื่อให้ได้ข้อมูลในระดับพื้นที่ย่อย และวัดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของประชากรและที่อยู่อาศัย เพื่อประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การกำหนดนโยบายเพื่อการบริหารของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และใช้เป็นฐานในการคาดประมาณจำนวนประชากรในอนาคต  

                   2. การจัดทำสำมะโนประชากรดังกล่าวต้องดำเนินการทุกรอบ 10 ปี โดยได้ดำเนินการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2503 และดำเนินการต่อมาทุกรอบ 10 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ขอให้ทุกประเทศในโลกจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะอย่างน้อยทุก 10 ปี แต่อย่างไรก็ดี นับแต่ปี พ.ศ. 2513 จนถึงปี พ.ศ. 2553 สสช. ได้จัดทำสำมะโนประชากรพร้อมกับการจัดทำสำมะโนเคหะด้วย โดยที่ในปี พ.ศ. 2563 เป็นปีครบรอบ 10 ปี ที่ สสช. จะต้องดำเนินการสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโนประชากรและสำมะโนเคหะ ประกอบกับมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 บัญญัติให้การจัดทำสำมะโนหรือสำรวจตัวอย่าง ที่ประสงค์จะกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องให้ข้อมูล ให้กำหนดโดยกฎกระทรวง  

                   3. ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (2 เมษายน 2562) เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2563 ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการสำมะโนประชากรและเคหะตามที่ ดศ. เสนอ และให้ ดศ. รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันวางแผนสำมะโนด้านข้อมูลประชากรผู้มีรายได้น้อยอย่างเป็นระบบ การพิจารณาเก็บรวบรวมข้อมูลสำมะโนประชากรฯ ควรคำนึงถึงบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคม อาทิ รูปแบบการอยู่อาศัยของประชากร โดยเฉพาะในเขตเมือง การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้ข้อมูลเพื่อให้การจัดทำสำมะโนประชากรฯ ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการจัดทำประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป  

                   4. ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและรายละเอียดของประชากรในครัวเรือน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและลักษณะที่อยู่ของประชากร เพื่อประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การกำหนดนโยบายเพื่อการบริหารฯ ตลอดจนใช้เป็นฐานในการคาดประมาณจำนวนประชากรในอนาคตอย่างต่อเนื่อง ดศ. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ เพื่อสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโนประชากรและเคหะดังกล่าว

จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ

                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 

                   1. กำหนดบทนิยามคำว่า “บ้าน” “ประชากร” และ “การทอดแบบ” 

                   2. กำหนดให้กฎกระทรวงมีอายุ 10 ปี 

                   3. กำหนดให้เขตท้องที่ที่จัดทำการสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโนประชากรและเคหะ ได้แก่ ทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร   

                   4. กำหนดให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโนประชากรและเคหะ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและรายละเอียดของประชากรในครัวเรือน ณ ที่อยู่อาศัยปกติที่พบในวันที่ทำการสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและลักษณะที่อยู่อาศัยของประชากรเพื่อประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ใช้ในการกำหนดนโยบายเพื่อการบริหารของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และใช้เป็นฐานในการคาดประมาณจำนวนประชากรในอนาคต 

                   5. กำหนดวิธีการให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ ได้แก่ การสัมภาษณ์ หรือการให้ข้อมูลทางโทรศัพท์หรือทางอินเทอร์เน็ต เว้นแต่กรณีไม่อาจให้ข้อมูลได้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการทอดแบบ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือด้วยวิธีการอื่นตามประกาศที่ออกตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550

 

6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... 

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้

                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

                   เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดเขตชายฝั่งทะเล พ.ศ. 2560 สำหรับเขตทะเลชายฝั่งในบริเวณจังหวัดตราด โดยปรับปรุงเขตทะเลชายฝั่งเพื่อให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในเขตทะเลชายฝั่งให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมและสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน                  ลดปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายโดยไม่เจตนา ลดความขัดแย้งของชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

                   โดยร่างกฎกระทรวง มีสาระสำคัญกำหนดให้จังหวัดตราดมีเขตทะเลชายฝั่ง ดังต่อไปนี้ 

                   1. ระยะ 3 ไมล์ทะเล ถึง 6.48 ไมล์ทะเล นับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายฝั่ง 

                   2. ระยะ 3 ไมล์ทะเล ถึง 6.48 ไมล์ทะเล นับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายเกาะ

 

7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ....

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ 

                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

                   ให้ยกเลิกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2559 และปรับปรุงโครงสร้างของกรมประมงใหม่ ดังนี้  

การแบ่งส่วนราชการปัจจุบัน

การแบ่งส่วนราชการที่ขอปรับปรุง

หมายเหตุ

ราชการบริหารส่วนกลาง

- สำนักงานเลขานุการกรม

- กองกฎหมาย

- กองการเจ้าหน้าที่

- กองคลัง

- กองควบคุมการค้าสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต

- กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ

- กองตรวจการประมง

- กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง

- กองนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาการประมง

- กองบริหารจัดการเรือประมงและการทำการประมง

- กองประมงต่างประเทศ

- กองแผนงาน

- กองพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าประมงและหลักฐานเพื่อการสืบค้น

- กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ

- กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด

- กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง

- กองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ

- กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล

- กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด

- กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ

- กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ

- กองวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำ

- ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

- สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร

 

ราชการส่วนภูมิภาค

- สำนักงานประมงจังหวัด

- สำนักงานประมงอำเภอ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ราชการบริหารส่วนกลาง

- สำนักงานเลขานุการกรม

- กองกฎหมาย

- กองบริหารทรัพยากรบุคคล

- กองบริหารคลัง

- กองตรวจสอบเรือประมง สินค้าสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต

- กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ

- กองตรวจการประมง

- กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง

- กองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง

- กองบริหารจัดการเรือประมงและการทำการประมง

- กองประมงต่างประเทศ

- กองยุทธศาสตร์และแผนงาน

- กองพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าประมงและหลักฐานเพื่อการสืบค้น

- กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ

- กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด

- กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง

- กองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ

- กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล

- กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด

- กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ

- กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ

- กองวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำ

- ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

- สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร

 

ราชการส่วนภูมิภาค

- สำนักงานประมงจังหวัด

- สำนักงานประมงอำเภอ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

- เปลี่ยนชื่อและปรับปรุงภารกิจในบางหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนกันให้อยู่ภายในหน่วยงานเดียวกัน โดยกำหนดภารกิจกองที่มีหน้าที่ในการควบคุมสั่งการ แยกจากกองที่มีหน้าที่ในการปฏิบัติการตรวจตราจับกุมผู้กระทำผิดอย่างชัดเจน ทั้งการตรวจในทะเล การตรวจสัตว์น้ำและเรือประมง ณ ท่าเทียบเรือ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการปรับบทบาทภารกิจในกอง

ต่าง ๆ ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่ได้มีการปฏิบัติจริงด้วย

 

8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พิจารณาลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 

                   แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พ.ศ. 2559 ดังนี้ 

การแบ่งส่วนราชการปัจจุบัน

การแบ่งส่วนราชการที่ขอแก้ไขปรับปรุง

ก. ราชการบริหารส่วนกลาง 

1. กองกลาง

2. กองกฎหมาย

3. กองการต่างประเทศ

4. กองตรวจราชการ

5. กองต่อต้านการค้ามนุษย์

6. กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

7. กองมาตรฐานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

8. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน

 

9. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

10. สถาบันพระประชาบดี

11.-22. สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1-11

 

 

ข. ราชการบริหารส่วนภูมิภาค

สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด

ก. ราชการบริหารส่วนกลาง 

1. กองกลาง (คงเดิม)

2. กองกฎหมาย (คงเดิม)

3. กองการต่างประเทศ (คงเดิม)

4. กองตรวจราชการ (คงเดิม)

5. กองต่อต้านการค้ามนุษย์ (คงเดิม)

6. กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ (คงเดิม)

7. กองพัฒนานโยบายและนวัตกรรมทางสังคม (ตั้งใหม่)

8. กองมาตรฐานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (คงเดิม)

9. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน (คงเดิม)

10. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (คงเดิม)

11. สถาบันพระประชาบดี (คงเดิม)

12.-23. สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1-11 (คงเดิม)

ข. ราชการบริหารส่วนภูมิภาค

สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด  (คงเดิม)

 

9. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ฉบับที่ ..)

                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ฉบับที่ ..) ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

                   สตช. เสนอว่า

                   ภายหลังจากประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ลงวันที่ 7 เมษายน 2563 มีผลใช้บังคับแล้ว เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของคนต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ในการเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร รวมทั้งการอยู่ในราชอาณาจักรได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามประเภทการตรวจลงตรา (รวมทั้งการตรวจลงตรา VISA on Arrival) และคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามสิทธิการยกเว้นการตรวจลงตรา (ผ.30/ผผ.14/ผผ.30/ผผ.90) ซึ่งกำหนดระยะเวลาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรจะสิ้นสุดลง ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ได้รับการขยายระยะเวลาอยู่ในราชอาณาจักรไปพลางก่อน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ไม่ต้องมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 รวมทั้งการแจ้งที่พักอาศัยตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการขยายระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวดังกล่าวอยู่ในราชอาณาจักรจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายน 2563 แต่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ในประเทศไทยและในประเทศต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของโลก ยังไม่คลี่คลายและดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากไม่ขยายระยะเวลาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวดังกล่าวเพิ่มเติมต่อไปอีก จะทำให้คนต่างด้าวจำนวนมากต้องเดินทางมาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อดำเนินการขออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและ/หรือแจ้งที่พักอาศัย จนอาจส่งผลให้เกิดความแออัด เบียดเสียดใกล้ชิดกันของบรรดา คนต่างด้าว ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมือง ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ออกไปในวงกว้าง ไม่สอดคล้องตามมาตรการและแนวทางการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข

                   สาระสำคัญของร่างประกาศ

                   1. ให้ขยายระยะเวลาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรของคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามประเภทการตรวจลงตรา (รวมทั้งการตรวจลงตรา VISA on Arrival) คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามสิทธิการยกเว้นการตรวจลงตรา (ผ.30/ผผ.14/ผผ.30/ผผ.90) ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 (รวมทั้งภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) หรือตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ 2 (1) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ลงวันที่ 7 เมษายน 2563 ไปพลางก่อน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563

                   2. ให้ขยายระยะเวลาการแจ้งที่อาศัยตามมาตรา 37 (5) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 หรือตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ 2 (2) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ลงวันที่ 7 เมษายน 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563

 

10. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พ.ศ. ....

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอเพื่อให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ใช้ในการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการตามพระราชกำหนดต่อไป

                   สรุปสาระสำคัญของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ประกอบด้วย 6 หมวด ได้แก่

                   1. หมวดที่ 1 บททั่วไป เป็นการกำหนดหน้าที่ของหน่วยงานรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการภายใต้การเสนอโครงการ การจัดสรรเงินกู้ การเบิกจ่ายเงินกู้ และการรายงานผลการดำเนินโครงการ รวมถึงการรับฝากเงินกู้และจัดทำระบบบัญชี ดังนี้

บทบาทหน้าที่

หน่วยงานรับผิดชอบ

จัดสรรเงินกู้ตามวงเงินกู้ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โครงการ และกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง

สำนักงบประมาณ

การรับฝากเงินกู้ไว้ในบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง และจัดทำระบบบัญชี ระบบการเบิกจ่ายเงินกู้สำหรับโครงการ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง

กรมบัญชีกลาง

การจัดหาเงินกู้และดำเนินการกู้เงินสำหรับโครงการ เปิดบัญชีและนำฝากเงินกู้ไว้ในบัญชี จัดทำระบบบริหารเงินสด และรายงานสถานะเงินกู้ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

                  

                   2. หมวดที่ 2 การเสนอ การพิจารณากลั่นกรอง และการอนุมัติโครงการ เป็นการกำหนดขั้นตอนการเสนอ การพิจารณา รวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการอนุมัติโครงการ โดยในเบื้องต้นสำนักงานฯ ได้พิจารณากำหนดลักษณะโครงการที่หน่วยงานของรัฐจะเสนอขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

                       (1) เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับแผนงานหรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชกำหนด

                       (2) เป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันโดยเร็ว แต่ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ หรือได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้วแต่มีจำนวนไม่เพียงพอ

                       (3) เป็นโครงการที่มีความพร้อม สามารถดำเนินการได้ทันทีภายหลังจากที่ได้รับอนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี

                       (4) เป็นโครงการที่มีความคุ้มค่าในการดำเนินงานและก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือสังคมตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชกำหนด

                       (5) ลักษณะอื่นใดตามที่คณะกรรมการกำหนด

                   3. หมวดที่ 3 การดำเนินโครงการ เป็นการกำหนดวิธีการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดสรรเงินกู้ ดำเนินการกู้เงิน การจัดส่งประมาณการการเบิกจ่าย การพัสดุ และการพิจารณาการโอนหรือเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการ รวมถึงแนวทางการดำเนินงานเมื่อหน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ

                   4. หมวดที่ 4 การเก็บรักษาเงินกู้และการเบิกจ่ายเงินกู้ เป็นการกำหนดให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะนำเงินกู้ฝากบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลังชื่อบัญชี “เงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา COVID-19” และกำหนดแนวทางการเบิกจ่ายเงินกู้ให้เป็นไปตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินของทางราชการ และหลักเกณฑ์หรือวิธีปฏิบัติที่กระทรวงการคลังกำหนด

                   5. หมวดที่ 5 การติดตามประเมินผล และการรายงานผลการใช้เงินกู้ เป็นการกำหนดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

                   6. หมวดที่ 6 การใช้วงเงินกู้สำหรับรายการเงินสำรองจ่าย เป็นการกำหนดให้ในกรณีที่หน่วยงานเจ้าของโครงการมีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้ในรายการเงินสำรองจ่ายตามที่คณะกรรมการได้กำหนดวงเงินไว้ ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอคำขอใช้เงินกู้พร้อมแสดงเหตุผลความจำเป็นต่อคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองและเสนอความเห็น ก่อนเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

เศรษฐกิจ - สังคม

11. เรื่อง โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

                   1. เห็นชอบการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากโครงการฯ ปีการผลิต 2562 ภายใต้วงเงินงบประมาณจำนวน 2,910.39 ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณคงเหลือในส่วนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เบิกจ่ายจากสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อดำเนินโครงการฯ ในปีการผลิต 2562 จำนวน 106.61 ล้านบาท และเสนอของบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 2,803.78 ล้านบาท

                   2. เห็นชอบให้ ธ.ก.ส.ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลในส่วนของงบประมาณเพิ่มเติม 2,803.78 ล้านบาท และเบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริงพร้อมด้วยอัตราต้นทุนเงิน ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ธ.ก.ส. บวกร้อยละ 1 ในปีงบประมาณถัดไปให้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินรวม 2,980.24 ล้านบาท

                   3. มอบหมายให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการขายกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 ให้ได้ตามเป้าหมายและตามกำหนดเวลาการเอาประกันภัยของเกษตรกร ทั้งในส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 (Tier 1 และ Tier 2) พร้อมทั้งให้ ธ.ก.ส.บริหารจัดการความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับหลักการประกันภัย และร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย (สมาคมประกันฯ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการฯ รวมทั้งให้ความรู้ด้านการประกันภัยแก่เกษตรกรและบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในความสำคัญของการประกันภัย

                   4. มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ประสานงานกับ ธ.ก.ส.และสมาคมประกันฯ ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลเอกสารทะเบียนเกษตรกรแบบประมวลรวบรวมความเสียหายและการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย (แบบ กษ 02) และแบบรายงานข้อมูลความเสียหายจริงของเกษตรกร (แบบ กษ 02 เพื่อการประกันภัย) ตลอดจนดำเนินการเพื่อให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบฐานข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ เพื่อรองรับการเพิ่มพื้นที่เป้าหมาย และรองรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้รวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น พร้อมทั้งให้กรมส่งเสริมการเกษตรเก็บข้อมูลพื้นที่ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562

                   5. มอบหมายให้สมาคมประกันฯ พิจารณากำหนดรูปแบบการประเมินความเสียหายแก่เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายแต่มิได้อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ร่วมกับ ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป

                   6. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีให้เป็นไปตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ของการรับประกันภัยของโครงการฯ ปีการผลิต 2563 รวมทั้งอนุมัติกรมธรรม์และอัตราเบี้ยประกันภัยให้แล้วเสร็จและสามารถเริ่มรับประกันภัยในปีการผลิต 2563 ได้ทันที ภายหลังคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการฯ ปีการผลิต 2563 และดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนประชาสัมพันธ์โครงการฯ ปีการผลิต 2563 ในภาพรวมและเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

                   สาระสำคัญของเรื่อง

                   กค. รายงานว่า

                   1. การดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 ประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อเทียบกับปีการผลิต 2560 และปีการผลิต 2561 โดย ณ วันสิ้นสุดการจำหน่ายกรมธรรม์ (15 ธันวาคม 2562) มีจำนวนเกษตรกรผู้เอาประกันภัยในการประกันภัยพื้นฐานในส่วนที่ 1 (Tier 1) 2.01 ล้านราย จำนวนพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ 28.01 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 93 ของจำนวนพื้นที่เป้าหมายสูงสุด 30 ล้านไร่ และคิดเป็นร้อยละ 50.04 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั้งประเทศ นอกจากนี้มีเกษตรกรเอาประกันภัยเพิ่มเติมในส่วนที่ 2 (Tier 2) ซึ่งเป็นการประกันภัยภาคสมัครใจ จำนวน 2.43 ล้านไร่ เบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งส่วนที่ 1 (Tier 1) และส่วนที่ 2 (Tier 2) คิดเป็นจำนวน 2,593.14 ล้านบาท

                   2. เพื่อให้โครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกับฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปีของเกษตรกรซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป และเพื่อให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ อย่างทั่วถึง รวมทั้งได้รับความคุ้มครองตลอดระยะเวลาการปลูกข้าวนาปีทั้งฤดูการผลิตเพื่อลดผลกระทบความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ซึ่งความเสียหายดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องกับจำนวนเงินทุนของเกษตรกรที่มีไม่เพียงพอสำหรับใช้เพาะปลูกในปีการผลิตถัดไป กค. จึงได้ดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2563 ดังนี้

                       2.1 กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กษ. สำนักงาน คปภ. ธ.ก.ส. และสมาคมประกันฯ ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการฯ ดังนี้ (1) กำหนดหลักการให้เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีของ ธ.ก.ส. และเกษตรกรทั่วไปได้รับความคุ้มครองจากระบบการประกันภัยตามกฎของจำนวนมาก (Law of Large Numbers) (การใช้ข้อมูลจากสถิติในอดีตเพื่อคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต) เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการฯ ในปีการผลิตที่ผ่าน ๆ มา (2) ปรับปรุงอัตราค่าเบี้ยประกันภัยพื้นฐานในส่วนที่ 1 (Tier 1) ให้มีความสอดคล้องกับข้อมูลสถิติอัตราส่วนความเสียหาย (Damage Ratio) ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั้งประเทศ และอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio)1 ของการรับประกันภัย โดยแบ่งอัตราเบี้ยประกันภัยในส่วนที่ 1 (Tier 1) เป็น 4 อัตรา ได้แก่ เบี้ยประกันภัยสำหรับลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีของ ธ.ก.ส. กำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยอัตราเดียวทั่วประเทศ และเบี้ยประกันภัยสำหรับเกษตรกรทั่วไปจำนวน 3 อัตรา แตกต่างกันตามระดับพื้นที่ความเสี่ยงภัยในระดับอำเภอ (3) เพิ่มเป้าหมายสำหรับการเอาประกันภัยพื้นฐานในส่วนที่ 1 (Tier 1) ให้ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกที่มีความเหมาะสมต่อการเพาะปลูกข้าวนาปีที่มีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติต่ำ (พื้นที่ในอำเภอที่มีอัตราส่วนความเสียหายเฉลี่ยย้อนหลัง 9 ปี ตั้งแต่ปี 2554 – 2562 ไม่เกินร้อยละ 4) จำนวน 594 อำเภอ คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูก 15.7 ล้านไร่ (4) คงรูปแบบการรับประกันภัยเพิ่มเติมในส่วนที่ 2 (Tier 2) ซึ่งเป็นการประกันภัยภาคสมัครใจ เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ มีส่วนร่วมในการรับภาระค่าเบี้ยประกันภัยโดยสามารถขอเอาประกันภัยเพื่อรับความคุ้มครองเพิ่มเติมจากส่วนที่ภาครัฐให้การอุดหนุนอัตราค่าเบี้ยประกันภัย

                       2.2 กค. ได้นำโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 เสนอ นบข. ในคราวประชุม  ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2563 โดยสามารถสรุปรายละเอียดของโครงการฯ ปีการผลิต 2563 ได้ ดังนี้

หัวข้อ

รายละเอียด

1. วัตถุประสงค์

× เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติผ่านระบบการประกันภัยและเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 เพื่อรองรับต้นทุนในการเพาะปลูกข้าวให้กับเกษตรกรเมื่อประสบเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ

2. พื้นที่

รับประกันภัย

(รวม Tier 1

และ Tier 2

ไม่เกิน 45.7 ล้านไร่) และอัตราค่าเบี้ยประกันภัย

การประกันภัย

พื้นที่รับประกันภัย

อัตราค่าเบี้ยประกันภัย

การรับประกันภัย

พื้นฐาน

(Tier 1)

พื้นที่รวมไม่เกิน 44.7 ล้านไร่ โดยกำหนดค่าเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงจริงของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม

(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) แบ่งเป็น

(1) พื้นที่ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 (เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.) ไม่เกิน 28 ล้านไร่

97 บาทต่อไร่ เท่ากันทุกพื้นที่ (ความเสี่ยงต่ำ ปานกลาง และสูง) (ประกันภัยกลุ่ม)

(2) พื้นที่ที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 (เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และเกษตรกรทั่วไป) ซึ่งอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกที่มีความเสี่ยงภัยต่ำ ไม่เกิน 15.7 ล้านไร่

58 บาทต่อไร่

(ประกันภัยรายบุคคล)

(3) พื้นที่ที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 (เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และเกษตรทั่วไป) ซึ่งอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกที่มีความเสี่ยงภัยปานกลางและสูง ไม่เกิน 1 ล้านไร่

- พื้นที่เสี่ยงภัย

ปานกลาง

210 บาทต่อไร่

- พื้นที่เสี่ยงภัยสูง

230 บาทต่อไร่

(ประกันภัยรายบุคคล)

 

· รัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยข้างต้นทุกรายในอัตรา 58 บาทต่อไร่ จำนวนรวม

  44.7 ล้านไร่ รวมทั้งให้การอุดหนุนในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์ทั้งหมด

  (ภาษีมูลค่าเพิ่มเท่ากับร้อยละ 7 ของเบี้ยประกันภัย และค่าอากรแสตมป์เท่ากับ

  1 บาท ของค่าเบี้ยประกันภัยทุก 250 บาท)

·  ธ.ก.ส. จะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในส่วนที่เหลืออีก 39 บาทต่อไร่ เฉพาะกลุ่มที่

   (1) จำนวน 28 ล้านไร่

การรับประกันภัย

ร่วมจ่ายโดยสมัครใจ

(Tier 2)

พื้นที่ไม่เกิน 1 ล้านไร่ โดยกำหนดค่าเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ซึ่งจ่ายเพิ่มจาก Tier 1 (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) แบ่งเป็น

ไม่เกิน 1 ล้านไร่

(1) พื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ

26.75 บาทต่อไร่

(2) พื้นที่เสี่ยงภัย

ปานกลาง

52.43 บาทต่อไร่

(3) พื้นที่เสี่ยงภัยสูง

109.14 บาทต่อไร่

เกษตรกรจ่ายเองทั้งหมด

หมายเหตุ : พื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ (พื้นที่สีเขียว) จำนวน 594 อำเภอ พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง (พื้นที่สีเหลือง) จำนวน 182 อำเภอ พื้นที่เสี่ยงภัยสูง (พื้นที่สีแดง) จำนวน 152 อำเภอ

3. ระยะเวลาการจำหน่ายกรมธรรม์

กำหนดวันเริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ และกำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ตามภาค โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

· กลุ่มที่ 1 ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จำนวน 13 จังหวัด)

  กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ ไม่เกินวันที่ 30 เมษายน 2563

· กลุ่มที่ 2 ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จำนวน 7 จังหวัด) กำหนดวันสิ้นสุด

  การขายกรมธรรม์ ไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2563

· กลุ่มที่ 3 ภาคตะวันตก กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน  

  2563

· กลุ่มที่ 4 ภาคใต้ กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2563

4. วงเงิน

ความคุ้มครอง

พื้นที่

ภัยธรรมชาติ 7 ภัย

(น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้ง

หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น

ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง

ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยช้างป่า)

ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด

Tier 1

1,260 บาทต่อไร่

630 บาทต่อไร่

Tier 2

240 บาทต่อไร่

120 บาทต่อไร่

รวม

ไม่เกิน 1,500 บาทต่อไร่

750 บาทต่อไร่

 

5. ภาระ

งบประมาณ

(เงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย)

· ภายในวงเงิน 2,910.39 ล้านบาท (พื้นที่เป้าหมาย 44.7 ล้านไร่) โดยแบ่งเป็น

1) ใช้จ่ายจากงบประมาณคงเหลือจากการดำเนินโครงการฯ ในปีการผลิต 2562 จำนวน 106.61 ล้านบาท

2) ให้ ธ.ก.ส. ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาล จำนวน 2,803.78 ล้านบาท และให้ ธ.ก.ส. เบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริงพร้อมด้วยอัตราต้นทุนเงิน ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ธ.ก.ส. บวกร้อยละ 1 ในปีงบประมาณถัดไป

6. การพิจารณา

ค่าสินไหมทดแทน

· จ่ายตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และจ่ายเพิ่มเติมกรณีที่เสียหายจริงแต่ไม่อยู่ในเขตประกาศภัยตามที่ราชการกำหนด โดยการดำเนินการของสมาคมประกันฯ ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

7. วันเริ่ม

ความคุ้มครอง

(1) กลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ซึ่งได้รับการอนุมัติสินเชื่อทั้งหมด                   ในการเพาะปลูกในส่วนที่ 1 (Tier 1) และเกษตรกรทั่วไปซึ่งอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกที่มีความเสี่ยงภัยต่ำ (พื้นที่สีเขียว) กำหนดวันเริ่มความคุ้มครองนับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ ทั้งนี้ หากเกษตรกรดังกล่าวประสงค์จะเอาประกันภัยเพิ่มเติมในส่วนที่ 2 (Tier 2) จะกำหนดวันเริ่มต้นความคุ้มครองนับตั้งแต่วันที่เกษตรกรขอเอาประกันภัย

(2) กลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อบางส่วน และ           มีความประสงค์จะเอาประกันภัยเพิ่มเติม กำหนดวันเริ่มต้นความคุ้มครองนับตั้งแต่วันที่เกษตรกรขอเอาประกันภัย

(3) กลุ่มเกษตรกรที่ไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อซึ่งอยู่ในพื้นที่ความเสี่ยงภัยปานกลางและสูง (พื้นที่สีเหลืองและพื้นที่สีแดง) โดยภาครัฐรับภาระอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยบางส่วน และเกษตรกรรับภาระค่าเบี้ยประกันภัยเอง ทั้งในส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 (Tier 1 และ              Tier 2) กำหนดวันเริ่มต้นความคุ้มครองนับตั้งแต่วันที่เกษตรกรขอเอาประกันภัย

------------------------------------------------------------------

1 อัตราส่วนระหว่างความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วกับเบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้

 

12. เรื่อง โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 กรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 10,236.50 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ

                   1. ค่าใช้จ่ายโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 จากแหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 10,000 ล้านบาท โดยแยกหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเป็น 2 กรณี ดังนี้

                       1.1 การช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยเข้าโรงงานทุกรายที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลก่อนเปิดหีบอ้อย วงเงิน 6,500 ล้านบาท โดยกำหนดการช่วยเหลือในอัตราตันอ้อยละไม่เกิน 85 บาท รายละเอียดไม่เกิน 5,000 ตันอ้อย

                       1.2 การช่วยเหลือตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) วงเงิน 3,500 ล้านบาท โดยช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเข้าโรงงานทุกตันอ้อย และกำหนดเงินช่วยเหลือในอัตราตันอ้อยละไม่เกิน 93 บาท

                   2. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. จำนวน 236.50 ล้านบาท ได้แก่ (1) การชดเชยต้นทุนเงินในอัตราเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. บวก 1 หรือคิดเป็นร้อยละ 2.35 ต่อปี เป็นเงิน 235 ล้านบาท และ (2) ค่าบริหารจัดการรายละ 5 บาท จำนวน 300,000 ราย เป็นเงิน 1.50 ล้านบาท

                   สาระสำคัญของเรื่อง

                   อก. รายงานว่า

                   1. อก. ได้ดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต (ฤดูการผลิตปี 2561/2562) (ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 ตุลาคม 2561) เป็นเงิน 6,497.09 ล้านบาท ปริมาณอ้อยที่ขอรับการช่วยเหลือ จำนวน 129.94 ล้านตัน ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่ได้รับการช่วยเหลือ จำนวน 195,567 ราย

                   2. ความคืบหน้าโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562 – 2564 ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ได้ให้สินเชื่อกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย จำนวน 581 ราย เป็นเงิน 2,289.46 ล้านบาท คงเหลือวงเงินให้กู้ประมาณ 3,710.54 ล้านบาท จากกรอบวงเงิน 6,000 ล้านบาท

                   3. เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับผลกระทบจากทั้งด้านราคาที่ตกต่ำและไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต โดยจะเห็นได้จากการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ในอัตรา 750 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งต่ำกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา เป็นอย่างมาก และต่ำกว่าทุนการผลิตที่ประเมินโดยคณะกรรมการอ้อยที่ 1,100 บาทต่อตันอ้อย ประกอบกับสภาวะความแห้งแล้งในปัจจุบันซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้ผลผลิตอ้อยต่อไร่ลดลง จากที่คณะกรรมการอ้อยประเมินไว้ 9.61 ตันต่อไร่ คาดว่าจะลดลงเหลือ 6 – 8 ตันต่อไร่ ส่งผลให้ต้นทุนการเพาะปลูกสูงขึ้นจึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย

ปีการผลิต

ราคาอ้อย (บาทต่อตัน)

2557/2558

900

2558/2559

808

2559/2560

1,050

2560/2561

880

2561/2562

820

(ราคาอ้อยขั้นต้น 700 บาท + เงินช่วยเหลือ

เพื่อซื้อปัจจัยการผลิต 50 บาท + เงินช่วยเหลือของระบบ 70 บาท)

2562/2563

750

                  

                   4. คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายในคราวประชุมครั้งที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 ได้มีการหารือมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561 ที่ได้รับทราบมาตรการทางกฎหมายที่กำหนดให้ในฤดูการผลิตปี 2562/2563 โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินร้อยละ 30 ต่อวัน และเห็นชอบการขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562 – 2564 อย่างไรก็ตาม ผู้แทนโรงงานและผู้แทนชาวไร่อ้อยมีความเห็นร่วมกันว่ามาตรการของรัฐบาลในการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรเป็นมาตรการที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้โดยสมบูรณ์ เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติในส่วนของการชดเชยอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าที่ อก. เสนอมา รวมทั้งการพิจารณาปล่อยสินเชื่อมีความล่าช้า ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และสถานการณ์ราคาอ้อยตกต่ำจะเป็นภาระในการจัดหาแรงงานตัดอ้อยเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้ปรับเป้าหมายของฤดูการผลิตปี 2562/2563 จากอัตราการรับอ้อยไฟไหม้ได้ไม่เกินร้อยละ 30 ต่อวัน เป็นรับอ้อยไฟไหม้ได้ไม่เกินร้อยละ 50 ต่อวัน และให้มีการทบทวนมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ เมื่อสิ้นสุดฤดูการผลิตแล้วทุกปี ซึ่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีมติเห็นชอบตามความเห็นของผู้แทนโรงงานและผู้แทนชาวไร่อ้อยดังกล่าว ทั้งนี้ ในปัจจุบันเห็นได้ว่ามีการเผาอ้อยเป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลปริมาณอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้ที่เข้าหีบ มีดังนี้

                       4.1 ฤดูการผลิตปี 2561/2562 (ฤดูการผลิตที่ผ่านมา) มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 130.97 ล้านตัน เป็นอ้อยสด 50.94 ล้านตัน (คิดเป็นร้อยละ 38.89) อ้อยไฟไหม้ 80.03 ล้านตัน (คิดเป็นร้อยละ 61.11)

                       4.2 ฤดูการผลิตปี 2562/2563 (ฤดูการผลิตปัจจุบัน) ณ วันที่ 9 มีนาคม 2563 ปริมาณอ้อยเข้าหีบ 74.55 ล้านตัน เป็นอ้อยสด 37.43 ล้านตัน (คิดเป็นร้อยละ 50.21) อ้อยไฟไหม้ 37.12 ล้านตัน (คิดเป็นร้อยละ 49.79)

                   5. อก. โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ประเมินปริมาณอ้อย ฤดูการผลิต ปี 2562/2563 คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบจำนวน 75 ล้านตัน พื้นที่ปลูก 11.50 ล้านไร่ และผลผลิตเฉลี่ย 6 – 8 ตันต่อไร่ จำนวนเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และเป็นคู่สัญญาส่งอ้อยเข้าหีบกับโรงงานจำนวน 305,640 ราย

                   6. เนื่องจากปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยอันเนื่องมาจากผลกระทบราคาที่ตกต่ำและไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต และปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองจากสถานการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) อก. จึงได้เสนอโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยช่วยเหลือเป็นการชั่วคราว รวมทั้งสนับสนุนและจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดก่อนส่งโรงงาน

                   7. โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 มีรายละเอียด ดังนี้

                       7.1 วัตถุประสงค์

                             7.1.1 เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในแนวทางที่เหมาะสมและเป็นไปตามพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization - WTO)

                             7.1.2 เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลของเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งสามารถนำมาใช้ใน    การวิเคราะห์และกำหนดนโยบายของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในอนาคตได้

                       7.2 แนวทางการดำเนินงาน

                             7.2.1 จ่ายเงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อนำไปจัดหาปัจจัยการผลิตที่จำเป็น โดยช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายและเป็นคู่สัญญากับโรงงานหรือมีการส่งอ้อยผ่านหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย ที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลก่อนเปิดหีบอ้อย

                             7.2.2 แบ่งหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเป็น 2 กรณี ดังนี้

                                      (1) ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยเข้าโรงงานทุกราย วงเงิน 6,500 ล้านบาท โดยกำหนดการช่วยเหลือในอัตราตันอ้อยละไม่เกิน 85 บาท รายละไม่เกิน 5,000 ตันอ้อย เพื่อนำไปใช้จัดหาปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และปัญหาของตนเองได้

                                      (2) ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) วงเงิน 3,500 ล้านบาท โดยช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเข้าโรงงานทุกตันอ้อย ซึ่งหากคิดจากปริมาณอ้อยสดที่คาดว่าเข้าหีบร้อยละ 50 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด จะได้รับเงินช่วยเหลือในอัตราตันอ้อยละ ไม่เกิน 93 บาท ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนและจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น และยังเป็นการตอบสนองนโยบายมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้

                             7.2.3 การจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ธ.ก.ส. จะโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีธนาคารของชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของแต่ละโรงงานโดยตรง โดยที่โรงงานจะต้องจัดส่งข้อมูลคู่สัญญาทั้งคู่สัญญาที่เป็นชาวไร่อ้อยทั่วไป และคู่สัญญาที่เป็นหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยพร้อมจำนวนตันอ้อยที่ส่ง สำหรับหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยซึ่งได้ดำเนินการรวบรวมอ้อยจากชาวไร่อ้อยรายย่อยส่งให้กับโรงงานต่างๆ นั้น จะต้องแสดงบัญชีรายชื่อชาวไร่อ้อยรายย่อยที่อยู่ในสังกัดพร้อมจำนวนตันอ้อย เพื่อที่ ธ.ก.ส. จะได้โอนเงินช่วยเหลือไปยังบัญชีธนาคารของชาวไร่อ้อยรายย่อยดังกล่าวโดยตรง

                             7.2.4 กำหนดจ่ายเงินช่วยเหลือ หลังปิดหีบฤดูการผลิตปี 2562/2563 เพียงครั้งเดียว (คาดว่าจะจ่ายเงินในระหว่างเดือนมิถุนายน – กันยายน 2563)

                       7.3 ค่าใช้จ่าย รวม 10,236.50 ล้านบาท ดังนี้

                             7.3.1 ค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามโครงการฯ จำนวน 10,000 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนของ ธ.ก.ส. ทั้งนี้ แยกหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเป็น 2 กรณี คือ (1) การช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยเข้าโรงงานทุกราย วงเงิน 6,500 ล้านบาท และ (2) การช่วยเหลือตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด วงเงิน 3,500 ล้านบาท

                             7.3.2 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. จำนวน 236.50 ล้านบาท ประกอบด้วย

                                      (1) ค่าชดเชยต้นทุนเงินในอัตราเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. บวก 1 หรือคิดเป็นร้อยละ 2.35 ต่อปี เป็นเงิน 235 ล้านบาท

                                      (2) ค่าบริหารจัดการรายละ 5 บาท จำนวนประมาณ 300,000 ราย เป็นเงิน 1.50 ล้านบาท

                       7.4 แหล่งที่มาของค่าใช้จ่าย

                             แหล่งเงินทุนของ ธ.ก.ส. โดยให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณชดเชยภาระทางการเงินให้แก่ ธ.ก.ส. ตามภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ตามมาตรา 20 (5) แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อมิให้ ธ.ก.ส. เกิดปัญหาด้านสภาพคล่อง โดยให้ ธ.ก.ส. เสนอขอรับจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อชำระคืนต้นเงิน ต้นทุนเงิน และค่าบริหารจัดการตามที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการจนกว่าจะได้รับการชำระเสร็จสิ้น

                   8.  อก. แจ้งว่าการขอรับเงินอุดหนุนโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 จากงบประมาณแผ่นดิน จะไม่ขัดต่อพันธกรณีภายใต้ WTO เนื่องจากมาตรการดังกล่าวเป็นการอุดหนุนการลงทุน และการอุดหนุนปัจจัยการผลิตในฐานะที่ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ให้เป็น  การทั่วไปแก่ผู้ผลิตที่มีรายได้ต่ำ หรือผู้ผลิตที่มีทรัพยากรไม่สมบูรณ์ โดยการอุดหนุนปัจจัยการผลิตที่ขอรับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐไม่ถูกนับรวมเป็นการอุดหนุนภายในที่บิดเบือนการค้าที่ไทยได้ผูกพันไว้ (Aggregated Measurement of Support - AMS) รวมทั้งไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นการอุดหนุนภายในที่บิดเบือนการค้าขั้นต่ำที่ไทยในฐานะสมาชิก WTO ยังคงสามารถให้ได้ (De Minimis)

 

13. เรื่อง ร่างมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ดังนี้

                   1. ให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม. เป็นศูนย์ประสานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.)

                   2. ร่างมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (มาตรการฯ) ที่ปรับใหม่ จำนวน 12 ข้อ

                   สาระสำคัญของเรื่อง

                   พม. รายงานว่า

                   1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 16 มิถุนายน 2558 พม. ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐระดับกระทรวง  ระดับกรม  และรัฐวิสาหกิจ นำมาตรการฯ ไปดำเนินการตามความเหมาะสม และให้รายงานผลการดำเนินงานตามแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (แนวปฏิบัติฯ) ต่อ พม. เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (คกก.สทพ.) อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง  แต่โดยที่ที่ผ่านมาการดำเนินงานตามมาตรการฯ ยังไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร  อีกทั้งพบว่าบางหน่วยงานยังมีการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานเกิดขึ้นด้วย ดังนั้น ในการประชุม คกก. สทพ. ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 ที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบให้ พม. เป็น ศปคพ. เพื่อแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน  และปรับปรุงหลักการของมาตรการฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้นำเสนอ คกก. สทพ. พิจารณาอีกครั้ง

                   2. ต่อมาในการประชุม คกก. สทพ. ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบร่างมาตรการฯ ซึ่งปรับใหม่ จากเดิม จำนวน 7 ข้อ เป็น จำนวน 12 ข้อ และให้เสนอการปรับปรุงมาตรการฯ ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้

ข้อ

มาตรการฯ เดิม

(ตามมติคณะรัฐมนตรี 16 มิถุนายน 2558)

ข้อ

ร่างมาตรการฯ ที่ปรับใหม่

 

 

1

หน่วยงานต้องมีการประกาศเจตนารมณ์เป็นลายลักษณ์อักษร (เช่น ประกาศ คำสั่ง) โดยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรในองค์กรรับทราบอย่างทั่วถึง  ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน

(เพิ่มเติมให้ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีการประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจน)

1

หน่วยงานต้องมีการจัดทำแนวปฏิบัติฯ ที่ครอบคลุมบุคลากรทุกคนที่ทำงานในหน่วยงาน รวมทั้งผู้ที่มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน เช่น นักศึกษา นักศึกษาฝึกงาน  ผู้รับจ้าง ฯลฯ โดยให้บุคลากรในหน่วยงานได้มีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และยอมรับ รวมทั้งต้องประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักแก่บุคลากรทุกคนในหน่วยงานได้รับทราบและถือปฏิบัติ

2

หน่วยงานต้องมีการจัดทำแนวปฏิบัติฯ ที่ครอบคลุมบุคลากรทุกคนที่ทำงานในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งผู้ที่ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน เช่น นักศึกษา นักศึกษาฝึกงาน ผู้รับจ้าง ฯลฯ โดยให้บุคลากรในหน่วยงานได้มีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และยอมรับ  รวมทั้งต้องประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักแก่บุคลากรทุกคนในหน่วยงานได้รับทราบและถือปฏิบัติ 

(เพิ่มเติมประเด็นการจัดทำแนวปฏิบัติฯ ให้มีการจัดทำทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน)

2

หน่วยงานต้องแสดงเจตนารมณ์อย่างจริงจังในการส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคล  เพื่อให้บุคลากรปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเน้นการป้องกันปัญหาเป็นพื้นฐานควบคู่กับการปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ

3

หน่วยงานต้องแสดงเจตนารมณ์อย่างจริงจังในการส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคล  เพื่อให้บุคลากรปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน  โดยเน้นการป้องกันปัญหาเป็นพื้นฐาน ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ รวมทั้งกำหนดให้เป็นประเด็นหนึ่งในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรทุกระดับ

(เพิ่มเติมประเด็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศให้เป็นหนึ่งในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรทุกระดับ)

3

หน่วยงานต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ และแนวทางในการแก้ไขในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น รวมทั้งกำหนดให้เป็นประเด็นหนึ่งในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรทุกระดับ การจัดสถานที่ทำงานเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ เช่น จัดห้องทำงานที่เปิดเผย โล่ง มองเห็นกันได้ชัดเจน    เป็นต้น

4

หน่วยงานต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศและแนวทางในการแก้ไขในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี โดยคำนึงถึงเรื่องพื้นที่ปลอดภัยในองค์กร เช่น จัดห้องทำงานที่เปิดเผย  โล่ง มองเห็นกันได้ชัดเจน เป็นต้น

(เพิ่มเติมการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในหน่วยงาน)

 

 

-

5

หน่วยงานต้องกำหนดกลไกการร้องทุกข์ภายในหน่วยงาน เช่น ฝ่ายการเจ้าหน้าที่ ฝ่ายกฎหมาย  หรือกลุ่มคุ้มครองคุณธรรมจริยธรรม

(เพิ่มกลไกรับเรื่องร้องทุกข์ภายในหน่วยงาน)

4

การแก้ไขและจัดการปัญหาอาจใช้กระบวนการอย่างไม่เป็นทางการ เช่น การพูดคุยกันอย่างเป็นมิตร การประนอมข้อพิพาท ฯลฯ เพื่อยุติปัญหา หากกระบวนการไม่เป็นทางการไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงจะเข้าสู่กระบวนการทางวินัยตามกฎหมายที่หน่วยงานนั้นถือปฏิบัติอยู่

6

การแก้ไขและจัดการปัญหาอาจใช้กระบวนการอย่างไม่เป็นทางการ เช่น การพูดคุยกันอย่างเป็นมิตร  การประนอมข้อพิพาท ฯลฯ เพื่อยุติปัญหาหากกระบวนการไม่เป็นทางการไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงจะเข้าสู่กระบวนการทางวินัยตามกฎหมายที่หน่วยงานนั้นถือปฏิบัติอยู่

(เหมือนเดิม)

5

การแก้ไขและจัดการปัญหาต้องดำเนินการอย่างจริงจังโดยทันที และเป็นไปตามเวลาที่กำหนดในแนวปฏิบัติฯ และต้องเป็นความลับเว้นแต่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายยินดีให้เปิดเผย รวมทั้งให้ความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่ายเท่าเทียมกัน กรณีที่ขยายเวลาออกไปต้องมีเหตุผลที่ดีพอ

7

การแก้ไขและจัดการปัญหาต้องดำเนินการอย่างจริงจังโดยทันทีและเป็นไปตามเวลาที่กำหนดในแนวปฏิบัติฯ และต้องเป็นความลับ เว้นแต่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายยินดีให้เปิดเผย  รวมทั้งให้ความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่ายเท่าเทียมกัน กรณีที่ขยายเวลาออกไปต้องมีเหตุผลที่ดีพอ

(เหมือนเดิม)

6

กรณีที่มีการร้องเรียนหรือการรายงานเรื่องนี้ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานสอบข้อเท็จจริง ประกอบด้วย ประธานคณะทำงานที่มีตำแหน่งสูงกว่าคู่กรณี  บุคคลจากหน่วยงานต้นสังกัดของคู่กรณี  โดยมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าคู่กรณี  บุคคลที่มีผลงานด้านการแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศจนเป็นที่ประจักษ์โดยอาจมีบุคคลที่มีเพศเดียวกับผู้เสียหายไม่น้อยกว่าหนึ่งคนและให้มีบุคคลที่ผู้เสียหายไว้วางใจเข้าร่วมรับฟังในการสอบข้อเท็จจริงได้ หากต้องมีการดำเนินการทางวินัย ขอให้คณะทำงานนำข้อมูลเสนอผู้บริหารประกอบการดำเนินการทางวินัย

8

กรณีที่มีการร้องเรียนหรือการรายงานเรื่องให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

- ให้หัวหน้าหน่วยงานดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานสอบข้อเท้จจริง จำนวน ไม่เกิน 5 คน ประกอบด้วย ประธานคณะทำงานที่มีตำแหน่งสูงกว่าคู่กรณี  บุคคลจากหน่วยงานต้นสังกัดของคู่กรณี  โดยมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าคู่กรณี โดยอาจมีบุคคลที่มีเพศเดียวกับผู้เสียหายไม่น้อยกว่าหนึ่งคน  และให้มีบุคคลที่ผู้เสียหายไว้วางใจเข้าร่วมรับฟังในการสอบข้อเท็จจริงได้ หรือ

- ให้กลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรมดำเนินการสอบข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ให้รายงานผลต่อหัวหน้าหน่วยงาน และหากต้องมีการดำเนินการทางวินัย  ขอให้คณะทำงานนำข้อมูลเสนอผู้บริหาร ประกอบการดำเนินการทางวินัย (เพิ่มจำนวนคณะกรรมการ  และระบุกลุ่มงานรับผิดชอบดำเนินการสอบข้อเท็จจริง และให้รายงานผลต่อผู้บริหารหน่วยงาน)

 

 

9

หน่วยงานต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนและผู้เป็นพยาน เมื่อมีการร้องเรียนแล้ว ผู้ร้องเรียนและผู้เป็นพยานจะไม่ถูกดำเนินการใด ๆ ที่กระทบต่อหน้าที่การงานหรือการดำรงชีวิตหากจำเป็นต้องมีการดำเนินการใด ๆ  ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ร้องเรียนและผู้เป็นพยาน รวมถึงข้อร้องขอของผู้เสียหาย ผู้ร้องเรียนหรือผู้เป็นพยานควรได้รับการพิจารณาจากบุคคลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบตามความเหมาะสม และหน่วยงานต้องให้การคุ้มครองผู้ร้องเรียนไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง

(เพิ่มเติมมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนและผู้เป็นพยาน)

 

 

10

หน่วยงานต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้ถูกกล่าวหา โดยในระหว่างการร้องเรียน  ยังไม่ถือว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิด ต้องให้ความเป็นธรรมและให้ได้รับการปฏิบัติ เช่นเดียวกับบุคลากรอื่น และต้องมีการให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ รวมทั้งสิทธิในการแสดงเอกสาร/พยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหา

(เพิ่มเติมมาตรการคุ้มครองผู้ถูกกล่าวหา)

7

หน่วยงานต้องติดตามผลการดำเนินงานตาม

แนวปฏิบัติฯ อย่างต่อเนื่อง และรายงานต่อ คกก.สทพ. อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

11

หน่วยงานต้องรายงานผลการดำเนินงานตามแนวปฏิบัติฯ อย่างต่อเนื่อง สำหรับหน่วยงานภาครัฐให้รายงานต่อผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย (Chief Gender Equality Officer : CGEO) และให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (Gender Focal Point : GFP)  ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการฯ สำหรับการรายงานผลการดำเนินงานให้รายงานไปยัง ศปคพ. กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ภายในวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี

(เพิ่มเติมกลไกติดตามและการรายงานผล)

 

 

 

12

ศปคพ. กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน และติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการฯ โดยรายงานต่อ คกก. สทพ. อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

(เพิ่มเติมบทบาทของ ศปคพ.)

 

14. เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีศึกษาเกี่ยวกับการประมูลงานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free)  ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และงานให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)                 

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีศึกษาเกี่ยวกับการประมูลงานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และงานให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ และให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย

                   สาระสำคัญของเรื่อง

                   สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับทราบถึงกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชนต่างๆ เกี่ยวกับการให้สัมปทานสิทธิในการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty free) และสิทธิในการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ซึ่งเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและประชาชนโดยทั่วไป เนื่องจากเป็นการประมูลที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนแก่ประเทศเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็พบว่ามีข้อสังเกตในหลายประเด็นจากทั้งสื่อมวลชน  นักวิชาการ ตลอดจนประชาชนบางกลุ่มเกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงการประมูลดังกล่าว ของ ทอท. ว่ามีความเหมาะสม คุ้มค่า และโปร่งใสหรือไม่ เพียงใด ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้ดำเนินการศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริง ตลอดจนเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอให้มีการกำหนดมาตรการหรือข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการของ ทอท. ในข้างต้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นสำคัญ โดยพิจารณาแล้วเห็นสมควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตกรณีศึกษาเกี่ยวกับการประมูลงานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และงานให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ต่อคณะรัฐมนตรี สรุปได้ ดังนี้

                   1. ข้อเสนอต่อรัฐบาล

                             1.1 รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดอากรที่หลากหลาย โดยเฉพาะร้านค้าปลอดอากรในเมือง

                             1.2 ควรมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดแนวทางที่ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวสามารถซื้อสินค้าในร้านค้าปลอดอากรในเมืองและนำสินค้าดังกล่าวติดตัวไปได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปรับสินค้า ณ จุดส่งมอบสินค้าในสนามบิน

                             1.3 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนจากการจำหน่ายสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมืองให้เหมาะสมเช่นเดียวกับร้านค้าปลอดอากรในท่าอากาศยาน โดยอาจพิจารณาให้กระทรวงการคลังหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบในการเก็บส่วนแบ่งผลประโยชน์ดังกล่าว

                   2. ข้อเสนอต่อ ทอท. ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม (ทอท.) ได้พิจารณาแล้ว ไม่มีข้อขัดข้องต่อข้อเสนอดังกล่าว สรุปได้ ดังนี้

 

ข้อเสนอต่อ ทอท.

ความเห็นของ ทอท.

ข้อเสนอระยะสั้น

Ÿ ทอท. และบริษัทคู่สัญญาต้องดำเนินการติดตั้งและใช้ประโยชน์อย่างเต็มรูปแบบจากระบบรับรู้รายได้ (Point of Sale : POS)

Ÿ ทอท. ควรกำหนดแนวทางหรือกระบวนการในการตรวจสอบการดำเนินงานตามเงื่อนไจต่าง ๆ ที่กำหนดในสัญญา

Ÿ ทอท. ควรมีกระบวนการในการตรวจสอบการใช้พื้นที่ ตลอดจนราคาสินค้า ราคาอาหาร เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

ข้อเสนอระยะสั้น

ทอท. ไม่ขัดข้อง โดยปัจจุบันท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. บางส่วนได้ดำเนินการติดตั้งระบบรับรู้รายได้ และเชื่อมต่อส่งข้อมูลให้ ทอท. สามารถตรวจสอบได้ทุกวัน สำหรับแนวทางหรือกระบวนการในการตรวจสอบ การดำเนินการตามเงื่อนไขต่างๆ  ที่กำหนดในสัญญานั้น ปัจจุบันมีกระบวนการตรวจสอบ โดยหน่วยงานของ ทอท. และสำนักตรวจสอบ ทอท. ทั้งนี้ ทอท. จะรับข้อเสนอแนะในส่วนอื่น ๆ มาปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อใช้บริหารโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

ข้อเสนอระยะยาว

Ÿ ทอท. ควรศึกษารูปแบบและระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้สัมปทานแก่เอกชน เพื่อประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร โดยต้องมีการวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสียให้ครอบคลุมในทุกด้าน

Ÿ ทอท. ควรให้ความสำคัญกับการจัดทำฐานข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะข้อมูลที่ผู้เข้าร่วมประมูลและสาธารณชนควรรับทราบ

Ÿ ทอท. ควรทบทวน และปรับปรุงการกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนในการคัดเลือกผู้ชนะการประมูลโดยพิจารณาปรับสัดส่วน/น้ำหนักเกี่ยวกับผลประโยชน์ผลตอบแทนที่รัฐควรได้รับให้มากขึ้น เพื่อให้การคัดเลือกผู้ชนะการประมูลมีความโปร่งใสเท่าเทียมกัน และเกิดประโยชน์สูงสุด

Ÿ ทอท. ควรพิจารณาปรับปรุงแนวทางการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานโดย ทอท. ควรเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่เอง

Ÿ ในการพิจารณาจัดตั้งจุดส่งมอบสินค้าควรกำหนดให้ดำเนินการโดยแยกต่างหากจากสัญญาการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ผู้โดยสาร ทั้งนี้ อาจพิจารณาแนวทางให้ ทอท. ดำเนินการเปิดจุดส่งมอบสินค้าในพื้นที่ของตนเอง  เพื่อเปิดโดกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ  สามารถเข้ามาใช้บริการจุดส่งมอบสินค้าได้ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาการผูกขาด  และสามารถสร้างรายได้ให้รัฐเพิ่มมากขึ้น

Ÿ ควรพิจารณาทบทวนกำหนดค่าตอบแทนหรือส่วนแบ่งรายได้ที่รัฐพึงได้รับจากการให้บริการจุดส่งมอบสินค้าให้มีความเหมาะสม

Ÿ ควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดำเนินงานหรือการตรวจสอบต่าง ๆ

ข้อเสนอระยะยาว

ทอท. ไม่ขัดข้อง โดยข้อเสนอส่วนใหญ่ ทอท. ได้นำไปใช้ในโครงการคัดเลือกผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร  ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่  และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ผ่านมาแล้ว ข้อเสนอระยะยาวที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ  เช่น การปรับปรุงเกณฑ์การให้คะแนนในการคัดเลือกหรือให้ ทอท. พัฒนาแนวทางการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานเอง ทอท. จะพิจารณานำข้อเสนอดังกล่าวมาปรับปรุงเป็นแนวดำเนินการต่อไป สำหรับข้อเสนอให้มีการจัดตั้งจุดส่งมอบสินค้า (Pick up counter) แยกต่างหากจากสัญญาบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อป้องกันการผูกขาดนั้น ทอท. ได้พิจารณาดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยเริ่มดำเนินการที่ท่าอากาศยานภูเก็ตตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2559 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 และท่าอากาศยานดอนเมืองจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565

 

 

                   ทั้งนี้ ข้อเสนอของสำนักงาน ป.ป.ช. เกี่ยวกับการพิจารณาจัดตั้งจุดส่งมอบสินค้าหรือ Pick up counter ควรกำหนดให้ดำเนินการโดยแยกต่างหากจากสัญญาการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อป้องกันการผูกขาด และเป็นการแก้ไขปัญหาในเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร นั้น กระทรวงคมนาคม โดย ทอท. ได้ดำเนินการแยกสัญญา สำหรับสัญญาที่จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 สำหรับท่าอากาศยานดอนเมืองเรียบร้อยแล้ว  โดยอยู่ระหว่างการประมูลหาผู้ประกอบการในส่วนสัญญาจุดส่งมอบสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (2 มกราคม 2563) เห็นชอบแนวทางการดำเนินการดังกล่าวด้วยแล้ว

 

15.เรื่อง โครงการจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอการขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประจำปี 2563 วงเงิน 600 ล้านบาท โดยโครงการฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

                   1. ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏมีทั้งสิ้น 38 แห่ง ได้น้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ด้านการศึกษาในการเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และจัดทำยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนาบัณฑิต ยกระดับคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ควบคู่ไปกับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ให้มีความต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) อว. จึงจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาและประยุกต์ใช้ระบบประมวลผลข้อมูลอัจฉริยะ (Artificial Intelligence) ในการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และได้ส่งข้อเสนอโครงการ กิจกรรมหรือการดำเนินการประเภทที่ 2 ประจำปี 2563 กรณีทำความตกลงกับหน่วยงานรัฐ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กทปส. ของ กสทช. ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 จำนวน 600 ล้านบาท แต่ กทปส. กำหนดกรอบวงเงินไว้เพียง 200 ล้านบาท ทั้งนี้ กทปส. จะพิจารณาข้อเสนอโครงการฯ ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 โดยโครงการฯ มีกิจกรรมการดำเนินงาน จำนวน 15 กิจกรรม ดังนี้

                       1.1 พัฒนาและถ่ายทอดการสร้าง Data Model ต้นแบบ เพื่อให้หน่วยงานของมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาคใช้เป็นต้นแบบ

                       1.2 พัฒนาระบบฐานข้อมูล Student Profiling เพื่อจัดเก็บข้อมูลประวัติส่วนตัวนักศึกษา ประวัติการศึกษา ผลการเรียน ความสนใจและความถนัด

                       1.3 พัฒนาระบบพัฒนาทักษะ (Re-skill & Up-skill) สำหรับครู/อาจารย์ เพื่อเป็นการเพิ่มทักษะใหม่ ๆ ให้กับบุคลากรทางการศึกษา

                       1.4 พัฒนาระบบ Learning Management System เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มกลางในการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้แก่นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป

                       1.5 พัฒนาระบบฐานข้อมูลชุมชน เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการเชื่อมโยงข้อมูลการค้า เศรษฐกิจและชุมชน

                       1.6 พัฒนาระบบ Sentiment Analysis เพื่อรวมรวบความเห็น ความสนใจ ตลอดจนปฏิกิริยาต่าง ๆ ของผู้คน

                       1.7 พัฒนาระบบ Student Insight & Personalized Learning เป็นระบบการติดตามและวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา

                       1.8 พัฒนาระบบฐานข้อมูลอัจฉริยะโดยมีการนำเทคโนโลยีทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาใช้

                       1.9 พัฒนาระบบฐานข้อมูลงบประมาณ ข้อมูลบุคลากร และข้อมูลโครงการสำหรับจัดเก็บข้อมูลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย

                       1.10 พัฒนาระบบรายงานเพื่อผู้บริหาร เพื่อให้ผู้บริหารใช้ติดตามความก้าวหน้าและตรวจสอบสถานะของข้อมูลในด้านต่าง ๆ

                       1.11 พัฒนาระบบรับคำร้อง/ความคิดเห็น (Ticketing and Feedback) เป็นระบบที่เปิดรับคำร้องหรือความคิดเห็นในด้านต่าง ๆ

                       1.12 จัดหาและติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายและอุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลระบบ Private Cloud เพื่อเป็นระบบหลักและเป็นศูนย์กลางในการประมวลผลข้อมูล

                       1.13 จัดหาและพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อเป็นระบบสารสนเทศกลางในการให้บริการของมหาวิทยาลัย

                       1.14 จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้งานรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ  เพื่อนำมาออกแบบระบบ

                       1.15 ดำเนินการออกแบบและพัฒนากระบวนการประมวลผลเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง

                   2. สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ ที่ อว. ขอรับการสนับสนุนจาก กทปส. ของ กสทช. จำนวน 600 ล้านบาท จำแนกเป็นดังนี้

รายการ

จำนวนเงิน (บาท)

1. ค่าตอบแทนบุคลากรหรือค่าจ้างนักวิจัย

201,071,600

2. ค่าใช้สอยหรือค่าดำเนินการ

5,451,840

3. ค่าวัสดุ

-

4. ค่าครุภัณฑ์

393,476,560 (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7)

5. ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

-

   รวมเป็นเงินทั้งสิ้น

600,000,000

 

16. เรื่อง การเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ การเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 โดยจะดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ 

สาระสำคัญ

                   ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเปิดเรียนของสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 9 เมษายน 2563 ได้ประกาศให้สถานศึกษาทั้งในและนอกระบบซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดภาคเรียนในวันดังกล่าว ดังนี้

                   1. ปฏิทินการรับนักเรียน

                             1.1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 (1) การรับนักเรียน โดยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 รับสมัครระหว่างวันที่ 3-12 พฤษภาคม 2563 ส่วนสถานศึกษาที่จัดการศึกษาพิเศษเพื่อเด็กพิการ และผู้ด้อยโอกาส รับสมัครระหว่างวันที่ 3-31 พฤษภาคม 2563

 (2) การสอบ/คัดเลือก ในห้วงเวลาเดือนมิถุนายน 2563

 (3) การจัดหาสถานศึกษาและการรับรายงานตัว/มอบตัวของนักเรียนทุกคน จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2563

1.2 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (โรงเรียนในระบบประเภทสามัญศึกษา)

1. การรับนักเรียน การสอบ/คัดเลือก และการประกาศผล ให้อยู่ในดุลพินิจของแต่ละโรงเรียน โดยต้องแล้วเสร็จก่อนการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563

2. การรับนักเรียนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งได้จัดทำระบบรับสมัครนักเรียนออนไลน์สำหรับภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 ให้โรงเรียนเอกชนในระบบประเภทสามัญศึกษาทั้งหมด โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

3. การจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจการเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในวันศุกร์ที่ 17 เมษายน 2563 โดยผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อให้โรงเรียนดำเนินการรับสมัครนักเรียนผ่านระบบออนไลน์ได้ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563

1.3 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

สถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐและเอกชน สามารถดำเนินการรับสมัครนักเรียน นักศึกษาทั้งผ่านระบบออนไลน์ หรือสมัครด้วยตนเองที่สถานศึกษา ดังนี้

(1) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 1 (ปวช.1) รับสมัคร ระหว่างวันที่ 3-12 พฤษภาคม 2563 ประกาศผลการสอบ/คัดเลือก วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 และมอบตัว ระหว่างวันที่ 15 - 16 มิถุนายน 2563

(2) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ชั้นปีที่ 1 (ปวส.1) รับสมัคร ประกาศผลการสอบ/คัดเลือก และมอบตัว ให้สถานศึกษากำหนดตามความเหมาะสมและทันต่อการเปิดภาคเรียน

1.4 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)

 การรับสมัครผู้เรียนใหม่และลงทะเบียนเรียนผู้เรียนเก่า ดำเนินการโดยผ่านระบบออนไลน์ หรือสมัครด้วยตนเองที่สถานศึกษา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 16 พฤษภาคม 2563

                   2. การจัดการเรียนการสอนระบบทางไกลและอุปกรณ์ทางการสื่อสาร

2.1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อม (7 เมษายน – 17 พฤษภาคม 2563)

1. สำรวจความพร้อมในด้านอุปกรณ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และระบบการบริหารจัดการการเรียนการสอน

2. ขออนุมัติใช้ช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

3. ขออนุมัติเผยแพร่การเรียนการสอนจากห้องเรียนต้นทางในระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) จากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์

4. จัดทำสื่อวีดิทัศน์การสอนโดยครูต้นแบบ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้

5. รวบรวมสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ใน OBEC Content Center ชุดโปรแกรมและแพลตฟอร์มการเรียนรู้ครบวงจรของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น Tutor ติวฟรี.com, E-book เป็นต้น

6. เตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบเครือข่าย เพื่อรองรับการให้บริการ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกับระบบ Digital e-Learning ของกระทรวงศึกษาธิการ

ระยะที่ 2 การทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล (18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2563)

1. ทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล ดังนี้ (1) ระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล โดยการเผยแพร่สัญญาณจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (DLTV) ทั้งนี้ ระดับปฐมวัยเน้นกิจกรรมเตรียมความพร้อมเด็ก และระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ (2) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลและระบบออนไลน์โดยครูต้นแบบ ด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ตามความเหมาะสมและบริบทของสถานศึกษา

2. เปิดศูนย์รับฟังความคิดเห็นการเรียนการสอนทางไกลจากผู้ปกครอง ประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุงและพัฒนา

3. ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ แนะนำช่องทางการเรียนทางไกลให้กับผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้อง

ระยะที่ 3 การจัดการเรียนการสอน (1 กรกฎาคม 2563 – 30 เมษายน 2564)

สำหรับ 2 สถานการณ์ ดังนี้

สถานการณ์ที่ 1 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid – 19) ไม่คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยระบบทางไกลผ่าน DLTV และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ด้วยวีดิทัศน์การสอนโดยครูต้นแบบ และระบบออนไลน์ด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ตามความเหมาะสมและบริบทของสถานศึกษา

สถานการณ์ที่ 2 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid–19) คลี่คลายจะจัดการเรียนการสอนปกติในโรงเรียน โดยให้เว้นระยะห่างทางสังคม
(Social Distancing) และมีแผนเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

ระยะที่ 4 การทดสอบและการศึกษาต่อ (1 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2564) โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบและคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ ได้แก่ (1) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เกี่ยวกับระบบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS GAT PAT)               (2) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ เกี่ยวกับการทดสอบ O-net ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  และ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

2.2 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

1. ประสานงานขอความร่วมมือกับโรงเรียน หรือหน่วยงานที่มีความพร้อมด้านสื่อการเรียนการสอนหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้สำหรับจัดการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อให้โรงเรียนเอกชนใช้จัดการเรียนการสอนได้ตามเงื่อนไขที่แต่ละหน่วยงานกำหนด และโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

2. อยู่ระหว่างจัดทำสารบัญกลุ่มสาระการเรียนรู้จำแนกตามระดับชั้น และตัวชี้วัด เพื่อการเชื่อมต่อไปยังสื่อการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ในคลังข้อมูลที่ได้จัดทำขึ้น ให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2563

3. จัดทำเว็บไซต์ที่ใช้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงไปยังข้อ 1 และข้อ 2 

2.3 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

 1. ดำเนินการเตรียมความพร้อมด้านการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ดังนี้ (1) เตรียมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เชื่อมโยง Platform กับกระทรวงศึกษาธิการ (2) เตรียมระบบ Cloud Computing (3) พัฒนาคลังความรู้ทางวิชาชีพบนระบบ Cloud และ (4) อยู่ระหว่างประสานงานเพื่อขอสนับสนุนช่องสัญญาณทีวีระบบดิจิทัลเพิ่มเติม จากเดิมที่มี DLTV ช่อง 13 (ถ่ายทอด 3 วัน/สัปดาห์)  ไปยังมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์

2. จัดการเรียนการสอนออนไลน์ในสถานศึกษาภาครัฐและเอกชน มี 4 แนวทาง ดังนี้ (1) ใช้แบบเรียนหรือเอกสารประกอบการสอนที่บ้าน โดยครูผู้สอนมีระบบออนไลน์ที่ติดต่อถึงผู้เรียนได้หลากหลายช่องทาง (2) ใช้ชุดการเรียนออนไลน์ (Online Course) ซึ่งมีรูปแบบเหมือนกับ DLTV โดยครูผู้สอนสามารถสื่อสารถึงผู้เรียนผ่านสื่อได้หลายช่องทาง อาทิ โทรทัศน์ YouTube เป็นต้น (3) ใช้ระบบการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ของสถานศึกษา ได้แก่ (3.1) ประยุกต์ใช้แอปพลิเคชันที่สถานศึกษาสร้างขึ้น หรือที่มีใช้แพร่หลายในสังคมออนไลน์ รวมถึงการผลิตบทเรียนออนไลน์ด้วยตนเอง และ (3.2) ใช้ห้องเรียนที่มีระบบการเรียนการสอนออนไลน์ของสถานศึกษา ซึ่งสามารถจัดการเรียนการสอนแบบ Realtime ได้ และ (4) ในบางสาขาวิชาที่ขาดแคลนครูผู้สอนหรือต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการสอน อาทิ ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ช่างเทคนิคระบบขนส่งทางราง อาจเรียนโดยการรับชมการถ่ายทอดสดการจัดการเรียนการสอน (Live) ผ่านศูนย์การสอนออนไลน์ของสถานศึกษาแม่ข่าย (วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและกำลังคนอาชีวศึกษา)

2.4 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)

(1) จัดการเรียนรู้ด้วยวิธีเรียน กศน. แบบออนไลน์ โดยผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ (1.1) แอปพลิเคชัน ONIE Online (1.2) ETV และทีวีระบบดิจิทัล ช่อง 37 (1.3) www.ETVThai.tv และ www.ceted.org และ (1.4) โปรแกรมการสื่อสารอื่น ๆ เช่น Line, Google Classroom, Microsoft Teams, Zoom Meeting, E-book เป็นต้น รวมทั้งพบปะครูผู้สอนตามความเหมาะสมของเนื้อหาวิชา และบริบทพื้นที่

(2) จัดช่องทางการเรียนรู้ ได้แก่ (2.1) ทางสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ETV และทีวีระบบดิจิทัล ช่อง 37 ออกอากาศคู่ขนานพร้อมกันทุกวัน เวลา 06.00 น. - 24.00 น. โดยปรับตารางออกอากาศในเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อสนับสนุนสื่อสำหรับในและนอกระบบการศึกษา รวมทั้งกำหนดช่องทางออกอากาศ ได้แก่ GMMz ช่อง 185, DTV ช่อง 252, PSI ช่อง 110, True ช่อง 371 และ (2.2) ทางแอพพลิเคชั่น ONIE Online

(3) ดำเนินการวัดและประเมินผล โดยจัดสอบด้วยข้อสอบกลางสำหรับนักศึกษา กศน. ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งในรูปแบบข้อสอบและจัดสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามศูนย์ทดสอบอำเภอ จำนวน 148 แห่งทั่วประเทศ

3. การเตรียมความพร้อมสำหรับครู

3.1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

พัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องสำหรับการเรียนการสอนทางไกล ดังนี้ (1) จัดทำคู่มือแนวทางการจัดการเรียนการสอนทางไกลสำหรับครู บุคลากรทางการศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้อง (2) ให้ความรู้ในการใช้เครื่องมือ เทคนิคและวิธีการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านช่องทาง DLTV และ OBEC Channel และ (3) นิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการเรียนการสอนทางไกล

3.2 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

 จัดฝึกอบรมครูให้สามารถใช้โปรแกรมที่มีอยู่อย่างแพร่หลายให้แล้วเสร็จประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2563 และใช้โปรแกรมจัดการเรียนการสอนออนไลน์ที่อยู่ระหว่างพัฒนา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2563

3.3 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

(1) ดำเนินการพัฒนาครูโดย (1.1) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเพื่อพัฒนาครูอาชีวศึกษาให้สร้างบทเรียนออนไลน์ สื่อการสอน เทคนิควิธีสอน และการประเมินผลที่เหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โดยกำหนดบทบาทครูเป็น 3 กลุ่ม คือ  Excellent Teacher, Mentor Teacher และ Network Teacher และ (1.2) พัฒนาทักษะการใช้โปรแกรม ที่สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อให้ครูสามารถพัฒนาบทเรียนออนไลน์ได้ตามความสนใจ

(2) การพัฒนาชุดการเรียนออนไลน์ (Online Course) ทุกรายวิชาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากำหนด สำหรับระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ ซึ่งสถาบันการอาชีวศึกษากำหนด 

3.4 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)

ดำเนินการเตรียมความพร้อม ได้แก่ (1) การชี้แจงผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับจังหวัด และผู้บริหารระดับอำเภอ (2) การอบรมครู ประกอบด้วย การจัดการเรียนรู้ผ่านระบบทางไกล และการสร้างแบบทดสอบแบบออนไลน์ (3) การชี้แจงนักศึกษา และ (4) การจัดทำคู่มือการจัดการเรียนรู้ผ่านระบบทางไกล

 

17. เรื่อง แนวทางดำเนินการและวิธีปฏิบัติในการใช้เงินทุนสำรองจ่ายตามมาตรา 45 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางดำเนินการและวิธีปฏิบัติในการใช้เงินทุนสำรองจ่าย ตามมาตรา 45 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561  ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ดังนี้

                   สืบเนื่องจากได้มีการอนุมัติให้หน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ไปเป็นจำนวนมากในการเฝ้าระวังควบคุมติดตามการระบาด  ป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  รวมทั้งเพื่อการเยียวยาความเดือดร้อนต่าง ๆ  แก่ประชาชน ทำให้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่ตั้งไว้จำนวน 96,000 ล้านบาท จะไม่เพียงพอ ซึ่งนอกจากสำนักงบประมาณจะได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ....  เพื่อโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 บางรายการ ไปตั้งเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และปัญหาภัยพิบัติภัยแล้ง อุทกภัย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการนั้น นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังพิจารณาร่วมกันถึงแนวทางการอนุมัติใช้เงินทุนสำรองจ่าย ตามมาตรา 45 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป  นั้น

                   สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง  โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและกรมบัญชีกลางได้พิจารณาร่วมกันแล้ว จึงขอเรียนว่าเงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 50,000 ล้านบาท ตามมาตรา 45 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 เป็นแหล่งเงินสำรองสำหรับนำไปใช้ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเมื่องบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ไม่เพียงพอ ซึ่งจะนำไปจ่ายได้ในกรณีที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนเพื่อประโยชน์แก่ราชการแผ่นดิน และเมื่อได้จ่ายเงินไปแล้วจะต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายเพื่อสมทบเงินทุนนั้นไว้จ่ายต่อไปในโอกาสแรก ดังนั้น จึงเห็นสมควรกำหนดแนวทางดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตาม มาตรา 45 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และสำนักงบประมาณขอเสนอวิธีปฏิบัติในการใช้เงินทุนสำรองจ่าย ดังนี้

                   1. แนวทางดำเนินการ

                             1.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จ่ายเงินจากคลังเป็น “เงินทุนสำรองจ่าย” จำนวน 50,000 ล้านบาท

                             1.2 การขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย ควรใช้หลักการเดียวกับการขอใช้งบประมาณรายจ่าย งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

                             1.3 ให้สำนักงบประมาณ ทำหน้าที่พิจารณาคำขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ

                             1.4 การเบิกจ่ายเงินทุนสำรองจ่าย ดำเนินการโดยใช้ระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์  กระทรวงการคลัง (GFMIS) เช่นเดียวกับเงินงบประมาณ

                             1.5 การตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย ให้ถือปฏิบัติตามแนวทางเดียวกับการตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางตรวจสอบยอดเงินที่จะต้องตั้งชดใช้ในแต่ละปี

                   2. วิธีปฏิบัติในการใช้เงินทุนสำรองจ่าย

                   การใช้เงินทุนสำรองจ่าย ใช้หลักการเดียวกับการขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยมีวิธีปฏิบัติในการใช้เงินทุนสำรองจ่าย ดังนี้

                             2.1 การขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย ให้กระทำได้ในกรณีที่เป็นรายจ่าย ดังนี้

                                      (1) เป็นรายจ่ายเพื่อการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ

                                      (2) เป็นรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง

                                      (3) เป็นรายจ่ายที่ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว แต่มีจำนวนไม่เพียงพอและมีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว

                                      (4) เป็นรายจ่ายที่ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ แต่มีภารกิจจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการและต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว

                             2.2 หน่วยรับงบประมาณจะขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย ได้แต่เฉพาะกรณีที่หน่วยรับงบประมาณได้ตรวจสอบแน่ชัดแล้วว่าไม่สามารถนำงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณมาใช้จ่ายได้หรือนำมาใช้จ่ายได้ แต่มีจำนวนไม่เพียงพอ

                             2.3 การขอใช้เงินทุนสำรองจ่ายให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำรายละเอียด ดังนี้

                                      (1) คำชี้แจงเกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นในการขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย

                                      (2) วัตถุประสงค์ของการขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย

                                      (3) แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเป็นรายเดือน

                                      (4) สำนักงานที่จะดำเนินการเบิกจ่าย

                                      (5) รายละเอียดประกอบการพิจารณาตามที่สำนักงบประมาณกำหนด เช่น คุณลักษณะเฉพาะของครุภัณฑ์ แบบรูปรายการและประมาณการราคาที่ดิน หรือสิ่งก่อสร้าง อัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดโดยกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

                             2.4 ให้หน่วยรับงบประมาณที่ขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย เสนอเรื่องให้รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล แล้วแต่กรณี พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งคำขอให้สำนักงบประมาณ

                             2.5 กรณีที่หน่วยรับงบประมาณขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง  รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามขั้นตอนของระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น  แล้ว แต่ปรากฏว่างบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น มีไม่เพียงพอ  และสมควรให้ใช้จ่ายจากเงินทุนสำรองจ่าย ให้ถือว่าคำขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น นั้น เป็นคำขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย

                             2.6 ให้สำนักงบประมาณรวบรวมรายการและวงเงินที่หน่วยรับงบประมาณขอใช้จากเงินทุนสำรองจ่ายโดยจะพิจารณาความเหมาะสมของวงเงินที่จะใช้จ่ายเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติและเมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้วสำนักงบประมาณจะจัดสรรเงินทุนสำรองจ่ายไปยังสำนักงานที่จะดำเนินการเบิกจ่าย

                             2.7 การเปลี่ยนแปลงรายการหรือการเพิ่มวงเงินเกินวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี โดยต้องส่งรายละเอียดอื่นใดที่เกี่ยวข้องให้สำนักงบประมาณพิจารณาเพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วย

                             2.8 เมื่อหน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายเงินทุนสำรองจ่ายบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้รับอนุมัติแล้วหรือดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้วมีเงินเหลือจ่ายให้แจ้งสำนักงบประมาณภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบยอดเงินเหลือจ่าย

                             2.9 ให้หน่วยรับงบประมาณที่ได้รับอนุมัติเงินทุนสำรองจ่าย รายงานผลการดำเนินการตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายต่อสำนักงบประมาณภายในสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นไตรมาสและวันที่การใช้จ่ายแล้วเสร็จ เพื่อสำนักงบประมาณรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

                             2.10 ให้หน่วยรับงบประมาณเบิกจ่ายเงินทุนสำรองจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563

                             อนึ่ง  เนื่องจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ประกาศใช้แล้ว  จึงเห็นสมควรให้มีการใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาและเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ก่อนในลำดับแรก  และกันวงเงินของเงินทุนสำรองจ่ายดังกล่าวไว้ใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินจำเป็นอื่นที่ไม่สามารถใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดได้

 

18. เรื่อง อัตราการชดเชยความเสียหายให้สถาบันการเงินตามมาตรา 11 ของพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอัตราการชดเชยความเสียหายให้สถาบันการเงินตามมาตรา 11 ของ พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

                   สาระสำคัญ

                   ธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบอัตราการชดเชยความเสียหายให้สถาบันการเงินตามมาตรา 11 ของพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โดยมีรายละเอียดดังนี้

                   1. ร้อยละ 70 ของจำนวนเงินที่ธนาคารพาณิชย์ และ SFIs ต้องกันสำรองเพิ่มเติมจากยอดหนี้รวมของลูกหนี้คูณด้วยอัตราส่วนของยอดหนี้ใหม่ตามพระราชกำหนดนี้กับยอดหนี้รวม สำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562

                   2. ร้อยละ 60 ของจำนวนเงินที่ธนาคารพาณิชย์ และ SFIs ต้องกันสำรองเพิ่มเติมจากยอดหนี้รวมของลูกหนี้คูณด้วยอัตราส่วนของยอดหนี้ใหม่ตามพระราชกำหนดนี้กับยอดหนี้รวม สำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อเกิน 50 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562

                   ทั้งนี้ อัตราดังกล่าวมีความเหมาะสมในการดูแลให้ธนาคารพาณิชย์และ SFIs ช่วยเหลือลูกหนี้โดยการเร่งปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มสภาพคล่องโดยเฉพาะให้แก่ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดเล็ก เป็นการรักษาความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์และ SFIs ภายใต้ภาวะที่มีความเสี่ยงของลูกหนี้อยู่ในระดับสูง และไม่สร้างภาระทางการคลังที่มากเกินควร นอกจากนี้ อัตราดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการของร่างพระราชกำหนดที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

 

19. เรื่อง ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ครั้งที่ 2

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการขยายกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิของมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จากเดิมจำนวน 9 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ สำหรับเรื่องงบประมาณ ให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณพิจารณาร่วมกันอีกครั้งถึงแหล่งเงินงบประมาณที่จะสามารถนำมาใช้ดำเนินการได้ทันการณ์

                    สาระสำคัญของเรื่อง

                    กระทรวงการคลังเสนอว่า

                    ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เห็นชอบในหลักการมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) (มาตรการฯ) ซึ่งเป็นมาตรการและโครงการภายใต้ชุดมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 และได้มีมติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 เห็นชอบการขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อดำเนินมาตรการฯ เป็นจำนวน 9 ล้านคน รวมทั้งเห็นชอบแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณตามที่กระทรวงการคลังเสนอ นั้น

                   เนื่องจากกระทรวงการคลังได้เปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบลงทะเบียนตามมาตรการฯ และพบว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมีมากกว่าที่ได้ประมาณการไว้ อีกทั้ง จากการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิในการชดเชยรายได้ตามมาตรการฯ พบว่า ผู้ได้รับผลกระทบบางส่วนมีรายชื่อปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือฐานข้อมูลนักเรียน/นักศึกษา แต่ประกอบอาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก ดังนั้น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง กระทรวงการคลังจึงเห็นสมควรเสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการฯ 

                   เนื่องจากมาตรการฯ กำหนดให้ชดเชยรายได้แก่ผู้ได้รับผลกระทบครั้งแรก ในเดือนเมษายน 2563 และในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ยังคงส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างและทุกพื้นที่ จึงจำเป็นต้องเร่งให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบและบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต

                   กระทรวงการคลังขอเรียนว่า จากการเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบลงทะเบียนตามมาตรการฯ ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม ถึงวันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน 2563 เวลา 20.00 น. พบว่า ผู้ลงทะเบียนมีจำนวนรวม 27.76 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าที่ได้ประมาณการไว้ อีกทั้ง จากการรับเรื่องร้องเรียนของผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ พบว่า ผู้ได้รับผลกระทบบางส่วนมีรายชื่อปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ประกอบอาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก ดังนั้น จึงเห็นควรให้ผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มนี้ได้รับสิทธิตามมาตรการฯ ดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ หากผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มดังกล่าวได้รับสิทธิตามมาตรการฯ แล้ว จะไม่สามารถขอรับความช่วยเหลือจากมาตรการใด ๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) อีกต่อไป นอกจากนี้ ผู้ได้รับผลกระทบบางกลุ่มปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลนักเรียน/นักศึกษา แต่เป็นนักเรียน/นักศึกษาไม่เต็มเวลา และประกอบอาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก ดังนั้น จึงเห็นควรให้ผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มนี้ได้รับสิทธิตามมาตรการฯ ดังกล่าวด้วยเช่นกัน

                   กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว จึงเห็นสมควรเสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการฯ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง โดยขยายจำนวนผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิของมาตรการฯ ให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จากเดิมจำนวน 9 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน

 

20. เรื่อง มาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพิ่มเติม

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางการดำเนินการมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ โดยให้ พน. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายต่าง ๆ ให้ถูกต้อง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาแหล่งเงินให้รอบคอบ

                   สาระสำคัญของมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพิ่มเติม มีดังนี้ 

                   1. สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน (ประเภทที่ 1.1 หรือ 1.1.1) ให้ใช้ไฟฟ้าฟรี เป็นเวลา 3 เดือน ในรอบการใช้ไฟฟ้าเดือน มีนาคม ถึง พฤษภาคม 2563 หากใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยภายใน 3 เดือนดังกล่าวจะไม่ถูกจัดอยู่ในประเภทที่ 1.2 หรือ 1.1.2

                   2. สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน (ประเภทที่ 1.2 – 1.3 หรือประเภทที่ 1.1.2-1.1.3) ให้จ่ายค่าไฟฟ้ารายเดือนสำหรับรอบการใช้ไฟฟ้าเดือน มีนาคม ถึงพฤษภาคม 2563 โดยใช้หน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นฐานในการอ้างอิง ดังนี้  

                             2.1 หากการใช้ไฟฟ้ารายเดือนน้อยกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ให้จ่ายค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริงในเดือนนั้น ๆ 

                             2.2 หากการใช้ไฟฟ้ารายเดือนมากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่ไม่ถึง 800 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 

                             2.3 หากการใช้ไฟฟ้ารายเดือนมากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และมากกว่า 800 หน่วย แต่ไม่ถึง 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 บวกด้วยค่าไฟฟ้าสำหรับหน่วยที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าไฟฟ้าจริง

                             2.4 หากการใช้ไฟฟ้ารายเดือนมากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และมากกว่า 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 บวกด้วยค่าไฟฟ้าสำหรับหน่วยที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าไฟฟ้าจริง

                   ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพิ่มเติม ของ พน.  เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของภาคครัวเรือน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจในหลายส่วน โดยคาดว่าจะมีประชาชนจำนวนมากย้ายถิ่นฐานกลับไปยังภูมิลำเนา รวมถึงการทำงานภายในที่พักอาศัย (Work From Home) ทำให้การใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น  โดยการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย จำนวนประมาณ 22 ล้านราย เป็นวงเงินประมาณ 23,668 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

 

21. เรื่อง การโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ดังนี้

                   1. เห็นชอบผลการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่นำมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ....

                   2. ให้สำนักงบประมาณนำข้อเสนอตามข้อ 1 ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 วรรค 2 และดำเนินการตามข้อ 4

                   3. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการโอนงบประมาณของหน่วยงาน

                   สาระสำคัญของเรื่อง

                   ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 เห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวทางการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และปฏิทินการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยตามปฏิทินฯ กำหนดให้สำนักงบประมาณเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในวันที่ 21 เมษายน 2563 นั้น

สำนักงบประมาณขอเรียน ดังนี้

                   1. หน่วยรับงบประมาณ ได้ส่งรายละเอียดการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านความเห็นชอบจากรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ให้สำนักงบประมาณ จำนวน 84,814.3956 ล้านบาท สำนักงบประมาณได้พิจารณาดำเนินการตามหลักเกณฑ์และแนวทางการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 โดยงบประมาณและรายการที่นำไปจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... ประกอบด้วย 1) รายจ่ายประจำในทุกงบรายจ่ายที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายและไม่มีข้อผูกพัน หรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ ณ วันที่  7 เมษายน 2563  อาทิ ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา การฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ การดำเนินกิจกรรม (Event) 2) รายจ่ายลงทุนในทุกงบรายจ่าย อาทิ รายการปีเดียวที่ยังไม่ประกาศดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายในวันที่ 7 เมษายน 2563 และ/หรือไม่สามารถลงนามได้ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 รายการที่สามารถชะลอการดำเนินการโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ หรือไม่สามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2563  3) งบประมาณที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ หรือมีเงินรายได้เพียงพอของหน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ องค์การมหาชน หน่วยงานของรัฐและทุนหมุนเวียน ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้ตรวจสอบข้อมูลหลักฐานการดำเนินงานตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้รับจากหน่วยรับงบประมาณ และสถานะการก่อหนี้รายจ่ายลงทุนเพิ่มเติม โดยคำนึงถึงการบริหารงบประมาณรายจ่ายในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่จำเป็นในการให้บริการสาธารณะภาครัฐ การสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามสิทธิและสวัสดิการเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่คำนึงถึงการสร้างงานและรายได้ในระดับพื้นที่ ตลอดจนรายจ่ายตามข้อผูกพันต่าง ๆ ที่ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้บนพื้นฐานที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

                   2. สรุปผลการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่นำมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... จำนวน 100,395 ล้านบาท จำแนก ดังนี้

                       2.1 งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ (Function) จำนวน 46,923.9118 ล้านบาท โดยกรณีหน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ องค์การมหาชน หน่วยงานของรัฐและทุนหมุนเวียน สำนักงบประมาณได้พิจารณานำงบประมาณมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... ในจำนวนเท่ากับข้อเสนอของหน่วยงานดังกล่าว

 

                    ตารางที่ 1 งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ (Function) ที่นำมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ....

 

หน่วย : ล้านบาท

 

หน่วยรับงบประมาณ

งบประมาณ

รายจ่ายประจำ

รายจ่ายลงทุน

รวม

 

รวมทั้งสิ้น

12,521.9974

34,401.9144

46,923.9118

1.

สำนักนายกรัฐมนตรี

969.7965

179.1646

1,148.9611

2.

กระทรวงกลาโหม

2,792.4622

14,968.4288

17,760.8910

3.

กระทรวงการคลัง

179.6403

598.5864

778.2267

4.

กระทรวงการต่างประเทศ

24.9899

37.7507

62.7406

5.

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

115.5962

77.3858

192.9820

6.

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

429.9725

166.2404

596.2129

7.

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

751.9063

1,027.0917

1,778.9980

8.

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

755.4018

409.4140

1,164.8158

9.

กระทรวงคมนาคม

159.2922

3,294.2922

3,453.5844

10.

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

517.7160

150.9336

668.6496

11.

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

203.2602

380.6694

583.9296

12.

กระทรวงพลังงาน

8.3804

29.3928

37.7732

13.

กระทรวงพาณิชย์

225.5145

66.3332

291.8477

14.

กระทรวงมหาดไทย

165.9906

4,758.2603

4,924.2509

15.

กระทรวงยุติธรรม

108.7266

286.3036

395.0302

16.

กระทรวงแรงงาน

17.0875

14.8658

31.9533

17.

กระทรวงวัฒนธรรม

156.3754

50.4875

206.8629

18.

กระทรวงศึกษาธิการ

1,620.2934

3,172.1931

4,792.4865

19.

กระทรวงสาธารณสุข

108.9619

829.5196

938.4815

20.

กระทรวงอุตสาหกรรม

78.8387

61.1416

139.9803

21.

ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงและหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี

210.1459

573.8666

784.0125

22.

จังหวัดและกลุ่มจังหวัด

1,760.3803

776.8043

2,537.1846

23.

รัฐวิสาหกิจ

745.7464

218.4877

964.2341

24.

หน่วยงานของรัฐสภา

324.1844

108.1673

432.3517

25.

หน่วยงานของศาล

18.8723

30.0942

48.9665

26.

หน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ

60.9639

94.9841

155.9480

27.

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

3.3000

1,939.5331

1,942.8331

28.

หน่วยงานอื่นของรัฐ

8.2011

4.0820

12.2831

29.

สภากาชาดไทย

-

97.4400

97.4400

           

 

                       2.2 งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) จำนวน 14,236.8011 ล้านบาท 

                   ตารางที่ 2 งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) ที่นำมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอน

งบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ....

หน่วย : ล้านบาท

 

แผนงานบูรณาการ

งบประมาณ

รายจ่ายประจำ

รายจ่ายลงทุน

รวม

 

รวมทั้งสิ้น

2,544.5505

11,692.2506

14,236.8011

1.

แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา

จังหวัดชายแดนภาคใต้

554.9641

169.1804

724.1445

2.

แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

89.8448

1,120.3679

1,210.2127

3.

แผนงานบูรณาการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม

15.0980

-

15.0980

4.

แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ

124.4455

-

124.4455

5.

แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย

13.5603

134.3375

147.8978

6.

แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

48.2530

2,113.6159

2,161.8689

7.

แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษา

ผู้ติดยาเสพติด

406.4350

-

406.4350

8.

แผนงานบูรณาการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและ               การเรียนรู้

175.4089

-

175.4089

9.

แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและ                ระบบโลจิสติกส์

19.9441

6,322.4809

6,342.4250

10.

แผนงานบูรณาการพัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล

31.9854

0.3725

32.3579

11.

แผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

5.0024

478.7307

483.7331

12.

แผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค

248.3840

1,147.4785

1,395.8625

13.

แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก

508.0260

31.5169

539.5429

14.

แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการ             แห่งอนาคต

31.9710

29.1687

61.1397

15.

แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว

271.2280

145.0007

416.2287

 

                   2.3 งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน จำนวน 2,622.0542 ล้านบาท เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำทั้งจำนวน สำนักงบประมาณได้พิจารณานำงบประมาณมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ... ในจำนวนเท่ากับข้อเสนอของทุนหมุนเวียน

                   ตารางที่ 3 งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียนที่นำมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ....

                                                              หน่วย : ล้านบาท

ทุนหมุนเวียน

งบประมาณ

รวมทั้งสิ้น

2,622.0542

ทุนหมุนเวียนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล

205.7267

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

200.5430

กองทุนยุติธรรม

5.1837

ทุนหมุนเวียนที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล

2,416.3275

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
สำหรับกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม


1.3275

กรมกิจการเด็กและเยาวชน สำหรับกองทุนคุ้มครองเด็ก

4.5000

กรมกิจการผู้สูงอายุ สำหรับกองทุนผู้สูงอายุ

10.5000

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

2,400.0000

     

 

                       2.4 งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ จำนวน 36,612.2329 ล้านบาท ประกอบด้วย รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 35,693.0629 ล้านบาท และรายจ่ายชำระค่าดอกเบี้ยเงินกู้ จำนวน 919.1700 ล้านบาท  ซึ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำทั้งจำนวน

                       2.5 งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ ที่นำไปจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ....  และงบประมาณรายจ่ายที่ได้รับจากการโอนและนำไปตั้งเป็นงบประมาณรายจ่าย งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ดังกล่าวข้างต้น มีผลต่อสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐซึ่งรัฐบาลรับภาระต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี และสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวยังอยู่ในกรอบสัดส่วนตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดสัดส่วนต่างๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563

                       2.6 งบประมาณรายจ่ายที่นำมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... จำนวน 100,395 ล้านบาท นำไปตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และปัญหาภัยพิบัติ ภัยแล้ง อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมทั้งกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นอื่น

                   3. กรณีการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... มีผลให้เป้าหมายหรือตัวชี้วัดแผนงาน ผลผลิตหรือโครงการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ลดลงในสาระสำคัญ ให้หน่วยรับงบประมาณเสนอขอปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 ต่อไป

                   4. กรณีงบประมาณรายจ่ายตามข้อเสนอวงเงินของหน่วยรับงบประมาณที่นำมาพิจารณาจัดทำ  ร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... เป็นงบประมาณรายจ่ายที่สำนักงบประมาณอนุมัติเงินจัดสรรไปยังหน่วยรับงบประมาณแล้วแต่หน่วยรับงบประมาณยังมิได้เบิกจ่ายเงินจากคลัง และงบประมาณรายจ่ายในลักษณะเงินอุดหนุนเพื่อเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือเป็นรายได้ ของหน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ องค์การมหาชน หน่วยงานของรัฐ ทุนหมุนเวียน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ซึ่งหน่วยรับงบประมาณได้เบิกจ่ายเงินจากคลังแล้วทั้งจำนวนและบางส่วน เพื่อให้การจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงเห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณามอบหมายให้สำนักงบประมาณประสานหน่วยรับงบประมาณดำเนินการนำเงินจัดสรรที่ผ่านการพิจารณาตามข้อ 2 มาส่งคืนในระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Government Fiscal Management Information System : GFMIS) ที่หน่วยรับงบประมาณส่วนกลาง โดยสำนักงบประมาณจะประสานกรมบัญชีกลางในการดำเนินการลดยอดเงินจัดสรร ระหว่างวันที่ 22 - 30 เมษายน 2563 เพื่อประมวลข้อมูลการจัดสรรคืนและนำไปจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... ต่อไป

 

ต่างประเทศ

22. เรื่อง การย้ายที่ตั้งสำนักงานภูมิภาคอาเซียนและแปซิฟิกของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ

                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ย้ายที่ตั้งสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) (สำนักงานฯ) จากชั้น 5 อาคารศูนย์ฝึกอบรม บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กรุงเทพมหานคร ไปยังสำนักงาน กสทช. ภาค 1 หลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยให้สำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานอำนวยการในนามประเทศไทยของ ITU เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการย้ายที่ตั้งสำนักงานฯ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการการกระจายเสียง (สำนักงาน กสทช.) เสนอ

                    ที่ประชุมเพื่อรับมอบนโยบายจากผู้บริหารสำนักงาน กสทช. ถึงประเด็นการแบ่งภารกิจการปฏิบัติหน้าที่หน่วยงานอำนวยการในนามประเทศไทยของ ITU ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2561 ได้มีมติพิจารณาความเป็นไปได้ในการย้ายสำนักงานฯ มาประจำการที่สำนักงาน กสทช. เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่ และเป็นการแสดงให้เห็นว่า สำนักงานฯ เป็นส่วนหนึ่งของสำนักงาน กสทช. มิใช่ ดศ. อีกต่อไป โดยผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่สำนักงานฯ ได้ทำการสำรวจพื้นที่ ชั้น 4 และชั้น 5 สำนักงาน กสทช. ภาค 1 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 และเห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวเหมาะสมที่จะเป็นที่ตั้งสำนักงานฯ เนื่องจากมีพื้นที่รองรับที่เพียงพอและมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าที่ตั้งเดิม มีสิ่งอำนวยความสะดวก และยังอยู่ไม่ไกลจากหน่วยงานโทรคมนาคม ได้แก่ ดศ. บริษัท โทโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และองค์กรโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก ทำให้สะดวกในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ

 

23. เรื่อง ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน ครั้งที่ 5 และร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 ร่างขอบเขตหน้าที่ (TOR) ของรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน รัฐมนตรีกีฬาอาเซียน – ญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่อาวุโสกีฬาอาเซียน และเจ้าหน้าที่อาวุโสกีฬาอาเซียน – ญี่ปุ่น

                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน ครั้งที่ 5 และร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 พร้อมทั้งร่างขอบเขตหน้าที่ (TOR) ขององค์กรเฉพาะสาขาภายใต้รัฐมนตรีกีฬาอาเซียน จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างขอบเขตหน้าที่ของรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน (2) ร่างขอบเขตหน้าที่ของรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน – ญี่ปุ่น (3) ร่างของเขตหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อาวุโสสาขากีฬาอาเซียน และ (4) ร่างขอบเขตหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อาวุโสสาขากีฬาอาเซียน – ญี่ปุ่น และอนุมัติให้รับรองเอกสารต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนถ้อยคำในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง ตามที่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ

                    สาระสำคัญ

          (1) ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน ครั้งที่ 5

- ที่ประชุมเห็นชอบจัดตั้งคณะทำงานด้านเทคนิค สำหรับการที่อาเซียนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาฟุตบอลระดับโลก ในปี 2577 (FIFA World Cup 2034) ความสำเร็จในการจัดแข่งขันกีฬาโรงเรียนอาเซียน และกีฬามหาวิทยาลัยอาเซียนในปี 2561-2562

                              - ที่ประชุมพึงพอใจกับการดำเนินงานตามแผนงานอาเซียนด้านกีฬา 2559-2563

(2) ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2

- ที่ประชุมยินดีกับวาระครบรอบ 45 ปี มิตรภาพและความร่วมมือของอาเซียนและญี่ปุ่น

- ที่ประชุมตกลงที่จะให้ความสำคัญต่อความร่วมมือด้านกีฬาสตรี การพัฒนาครูพลศึกษา และผู้ฝึกสอนพลศึกษาและวิทยาศาสตร์การกีฬามากขึ้น

(3) ร่างขอบเขตหน้าที่ (TOR) ของรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน

- รัฐมนตรีกีฬาอาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านกีฬาอาเซียน โดยการประสานงานกับรัฐมนตรีอาเซียนสาขาอื่นๆ และองค์กรอื่นๆ ในอาเซียน รวมไปถึงการให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่อาวุโสกีฬาอาเซียนในเชิงนโยบาย เพื่อความสอดคล้องในการดำเนินการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับการกีฬาในอาเซียน

(4) ร่างขอบเขตหน้าที่(TOR) ของรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน – ญี่ปุ่น

- รัฐมนตรีกีฬาอาเซียน – ญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างอาเซียน และญี่ปุ่นผ่านความร่วมมือด้านกีฬา โดยการประสานความร่วมมือด้านกีฬาร่วมกับเจ้าหน้าที่อาวุโสกีฬาอาเซียน – ญี่ปุ่น และภาคส่วนอื่น เพื่อส่งเสริมให้การกีฬาบรรลุผลสูงสุด

(5) ร่างขอบเขตหน้าที่ (TOR) ของเจ้าหน้าที่อาวุโสสาขากีฬาอาเซียน

- เจ้าหน้าที่อาวุโสสาขากีฬาอาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินงานตามแนวทางและประเด็นสำคัญอันเป็นวัตถุประสงค์ของรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน โดยมีหน้าที่กำหนด ดำเนินการ ทบทวน และประเมินผลประเด็นสำคัญ และกิจกรรมการพัฒนากีฬาตามแผนการดำเนินงานด้านกีฬาอาเซียน

(6) ร่างขอบเขตหน้าที่ (TOR)  ของเจ้าหน้าที่อาวุโสสาขากีฬาอาเซียน – ญี่ปุ่น

- เจ้าหน้าที่อาวุโสสาขากีฬาอาเซียน – ญี่ปุ่น มีหน้าที่หลักคือ ดำเนินการประเด็นสำคัญจากข้อสั่งการด้านกีฬาจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียน – ญี่ปุ่น และการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน – ญี่ปุ่น

                    ทั้งนี้ กก. รายงานเพิ่มว่าเอกสารทั้ง 6 ฉบับ ได้รับการเห็นชอบจากทุกประเทศในที่ประชุมแล้ว โดยในส่วนของประเทศไทย เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างเอกสารฯ แล้ว กระทรวงการต่างประเทศจะมีหนังสือแจ้งไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการรับรองร่างเอกสารทั้ง 6 ฉบับ อย่างเป็นทางการต่อไป นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการระบุถึงความร่วมมือของประเทศสมาชิกในการจัดการแข่งขันกีฬาในปี 2563 เช่น มหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น ในร่างถ้อยแถลงร่วม ทั้ง 2 ฉบับ นั้น กก.แจ้งว่าแม้ในขณะนี้การจัดกิจกรรมต่างๆ ในปี 2563 (ค.ศ.2020) ได้ถูกเลื่อนไปแล้ว เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อ COVID – 19 แต่ก็จะไม่กระทบต่อการรับรองร่างเอกสารที่เกี่ยวข้อง

 

24. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นว่าด้วยข้อริเริ่มด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด -19)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นว่าด้วยข้อริเริ่มด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด -19) หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมดังกล่าว ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

                   สาระสำคัญ  

                   ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นฯ เป็นเอกสารแสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของทุกประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

                   1. รักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันใกล้ชิดระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ซึ่งอาเซียนและญี่ปุ่นได้พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันมาตั้งแต่ปี 2520 ส่งผลให้การค้าและการลงทุนสองฝ่ายขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 4 และนักลงทุนอันดับ 2 ของอาเซียน ขณะที่อาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 2 ของญี่ปุ่น โดยเชื่อมั่นว่าอาเซียนและญี่ปุ่นจะสามารถรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกิดจากโควิด-19 ด้วยความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิด

                   2. บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 โดยเน้นย้ำความมุ่งมั่นในการรักษาตลาดที่เปิดกว้างและป้องกันการถดถอยของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและโลกและทำให้การเคลื่อนย้ายของสินค้าจำเป็น รวมถึงอาหาร สินค้าโภคภัณฑ์ ยา อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์และสุขภาพเป็นไปอย่างราบรื่น ตามสิทธิและพันธกรณีภายใต้ความตกลงขององค์การการค้าโลก

                   3. เสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ โดยเน้นย้ำการแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์กับผู้มีส่วนได้เสียด้านอุตสาหกรรม รวมทั้งวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย เพื่อลดการหยุดชะงักของการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อรับมือกับข้อจำกัดที่มีสาเหตุมาจากการระงับการเดินทางในปัจจุบัน และการใช้มาตรการต่างๆ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

แต่งตั้ง

25. เรื่อง การแต่งตั้งโฆษกและรองโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอการแต่งตั้งโฆษกและรองโฆษก พม. ดังนี้ 

                   1. พม. ยกเลิกคำสั่งที่ 445/2561 เรื่อง แต่งตั้งโฆษก พม. และรองโฆษก พม. ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2561 

                   2. พม. ได้แต่งตั้ง นางพัชรี อาระยะกุล รองปลัด พม. และนางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ รองปลัด พม. เป็น โฆษก พม. และนางจินตนา จันทร์บำรุง ผู้ตรวจราชการ พม. เป็น รองโฆษก พม.เพื่อให้การดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์ การชี้แจงข้อมูลข่าวสารและเผยแพร่ผลงาน บทบาทภารกิจของกระทรวงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (คำสั่ง พม. ที่ 107/2563 เรื่อง แต่งตั้งโฆษก พม. และรองโฆษก พม. ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563)

 

26. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการประปานครหลวง

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอดังนี้ 

                   1. ให้คณะกรรมการการประปานครหลวงมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 15 คน (นับรวมกับกรรมการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไว้แล้ว และผู้ว่าการการประปานครหลวง ซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง) ตามมาตรา 6 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

                   2. แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการประปานครหลวง รวม 5 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์และลาออก ดังนี้ 

                             2.1 นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ประธานกรรมการ แทนนายวัลลภ พริ้งพงษ์

                             2.2 นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา กรรมการ แทน นายนิสิต จันทร์สมวงศ์

                             2.3 นายประสิทธิ์ สืบชนะ กรรมการ แทน นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต

                             2.4 นายไตรรงค์ ขนอม กรรมการ แทน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทีฆวุฒิ พุทธภิรมย์ 

                             2.5 นายกฤษดา กวีญาณ กรรมการ แทน ศาสตราจารย์สุวัฒนา จิตตลดากร

                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2563 เป็นต้นไป และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2568
  • เช็ครายชื่อ! ครม.มีมติแต่งตั้งข้าราชการหลายตำแหน่ง เช็ครายชื่อ! ครม.มีมติแต่งตั้งข้าราชการหลายตำแหน่ง
  • วัยโจ๋รอเก้อ! เงินหมื่นเฟส 3 ดิจิทัลวอลเล็ต ยังไม่เข้า ครม. ขอฟังความเห็นก่อน วัยโจ๋รอเก้อ! เงินหมื่นเฟส 3 ดิจิทัลวอลเล็ต ยังไม่เข้า ครม. ขอฟังความเห็นก่อน
  • ยก 2 คำถามฟาดวุฒิภาวะ‘อิ๊งค์’ ปรับ‘นายกรัฐมนตรี’ก่อนปรับครม. ยก 2 คำถามฟาดวุฒิภาวะ‘อิ๊งค์’ ปรับ‘นายกรัฐมนตรี’ก่อนปรับครม.
  • เช็ครายชื่อ! ครม.มีมติแต่งตั้งข้าราชการหลายตำแหน่ง เช็ครายชื่อ! ครม.มีมติแต่งตั้งข้าราชการหลายตำแหน่ง
  • สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 29 เมษายน 2568 สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 29 เมษายน 2568
  •  

Breaking News

เริ่มแล้ว!!! การแข่งขันเรือใบ Trat Regatta 2025 ระดับนานาชาติครั้งแรกในจังหวัดตราด

'โฆษก​ มท.'แจงแล้ว! ​ปมเรียก​สรรพนาม'คุณลูกค้า'แทน'คุณลุง​-​คุณป้า'

ด่วน!เปิดชื่อ 55 สว. เรียกรับทราบข้อหาปม'คดีฮั้ว' แบ่งเป็น 3 ลอต

ชั้น 14 ส่อวุ่นอีก!!! 'รพ.ราชทัณฑ์'เล็งฟ้องศาลเพิกถอนมติ'แพทยสภา'

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved