30 เม.ย.56 สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอรายงานพิเศษเรื่อง คำวินิจฉัยฉบับเต็ม “กม.สืบพยานต่างประเทศ” ขัดหลักนิติธรรมใน รธน. โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง ที่ 4/2556 เรื่อง พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีความยาวทั้งหมด 12 หน้า สาระสำคัญ ดังนี้
จากกรณีที่ศาลอาญา ส่งคำโต้แย้งของจำเลย (พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม จำเลย กับพวก รวม 5 คน) ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.119/2553 คดีลักพาตัวและฆาตกรรมนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจขาวซาอุดิอาระเบีย เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กรณีที่โจทก์ยื่นคำร้องขอสืบพยานโจทก์คือ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก ในประเทศกัมพูชาและซาอุฯ โดยอ้างว่า พ.ต.ท.สุวิชชัย เป็นพยานปากสำคัญที่เป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 5 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535
ซึ่งต่อมา จำเลยทั้ง 5 ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งคำโต้แย้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 12 (2) มาตรา 37 และมาตรา 41 เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 29 และมาตรา 40 โดยอ้างเหตุผล สรุปว่า บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการและวิธีการสืบพยานว่าให้ดำเนินการอย่างไร อันเป็นผลทำให้จำเลยทั้ง 5 ไม่สามารถตามประเด็นไปสืบพยานในต่างประเทศได้ จำเลยไม่ได้รับสิทธิให้เข้าฟังการพิจารณาคดี การสืบพยาน การคัดค้านเอกสาร ประกอบคำเบิกพยาน การคัดค้านผู้พิพากษา อีกทั้งมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ไม่เป็นธรรม ขัดต่อสิทธิและเสรีภาพของจำเลย ศาลและจำเลยถูกบังคับให้ยอมรับพยานหลักฐานที่ได้มาโดยกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 40 (2) (3) (4) (7)
ขณะที่ฝ่ายโจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านคำโต้แย้งของจำเลยทั้ง 5 สรุปได้ว่า การสืบพยานในต่างประเทศ ย่อมต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีพิจารณาของศาลประเทศผู้รับคำร้องขอ โดยยึดหลักว่าเมื่อเป็นการสืบพยานแล้ว ย่อมสันนิษฐานได้ว่าเป็นพยานหลักฐานที่ผ่านกระบวนการพิจารณาที่เป็นธรรม โดยเปิดเผย และดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ จำเลยและทนายจำเลยมีสิทธิเข้ารับฟังการสืบพยาน การถามค้านพยานในต่างประเทศ การโต้แย้งคัดค้านการอ้างเอกสารประกอบคำเบิกความ อันถือได้ว่าเป็นการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย
“การที่โจทก์ขอให้ส่งประเด็นไปสืบพยานปากนี้ในศาลต่างประเทศนั้น เนื่องด้วยมีความจำเป็นที่พยานไม่อาจเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยได้ ดังนั้น หากปฏิเสธมิให้พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์เข้าเบิกความในคดีย่อมถือเป็นการบิดเบือนและปิดบังข้อเท็จจริงอันอาจส่งผลให้คำพิพากษาขาดข้อเท็จจริงที่สำคัญและกระทบต่อความยุติธรรม”
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำโต้แย้ง คำคัดค้านคำโต้แย้ง และเอกสารอื่นๆ ประกอบแล้วเห็นว่า มีประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัย รวม 4 ประเด็น
1.พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 12 (2) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 29 และมาตรา 40 หรือไม่
2.พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 36 มาตรา 37 มาตรา 38 และมาตรา 39 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 หรือไม่
3.พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 29 และมาตรา 39 หรือไม่
และ 4.พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 36 มาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 39 และมาตรา 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 40 (2) (3) (4) (7) หรือไม่
คำวินิจฉัยในประเด็นที่ 1.เรื่องบทบาทของผู้ประสานงานกลาง ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นการขอให้ส่งคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ มิใช่เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐ และมิใช่การจำกัด สิทธิและเสรีภาพของบุคคล และสิทธิในกระบวนการยุติรรม คำโต้แย้งในประเด็นนี้ จึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย
คำวินิจฉัยในประเด็นที่ 2.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีในการขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เป็นบทบัญญัติหลักเกณฑ์วิธีการขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่มีลักษณะพิเศษ มิใช่เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการรับโทษอาญาของบุคคล หรือบทสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไมมีความผิด หรือเป็นการปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิด คำโต้แย้งในประเด็นนี้ จึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย
คำวินิจฉัยในประเด็นที่ 3.เรื่องให้บรรดาพยานหลักฐานและเอกสารที่ได้มาตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ถือว่าเป็นพยานหลักฐานและเอกสารที่รับฟังได้ตามกฎหมาย มิใช่เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐ หรือการรับโทษอาญาของบุคคล ทั้งมิใช่บทสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้กระทำผิด หรือเป็นการปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิด คำโต้แย้งในประเด็นนี้ จึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย
และคำวินิจฉัยในประเด็นที่ 4. พิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่มีการกระทำร่วมกันเป็นเครือข่ายในดินแดนหลายประเทศ และกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของแต่ละประเทศโดยลำพังไม่อาจป้องกันและปราบปรามได้อย่างเด็ดขาด จำต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ สมควรกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือและรับความช่วยเหลือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มาตรา 36 มาตรา 37 มาตรา 38 และ มาตรา 39 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องการดำเนินการขององค์กรฝ่ายบริหาร บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงมิได้ขัดต่อหลักนิติธรรม ทั้งมิได้จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล หรือสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติ 7 ต่อ 2 ว่า พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 36 มาตรา 37 และมาตรา 39 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 40 (2) (3) (4) (7)
ส่วนประเด็นที่โต้แย้งว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ มาตรา 41 ที่ให้บรรดาพยานหลักฐานและเอกสารที่ได้มาตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้ถือว่าเป็นพยานหลักฐานและเอกสารที่รับฟังได้ตามกฎหมายนั้น
“เป็นบทบัญญัติที่บังคับให้จำเลยต้องถูกผูกมัดตามพยานหลักฐานและเอกสารที่ได้มาจากการสืบพยานของโจทก์ในศาลต่างประเทศที่จำเลยไม่มีโอกาสตรวจหรือรับทราบพยานหลักฐาน หรือต่อสู้คดีได้อย่างเพียงพอ แม้การรับฟังพยานหลักฐานของศาลต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 และมาตรา 227/1 ที่บัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน ด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานดังกล่าวโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลยก็ตาม แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าว ก็มิได้เป็นข้อห้ามเด็ดขาด โดยยังเปิดโอกาสให้ศาลนำพยานหลักฐานเช่นนี้ไปใช้ประกอบกับพยานหลักฐานอื่นได้ จึงไม่เป็นธรรมแก่จำเลย”
ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (2) (3) (4) (7) ได้รับรองและคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมไว้ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การมีโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทนายความ อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ข้อ 14.3 อันเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาต่อหน้า
“พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 41 จึงเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล และกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 40 (2) (3) (4) (7) ทั้งไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง"
ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติ 5 ต่อ 4 ว่า พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 41ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 40 (2) (3) (4) (7)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี