ก.ต.แต่งตั้งโยกย้ายตุลาการชั้น 4 บัญชี 3 - 4 รวม 110 ตำแหน่ง สิทธิโชติ อินทรวิเศษ จาก อธ.อาญา เป็น ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา (หน.ฎีกา) จำแลง กุลเจริญ จากผู้พิพากษาศาลฎีกา(พ.ฎีกา) ขยับนั่งเก้าอี้ อธ.อาญาแทน บวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ จาก อธ.ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เป็น พ.ฎีกา อาคม รุ่งแจ้ง จาก อธ.อาญากรุงเทพใต้ ลงใต้ตอนบน เป็น ปธ.ศาลอุทธรณ์ภาค 8 สุรินทร์ ชลพัฒนา อดีต เลขาธิการประธานศาลฎีกา จากรอง ปธ.ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 เข้าเมืองกรุง นั่ง อธ.อาญาพระโขนง ภิญโญภัทร์ แสงภู่ จาก อธ.อาญามีนบุรี เป็น พ.ฎีกา วีระพงศ์ นั่ง อธ.อาญาปราบปรามทุจริตฯ กลาง ภัฏ ขึ้นศาลเเพ่ง จับตาครั้งหน้า ก.ต.ผ่าน อนุรักษ์ ขึ้นคุมคดีทุจริตศาลอุทธรณ์หรือไม่ หลังถูก ชำนาญ ร้องหาเสียง ก.ต.ในกลุ่มไลน์ ส่วน ปรเมษฐ์ อดีต อธ.อาญาคดีทุจริตฯ ภาค 1 ที่ยื่นฟ้องประธานศาลฎีกา ลุ้นนั่งผู้พิพากษาอาวุโสต่อหรือไม่
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ที่ห้องประชุมใหญ่ศาลฎีกา สนามหลวง นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ครั้งที่ 21/2564 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบโยกย้ายเเต่งตั้งข้าราชการตุลาการ ชั้น 4 สับเปลี่ยนตำแหน่ง บัญชี 3 และบัญชี 4 รวม 110 ตำแหน่ง โดยมีรายชื่อที่น่าสนใจดังนี้
นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคนปัจจุบัน ขึ้นเป็น ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
นายอาคม รุ่งเเจ้ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ (อธ.อาญา กท.ใต้) ขึ้นเป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับผิดชอบคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ในพื้นที่ภาค 8 ครอบคลุมจังหวัดสำคัญด้านเศรษฐกิจภาคใต้ตอนบน อาทิ กระบี่ ตรัง ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี
นายสุพิศ ปราณีตพลกรัง ผู้พิพากษาศาลฎีกา (พ.ฎีกา) ซึ่งมีผลงานเขียนตำรากฎหมายเเละบทความน่าสนใจหลายเรื่องเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา (หน.ฎีกา)
นายชาณณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา (พ.ฎีกา) เป็น ปธ.คณะอนุกรรมการศึกษา ติดตาม และแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีบทบาทเกี่ยวกับนโยบายลดคุมขังโดยไม่จำเป็นของประธานศาลฎีกาคนปัจจุบันเป็นหัวหน้าคณะในศาลฎีกา (หน.ฎีกา)
นายจำแลง กุลเจริญ ผู้พิพากษาศาลฎีกา (พ.ฎีกา) เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลใหญ่ และมีเขตอำนาจศาลมากที่สุดในประเทศ ซึ่ง ต้องรับมือคดีม็อบหลากหลายกลุ่ม ชุมนุมขับไล่รัฐบาล คดีอุกฉกรรจ์หรือคดีผู้มีอิทธิพลสำคัญจำนวนมาก อย่างเช่นคดีที่มาจากกองบังคับการกองปราบปราม (บก.ป.) ซึ่งมีอำนาจจับกุมทั่วประเทศ
นายภัฏ วิภูมิรพี ผู้พิพากษาศาลฎีกา (พ.ฎีกา) เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลเเพ่ง (อธ.แพ่ง)
นายสุวัฒน์ ไวยุพัฒนธี รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ (ภาษี) เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลเเพ่งกรุงเทพใต้ (อธ.แพ่ง กท.ใต้)
นายกงจักร์ โพธิ์พร้อม รองประธานศาลอุทธรณ์ขึ้นอธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ (อธ.อาญา กท.ใต้)
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเเพ่งตลิ่งชัน (อธ.แพ่งตลิ่งชัน) อดีตเลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายเนติบัณฑิตยสภา อาจารย์ผู้บรรยายวิชากฎหมายชื่อดัง เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา (พ.ฎีกา)
นายวีระพงศ์ สุดาวงศ์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง (อธ.อาญาคดีทุจริตฯ กลาง) ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีที่ฟ้องลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในการยุติธรรม หรือทุจริตต่อหน้าที่ ประพฤติมิชอบ ฟอกเงิน หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วย ฮั้วประมูล ข่มขืนใจให้เจ้าหน้าที่บุคคลที่ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สิน อันเป็นเท็จ คดีขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ มีเขตอำนาจในพื้นที่กรุงเทพฯซึ่งเป็นศูนย์รวมอำนาจของข้าราชการระดับสูง อย่างล่าสุดยังมีเเนววินิจฉัยว่า สามารถยื่นฟ้อง ปปช.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตรงต่อศาลได้
นายชวลิต อิศรเดช รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตลิ่งชัน (อธ.อาญาตลิ่งชัน)
นายนพดล คชรินทร์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค1เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งตลิ่งชัน (อธ.แพ่งตลิ่งชัน)
นายสุรินทร์ ชลพัฒนา รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4 อดีตเลขาธิการประธานศาลฎีกาซึ่งมีบทบาทเป็นที่ปรึกษา นายไสลเกษ วัฒนะพันธุ์ ประธานศาลฎีกา (ขณะนั้น) เกี่ยวกับการเริ่มต้นนโยบายพิจารณาการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา-จำเลย โดยไม่มีหลักทรัพย์โดยไม่มีวันหยุดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำผู้ไม่มีเงินประกันตัว เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาพระโขนง (อธ.อาญาพระโขนง)
นายฉัตรชัย ไทรโชต ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลอุทธรณ์ไปเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งธนบุรี (อธ.แพ่งธนบุรี)
นายรุ่งศักดิ์ วงศ์กระสันต์ รองประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์เป็นประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์
นายสอนชัย สิราริยกุล ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค8เป็น อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งพระโขนง (อธ.แพ่งพระโขนง)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบัญชีรายชื่อที่ ก.ต.มีมติเห็นชอบวันนี้ 2 บัญชี รวม 110 คน ยังเหลือบัญชีระนาบเดียวกันอีก 156 รายชื่อ ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไปในการประชุม ก.ต.ครั้งที่ 22/2564 วันที่ 18 ส.ค.นี้ ซึ่งจะมีการพิจารณาตำแหน่งที่จับตา คือ ประธานแผนกคดีทุจริตในศาลอุทธรณ์ ที่ก่อนหน้านี้ในบัญชีรายชื่อมีการเสนอชื่อ นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล รองประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว และคาดว่าจะมีการพิจารณาตำแหน่งดังกล่าวในสัปดาห์หน้า ซึ่ง นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ยื่นค้านบัญชีดังกล่าวจากกรณีนายอนุรักษ์ ถูกร้องเรียนว่าหาเสียงเลือกตั้ง ก.ต.บุคคลภายนอกในกลุ่มไลน์ "สภาตุลาการ" ทั้งที่มีเป็น ก.ต.เเละตำเเหน่งที่จะย้ายไปเป็นตำแหน่งสำคัญที่จะคุมคดีทุจริตในศาลอุทธรณ์
รวมทั้งการพิจารณามีมติเช่นชอบให้ นายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1 ซึ่งถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง จากการถูกกล่าวหาว่าเเทรกเเซงคดีในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 เป็นผู้พิพากษาอาวุโสหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ ก.ต.มีมติให้อนุกรรมการตุลาการ (อนุ ก.ต.) ไปพิจารณากลั่นกรองก่อนเสนอ ก.ต.เห็นชอบอีกครั้ง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี