ผมสั่งหมูสะเต๊ะชุดเล็กกลับบ้าน จากเดิมที่เคยขายชุดละ 60 บาท พ่อค้าขอขึ้นเป็น 70 บาท ผมถามฐานคุ้นเคย (ถ้าไม่สนิทอาจไม่กล้าเอ่ยปากถาม) ทำไมขึ้นตั้ง 10 บาท เขาตอบว่า “หมูแพง”
เข้าใจได้ข่าว “หมูเป็นโรค หมูขาดแคลน หมูต้องขึ้นราคา”
อีกวัน ผมเดินไปกินข้าวเช้าอีกตลาดหนึ่ง สั่งพะแนงเนื้อใส่ถุงกลับไปฝากคนคุ้นเคย เดิมเขาขายถุงละ 60 บาท ครั้งนี้เขาขอขึ้นเป็น 70 บาท เล่นขึ้นถ้วนๆ 10 บาท
อ้าว นึกว่าแพงแต่ “หมู” หลบไปกิน “เนื้อ” ฯลฯ หรือสัตว์ “ยอดนิยม” ก็ยังถูกขึ้นราคาอีก
เข้าร้านสะดวกซื้อ หิ้ว “โซดาตราสิงห์” มา 1 ขวด
อ้าว “เฮ้ย” จาก ขวดละ 9 บาท เป็น10 บาท
สรุปทั้งสิ้นราคาสินค้าขึ้นกันทุกประเภททุกหย่อมหญ้า เพราะต้นทุน “พลังงาน” ที่เป็น “แรง” จัดส่งขึ้นเพราะสงครามรัสเซีย ยูเครน กระทบ
ที่ผมอยากร้องเรียนคือ ต้นทุนขึ้นจริง แต่ “พ่อค้า แม่ค้าไทย” เล่นขึ้นเอาเองง่ายๆ ที่ปลายทางก่อนถึงปากถึงมือผู้บริโภค 5 บาท 10 บาท
ไม่เสียเวลาคิดละเอียดว่า ต้นทุนต่อหน่วยขึ้นไปเพียง 1 บาท 29 สตางค์ เล่นปัดเอาง่ายๆ เป็น 5 บาท 10 บาท
คิดถึงนักการเมืองศักดินา ผู้ลงมาคลุกคลีกับชาวบ้านอย่าง ท่านสมัคร สุนทรเวช ผู้ล่วงลับไปแล้ว ผู้เคยออกมาเตือนให้ประชาชนคนไทย อย่าลืมความสำคัญของ “เศษสตางค์”
ตอนนี้ นอกจากราษฎร “ไม่สนใจฟัง ทางการยังละเลยเอาใจใส่ แถมธนาคารชาติอาจไม่สนใจผลิตเพิ่มเข้ามาในกระแสเงินตรา เพราะต้นทุนการผลิตอาจแพงกว่ามูลค่าหน้าเหรียญ (ธนาคารแห่งประเทศไทยจะชี้แจงเรื่องนี้ได้ ก็จะเป็นพระคุณ)”
เพิ่งอ่านบทความ คุณสุภา ปัทมานันท์ “คุณค่าของเหรียญ 1 เยน” น่าสนใจ ที่ประเทศญี่ปุ่นยังให้ความสนใจเหรียญเล็กที่สุดอย่าง 1 เยน
1 เยนยังมีความหมาย
ร้านค้าของเมืองซามูไร ยังมีสินค้าที่ราคาเป็นเศษเยน อย่าง 108 เยน, 151 เยน ฯลฯ
ผมเองเวลาไปญี่ปุ่นต้องมาปวดหัวกับการรับเศษเยน ตลอดเวลา แต่ก่อนกลับ ก็มานับร่วมกันกับเศษเหรียญมูลค่า 50 เยน 100 เยน ซื้อสินค้าชิ้นเล็กๆ กลับบ้านไป
เขาว่า คนญี่ปุ่นถูกสอนกันมาตั้งแต่เด็กให้รู้จักคุณค่าของเงิน แม้เพียง 1 เยน
ในบทความ “คุณค่าของเหรียญ 1 เยน” มีตัวอย่างร้านขนมปังในเมืองชิบะแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นร้านอยู่ใกล้โรงพยาบาล ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำที่มาโรงพยาบาล หรือเป็นผู้สูงอายุในละแวกนั้น ในร้านมีที่นั่งให้กินขนมปังและเครื่องดื่มเจ้าของร้านพูดทักทายเป็นกันเองกับลูกค้าเสมอ
เมื่อราคาวัตถุดิบต่างๆ ขึ้นราคากันถ้วนหน้า เจ้าของร้านพยายามลดต้นทุนอย่างเต็มที่ อยากให้ทุกคนได้กิน “ขนมปังที่มีราคาถูกเท่าที่จะทำได้” ส่วนที่แบกรับต้นทุนไม่ไหวก็ขึ้นราคาเป็น “หลักหน่วย 1 เยน”
ที่ดีคือ ทางร้านไม่คิดจะเปลี่ยนมาใช้การโอนเงินผ่าน Application ตามกระแส “สังคมไร้เงินสด” ซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมและกลายเป็นต้นทุนไปอีก
ร้านนี้นับเหรียญไป คุยกันไป ไม่เร่งคนแก่ที่เชื่องช้า ฯลฯ
ในประเทศที่สั่งสอนให้ผู้คนมีความสุขกับงาน กับการทำงานอย่างญี่ปุ่น แม้จะเป็นงานต่ำต้อย จึงเป็น “สวรรค์” ของลูกค้านักท่องเที่ยว ใครๆ ก็อยากไป “เที่ยวญี่ปุ่น” โดยเฉพาะ Shopping
คุณสามารถใช้เวลาเลือกซื้อสินค้าในห้างอย่างเต็มที่ พนักงานมาดูแลแบบไม่มีสีหน้าเบื่อหน่าย อารมณ์เสีย เพราะเขาถูกสอนไว้ว่า ถ้าลูกค้าไม่ได้ของถูกใจ ไม่ได้ซื้อ เป็นความผิดของคนขาย ของห้างที่ไม่สามารถบริการให้ “ลูกค้า” ที่เสียเวลาแวะมาจับจ่าย
ประเทศโดยทั่วไป ต้องสอนให้คนมัธยัสถ์ ขยันขันแข็ง รักงานเพื่อความก้าวหน้าโดยรวม
มีแต่ประเทศไทยในยุคนี้ที่แปลก เพิ่มวันหยุดแยะๆ สงกรานต์ปีนี้ได้หยุดแบบ “สะใจ” ทั้งที่ปัญหาต่างๆ รุมเร้า ทุกคนต้องทำงานหนักมากขึ้น
ตรุษจีนสมัยก่อน หยุดกัน 5 วันเต็มลูกหลานจีนยุคนี้รู้ว่าโลกไม่ได้ “สวยหรู” แบบเดิมแล้ว หายากที่จะมีบริษัทห้างร้านหยุดกันเต็มที่5 วัน ฯลฯ
เราต้องการให้ประเทศไทยเราไปทางไหนครับ
กฤษณ์ ศิรประภาศิริ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี