ผู้ประกันตนเฮ!
แก้ก.ม.ประกันสังคมเปิด3ทางเลือก
ให้สิทธิ์‘ขอเลือก ขอคืน ขอกู้’
นำเงินกองทุนใช้ก่อนเกษียณ
ใช้เป็นหลักประกันกู้ธนาคาร
ผู้ประกันตนเฮ!“ครม.”เห็นชอบอนุมัติหลักการ 3 ข้อขอเลือก-ขอคืน-ขอกู้ เปิดทางให้นำเงินกองทุนชราภาพออกมาใช้จ่ายหรือใช้เป็นหลักค้ำประกันกู้เงินธนาคาร ลดผลกระทบจากโรคโควิด
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่าง พรบ.ประกันสังคม เพื่อแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ หวังเปิดทางให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน (ขอเลือก ขอคืนและขอกู้) รวมทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น เช่น เพิ่มเงินทดแทนกรณีขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ จากร้อยละ50ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ70ของค่าจ้าง เพิ่มจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากเดิม 90วัน เป็น 98วัน รวมทั้งแก้ไขขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างจากเดิมอายุ 60ปีบริบูรณ์ เป็นอายุ 65ปีบริบูรณ์ โดยการปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีให้ผู้ประกันตนอายุครบ 55ปีบริบูรณ์ สามารถเลือกรับเงินบำนาญชราภาพ หรือเงินบำเหน็จชราภาพ (ขอเลือก) กรณีให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนมาใช้ก่อนมีอายุครบ 55ปีบริบูรณ์ (ขอคืน) ส่วนกรณีให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักค้ำประกันการกู้เงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินได้ (ขอกู้)
ส่วนการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น กรณีทุพพลภาพเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพจากร้อยละ50 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ70ของค่าจ้าง หากคลอดบุตรเพิ่มระยะเวลาจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรโดยเหมาจ่ายครั้งละร้อยละ50 ของค่าจ้างจากเดิม 90วัน เพิ่มเป็น 98วันหรือระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง กรณีสงเคราะห์บุตรโดยให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง และภายหลังการสิ้นสภาพเป็นผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรต่อไปอีก 6เดือน
โดยผู้ประกันตน เป็นผู้สูงอายุจะได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบสามารถเลือกเข้าถึงแหล่งเงินฉุกเฉินได้เพิ่มเติม โดยใช้เงินกรณีชราภาพที่ตนจะได้รับในอนาคตเป็นเงินทุน แต่จะทำให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันรายได้ยามเกษียณลดลง แต่หากผู้ประกันตนนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนเอามาใช้ก่อนผ่านการ ขอเลือก ขอคืนและขอกู้ อาจทำให้กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคงทางเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมลดลง แต่จะช่วยให้กองทุนมีค่าใช้จ่ายลดลงในระยะยาว
นายธนกร แถลงด้วยว่า ครม.เห็นชอบกรอบวงเงิน 1,724.95ล้านบาท ในมาตรการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรค่า (FT) ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300หน่วยต่อเดือน เป็นระยะเวลา 4เดือน (พฤษภาคม-สิงหาคม 2565) โดยผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าวที่จ่ายค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าจากการลดค่าเอฟทีที่ 0.2338บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นการดำเนินตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม2565และ19เมษายน2565 มาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าทำให้ลดภาระค่าไฟฟ้าค่าของชีพแก่ประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก มีเงินเพื่อการบริโภคและอุปโภค ช่วยลดผลกระทบและป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ รวมไปถึงการใช้ชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ราคาพลังงานอันเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป ช่วยให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมสามารถขับเคลื่อนในระยะต่อไปได้
ด้าน นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม.ถึงมติที่ ครม.เห็นชอบในหลักการร่างพรบ.ประกันสังคม กรณีเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนสามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพออกใช้ก่อนได้ ว่า กองทุนประกันสังคมเป็นไตรภาคี ระหว่างรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งในส่วนแก้ไขเพิ่มเติม ข้อแรกข้อคือ ขอเลือก ซึ่งเรามีกองทุนชราภาพ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ต้องรอส่งเงินเกิน180 เดือนหรืออายุ 55ปี จึงจะได้เป็นบำนาญ แต่ใครส่งไม่ถึงจะได้บำเหน็จ กลายเป็นไม่มีประตูให้เขาได้เลือก เราจึงแก้ให้สามารถเลือกได้คือพออายุ 55ปี ครบกำหนดเกษียณ หากมีหนี้สินต้องใช้เงินก้อนให้เขาสามารถเลือกได้ว่าจะเอาบำเหน็จหรือบำนาญ ส่วนเรื่องบำนาญเรานำเข้าครม.ไปเมื่อเดือนที่แล้ว เช่น ผู้ประกันตนอายุ55 แต่สมมุติว่าอายุ 56ปี เสียชีวิต จะได้สิบเท่า ซึ่งไม่คุ้มค่ากับเงินที่เขามีอยู่ แต่เราแก้ให้เป็นหากอายุ 55 ปี แล้วเสียชีวิตอายุ 56 ปีเราการันตีให้อีก4 ให้อายุครบ 60ปี เงินจะตกถึงลูกหลานเขา
นายสุชาติ กล่าวอีกว่า ในส่วนที่สองคือ ขอกู้ หากเราตรวจสอบดูว่า เรามีเงินชราภาพขอยกตัวอย่างว่า มีเงินอยู่ 2แสนบาท แต่เราไม่มีเงินสด ไม่มีเครดิตจะไปกู้สถาบันการเงิน ถ้าร่างพรบ.ดังกล่าวผ่าน ผู้ประกันตนสามารถไปกู้สถาบันการเงิน โดยกระทรวงแรงงานจะใช้สิทธิ์ในเงินชราภาพไปค้ำประกันได้ เปรียบกับผู้ประกันตนมีหลักทรัพย์ใช้ค้ำประกันได้ชัวร์ยิ่งกว่าที่ดิน ก็คือเงินที่หักไปให้ประกันสังคมทุกเดือน ซึ่งถือเป็นประโยชน์เพราะเมื่อถึงเวลาที่เราจำเป็นต้องใช้เงิน เราไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ
นอกจากนี้ ยังมีข้อที่สามในส่วนของการขอคืน สามารถนำเงินกรณีชราภาพที่สมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนมาบางส่วน ในส่วนนี้มีข้อห่วงใยจากนักวิชาการว่าการนำเงินออกมาใช้ก่อนจะกระทบทำพให้เสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมลดลง ตนขอชี้แจงว่า การขอคืนไม่ใช่จู่ๆจะขอคืนได้เลย แต่ต้องเกิดวิกฤติเช่นสถานการณ์โควิด ถูกล็อกดาวน์และเป็นวิกฤติของโลก เราจึงออกเป็นกฎหมายนี้ออกมาเพื่อช่วยเหลือ ซึ่งเราจำเป็นต้องทำเรื่องนี้ เพราะกฎหมายประกันสังคม 33ปี ไม่เคยแก้ไขและไม่เคยแก้ปัญหาในยามจำเป็น ทุกคนที่มาบริหารคิดอย่างเดียวว่า กองทุนต้องให้คงไว้ ซึ่งความจริงกองทุนนั้นคงไว้อยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ประกันตนมีประตูปิดเปิดหลายๆประตู
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี