ถึงนาทีนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกฎหมายลูกรัฐธรรมนูญสองฉบับ คือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566
ภาษาข่าวต้องใช้คำว่าปี่กลองการเมืองเริ่มโหมโรง นับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้ง ทุกพรรคการเมืองที่ประกาศตัวสู้ศึกในเกมการเมืองอีกหนึ่งครั้งสำคัญ ในบทบาทที่หลากหลายของแต่ละตัวละคร ต่างเดินหมากแต่ละตากระดานไปตามศักยภาพและรูปแบบที่ถนัด
แต่สปอร์ตไลท์หน้าสื่อส่องฉายทางล่วงหน้าไปที่สามพรรค "สามก๊ก"ใหญ่ ที่มองรูปการแล้วมีโอกาสที่สุดในการเป็น"ต้นขั้ว" หรือแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จึงขอใช้พื้นที่"ส่องนอก - ซูมใน" ไปยังความเคลื่อนไหว ปัจจัย และยุทธ์ศาสตร์บนถนนสายเลือกตั้ง
ก๊กแรก
"พลังประชารัฐ" ในฐานะพรรคต้นขั้วจัดตั้งรัฐบาลหนที่ผ่านมา จากวันก่อตั้งเมื่อกว่าสี่ปี่ก่อน จนถึงวันที่ต้องจัดสรรพกำลัง วางยุทธศาสตร์ลงสนามรบสู้ศึกเลือกตั้งอีกครั้ง พรรคที่เคยถูกมองว่าตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ
แต่หากเปรียบเทียบกันแบบ บีฟอร์-อาฟเตอร์ จะชัดเจนเลยว่า"พลังประชารัฐ"เปลี่ยนแปลงไปจนแทบจะสิ้นเชิง
ตั้งแต่การย้ายที่ทำการพรรค,ตราสัญลักษณ์พรรค , ชุดคณะกรรมการบริหารพรรค แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและสั่นสะเทือนจนเสาค้ำยันเกิดรอยปริร้าว ก็คือการที่"พลเอก ประบุทธ์ จันทร์โอชา" ในฐานะรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ตัดสินใจประกาศ"ไปต่อ"ทางการเมืองกับพรรค"รวมไทยสร้างชาติ" ซึ่งการไปของ"บิ๊กตู่" ก็มาพร้อมภาวะ"เลือดไหล" ครั้งใหญ่ ที่มีทั้งไหลตาม"พลเอก ประยุทธ์"ไป และไหลไปตายดาบดาบหน้ากับพรรคทางเลือกอื่นๆ
"บิ๊กป้อม" พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคผู้กุมบังเหียนควบคุมทิศทางย่างก้าวที่จะไป และยังต้องแบกรับทุกความอิรุงตุงนังภายใน เพื่อเข็นองคาพยพของพรรคไปสู้ศึกเลือกตั้งด้วยความพร้อมที่สุด เพื่อกลับมาเป็นต้นขั้วเดินเกมตั้งรัฐบาลกุมอำนาจไว้ในมืออีกหน
ในสายตาทหารระดับอดีตเบอร์หนึ่งกองทัพ"บิ๊กป้อม" ประเมินสถานการณ์เพื่อวางยุทธศาสตร์แผนการรบ ถอดตำราฉบับพลังประชารัฐป๊อบปูล่าโหวต 7.9 ล้านเสียง กับส.ส. 121 เก้าอี้ เป็นผลลัพธ์จากสองปัจจัยคือ ฐานเสียงจากบ้านใหญ่ที่หลายพื้นที่ ที่"บิ๊กดีล" มาได้ในตอนนั้น และสอง ชื่อ"พลเอกประยุทธ์" ที่ยังขายได้ในตอนนั้น
หมากเกมนี้ของพลังประชารัฐ จึงไม่มีทั้ง"บิ๊กตู่" และหลาย"บิ๊กดีล"ก็หมดอายุตามเงื่อนไข
แต่ในเมื่อ"ปัจจัย"เปลื่ยน "เกม"ก็ต้องเปลี่ยน ถอดรหัสการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ถือเป็นศึกสำคัญ เพราะเป็นการเลือกตั้งเพื่อ"เปลี่ยนผ่าน"อำนาจคณะรัฐประหาร และเป็นการ"สู้" เพื่อช่วงชิง"อำนาจ"กันระหว่างสองฝ่าย คือกลุ่ม"อำนาจเก่า" ที่สร้างพรรคพลังประชารัฐขึ้นมา เพื่อสานงานบริหารของคสช.ให้เข้าสู่ระบบกลไกประชาธิปไตย ฝ่ายที่สอง กลุ่ม"อำนาจเดิม" คือพรรค"เพื่อไทย" ที่ชนะเลือกตั้งทุกครั้ง แต่ก้ต้องมีอันเป็นไปทุกครั้ง
แต่ซีซั่นนี้ตัวละครเปลี่ยน เมื่อพรรค"เพื่อไทย"โฟกัสคู่ขัดแย้งไปที่"ตัวบิ๊กตู่" ในฐานะผู้ก่อการรัฐประหาร 2557 และเมื่อ"บิ๊กตู่" ออกจาก"พลัประชารัฐ" ความขัดแย้งในสายตา"เพื่อไทย" จึงย้ายไปอยู่"พรรค"รวมไทยสร้างชาติ"
สัญญาณ"ก้าวข้ามความขัดแย้ง" จึงถูกจุดพลุ "บิ๊กป้อม"ชู"พลังประชารัฐ" เป็นพรรค"ตรงกลาง"ไม่ซ้ายไม่ขวา แต่มองไปข้างหน้าเพื่อแก้ปัญหาปาท้อง ด้วยการโชว์ทีมเศรษฐกิจระดับพระกาฬ จากเกมดีล"สี่กุมารคืนรัง "อุตตม สาวนายน - สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ "
เกมนี้"บิ๊กป้อม" โชว์เก๋าสร้างจุดขายได้ในระดับฮือฮา แม้ "กาย"อาจโรยราเรี่ยวแรง แต่"ใจ"ยังบงการได้ดี มอตโต้"ใจบันดาลแรง" เริ่มทำงาน
ก๊กที่"สอง"
"รวมไทยสร้างชาติ" พรรคก่อตั้งขึ้นใหม่ในช่วงชุลมุนที่รอยร้าวในพลังประชารัฐอันเกิดจากสนิมเนื้อในตน สั่นคลอนความมั่นใจในหัวบิ๊กตู่
จึงจำเป็นต้องสร้างนั่งร้านสำรองไว้ เพื่อสานต่องาน และภารกิจในเฟสสอง คือปรับโหมดเข้าโลกการเมืองเต็มตัว ในฐานะปาตีัลิสต์ เบอร์หนึ่ง
รวมไทยสร้างชาติ ประกอบร่างขึ้นจาก อดีตคนประชาธิปัตย์ อดีตกปปส.และทีมคนรักลุง ที่ตาม"บิ๊กตู่"มาจากบ้านเก่า
แม้จุดเชื่อมโยงกำลังพลในพรรค คือความ"เชื่อมั่น"และ"ศรัทธา"ในตัวพลเอกประยุทธ์
แต่อำนาจจัดการและตัดสินใจส่วนใหญ่อยู่กับกลุ่มผู้ก่อตั้งพรรคในบอร์ดบริหาร ที่ส่วนใหญ่มาในสาย"พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และ เอกนัฎ พร้อมพันธ์ุ" ขณะทีมคนรักลุง ในสายบิ๊กตู่ ล้วนเป็น"บิ๊กเนม" ในระดับรัฐมนตรี แต่ไม่อาจบริหารจัดการได้ลงตัว โดยเฉพาะการคัดสรรผู้สมัครในสายตนเอง
เช่นเดียวกัน ในขณะที่หลายพรรคชูนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพื่อปากท้อง แต่กลับกัน"พีระพันธุ์" หัวหน้าพรรค เสนอแนวคิดใช้กฎหมายพัฒนาประเทศ
ในฐานะอดีตผู้พิพากษา "พีระพันธุ์" เลือกใช้หลักคิดที่ถนัดสร้างความแตกต่าง
แต่จะโดดเด่น และจับต้องได้หรือไม่ เชื่อว่าประชาชนยังไม่"อิน"กับอะไรที่ไม่ใช่เรื่องปากท้อง
แม้จะมี "ไตรรงค์ สุวรรณคีรี" โปรไฟล์ปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา แต่ภาพจำและยังคงเป็นเช่นเคยกลับเป็นลีลา และวาทะปราศรัยโจมตีฝ่ายตรงข้าม จากการปราศรัยในหลายเวทีผ่านมา
แต่ที่สุดก็เชื่อว่าในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค นักวางแผนอย่าง"พลเอกประยุทธ์" กำลังซุ่มทำร่างนโยบายหาเสียง ที่คาดว่าไม่น่าจะมีอะไรหวือหวา แต่จะเน้นตีปี๊บไปที่ผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะยุทธศาสตร์สามแกน โครงสร้างพื้นฐาน-ฐานการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอีวี และการเงิน การธนาคารเชื่อมโยงรากหญ้า เนื่องจากที่ผ่านมา"พลเอกประยุทธ์" ห่วงการหาเสียงที่ไม่ลงรายละเอียดได้-เสีย แต่การจะใช้"ผลงาน"ของรัฐบาลมาหาเสียง ก็ไม่ใช่เรื่องผิด หากพรรคร่วมฯอื่นจะขอ"เคลม"เป็นผลงานตัวเองได้เช่นกัน
ก๊กที่สาม
"เพื่อไทย" ตลอดรายทางการหาเสียง และแถลงรายวันของพรรค จะเน้นที่มอตโต้"แลนด์สไลด์" ทุกครั้งไป และสำทับความหวังด้วยการโจมตีทุกสิ่งที่มาจาก"รัฐบาล" และ"พลเอก ประยุทธ์ " แต่สาระสำคัญชี้เป็น ชี้ตายอย่างรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของเพื่อไทย ยังคงให้เดา ให้ลุ้นกันทุกครั้ง
พรรคสีแดงยังคงมั่นใจในบุญเก่า ที่อำนวยให้ชนะเลือกตั้ง ได้เก้าอี้ส.ส.หลักร้อยอัพทุกครั้ง และเป็นอะไรที่เข้าทางไปอีกกับสูตรคำนวณส.ส.แบบหารห้าร้อย แต่ก็ใช่ว่าจะแน่ใจได้เสียทีเดียว เพราะการท่องคาถา"แลนด์สไลด์" กลับเป็นคำสะกดจิต มากกว่าจะหวังผลในความหมาย เนื่องจากยังไม่เคยมีใครขยายรายละเอียด หรือ"ฮาวด์ทู" กระบวนการ และขั้นตอนที่จะนำไปสู่"แลนด์สไลด์"
และเป็นอะไรที่เหมือนสายฟ้าฟาดลงกลางหัว เมื่อ"จตุพร พรหมพันธุ์"โยนบอมม์ศักยภาพทำลายล้างสูงกลางวง"เพื่อไทย" ด้วยการแฉ เปิดโปง ความอำมหิตของ"ทักษิณ ชินวัตร" ที่กระทำต่อคนเสื้อแดง หลายกรรม หลายวาระ ทุก"ข้อกล่าววหา" ที่"จตุพร"พรั่งพรูด้วยความกลัดหนอง ล้วนเป็นเรื่องรุนแรงเกินกว่าจะมองหน้าและร่วมทางกันได้อีก แม้ทุกข้อกล่าวหาอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ บางประเด็นถูกแชร์ในโชเชียลมากว่าสิบปี แต่ข้อมูลลอยๆในอากาศ มีน้ำหนักและทำงานได้ทันที เมื่อมันออกจากปาก"จตุพร" มากไปกว่านั้นคือมันหวังผลไปที่เป้าหมายอะไร ซึ่งไม่น่าจะเป็น"คุณ"กับเพื่อไทยแน่นอน
ด้วยเบอร์ระดับ"จตุพร" เพื่อไทยจึงเลือกที่จะเงียบทั้งองคาพยพ โดยไม่มีใครออกมาแก้ข่าว หรือตอบโต้ กล้าต่อกร จะด้วยอารมณ์ไม่กล้าหือกับจตุพร หรือจำนนในข้อเท็จจริงก็แล้วแต่
ย่างก้าวจากนี้เพื่อไปสู่แลนด์สไลด์ "เพื่อไทย"ต้องแก้เกมที่ท้าทายและหนักหน่วงขึ้น โดยเฉพาะ"ดีล"ตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง สูตร"เพื่อไทย"จับมือ"พลังประชารัฐ" ที่ยังถูกทดไว้ในใจ
สายตา"จตุพร"ยังคงจับจ้องพร้อมบอมม์ลูกใหม่ที่รุนแรงกว่า หาก"ดีล"เกิดขึ้นจริง มันก็มาพร้อม"จุดแตกหัก"ในข้อหา"ทรยศ"ซ้ำซาก
ถึงตรงนี้ ถ้าจะให้ชัดเจนถึงจุดยืนต่อสาธารณะของสามก๊ก ก็คือเพื่อไทย"ซ้าย" รวมไทยสร้างชาติ"ขวา" และพลังประชารัฐ"ตรงกลาง"
แต่มันก็พร้อมที่จะ"สลับข้าง"กันได้เสมอ
ทุกตาเดินเกมของ 3 ก๊ก คือภาพใหญ่สงครามช่วงชิงอำนาจ ในเกมเดิมพันครั้งใหญ่
ขณะเดียวกันซุ้มภูธร อย่างพรรคสีน้ำเงิน "ภูมิใจไทย" ที่เริ่มสยายปีกรุกคืบเขตเมืองหลวง และหลายภูมิภาคที่ไม่ใช่เจ้าถิ่นเดิม เพื่อสะสมกำลังเติบเป็น"ก๊กที่สี่" รวมถึงหลายพรรคต่ำสิบที่เป็นตัวแปรในการตั้งรัฐบาล
เกมใครเกมมัน เล่นกันไปตามศักยภาพแต่สุดกำลัง ทุกท่วงท่า ทุกความเคลื่อนไหว ทุกภาวะขึ้น-ลงของพรรคสามก๊ก ล้วนอยู่ในสายตาของทุกพรรคในเกมกระดานนี้!!!
ทีมข่าวการเมืองรายงาน