ประชุมรัฐสภาล่มครั้งที่ 5 "สภาสูง"ล่องหนเพียบ วาระแก้รธน."ตัดอำนาจส.ว."ชะงัก "สมชาย"ท้วง"นัดพิเศษ"ถูกต้องตามรธน.-ข้อบังคับหรือไม่ จนต้องลงมติชี้ขาด แต่สุดท้ายองค์ประชุมไม่ครบ เข็นไม่ไหว
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... แก้ไขเพิมาตรา 159 และ ยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และคณะ เป็นผู้เสนอ
ทั้งนี้ การประชุมได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 11.10 น.หลังจากที่ใช้เวลารอองค์ประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งค้างมาจากการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่มีการรอองค์ประชุมมากว่า 2 ชั่วโมง จนสมาชิกมากันครบองค์ประชุม และเปิดประชุมในเวลา 11.10 น.
แต่ต่อมาการประชุมดังกล่าวยังคงไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาตามระเบียบวาระได้ เนื่องจากที่ประชุมได้ขอให้ลงมติในญัตติที่ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เสนอค้างไว้เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา กรณีการประชุมร่วมกันของรัฐสภานัดพิเศษ ดำเนินการถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ เนื่องจาก ส.ว.ไม่มีส่วนรู้เห็นในการจัดระเบียบวาระการประชุมดังกล่าว โดย นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร ให้ที่ประชุมลงมติและเรียกสมาชิกแสดงตนในเวลา 11.28 น.โดยพบว่ามี ส.ว.ลงชื่อเป็นองค์ประชุม 100 คน
หลังจากใช้เวลารอองค์ประชุมเกือบ 1 ชั่วโมง ในเวลา 12.00 น.นายชวนได้แจ้งว่า ส.ส.ที่แจ้งลาประชุมมี 15 คน ขณะที่ ส.ว.แจ้งลา 95 คน โดยปกติจะใช้ความพยายามให้งานลุล่วง แต่เพื่อไม่ให้สูญเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ตนขอปิดการแสดงตน และขอแจ้งว่ามีสมาชิกแสดงตน 308 คน ไม่ครบองค์ประชุม เพราะต้องมีสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งคือ 333 คน ต้องขอปิดประชุมและขออภัย จากนั้นนายชวนได้ปิดประชุมในเวลา 12.02 น.
- 006