สื่อฮ่องกงชี้‘บิ๊กตู่-ก้าวไกล’คนละขั้ว แต่ล้วนเป็นอุปสรรคเป้าหมาย‘แลนด์สไลด์’พรรคเพื่อไทย
25 มี.ค. 2566 เว็บไซต์ South China Moring Post ของฮ่องเกง เสนอรายงานพิเศษ Thai election: as Thaksin’s daughter Paetongtarn readies for May 14 vote, army and youth pose major challenges ว่าด้วยเป้าหมาย “แลนด์สไลด์” หรือการชนะแบบถล่มทลายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคเพื่อไทย อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องรับศึก 2 ด้าน ทั้งพรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (Prayuth Chan-ocha) และพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคการเมืองขวัญใจคนรุ่นใหม่
พรรคเพื่อไทยซึ่งยังชูจุดขายในความเป็น “ชินวัตร (Shinawatra)” ตระกูลการเมืองที่ว่ากันว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศไทย ล่าสุดได้ส่ง แพทองธาร ชินวัตร (Paetongtarn Shinawatra) บุตรสาวของ ทักษิณ ชินวัตร (Thaksin Shinawatra) อดีตนายกรัฐมนตรี ลงสนามการเมืองเป็นตัวชูโรงในการตระเวนหาเสียงของพรรคในครั้งนี้ และเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะยังคงกวาดคะแนนได้หลายล้านเสียงโดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากผู้คนแถบนั้นยังศรัทธาในตัวทักษิณอย่างมาก
ตระกูลชินวัตร ภายใต้การนำของ ทักษิณ ถูกมองจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่ารวบทั้งอิทธิพลและความมั่งคั่งมากเกินไปในช่วงที่ครองอำนาจ ขณะที่เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2566 ภายหลังจากสักการะศาลหลักเมือง แพทองธาร ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะช่วยประเทศ พร้อมมากที่จะหาเสียงและอธิบายนโยบายของพรรคแบบละเอียดมากขึ้น แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน
อย่างไรก็ตาม Napon Jatusripitak นักวิจัยจากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์ มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทยต้องเผชิญความท้าทายถึง 2 ด้าน ฝั่งหนึ่งคือกลุ่มฝ่ายขวาที่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ กับอีกฝั่งคือพรรคก้าวไกล พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่เรียกร้องแนวทางปฏิรูปแบบแตกต่างออกไป
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า วันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า แพทองธาร วัย 36 ปี ซึ่งกำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 จะมีชื่อเป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทย ชิงตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ ซึ่งต้องรอการประกาศอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า นอกจากนั้น แม้พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายได้จริง ก็ต้องจับตาท่าทีของกองทัพด้วย เพราะนับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2475 กองทัพได้ทำรัฐประหารมาแล้วถึง 13 ครั้ง โดยในจำนวนนี้เป็นการล้มรัฐบาลตระกูลชินวัตรถึง 2 ครั้ง
ทักษิณ ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2544 เมื่อเขาเล็งกลุ่มเป้าหมายในการหาเสียงไปที่ชนชั้นรากหญ้าหรือคนยากจน ด้วยสารพัดนโยบายที่ใช้เงินอุดหนุนจำนวนมาก อาทิ การรักษาพยาบาลถ้วนหน้า สนับสนุนทุนการศึกษา ซึ่งไทยนั้นเป็นหนึ่งในประเทศในทวีปเอเชียที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรง ทักษิณถูกกองทัพทำรัฐประหารในปี 2549 และหลังจากปี 2551 เขาก็ไม่ได้กลับไปยังประเทศไทยอีก เนื่องจากถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีทุจริต ซึ่งทักษิณมองว่าเป็นคดีที่มีแรงจูงใจมาจากการเมือง
และต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ล้มรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (Yingluck Shinawatra) น้องสาวของทักษิณ ในปี 2557 โดยอ้างความจำเป็นของการทำรัฐประหารว่าเพื่อควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบ เนื่องจากเวลานั้นการประท้วงรัฐบาลชินวัตรลุกลามจนควบคุมไม่ได้
ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2562 แม้พรรคพลังประชารัฐจะมี ส.ส. น้อยกว่าพรรคเพื่อไทยประมาณ 20 ที่นั่ง แต่ด้วยความที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ร่วมเลือกนายกฯ ก็ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อชิงเก้าอี้นายกฯ ในนามพรรคพลังประชารัฐ ได้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกสมัย ซึ่งรัฐธรรมนูญนั้นก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขียนโดยฝ่ายสนับสนุนกองทัพ และทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยเสียเปรียบ
รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นมีบทบัญญัติไม่ให้บุคคลดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี ดังนั้นในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 2566 หลังมีการประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีโอกาสเป็นนายกฯ อีกครั้ง แต่ก็จะดำรงตำแหน่งได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น แต่ก็ยังได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนของพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยหากพรรคได้ ส.ส. ตั้งแต่ 25 ที่นั่งขึ้นไป ก็สามารถเสนอชื่อตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งนายกฯ ได้
เป้าหมายแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย อยู่ที่มี ส.ส. ในสภา 310 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง เพื่อกดดัน สว. จำนวน 250 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยพรรคเพื่อไทยได้คลุกคลีอยู่กับกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่เปลี่ยนมาจงรักภักดีในเวลาเลือกตั้ง ขึ้นอยู่กับว่าผู้ชนะจะเสนออะไรให้พวกเขาได้บ้าง ซึ่งรวมถึงตระกูล “คุณปลิ้ม (Khunpluem)” ตระกูลการเมืองที่ทรงอิทธิพลอยู่ทางภาคตะวันออกของไทย ก่อนหน้านี้ตระกูลดังกล่าวสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่ล่าสุดได้ย้ายมาเป็นพันธมิตรกับตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทย
ทักษิณ อดีตตำรวจที่ผันตัวไปทำธุรกิจจนเป็นมหาเศรษฐี ผู้ลงหลักปักฐานการเมืองผ่านคะแนนนิยมจากสาธารณะโดยมีครอบครัวและพรรคเป็นศูนย์กลาง แต่ดึงนักการเมืองท้องถิ่นคนสำคัญเข้ามา และแม้ปัจจุบันจะลี้ภัยอยู่ในเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ก็ยังมีอิทธิพลกับการเมืองไทย ซึ่ง รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ (Thitinan Pongsudhirak) อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เครือข่ายอุปถัมภ์ในต่างจังหวัดยังคงมีความสำคัญ แต่ทักษิณก็สามารถสร้างระบบที่ทำหน้าที่แทนได้
ระบบอุปถัมภ์นั้นถูกขยายไปสู่ระดับชาติ แต่ก็มีนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย หลังไทยเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 เช่น การกระจายรายได้ การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ การท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพ ทั้งนี้ รศ.ดร.ฐิตินันท์ ยังให้ความเห็นว่า พรรคเพื่อไทยอยู่ในเส้นทางที่จะชนะ คำถามใหญ่คือส่วนต่างครั้งที่แล้วมันเล็กพอที่จะถูกบิดเบือน แต่ครั้งนี้มันอาจใหญ่เกินไปที่จะบิดเบือน
อีกด้านหนึ่ง พรรคก้าวไกล ซึ่งสืบทอดมาจาก พรรคอนาคตใหม่ เป็นอีกพรรคที่ต้องจับตามอง พรรคดังกล่าวมุ่งหาฐานเสียงโดยเลือกกลุ่มเป้าหมายไปที่คนรุ่นใหม่ หรือคนเจ็นแซด (Gen Z) ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนถึง 6 ล้านเสียง มาเป็นอันดับ 3 ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พร้อมกับจุดยืนเรื่องการทำลายโครงสร้างแบบเดิมๆ ที่เป็นอยู่ ทั้งอิทธิพลของกองทัพต่อการเมือง การผูกขาด แต่ให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิและเสรีภาพอย่างจริงจัง กระทั่งปี 2563 พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ และพรรคก้าวไกลได้เข้ามารับไม้ต่อ
คนรุ่นใหม่นั้นเป็นกลุ่มหลักที่ก่อการประท้วงในกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งนอกจากจะท้าทายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ พวกเขายังไปไกลกว่าจุดที่ใครๆ เคยไปถึง นั่นคือการเสนอข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดย Napon มองว่า วาระการปฏิรูปในวงกว้างของเยาวชนไทยไม่ได้ถูกสนองโดยผลประโยชน์ที่ครอบงำการเมือง ซึ่งการเมืองในประเทศไทยค่อนข้างจะจำกัดเฉพาะตระกูลการเมืองและกลุ่มการเมืองเท่านั้น และตนไม่คิดว่าระบบการเมืองในปัจจุบันจะสามารถรองรับข้อข้องใจและข้อเรียกร้องบางอย่างของคนรุ่นใหม่ได้อย่างเพียงพอ
ฝ่ายตรงข้ามของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ค่อยเชื่อว่า อดีตนายพลวัยเกษียณผู้นี้จะได้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง เพราะเห็นว่าในยุคสมัยภายใต้การปกครองของ พล.อ.ประยุทธ์ ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น สิทธิเสรีภาพที่ลดลง อีกทั้งยังทำให้การเมืองอยู่ภายใต้อิทธิพลของกองทัพ และเศรษฐกิจอยู่ภายใต้ของกลุ่มทุนผูกขาด และหนี้ครัวเรือนก็เพิ่มสูงขึ้นตลอดช่วงโรคระบาดและวิกฤติเงินเฟ้อทั่วโลก ขณะที่การประท้วงของกลุ่มคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2563 ผู้ประท้วงหลายคนบาดเจ็บจากการปะทะกับตำรวจชุดควบคุมฝูงชน รวมถึงถูกศาลตัดสินจำคุก
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล (Patsaravalee Tanakitvibulpon) หนึ่งในแกนนำการประท้วง กล่าวว่า ไม่ต้องการให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นช่องทางให้พรรคการเมืองเดิมหาประโยชน์เพียงเพื่อกลับเข้าสู่อำนาจ เพื่อปลดปล่อยประเทศจากวังวนเดิมๆ เราต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่แท้จริงซึ่งนำโดยสมาชิกหน้าใหม่ในรัฐสภาของประเทศไทย พรรคการเมืองควรเป็นตัวแทนของประชาชน ไม่ใช่ตัวบุคคล