รัฐบาลลุยกวาดล้าง
ปราบ‘ไกด์ต่างชาติ’
เข้าแย่งงานคนไทย
สั่งบังคับใช้ก.ม.เข้ม
รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ ปัญหา“ไกด์ต่างชาติ”แย่งงานคนไทย นายกฯกำชับ“แรงงาน-ท่องเที่ยว-ตำรวจ”เร่งประสานร่วมมือกวดขัน บังคับใช้กฎหมายเข้มงวด ขอความร่วมมือ ปชช.เป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสจนท.
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่มีข้อร้องเรียนกรณีชาวต่างชาติได้เข้ามาทำงานเป็นมัคคุเทศก์ หรือ ไกด์นำเที่ยว และแย่งงานมัคคุเทศก์ชาวไทยนั้น รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในปัญหาในเรื่องดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้กำชับไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้กระชับความร่วมมือเพื่อเร่งกวดขันและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทย
โดยเมื่อไม่นานมานี้กรมการจัดหางานได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ลงพื้นที่ปราบปรามและจับกุม ชาวต่างชาติซึ่งไม่มีบัตรมัคคุเทศก์ตามที่ได้มีประชาชนร้องเรียน นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าขอให้ดำเนินการให้ต่อเนื่อง ให้เห็นว่าทางการไทยจริงจังกับการกวาดล้างในเรื่องนี้ โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้คนไทยได้รับประโยชน์จากการฟื้นฟูของภาคท่องเที่ยว ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อรักษางานนี้และให้มัคคุเทศก์ชาวไทยได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวในขณะนี้เช่นกัน
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่านายกฯยังได้มอบหมายให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเช่นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)กระทรวงการต่างประเทศที่ได้มีการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เร่งประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างชาติทราบถึงอาชีพที่เป็นอาชีพสงวนของคนไทย ห้ามต่างชาติทำรวมถึงให้ทราบถึงโทษที่ฝ่าฝืนด้วย
สำหรับเกี่ยวกับการปราบปรามนี้ กำลังของเจ้าหน้าที่อาจจะไม่เพียงพอเนื่องจาก นักท่องเที่ยวรวมถึงผู้นำเที่ยวต่างๆอาจกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ดังนั้น รัฐบาลจึงขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันเป็นหูเป็นตา และสามารถแจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าได้ที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางานกรมการจัดหางาน อาคารกระทรวงแรงงานชั้น 4 โทร. 02 354 1729 หรือ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วน 1694 กรมการจัดหางาน เพื่อมีการประสานงานหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันมัคคุเทศก์หรืองานจัดนำเที่ยวเป็นอาชีพที่ผู้ประกอบวิชาชีพต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น เป็นงานที่ห้ามคนต่างชาติทำโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งระบุว่าคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับ ตั้งแต่ 5,000 - 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศทันที รวมทั้งจะถูกห้ามไม่ให้ห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี
ส่วนนายจ้างหรือสถานประกอบการที่รับ คนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้ คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 - 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคนหากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 - 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และจะถูกห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี
น.ส.ไตรศุลี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่านายกฯได้รับทราบถึงข้อมูลภาคการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นฟื้นตัวรวดเร็ว โดยตั้งแต่ต้นปี ถึง 27 มี.ค. 66 มีชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว 6.15 ล้านคน แต่พร้อมกับการฟื้นตัวก็ได้มีประเด็นปัญหาที่ตามมาคือ ราคาโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ได้รับตัวขึ้นเป็นเท่าตัว
ดังนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ ที่ดูแลกำกับผู้ประกอบการ ผู้ค้าขาย ให้ดูแลกำกับตรวจสอบว่าระดับราคาบริการต่างๆ ในภาคท่องเที่ยวที่ปรับตัวขึ้นขณะนี้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลหรือไม่ เพื่อไม่ให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ถูกเอารัดเอาเปรียบ และกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกฯมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการท่องเที่ยว ที่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด19 ซึ่งรัฐบาลก็ได้ออกมาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือ ทั้งมาตรการด้านการเงิน มาตรการฟื้นฟู เช่นโครงการเราเที่ยวด้วยกันที่ขณะนี้ดำเนินมาถึงเฟส5 แล้ว ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ร่วมกันดูแลบรรยากาศให้การฟื้นตัวเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยขอให้กำหนดอัตราค่าบริการให้สมเหตุสมผล ไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคามากจนเกินไป เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของภาคการท่องเที่ยวไทยในระยะยาว
“นายกรัฐมนตรีเข้าใจว่าอัตราค่าบริการทั้งโรงแรม ที่พัก ร้านอาหารมีการปรับเปลี่ยนไปตามกลไกตลาด แต่เพื่อภาพลักษณ์ที่ดี สร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวที่เลือกเดินทางมาประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ หลังโควิด ตลอดจนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ตอนนี้ ก็เลือกเที่ยวในประเทศกันมากขึ้น ขอให้ผู้ประกอบการช่วยกันดูแลเรื่องของราคาค่าบริการต่างๆ ที่เป็นธรรม และขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องติดตามกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว