ไล่ไทม์ไลน์เกมการเมืองสุดเดือด พรรคขั้วอำนาจเก่าเดินเกมแรง ผนึกกำลังส.ว.ประกาศจุดยืนมี‘ก้าวไกล’ก็ไม่มีเรา โดดเดี่ยวพรรคส้ม ตอกย้ำเงื่อนไขไม่เอาพรรคแก้ม.112 ออกแรงบีบเพื่อไทยฉีก MOU ย้ายขั้วจัดตั้งรัฐบาล
“เป้าหมายสูงสุดของเราในฐานะพรรคอันดับ 1 คงอยู่ นั่นคือการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเดิมให้สำเร็จ สิ่งสำคัญในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องคุณพิธาจะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ แต่คือเรื่องประเทศไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตยได้หรือไม่ หยุดการสืบทอดอำนาจได้หรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคก้าวไกลจะเปิดโอกาสให้ประเทศ ให้พรรคอันดับ 2 คือพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพันธมิตร 8 พรรคที่เราได้เคยทำ MOU ร่วมกันเอาไว้”
ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวในตอนหนึ่งของการแถลงข่าวความคืบหน้าจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2566 เวลา 11.00 น. ซึ่งเป็นการแถลงข่าวภายหลัง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ระหว่างไต่สวนคดีหุ้นสื่อ ในวันที่ 19 ก.ค. 2566 และยังเป็นวันเดียวกับที่มติที่ประชุมร่วมของรัฐสภา ไม่เห็นด้วยที่จะให้เสนอชื่อ พิธา ให้ที่ประชุมลงมติว่าจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เนื่องจากเป็นการเสนอซ้ำ หลังจาก พิธา เคยถูกเสนอชื่อแล้วเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2566 และไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมในวันดังกล่าว
ซึ่งก็ต้องบอกว่า ในวันที่ 21 ก.ค. 2566 นี้ มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยภายหลังจากการแถลงข่าวข้างต้นของพรรคก้าวไกล ต่อมาในช่วงบ่าย พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ 4 ข้อ สรุปใจความสำคัญได้ว่า 1.ขอบคุณพรรคก้าวไกลที่ส่งมอบภารกิจให้พรรคเพื่อไทย เบื้องต้นพรรคเพื่อไทยจะได้หารือกับ 8 พรรคการเมืองเดิมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดแนวทางในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป
2.แม้ข้อตกลงร่วม 8 พรรค จะรวมเสียง สส. ได้ 312 เสียง แต่ก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่จากรัฐสภา เพราะติดปัญหาแก้ ป.อาญา มาตรา 112 จึงตั้งรัฐบาลไม่ได้ 3.พรรคเพื่อไทยจึงมีความจำเป็นต้องหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้เสียงเกินกว่า 375 เสียง เบื้องต้นพรรคเพื่อไทยจะขอเสียงสนับสุนนจาก สมาชิกวุฒิสภา และจากพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ในที่สุด และ 4.หากผลการดำเนินเป็นประการใด จะได้แจ้งให้ 8 พรรคการเมืองและสาธารณชนทราบต่อไปโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นบรรดาพรรคการเมืองในรัฐบาลชุดเดิม ได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่า “ไม่เอาพรรคที่พยายามแก้ไข ม.112” ไล่ตั้งแต่ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า “พรรคไม่ได้ปฏิเสธพรรคก้าวไกลแต่ปฏิเสธแนวทาง นโยบายและแนวความคิด เรื่องแก้ไขมาตรา 112” ดังนั้น ตราบใดที่มาตรา 112 ยังอยู่ในกระบวนการของพรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ก็รับไม่ได้
แต่ที่ชัดเจนยิ่งกว่านั้นคือจุดยืน “มีก้าวไกลไม่มีเรา” อาทิ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ออกมาย้ำอีกครั้งว่า พรรคภูมิใจไทย มีจุดยืนที่ได้แถลงการณ์และพูดหลายครั้งแล้วว่าจะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคที่มีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งหากพูดให้ชัดเจนก็คือพรรคก้าวไกลเพียงพรรคเดียวที่มีนโยบายเรื่องนี้และไม่มีท่าทีที่จะลดระดับ มีแต่จะเพิ่มความแข็งกร้าวขึ้น โดยไม่รับฟังเสียงทักท้วง คำร้องขอของใครทั้งนั้น ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า ประเด็นนี้ จะทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติ
เช่นเดียวกับ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ยืนยันผ่านเฟซบุ๊ก ว่า ในการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งต่อไปหากยังมีพรรคก้าวไกลร่วมเป็นรัฐบาลด้วยก็จะไม่เห็นชอบกับบุคคลใดจากพรรคใดก็ตามที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ เพราะจากการดำเนินการทางการเมืองที่ผ่านมาของพรรคก้าวไกลทำให้ไม่เชื่อว่าพรรคดังกล่าวจะเปลี่ยนแนวทางและอุดมการณ์ของพรรคได้
อีกทั้งจะไม่ร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคการเมืองใดก็ตามที่นำพรรคก้าวไกลมาร่วมเป็นรัฐบาลด้วยอย่างเด็ดขาด เพราะพรรครวมไทยสร้างชาติยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงไม่เห็นชอบกับบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ที่ผ่านมาทั้ง 2 ครั้ง เพราะไม่เชื่อว่าพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่บุคคลดังกล่าวสังกัดอยู่จะมีแนวทางเดียวกับพรรครวมไทยสร้างชาติอย่างแท้จริง
และดูเหมือน วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ก็เป็นคนแรกๆที่ออกมากล่าวเช่นกันว่า จากสถานการณ์ล่าสุดทราบว่า ในการประชุมรัฐสภาวันที่ 27 ก.ค. 2566 จะมีการเสนอแคนดิเดตนายกฯรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนายินดีสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯรัฐมนตรีที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย แต่มีเงื่อนไขว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องไม่ทำงานร่วมกับพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 เช่นพรรคก้าวไกลที่มีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะจุดยืนของพรรคชาติไทยพัฒนาคือ ไม่แตะต้อง และไม่แก้ไข มาตรา 112
รวมถึง ไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ ที่กล่าวว่า ในนามของพรรคพลังประชารัฐ แสดงจุดยืนที่จะไม่เข้าร่วมสนับสนุนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และร่วมจัดตั้งรัฐบาล หากพรรคร่วมรัฐบาลยังมีพรรคที่ชื่อก้าวไกลอยู่ร่วมด้วย ตามที่พรรคพลังประชารัฐได้ประกาศตั้งแต่ต้นแล้วว่า ไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และจะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคที่มีนโยบายดังกล่าว
นอกจากพรรคการเมืองแล้ว “ตัวตึง” คนหนึ่งของฝั่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) อย่าง สมชาย แสวงการ โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความยินดีกับการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของพรรคเพื่อไทย แต่ก็ฝากข้อเสนแนะ 10 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ ต้องไม่มีนโยบายใดๆ จากพรรคร่วมรัฐบาลหรือกลุ่มการเมือง กลุ่มอื่นๆที่พรรคการเมืองสนับสนุนในการแก้ไขประมวลกฎหมายมาตรา112 และมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กระทบต่อสถาบันหลัก คือ สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทั้งการกระทำโดยตรงของรัฐบาล รมต สส และเครือข่ายทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะกระทำเองหรือการให้การสนับสนุนใดๆ อีกต่อไป
จากความเคลื่อนไหวที่ปรากฎมาทั้งหมดนี้ กลายเป็น “แรงกดดัน” ไปถึงพรรคเพื่อไทย ว่าจะขยับอย่างไรต่อไป? เพราะหากสลัดพรรคก้าวไกลทิ้ง ที่ผ่านมาบรรดา “ด้อมส้ม” ก็ขู่ตลอดว่าเลือกตั้งครั้งหน้าเพื่อไทยอาจสูญพันธุ์เพราะคนจะหันไปเลือกพรรคก้าวไกลแบบถล่มทลายเนื่องจากมองว่าพรรคเพื่อไทยทรยศประชาชน แต่หากไม่สลัดพรรคก้าวไกลทิ้ง พรรคเพื่อไทยก็ไม่มีโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหมายถึงไม่อาจนำนโยบายที่หาเสียงไว้จนมีผู้ลงคะแนนให้มากถึง 10 ล้านเสียง ไปดำเนินการให้เกิดเป็นผลงานขึ้นมา
นี่คงเป็น “ทางเลือกที่ยาก” ของพรรคเพื่อไทยโดยแท้!!! แต่ที่แน่ตอนนี้ทุกอย่างมันกำลังเลื่อนไหลเข้าสูตร"โดดเดี่ยวก้าวไกล"แล้ว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี