ผู้ตรวจการฯชงศาลรธน.วินิจฉัย
‘พิธา’ยังได้ลุ้น
ปมสภาห้ามโหวตนายกฯซ้ำ
ขอศาลสั่งชะลอเคาะนายกฯ
พท.ลุ้นสภาเลื่อนโหวตรอบ3
วันนอร์รอถกวิป3ฝ่าย26ก.ค.
ก.ก.ย้ำไม่เอาพปชร.-รทสช.
มติผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลรธน.ตีความมติที่ประชุมรัฐสภาใช้ข้อบังคับห้ามเสนอชื่อ “พิธา” โหวตนายกฯซ้ำพร้อมขอให้มีคำสั่งชะลอเลือกนายกฯ 27 กรกฎาคมออกไปก่อน จนกว่าศาลมีวินิจฉัย ด้าน “ชลน่าน” เลี่ยงตอบเขี่ยทิ้ง “ก้าวไกล” หรือไม่ ขอรอฟังมติ“8 พรรคร่วม” 25 กรกฎาคม โยนวิป 3 ฝ่ายชี้ขาดปมเลื่อนโหวตนายกฯ 27 กรกฎาคม แจงปมให้พรรคอันดับ 3 หากหมดปัญญาตั้งรบ.แค่ทางเลือกที่เสนอมาขอไม่ต่อความยาวสาวความยืด “ชัยธวัช” รอฟังพท.เปิดดีลข้ามขั้วย้อนแค่ข้ออ้างปมม.112ไม่จับมือก้าวไกล ชี้เป็นสิทธิเพื่อไทยเลือกแฟนใหม่ ทิ้งแฟนเก่า‘อนุทิน’ยังไม่ได้คุย‘ชลน่าน’เสนอพรรคอันดับ3ตั้งรบ.ชี้ประเทศรอ10เดือนไม่ได้
เมื่อเวลา 14.30น.วันที่ 24กรกฎาคม ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ตามที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิกรัฐสภาและประชาชน จำนวน 17คำร้องเรียน โดยผู้ร้องเรียนขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช25610 มาตรา213 จากกรณีที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19กรกฎาคม2566 ลงมติวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติ ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ41 ซึ่งกำหนดว่า“ญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน”เป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น
ผู้ตรวจฯยันปชช.มีสิทธ์ร้องเรียนได้
พ.ต.ท.กีรป กล่าวต่อว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุมปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกัน โดยพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนว่า เข้าองค์ประกอบ เงื่อนไข และหลักเกณฑ์ ในการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 หรือไม่ โดยเห็นว่า รัฐสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตย รัฐสภาจึงถือเป็นหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ หากการกระทำของรัฐสภาละเมิดสิทธิเสรีภาพ ย่อมถูกตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญและการกระทำของรัฐสภา ในการลงมติวินิจฉัยว่า การเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกฯถือเป็น“ญัตติ”ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ41นั้น
ชี้รธน.กำหนดเลือกนายกฯไว้อยู่แล้ว
เป็นการนำข้อบังคับการประชุมไปทำให้กระบวนการแต่งตั้งนายกฯไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้กำหนดเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกฯไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ตามมาตรา159 ประกอบมาตรา272 การกระทำของรัฐสภาดังกล่าวจึงขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำของรัฐสภาในการลงมติวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนโดยตรง โดยผู้ร้องเรียนเป็นสมาชิกรัฐสภาและประชาชนผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ตามหมวด3ว่า สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หากการกระทำของรัฐสภาดังกล่าวขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้และมีผลเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน นอกจากนี้ ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำของรัฐสภาดังกล่าวยังคงมีอยู่และมิได้รับการวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนและประชาชนทั่วไป ซึ่งอยู่ภายใต้การใช้อำนาจของรัฐโดยรัฐสภา ผู้ร้องเรียนรวมถึงประชาชนทั่วไปจึงได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อน หรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้
ชะลอเลือกนายกฯ27ก.ค.ออกไปก่อน
พ.ต.ท.กีรป กล่าวอีกว่า ส่วนคำร้องเรียนส่วนหนึ่งได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งเป็นคำขอเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆ เป็นการชั่วคราวก่อน การวินิจฉัยซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง และเป็นคำขอที่อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ จึงได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งก็เป็นดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่อไป ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา213 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบ มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 อย่างไรก็ตาม การยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญคาดว่าจะเป็นวันที่ 25ก.ค.หรือ26ก.ค.นี้
‘ชลน่าน’เผยยังไม่ได้ขอสรุปขอเสียงสว.
ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดเผยหลังหารือร่วมกับแกนนำพรรคว่า ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปการหารือร่วมกับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สนับสนุนเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27กรกฎาคม เนื่องจากเป็นการหารือรายบุคคล ซึ่งตอนนี้ได้พูดคุยไปเยอะแล้วและยังคงเดินหน้าพูดคุยต่อไป เมื่อถามว่า จะทันการประชุม 8พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่เป็นปัญหา จะนำผลที่คุยเบื้องต้นแจ้งต่อที่ประชุมเท่านั้น ส่วนการเสนอเลื่อนประชุมรัฐสภาในวันที่ 27กรกฎาคมนี้ออกไปนั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับแจ้งจากประธานรัฐสภาว่าขอเลื่อนการประชุม 3ฝ่ายออกไปเป็นวันที่ 26กรกฎาคม ส่วนจะเสนอเลื่อนประชุมออกไปหรือไม่ ตามขั้นตอนประธานรัฐสภาต้องแจ้งกับสมาชิกล่วงหน้า 3วัน เว้นแต่เป็นกรณีเร่งด่วนสามารถแจ้งเลื่อนล่วงหน้าได้ภายใน 1วัน แต่ยังตอบไม่ได้ว่า ยังจะเสนอเลื่อนการประชุมได้อีกหรือไม่ ทุกอย่างเป็นอำนาจของประธานรัฐสภา หากพิจารณาแล้วสถานการณ์ไม่เหมาะ ไม่ควร ก็อาจจะมีข้อพิจารณา
ชะลอเลือกนายกฯอำนาจประธานสภาฯ
เมื่อถามถึงข้อเสนอว่า ให้เลื่อนการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีออกไปก่อน เพื่อรอให้สว.หมดวาระ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ก็เป็นแนวทางหนึ่ง แต่เราต้องมาดูรายละเอียด ผลสัมฤทธิ์จะเป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้หรือไม่ ถ้าเป็นไปตามคาดก็น่าทดลองดำเนินการ แต่ระบบรัฐสภาเสียงข้างมาก เรายังอยู่ภายใต้ 749เสียง ถึงแม้เราอยากจะเสนอให้ขอเลื่อนการโหวตนายกฯออกไปอีก 10เดือน แต่ถ้าเสียงข้างมาก749 เสียงเขาไม่ยอม แทนที่เราจะได้ตามที่ควรได้ ก็เหมือนกับเราไปส่งเสริมมอบอำนาจให้ในสิ่งที่คนไม่อยากทำ
“ข้อแทรกซ้อนมันเกิดขึ้นได้ตลอด นี่คือผลกระทบทางการเมือง อะไรที่ไม่สามารถคาดการณ์ก็เกิดขึ้นได้ แต่ใครจะมีเสียงมากกว่ากันเท่านั้นในระบบเสียงข้างมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่พึงระวัง เราคิดแบบโลกสวยไม่ได้ในมุมการเมือง มันมีหลายมิติต้องเอามาประกอบกันว่า ถ้าเราไม่ทำหรือเราแพ็คกันแน่นอยู่อย่างนี้ คนอื่นเขาก็มีวิธีคิด เขาก็เป็นเจ้าของประเทศ ถ้าเขาสามารถรวมเสียงได้ในที่ประชุมรัฐสภา เราก็ต้องยอมรับ” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าว เมื่อถามว่า สามารถรอให้สว.หมดอำนาจได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ที่กลัวคือวิกฤตทางการเมืองและวิกฤติเศรษฐกิจ สังคม ที่จะเกิดขึ้น ก็ต้องไปดูในหลายๆส่วน
ลั่น27ก.ค.ต้องโหวตได้375เสียงขึ้น
เมื่อถามว่า เป้าหมายของพรรคพท.คือ การโหวตนายกฯในวันที่ 27ก.ค.ให้ได้ 375เสียง ยังเป็นเป้าหมายอยู่ใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรายังเดินตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้อยู่ ซึ่งก่อนที่เราจะประชุม 8พรรคร่วม ประธานสภาฯได้นัดวิป 3ฝ่าย ประชุมกันก่อนช่วงเช้าเพื่อที่จะพิจารณาว่าจะเลื่อนหรือไม่เลื่อนนำเข้าในวันที่ 27ก.ค.เมื่อถามว่า พท.มีแนวคิดสลายขั้ว 8พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรค พท.จะคิดหรือไม่ไม่ได้มีประเด็น สิ่งที่สำคัญคือ 8พรรคร่วมต้องอยู่ ถึงจะคิดได้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เราก็เป็นแค่หนึ่งในองค์ประกอบนั้น เราเสนอได้ แต่ที่ประชุมเขาเห็นอย่างไรก็ต้องไปว่ากัน
นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงกรณีที่ระบุหากทั้ง 2พรรคหมดปัญญาจัดตั้งรัฐบาล จะมอบให้พรรคอันดับ 3 ดำเนินการ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่อยากขยายความ เดี๋ยวตีความผิดอีก ความหมายของตนคือ ทางเลือกมีคนเสนอเยอะ ตนเพียงจะบอกว่า ทางเลือกอื่นมีคนเสนอมาทำนองนี้ว่า เราหมดปัญญาแล้ว การมอบให้พรรคที่ 3 เป็นไปได้หรือไม่ ตนจึงบอกไปว่า มันเป็นทางเลือกจะเกิดขึ้นหรือไม่ เราไม่รู้ และตนยังพูดไปชัดว่า เป็นการมอบอำนาจให้เสียงข้างน้อย เมื่อถามย้ำว่า ให้จบที่พรรคพท.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราจะพยายาม
‘ชัยธวัช’รอฟังพท.เปิดดีลตั้งรบ.ข้ามขั้ว
ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีสัญญาณจาก พรรคเพื่อไทย (พท.) มาบ้างแล้วหรือยัง หลังจากที่มีการพูดคุยกับหลายพรรคการเมืองในขั้วรัฐบาลปัจจุบันว่า ยังไม่มี ทราบว่ามีประชุม 8 พรรคร่วมในวันที่ 25 กรกฎาคม ต้องรอฟังจากพรรค พท.ซึ่งช่วงเที่ยงวันนี้จะมีการประชุม สส.ออนไลน์ของพรรค ก.ก.ถึงแนวทางจัดตั้งรัฐบาล
เมื่อถามว่า มีการตั้งหลักอย่างไรกับการที่หลายพรรคออกมาพูดว่าจะไม่ร่วมกับพรรค ก.ก.ที่มีการแก้ไขมาตรา 112 นายชัยธวัชกล่าวว่า คิดว่าชัดเจนอย่างที่เคยยืนยันมาหลายครั้งว่าการยกเรื่องมาตรา112 มาเป็นแค่ข้ออ้าง หลายพรรคพูดชัดเจนว่า อย่างไรจะไม่ร่วมรัฐบาลกับ ก.ก.เพราะมีอุดมการณ์และแนวทางการทำงานการเมืองที่แตกต่างกัน พรรค พท.เป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งรัฐบาล อยู่ที่การตัดสินใจของพรรค พท.อย่างไรก็ตาม ท่าทีของ สว.ที่พรรค พท.ไปคุยมีข้อเสนอแนะเรื่องนี้ ก็จะรอฟังว่ารูปธรรมและรายละเอียดจะเป็นอย่างไร ซึ่งต้องฟังข้อเสนอก่อน เมื่อถามว่า มีคนมองว่าการที่พรรค พท.ไปพูดคุยกับพรรคขั้วรัฐบาลเดิมจะเป็นการยืมมือเพื่อเขี่ยพรรค ก.ก.ออกไปหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า คงห้ามประชาชนไม่ให้มองแบบนั้นไม่ได้ แต่สำหรับพรรค ก.ก.ต้องรอฟังจากพรรค พท.ที่จะเสนอในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้
ถก8พรรค25ก.ค.จะได้ความคืบหน้า
เมื่อถามว่า หากทำเช่นนี้กังวลหรือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมือง จากที่เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีมวลชนบุกไปยังพรรค พท.ระหว่างที่มีการหารือระหว่างพรรค พท.และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายชัยธวัชกล่าวว่า คิดว่าสิ่งที่ต้องกังวลคือตอนนี้ประชาชนที่เลือกตั้งแล้วก็ไม่อยากให้พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง ทั้งอันดับ1และอันดับ2 ทำให้ประชาชนผิดหวัง ส่วนกรณีที่ นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม (ปธ.) เตรียมเสนอให้พรรค ก.ก.และพรรค พท.ร่วมลงนามเอ็มโอยูเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้ทั้งสองปล่อยมือแม้สมการการเมืองจะเปลี่ยนไปนั้น ยังไม่ได้คุยกันเรื่องนี้
เมื่อถามว่า สิ่งที่อยากได้จากที่ประชุม 8 พรรคร่วมในวันที่ 25กรกฎาคมมีอะไรบ้าง นายชัยธวัชกล่าวว่า ตามที่ประชุมร่วมกันเมื่อครั้งล่าสุดบอกเพียงว่าหากพรรค พท.ทำการบ้านมาแล้วมีข้อเสนอเป็นทางเลือกอะไรบ้าง คาดหวังว่าคงจะได้พูดคุยว่ามีแนวทางอะไรบ้างในการจัดตั้งรัฐบาล ยังไม่ได้รับแจ้งเรื่องข้อเสนออย่างเป็นทางการ ตอนนี้ทราบผ่านสื่อมวลชน ซึ่งน่าจะเป็นเช่นนั้น เมื่อถามว่า พรรค พท.มีการอัพเดตการพูดคุยขอเสียงจาก สว.หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ยังไม่มีการอัพเดตความคืบหน้า คาดว่าจะมีการพูดคุยวันที่ 25กรกฎาคมนี้ เมื่อถามว่า 3 แนวทางที่ได้มาจากการประชุมครั้งที่แล้ว คาดว่าแนวทางไหนมีความเป็นไปได้มากที่สุด นายชัยธวัชกล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุย พรรค ก.ก.คิดว่าแนวทางการหาเสียงจาก ส.ว.เพิ่มยังมีความเป็นไปได้หลังจากเปลี่ยนแคนดิเดตนายกฯแล้ว ยังไม่อยากให้ละทิ้งแนวทางนี้
สิทธิพท.เลือกแฟนใหม่ทิ้งแฟนเก่า
เมื่อถามว่า หากพรรค พท.ต้องเลือกระหว่างอุดมการณ์ตรงกับ 5พรรคการเมือง หรือ 8 พรรคการเมือง หมายถึงอะไร นายชัยธวัชกล่าวว่า พูดในความหมายที่หากไม่มีทางอื่น ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยเหตุผลนี้ พรรคที่คิดว่าพรรค พท.ไปเจรจาแล้วถึงสถานการณ์ที่จำเป็นต้องเลือก ยังไม่คิดว่าถึงคราวนั้น แต่หากต้องเลือก ในเมื่อพรรคจำนวนหนึ่งบอกว่าอุดมการณ์และแนวทางการทำงานการเมืองไม่ตรงกับพรรค ก.ก. พรรค พท.ก็จำเป็นต้องเลือก หากไปถึงสถานการณ์เช่นนั้นจริง แล้วพรรค พท.มีอุดมการณ์และแนวทางการทำงานทางการเมืองใกล้เคียงกับใครมากกว่า เมื่อถามว่า อาจจะต้องรออีก 10 เดือนจึงสามารถตั้งรัฐบาลได้ นายชัยธวัชกล่าวว่า 10 เดือนอาจจะนานไป ตอนนี้ยังเชื่อว่าถ้า 8พรรคร่วมจับมือกันแน่น การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเป็นไปได้อยาก เมื่อถามว่า หากพรรค พท.เลือกแฟนใหม่ แล้วทิ้งแฟนเก่าเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาลนั้น นายชัยธวัชกล่าวว่า ก็เป็นสิทธิของพรรค พท.ที่จะตัดสินใจ
6เหตุผลมติสส.ไม่ร่วมพปชร.-รทสช.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม สส.พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้จัดหารือทางออนไลน์เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและการกำหนดทิศทางการร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ได้ข้อสรุปว่า พรรคยืนยันจะไม่ร่วมรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ด้วยเหตุผลต่อไปนี้ 1.เป็นที่แน่ชัดว่าพรรคพลังประชารัฐมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และพรรครวมไทยสร้างชาติมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้งสองเป็นหัวหอกหลักในการยึดอำนาจ ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซ้ำยังมีกระบวนการสืบทอดอำนาจตนเองผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยกลไกและองค์กรสถาบันทางการเมืองต่างๆ จนถึงปัจจุบัน 2.พรรคก้าวไกลมีจุดยืนชัดเจนต่อประเด็นการสืบทอดอำนาจ และประกาศตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม2565ว่า จะไม่จับมือกับพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจ และได้ประกาศย้ำต่อประชาชนในทุกรายการ ทุกเวทีหาเสียงเลือกตั้ง 3.ผลการเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม เป็นการประกาศเจตจำนงของประชาชนที่ชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจนชนะเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 เมื่อรวมกันได้ 8 พรรคการเมืองที่มีแนวทางยุติการสืบทอดอำนาจ ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรถึง 312 จาก 500 ที่นั่ง และมีคะแนนดิบสูงถึง 27 ล้านเสียง ไม่มีอะไรชัดเจนไปกว่านี้ว่าประชาชนต้องการพลิกขั้วเปลี่ยนข้างรัฐบาล ดังนั้น เป้าหมายสูงสุดของเราในฐานะพรรคอันดับ 1 คือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้สำเร็จเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเดิม
เป้าหลักตั้งรบ.ให้ได้ตามเสียงปชช.
4.แม้กลไก สว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.จะสกัดขัดขวาง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ทำให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เรายืนยันว่าสิ่งสำคัญในวันนี้ ไม่ใช่พิธาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือก้าวไกลเป็นรัฐบาล แต่คือการจัดตั้งรัฐบาลที่ประกอบด้วย 8 พรรคตามมติประชาชน พรรคก้าวไกลจึงเปิดทางให้พรรคอันดับสองคือพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เดินหน้าหาเสียงสนับสนุนตามที่ปรากฏเป็นข่าว 5.แม้การจัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็วที่สุด จะมีความสำคัญต่อการเดินหน้าแก้ไขปัญหาของประชาชน แต่เราเห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่บิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนซึ่งสะท้อนผ่านผลการเลือกตั้ง จะนำไปสู่วิกฤติศรัทธาของประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตย จนอาจยากต่อการเรียกกลับคืน 6.พรรคก้าวไกลจึงขอยืนยันสัจจะที่ให้ต่อประชาชน เราไม่สามารถร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ และจะพยายามอย่างถึงที่สุดในการผนึก 8 พรรคการเมืองที่สะท้อนเสียงของประชาชนกว่า 27 ล้านเสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน พาประเทศไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย อันมีอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
‘อนุทิน’ชี้ยังไม่มีสัญญาณให้ภท.ตั้งรบ.
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย(ภท.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดเผยว่า หากพรรคการเมืองอันดัน2 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ควรส่งไม้ต่อมาถึงพรรคอันดับ 3 คือ พรรคภูมิใจไทย ว่า ตนยังไม่ได้อ่านข่าวนี้ แต่ที่ไปพบกับท่านเมื่อวันเสาร์ บรรยากาศการหารือก็เป็นไปด้วยดี แต่ก็ไม่ได้คุยอะไรกันเรื่องนี้ คุยกันหาทางออกให้บ้านเมือง เมื่อถามว่า ถ้าโอกาสมาถึงจะทำอย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า “อย่าเพิ่ง ถ้า พอเดี๋ยวถ้าแล้วคนอื่นก็ถ้าด้วย” ทุกอย่างตอนนี้ยังเหมือนเดิม พรรคเพื่อไทยก็ยังจัดอยู่ภายใต้ MOU 8 พรรค แต่เราก็ต้องหาทางออกกัน โดยเราได้แจ้งกับพรรคเพื่อไทยถึงปัญหาของพรรคภูมิใจไทยในการทำงานร่วมกัน”
ถามต่อว่ายังยืนยันว่าไม่ร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ใช่ เพราะแนวทางทำงาน เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าวิธีคิดต่างกัน การทำงานร่วมกันคงไม่ใช่ผลดีกับบ้านเมือง
รอ10เดือนสว.หมดหน้าที่ไม่สมควร
เมื่อถามว่า มีการเสนอให้รอ 10เดือน เพื่อให้อำนาจ ส.ว.หมดไปก่อน แต่ภาคเอกชนก็มองว่าอาจกระทบกับเศรษฐกิจ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ควรรอ 10 เดือน ประเทศต้องมีรัฐบาล ตนคิดว่าไม่ควรใช้เวลานานขนาดนั้น การบอกให้รอ 10เดือน เพื่อให้มีช่องว่าง เป็นการพูดเพื่อตัวเอง ไม่ใช่พูดเพื่อบ้านเมือง แต่ทำงานการเมืองต้องเอาบ้านเมืองเป็นหลัก เมื่อถามว่า สัญญาณของ 8 พรรคก็อาจไม่ราบรื่นแล้ว นายอนุทินกล่าวว่า ต้องให้กำลังใจ คนที่จะเข้ามาทำงานการเมือง เบื้องต้นถือเป็นผู้เสียสละทุกคน เราต้องให้กำลังใจ ส่วนบทบาทเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับแนวทางทางการเมือง ณ วันนี้ พรรคภูมิใจไทย ไม่ได้อยู่ในบทบาทการจัดรัฐบาล ดังนั้น เราต้องให้กำลังใจคนที่จัดรัฐบาลให้สำเร็จ เมื่อถามว่า ตอนนี้มีเสียงคัดค้านการสลับขั้วการเมือง นายอนุทินกล่าวว่า พรรคที่เป็นแกนนำตอนนี้คงมีคำอธิบาย ว่าจะออกไปแนวทางไหน ตอนนี้เป็นการหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี สมัยก่อนคนละขั้ว ก็ไม่คุยกันเลย ตอนนี้ยังมีการคุยกัน แม้ว่าจะคุยกัน ก็ไม่ได้เป็นการตกลงกันหรือมีการต่อรองใดๆ เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ถามต่อว่า หลายคนมองว่า รัฐมนตรีว่าการ สธ.จะเป็นคนเดิม นายอนุทินกล่าวว่า ต้องถาม ปลัด สธ.