"ชาญชัย"ชี้เป้า!!! รอดู"เศรษฐา-รัฐบาล"กู้มาแจกเงินหมื่นดิจิทัล-แก้หนี้แบบไม่ผิด"พรบ.วินัยการเงินฯ" หลัง"บอร์ด ทอท."ลดรายได้ให้บริษัทเอกชนรายเดียวกว่า 4.2 หมื่นล้าน อ้างเจอ"พิษโควิด"เป็นภัยพิบัติ อัดอย่า 2 มาตรฐาน ถามจี้ใจดำ ประชาชนคนไทยมีสิทธิแบบนี้ไหม
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ที่รัฐสภา นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ยืนยันจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อแจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต คนละ 1 หมื่นบาท ว่า ตนไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพราะตนมีประสบการณ์กับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่ได้ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ในกรณีที่ตนฟ้องการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม ที่อ้างสถานการณ์โควิด-19 ว่าเป็นภัยพิบัติ โดยได้มีมติลดรายได้ของรัฐรวม 4.2 หมื่นล้านบาทเศษ ให้กับกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ จำกัด ตามรายงานการประชุมโดยไม่ได้เอ่ยถึงชื่อของบริษัทอื่นใดเลย ปรากฏว่า ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลัง ที่ร่วมเป็นคณะกรรมการบริหาร ทอท.หรือบอร์ด ทอท.อาทิ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ซึ่งขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมศุลกากร และต่อมาได้ขยับขึ้นเป็นปลัดกระทรวงการคลัง และยังรวมถึงอดีตอธิบดีในกระทรวงการคลังอีกหลายคน
โดยบอร์ด ทอท.ได้ไปให้การต่อศาลผ่านอัยการ ที่เป็นทนายแก้ต่างให้ว่า การลดรายได้ 4.2 หมื่นล้านบาทเศษ ให้กับบริษัทเอกชนเพียงแห่งเดียว สามารถทำได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง โดยอ้างว่า บริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวและกฎหมายอีกหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างปี 2560 ทั้งที่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง (ศาลชั้นต้น) ก็เชื่อพยานบุคคลของกระทรวงการคลัง โดยพิพากษาว่า ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และถือว่าการลดรายได้ซึ่งเป็นรายได้ของแผ่นดินครั้งนี้ บอร์ด ทอท.มีอำนาจทำได้ เพราะอ้างเหตุว่า เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จนเกิดการไปแก้สัญญาใหม่ และเป็นสาเหตุให้รัฐต้องเสียหายเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท ในการที่บอร์ดรัฐวิสาหกิจของรัฐมีมติในการลดรายได้ที่บริษัทเอกชนเพียงรายเดียวต้องส่งคืนให้รัฐ ซึ่งต้องจ่ายตามสัญญาที่ประมูลได้ตามเงื่อนไขของ TOR เดิม แต่กลับไม่ทำ
"ดังนั้น ผมจึงขอให้นายกฯ ในฐานะรมว.คลัง ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการวินัยการเงินการคลัง ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ไปปรึกษาหารือและขอคำแนะนำจากนายกฤษฎา รมช.คลัง และบอร์ดก ทอท.ว่าจะใช้วิธีใดที่จะหาเงินมาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยที่ไม่ต้องออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท หรือจะใช้วิธีใดที่จะเลี่ยงการปฎิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพราะมีผู้เชี่ยวชาญใกล้ตัวท่านนายกฯ มากที่สุดอยู่แล้ว คือ รมช.คลัง ที่เคยตกเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ทั้งนี้ ผมจะแถลงรายละเอียดในคดีนี้ กรณีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลัง ที่ไปให้การต่อศาลทุจริตกลาง ว่า ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ว่าอย่างไรบ้าง เพื่อให้นายกฯ และรมว.คลัง ได้รับทราบ หรือจะนำไปเป็นแนวทางในการเลี่ยงที่จะปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพื่อหาเงินจำนวนมหาศาลนี่มาใช้จ่ายในโครงการนี้ก็ได้" นายชาญชัย กล่าว
นายชาญชัย กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2566 ว่า รัฐบาลแก้ไขหนี้ โดยการยกเลิกหนี้ และแก้ไขหนี้ให้แก้ประชาชน คือ 1.ไม่ต้องการให้เสียดอกเบี้ยแพง 2.ปรับหนี้นอกระบบเข้ามาสู่ในระบบโดยหาธนาคารมารับหนี้ของประชาชนแทน โดยประเมินว่าคนไทยมีหนี้นอกระบบมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งนายกฯ ระบุว่าต่ำกว่าความเป็นจริง ประชาชนเหล่านี้ไม่สามารถฝัน แม้กระทั่งจะฝันยังถูกปิดกั้นโอกาสเติบโตส่งผลกระทบเปรียบเหมือนเป็นการค้าทาสยุคใหม่นั้น ตนอยากบอกนายกฯ เศรษฐา ว่า ขอให้ท่านไปหารือกับ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในบอร์ด ทอท.ที่ร่วมแก้ไขหนี้ให้กับบริษัท คิงเพาเวอร์ อินเตอร์ โดยการลดค่าปรับ ไม่เรียกเก็บค่าความเสียหายจากการยกเลิกสัญญา ซึ่งตามสัญญาต้องจ่ายเงินให้ ทอท.เป็นค่าสัมปทานผูกขาดแต่ผู้เดียวที่สนามบินดอนเมือง
"ส่วนที่นายกฯ ระบุว่าการแก้ไขหนี้ครั้งนี้ไม่ใช่ยาปาฏิหาริย์ ท่านนายกฯ ผมจึงเสนอท่านนายกฯ ว่า วิธีแก้แบบมีปาฏิหาริย์ มีเกิดขึ้นแล้วที่หน่วยงานของรัฐชื่อย่อว่า ทอท.โดยบอร์ด ทอท.ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นข้าราชการระดับสูง ใช้อำนาจเหนือกฎหมายวินัยเงินการคลัง และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และ พ.ร.บ.ว่าด้วยเรื่องงบประมาณ รวมถึงกฎหมายอื่นๆ เหตุที่ต้องใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวเหล่านี้ เพราะเป็นรายได้และทรัพย์สินของแผ่นดิน แต่บอร์ด ทอท.กลับใช้อำนาจยกหนี้ให้แก่บริษัทเอกชนเพียงรายเดียว และเป็นเงินมากกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท กรณีนี้เป็นการแก้หนี้แบบปาฏิหาริย์ที่นายกฯ เศรษฐา กำลังแสวงหา ประชาชนมีโอกาสแบบนี้บ้างหรือไม่ บริษัทต่างๆ ที่ต้องเสียภาษีและธุรกิจต่างๆ ที่ขาดทุนได้รับโอกาสการยกเว้นเช่นนี้บ้างหรือไม่ ประเทศไทยมีบริษัทนี้รายเดียวที่ได้รับการแก้ไขหนี้เท่านั้น ใช่หรือไม่ การแก้หนี้ที่เป็นทรัพย์สินและรายได้ของประเทศ ที่มีกฎหมายวินัยการเงินการคลังที่ต้องปฏิบัติตาม นายกฯ ไปดูตัวอย่างการเลี่ยงกฎหมายว่าต้องสอบสวนหาผู้กระทำความผิดที่ก่อมห้เกิดความเสียหายต่อประเทศหรือไม่ หรือนายกฯ คิดว่าเป็นแฟนคลับกับทีมฟุตบอลนี้แล้วสามาถทำอะไรก็ได้" นายชาญชัย กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี