เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ที่รัฐสภา นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราฎรวาระอภิปรายทั่วไป แบบไม่ลงมติ วันที่สอง ในประเด็นประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นถังขยะของโลก สืบเนื่องจากในปี 2561 มีชาวต่างชาติติดตั้งอุปกรณ์ติดตามด้วยสัญญาณดาวเทียม (GPS) ไปกับกองขยะที่ถูกส่งออกจากประเทศของตนเอง แล้วพบว่าปลายทางอยู่ที่ประเทศไทย
ซึ่งชาวต่างชาติที่เดินทางมาตามพิกัด GPS พบว่า ตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกขยะถูกลำเลียงออกจากพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขึ้นรถบรรทุกไปเททิ้งที่บ่อขยะในพื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ในขณะที่ประเทศจีน ซึ่งรับรู้ปัญหาดังกล่าวดี เพราะขยะที่ถูกนำมาทิ้งก่อมลพิษกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อการฟื้นฟู ทำให้ในปี 2561 รัฐบาลจีนออกประกาศไม่รับขยะจากต่างประเทศอีกต่อไป ดังนั้นหวยจึงมาออกที่ประเทศไทย
โดยตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา มีขยะพลาสติก ขยะอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือแผงวงจร เศษขยะที่ปนเปื้อนกำจัดไม่ได้แล้ว ถูกส่งลงเรือมาจากหลากหลายประเทศ มุ่งหน้าเดินทางมาสู่ประเทศไทย ซึ่งตนก็สงสัยว่าขยะในประเทศไทยเราเอง มีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ เมื่อดูประเภทขยะ เช่น เศษพลาสติก พิกัดที่ขนมาคือ HS 3915 ใน ซึ่งเป็นพลาสติกใช้แล้ว ในนิยามคำจำกัดความคือคำว่าเศษไม่ใช่ชิ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือมีการนำเข้ามาเป็นชิ้นหรอืเป็นแผง ในปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งก็ไม่รู้ว่านำเข้ามาได้อย่างไร
“ตั้งแต่ปี 2558 ปริมาณนำเข้าขยะในบ้านเรายังอยู่ที่ปริมาณเหมาะสม คือประมาณ 4 หมื่นตัน แต่เราจะเห็นปี 2561 การนำเข้าเกือบ 6 แสนตัน เฉพาะพลาสติกนะไม่รวมอย่างอื่นซึ่งไม่สามารถอธิบายได้หมด และเมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นก็มีการแอ็คชั่นหลายอย่างจากภาครัฐแต่ก็ยังไม่ดีพอ ซึ่งอย่างที่ทราบ เมื่อประเทศจีนหยุดการนำเข้าขยะ นักลงทุนที่ผมขออนุญาตเรียกว่าอาชญากรทางด้านมลพิษที่สร้างความเสียหายขึ้นในประเทศของเขา จึงหลั่งไหลเดินทางเข้ามาเพื่อเปิดกิจการในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก” นายวุฒิพงศ์ กล่าว
นายวุฒิพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลของกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม พบโรงงานจำพวก 3 ประเภท 105 106 โรงงานหลอม บ่อฝังกลบ และโรงงานรีไซเคิล เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 130 ตนไม่อยากให้รัฐบาลหลงดีใจอย่างเข้าใจผิดว่าเป็นการลงทุนที่ดีหรือการลงทุนแบบปกติ เพราะการเข้ามาของอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ไม่ใช่การลงทุน เจ้าของกิจการส่วนใหญ่ก็เป็นชาวต่างชาติ วัตถุดิบที่นำเข้ามาก็ประมูลมาจากต่างประเทศ นำขยะมาเผาหลอมเป็นวัตถุดิบกลับออกไป ส่วนแรงงานที่จ้างส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานข้ามชาติ มีส่วนน้อยที่เป็นแรงงานไทย คือล่ามและ รปภ.
และหากโรงงานทำผิดก็จะปิดแล้วหนีไป ทิ้งมลพิษไว้ให้รัฐบาลต้องมาเสียค่าฟื้นฟู บางจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเมื่อประเมินค่าฟื้นฟูแล้วสูงถึงหลักพันล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ได้ไม่คุ้มเสีย ซึ่งในวันที่ 21 ก.พ. 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะนั้น มีมติห้ามนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป แต่ในปี 2566 ก็ยังมีขยะจากต่างประเทศเข้ามา 201,714 ตัน ที่น่าอายคือรับแม้กระทั่งขยะจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ด้วย เช่น มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เรายากจนขนาดนั้นเลยหรือ
“ถึงตรงนี้ยังเหลือเวลาอีกเพียง 1 ปีเศษในการจัดการขยะ การนำเข้าขยะพลาสติกของปีนี้ ในระยะเวลาแค่ 2 เดือน ปริมาณลากไปแล้ว 3 หมื่นตัน ผมจึงจำเป็นต้องอภิปรายและพูดถึงเพื่อให้รัฐบาลทบทวนและตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในเวลานี้ หากท่านอยากรู้ว่าบ้านเมืองไหนเป็นประเทศที่ยังใม่พัฒนา ง่ายนิดเดียว ให้ดูที่รัฐบาล หากเขาสนใจแค่ตัวเงินหรือเงินเป็นตัวตั้ง ประเทศนั้นยังเป็นประเทศที่ยังไม่พัฒนา ต่หากประเทศไหนเมืองไหนให้ความสำคัญกับสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมมากกว่าเงินเป็นตัวตั้ง ประเทศนั้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว” นายวุฒิพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ในวันที่ 2 เม.ย. 2567 หรือ 2 วันก่อนหน้าการอภิปรายของนายวุฒิพงศ์ เว็บไซต์ news.un.org ช่องทางประชาสัมพันธ์ขององค์การสหประชาชาติ (UN) เผยแพร่จดหมายข่าว World News in Brief: Aid worker deaths ‘inevitable result’ of Gaza war tactics, ‘waste trafficking’ update, Malawi drought โดยหนึ่งในหัวข้อสำคัญคือ Southeast Asia still key destination for ‘waste trafficking’ ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับการค้าการขนส่งขยะอย่างผิดกฎหมายจากยุโรปและที่อื่นๆ
งานวิจัยล่าสุดซึ่งจัดทำโดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ให้ความกระจ่างว่าอาชญากรแสวงหาประโยชน์จากการค้าที่ถูกกฎหมายควบคู่ไปกับช่องโหว่ด้านกฎระเบียบและการบังคับใช้อย่างไร และสำรวจผลกระทบด้านลบที่การค้ามีต่อเศรษฐกิจโลก โดยพบประเทศในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือและเอเชีย เป็นภูมิภาคต้นทางหลักของขยะ
วิธีการลักลอบขนย้ายขยะ เช่น การแสดงประกาศอันเป็นเท็จ การไม่มีเอกสารหรือใช้เอกสารที่ไม่ถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบและหลีกเลี่ยงการควบคุม ตลอดจนใบอนุญาตที่ขาดหายไปหรือไม่เพียงพอ การค้าขยะดำเนินการภายใต้หน้ากากของการทำธุรกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ยากต่อการต่อสู้ คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ประมาณการว่าการขนส่งขยะที่ผิดกฎหมายภายในสหภาพยุโรป (EU) และส่งไปยังประเทศที่สามคิดเป็นร้อยละ 15 ถึง 30 ของการค้าขยะใน EU ทั้งหมด และสร้างรายได้ 9.5 พันล้านยูโร หรือ 3.7 แสนล้านบาทต่อปี
ธนาคารโลก (World Bank) ชี้ว่า ขยะทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 จากระดับปัจจุบัน เป็น 3.4 พันล้านตันต่อปีภายในปี 2593 โดยได้แรงหนุนจากการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว การเติบโตของประชากร และพฤติกรรมการบริโภค ซึ่ง มาซูด คาริมิปูร์ (Masood Karimipour) ตัวแทนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกของ UNODC กล่าวว่า ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน การจัดการขยะกลายเป็นข้อกังวลที่เร่งด่วนมากขึ้น โดยที่การผลิต พฤติกรรมการบริโภค อาชญากรรมด้านขยะ การค้าขยะ การทุจริต องค์กรอาชญากรรม การฟอกเงิน และเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนมีความเกี่ยวพันกัน อาชญากรรมการค้าขยะกำลังทำลายคุณค่าที่การค้าขยะที่ถูกกฎหมายและมีการควบคุมอย่างดีนำมาสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน
รายงานข่าวของ UN ยังกล่าวด้วยว่า แม้มาตรการด้านกฎระเบียบและการบังคับใช้จะถูกนำไปใช้ในประเทศต่างๆ ซึ่งมีขยะผิดกฎหมาย เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม แต่การค้าขยะยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญในภูมิภาค โดยขยะที่ถูกซื้อ-ขายมากที่สุด ได้แก่ พลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ โลหะ และกระดาษ ซึ่งมีวัสดุผสม สิ่งทอ ชิ้นส่วนยานยนต์ ขยะอุตสาหกรรมและทางการแพทย์ ก็มีอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน
แพทริเซีย คาเมรี-เอ็มโบเต (Patricia Kameri-Mbote) ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของ UNEP กล่าวว่า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการค้าขยะมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตมลพิษ และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งในการบรรลุเป้าหมายนี้ เราต้องปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ดีและหลักนิติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด โครงการต่างๆ เช่น Unwaste หรือโครงการต่อสู้กับปัญหาการเคลื่อนย้ายขยะอย่างผิดกฎหมายที่เป็นความร่วมมือระหว่าง EU กับอาเซียน มีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ผ่านแนวทางแบบหลายภาคส่วนและหลายศาสตร์
ขอบคุณเรื่องจาก : https://news.un.org/en/story/2024/04/1148186
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี