‘ดิเรกฤทธิ’จี้กกต.
ไล่สอบผู้สมัครสว.ได้0คะแนน
หาตัวคนทำผิดกฎหมายร่วมฮั้ว
ศาลรัฐธรรมนูญนัด 18 มิถุนายน ชี้ 4 มาตรา “พ.ร.ป.เลือกสว.” ขัดรธน.หรือไม่ ขณะที่ “สว.ดิเรกฤทธิ์” เรียกร้องให้กกต.เร่งสอบผู้สมัคร สว.ที่ได้ 0 คะแนน เพื่อหาตัวการทำผิดกฎหมาย-ฮั้วเลือก สว.
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า ได้มีการอภิปรายในคำร้องที่ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีรวม 2 คำร้อง เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา 2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิธีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือไม่
ศาลเห็นว่าคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติวันอังคารที่ 18 มิถุนายน เวลา 09.30 น.
วันเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ออกประกาศแจ้งว่า ได้เตรียมความพร้อมการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานการสืบสวนและไต่สวน การเลือกสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้การอำนวยการ และประสานงานการสืบสวนและไต่สวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด โดยเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ จะทำหน้าที่รับแจ้งข่าว ข้อมูล หรือเบาะแสการเลือกสมาชิกวุฒิสภา และตอบข้อซักถามหรือข้อหารือตั้งแต่วันที่ 2-16 มิถุนายนทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 18.00 น. วันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. โทรศัพท์ 0-2141-8860, 0-2141-8579 และ 0-2141-8858
นอกจากนี้ ในช่วงเลือกสมาชิกวุฒิสภา ตั้งแต่วันที่ 7 - 30 มิถุนายน สำนักงาน กกต. เปิดให้บริการสายด่วน 1444 ตั้งแต่เวลา 08.30 - 19.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกสว.ได้สะดวก รวดเร็วขึ้น
ด้านนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุ ผู้สมัคร สว.ที่ได้ 0 คะแนน คือกลุ่มเป้าหมายที่ กกต.จะสอบสวนหาตัวผู้ทำผิดกฎหมายและการฮั้วเลือก สว. เพื่อทำให้การเลือก สว.เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและบริสุทธิ์ยุติธรรมได้ 1.ตรวจซ้ำใบสมัคร มีข้อมูลเท็จ หรือมีประสบการณ์ ตรงอาชีพ รวมทั้งเอกสารรับรองถูกต้องหรือไม่ 2.สอบสวนเจตนา ความเป็นอิสระหรือถูกจ้างวาน (ถ้าเป็นอิสระ ต้องตอบคำถามเกี่ยวกับหน้าที่และวิธีการเลือก สว.ได้ถูกต้อง) และสอบถามเหตุผลที่ไม่เลือกตัวเอง ยืนยันความสุจริต 3.ผลตรวจสอบตามข้อ 1 และ 2 สามารถแยกแยะผู้ทำความผิดได้ ให้แจ้งดำเนินคดี โดยมีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-2000,000 บาท หรือกันเป็นพยาน เพื่อสาวถึงตัวการต่อไป (รางวัลนำจับ 1 แสน-1 ล้าน) 4.ตรวจสอบผลการใช้สิทธิของผู้ทำผิดฯ ว่ากระทบหรือส่งผลต่อการเลือกและการประกาศผลหรือไม่ (มีผลสมบูรณ์หรือต้องเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนหรือไม่)
ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ผู้ผ่านการเลือก สว. ระดับอำเภอ โพสต์เฟซบุ๊กระบุ ข้อเสนอถึงกกต. ในการเลือก สว. ระดับจังหวัด 1.การเลือกรอบแรก ในกลุ่มของตน จะมีความวุ่นวายและปัญหาแตกต่างกันมาก ระหว่างจังหวัดที่มีอำเภอน้อยกับอำเภอมาก อำเภอน้อย คนน้อย จบไว อำเภอมาก คนมาก ระบบธุรการต้องเข้มแข็ง กกต. ควรส่งคนจากส่วนกลางไปสนับสนุน 2. การเลือกรอบไขว้ ควรจับสลากสายช่วงบ่าย อย่าจับเช้าแล้วพักเที่ยง เพราะถ้ารู้สายช่วงเช้า การล็อบบี้และเสนอประโยชน์จะเกิดขึ้นช่วงทานอาหารเที่ยง 3.เมื่อจับสลากแล้ว ให้โอกาสแต่ละสายพูดคุยแนะนำตัวอย่างเท่าเทียม 25 คนๆละ 3 นาที ใช้เวลา 75 นาที 4.การเลือกใช้เวลาไม่นาน เพราะแต่ละหีบจะมีผู้มีสิทธิเลือกเพียง 5 คน แต่ละคนมีบัตรลงคะแนน 4 ใบ 5. การนับคะแนน ควรเอาบัตรของทุกกลุ่มในสายมารวมในหีบเดียวก่อนนับคะแนน เพื่อให้ผู้ลงคะแนนไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพล การข่มขู่ หรือถูกเช็คบิลหากไม่เลือกตามข้อตกลง หาก กกต. เห็นด้วย ควรออกเป็นหนังสือสั่งการถึงทุกจังหวัด เพื่อให้ปฏิบัติเป็นไปในแนวเดียว
ส่วนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือก สว. ที่ยังมีความสับสนจน มีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ตนไม่ได้ติดตามตรงนี้ ขอให้เป็นขั้นตอนของฝ่ายนิติบัญญัติไป
วันเดียวกัน ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำสั่งยกคำร้องในคดีที่นายบุญลือ คงบางยาง ยื่นฟ้องผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ อำเภอบ้านแพ้ว โดยอ้างว่าตนเป็นผู้สมัครรับเลือก สว. กลุ่มที่ 15 ซึ่งมี 12 คน โดยมีผู้สมัคร 5 คนได้คะแนน 0 คะแนน เพราะไม่ได้เลือกตนเอง แต่เลือกบุคคลอื่นทั้ง 2 คะแนน อันเป็นการผิดวิสัย แสดงว่าผู้สมัครดังกล่าวไม่ได้ประสงค์รับเลือกเป็นสว.เพื่อตนเอง ถือเป็นการกระทำเพื่อจูงใจให้ผู้อื่นสมัครรับเลือกเป็นสว. หรือถอนการสมัคร หรือจะทำการใดๆอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวังโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือกลับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. 2561 มาตรา 77 จึงขอให้ศาลไต่สวน
ซึ่งศาลฯเห็นว่า การยื่นคำร้องของนายบุญลือดังกล่าวเป็นการขอให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้สมัครรับเลือก ไม่ใช่เรื่องการพิจารณาและวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือก หรือดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561มาตรา 22 และมาตรา 44 ซึ่งจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ดำเนินคดีอาญาต่อศาลฎีกาโดยตรงได้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี