“ปีงบประมาณ” ของประเทศไทยนั้นเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมและไปสิ้นสุดที่เดือนกันยายน เท่ากับว่าเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนก็จะสิ้นสุดปีงบประมาณ 2567 แล้ว ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ก็กำลังทำงานอยู่ในชั้นแปรญัตติ มีกำหนด 30 วัน ภายหลังการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างงบประมานดังกล่าว ที่มีวงเงิน 3.75ล้านล้านบาท ช่วงวันที่ 19-21 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมาที่ประชุมลงมติเห็นชอบในขั้นรับหลักการด้วยคะแนน311 ต่อ 175 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง
ซึ่งระหว่างการประชุม 2 พรรคหลักในซีกฝ่ายค้านอย่าง “ก้าวไกล-ประชาธิปัตย์” ต่างตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลจัดงบประมาณแบบ “ทำทุกทาง” เพื่อเข็นโครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” หรือการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ออกมาให้ได้ อาทิ นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า หากจะมีอะไรใหม่ของรัฐบาลที่สะท้อนผ่านร่าง พ.ร.บ.งบฯปี’68 ก็คือความพยายามผลักดันแบบดันทุรังในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ให้สำเร็จ แต่ดันทุรังแบบเจ๊งไม่ว่าแต่เสียหน้าไม่ได้ ซึ่งงบฯดังกล่าวไปอยู่ในงบฯกลางกระตุ้นเศรษฐกิจ จำนวน 1.57 แสนล้านบาท
คิดเป็นร้อยละ 18.9 ของงบฯกลางทั้งหมด ส่วนงบฯที่กันไว้สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.งบฯปี’68 ไม่เพียงพอมีการคาดการณ์ว่าจะใช้งบฯจากธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1.72แสนล้านบาท และน่าจะมีการของบฯ กลางปี’67 อีกเพิ่มจำนวน 1.22 แสนล้านบาท หากไม่พอ รัฐบาลอาจออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณจากงบฯสำรองรายจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็นมาใส่เพิ่มอีกได้
เช่นเดียวกับ สรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่กล่าวว่า โครงการดิจิทัล วอลเล็ตที่รัฐบาลบอกว่า จะสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจนั้น จะหมุนไปทางไหน ไปหาเจ้าสัว ไปต่างประเทศ หรือไปเข้ากระเป๋าใคร คงไม่ทำให้เกิดพายุหมุนหลายรอบ งบประมาณดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อหวังผลทางการเมือง ทำให้โครงการดีๆ อื่นๆ ถูกตัดลดงบลงไป ยังไม่รวมถึงการที่รัฐบาลต้องตามมาใช้หนี้ในอนาคตอีก วันนี้รัฐบาลกู้มาเกือบเต็มเพดานกู้แล้ว ทำให้ประเทศอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง เพราะยังไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีวิกฤตใดเกิดขึ้นอีก ถ้ามีวิกฤตเกิดขึ้นจะกู้เงินไม่ได้อีก
รายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2567 อันเป็นวันแรกที่มีการอภิปรายงบฯปี’68 วาระแรก นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพฯ กล่าวถึงข้อสังเกตเรื่องการจัดสรรงบฯ สำหรับโครงการดิจิทัล วอลเล็ตไว้เป็นพิเศษ ว่า เป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้ว เพราะการจัดงบฯ ครั้งนี้หัวใจจะไปอยู่ที่โครงการดังกล่าว ในขณะที่เรื่องอื่นๆ ไม่ค่อยโดดเด่นเท่าไร จะคล้ายกับที่ทุกๆ รัฐบาลทำกันมา เช่น โครงสร้างพื้นฐานก็เดินต่อในกรอบเดิม
ทั้งนี้ ต้องเริ่มต้นจากการอธิบายก่อนว่า การจัดทำงบประมาณมี 3 รูปแบบ คือ 1.สมดุล หมายถึงรายรับ-รายจ่ายอยู่เท่ากัน 2.เกินดุล หมายถึงรายจ่ายจะน้อยกว่ารายรับ และ 3.ขาดดุล หมายถึงรายรับน้อยกว่ารายจ่าย ซึ่งโดยทั่วไปประเทศไทยจัดทำงบประมาณขาดดุลกันมาตลอด แต่การขาดดุลก็มีการจำกัดไว้ กำหนดเส้นว่าห้ามขาดดุลเกินเท่าไร โดยมีกฎหมายกำหนดว่าห้ามเกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่าย บวกกับอีกร้อยละ 80ของการชำระคืนเงินต้น ซึ่งล่าสุดรัฐบาลใช้โควตาแบบเต็มแม็กซ์ คือราว 8 แสนล้านบาท
“ปกติรัฐบาลอื่นๆ เขาจะเกือบๆ เพราะเขาจะเว้นช่องไว้หน่อย ถ้าเกิดระหว่างปีมันมีเรื่องโน้นเรื่องนี้เกิดขึ้น เขาอาจจะของบประมาณเพิ่มเติมเข้าสภา เขาเรียกงบประมาณประจำปีฉบับเพิ่มเติม แต่เที่ยวนี้รัฐบาล งบ’68 กดเต็มแม็กซ์เลย คือต้องการขาดดุลแบบเต็มเพดาน เพราะเขาต้องการเอาทำเงินดิจิทัล ผมถึงบอกว่าดิจิทัลแจกใช้เงิน 5 แสนกว่าล้านในขณะที่ขาดดุลงบประมาณเต็มปีได้แค่ 8 แสนกว่าแต่ 8 แสนกว่าก็ต้องเอาไปจ่ายพวกเงินเดือนประจำโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เลยทำให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องใช้เงิน 3-4 แหล่งที่มาด้วยกัน”นายอรรถวิชช์ กล่าว
ส่วนแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ไล่ตั้งแต่ งบประมาณฯ2568 นอกจากนั้นยังดึงงบกลางที่นายกฯ สามารถใช้ได้ ของปีงบประมาณ 2567 มาใช้ด้วย อีกทั้งยังจะออก พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ฉบับเพิ่มเติม โดยก่อนหน้านั้น ร่างงบฯ’67 ทำค้างไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งยังขาดดุลไม่เต็มโควตา ก็จะจัดให้เต็มในช่วงปลายปีงบประมาณ สุดท้ายคือไปดึงเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยจะรวมๆ จากแหล่งเหล่านี้มาให้ครบ 5 แสนล้านบาท
ส่วนที่บางคนไม่เชื่อว่าจะดึงเงิน ธ.ก.ส. มาได้ ก็ต้องบอกว่ามีช่องทางให้ทำได้ เช่น จัดโปรแกรมช่วยเหลือเกษตรกร โดยการแจกเงินดิจิทัล หากเป็นประชาชนทั่วไปก็แจกได้เลย แต่สำหรับเกษตรกรซึ่งลงทะเบียนไว้กับ ธ.ก.ส. ก็แจกโดยให้เข้ากับกรอบกฎหมาย ธ.ก.ส. อาทิ การใช้เงิน 1 หมื่นบาทของเกษตรกร อาจไปใช้พัฒนาพันธุ์ข้าว หรือไปใช้ซื้อปุ๋ย ซื้อยาฆ่าแมลง ฯลฯ เป็นการลากผลสู่เหตุ-ลากเหตุสู่ผล เพื่อให้ใช้เงินได้ในกรอบของ ธ.ก.ส. เพราะหากจะใช้เงินของ ธ.ก.ส. ก็ต้องเขียนให้เชื่อมโยงกัน นักกฎหมายก็ต้องแฉลบให้มันลง
“ปกติโครงการจำนำข้าวก็ดี ประกันรายได้ก็ดี ไม่ว่าของเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ มันคือการแจกเงินทั้งสิ้น ประกันก็แจก จำนำก็แจก แจกอยู่รอบหนึ่งก็ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี ต่อ Crop (การปลูก) ละกัน เขากะว่าก็เหมือนกัน แต่อาจจะไม่ทำจำนำ ทำน้อยหน่อย หรือทำประกันน้อยหน่อย แต่เอาเงินมาจ่ายตรงนี้แทน คือมันเป็นการ Frame (วางกรอบ) นโยบายใหม่ แต่แจกเหมือนเดิม” นายอรรถวิชช์ ระบุ
นายอรรถวิชช์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับตนการทำอย่างอื่นคุ้มกว่าโครงการนี้ แต่หากไม่ทำพรรคเพื่อไทยก็เสียคน ดังนั้นก็ต้องดันกันสุดลิ่มทิ่มประตูเพื่อให้ออกมา โดยในทางเศรษฐศาสตร์ ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) การทำให้เจริญเติบโต มีเครื่องยนต์ 4 ตัว คือ 1.การบริโภคภายในประเทศ ยิ่งบริโภคเยอะ เงินหมุนเยอะ GDP ก็โต 2.การลงทุน หากมีต่างชาติเข้ามาลงทุน เกิดการลงทุนใหม่ๆ 3.รายจ่ายภาครัฐ ยิ่งเยอะ GDP ก็โต และ 4.ดุลการค้า ต้องส่งออกมากกว่านำเข้า ทั้ง 4 ตัวนี้ หากโตพร้อมกัน GDP ก็ขึ้น
แต่สิ่งที่ทำง่ายที่สุดคือการแจกเงิน หรือการจ้างคนเดินงบหลวงไปขุดดิน ขุดแล้วก็ฝัง ทำเท่านี้ GDPก็ขึ้นแล้ว เพราะเกิดการจ้างงาน เป็นการนำงบประมาณลงไป ซึ่งก็ทำกันบ่อยๆ มาหลายรัฐบาล ไม่ต้องคิดอะไรมาก ดัมพ์เงินแจกเงินลงไป เงินก็หมุน แต่ที่ชั่วหนักคือหากมีการโกงเกิดขึ้น เพราะเงินจะไปอยู่ในกระเป๋าคนอื่น เงินไม่ได้ไปหมุน การบริโภคในประเทศก็จะไม่เกิด แต่หากแจกตรงๆ ไม่มีการโกง รายจ่ายภาครัฐก็จะเกิด การบริโภคหมุน ดังนั้นโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ก็จะคิดอยู่ใน 2 มุมเท่านั้น คือภาครัฐจ่ายเงินลงไปแล้วเกิดการบริโภคภายในประเทศ
“มันง่ายไปไหม? แต่เขาก็คิดแบบนั้น แล้วเขาคงต้องทำเดินไปแบบนั้น สิ่งที่ตามมาก็คือหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มมากขึ้น แล้วก็ภาระที่เราต้องจ่าย รัฐบาลต้องมีการจ่ายรายปีในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย คราวนี้เวลาหนี้สาธารณะมัน อันนี้ผมพูดแย้งกันในคนเดียวกันนะเพื่อให้เห็นภาพมุมลบและมุมบวก คือรัฐบาลเขาบอกว่าหนี้สาธารณะต่อ GDP มันอาจจะน้อยก็ได้ เพราะอะไร? เพราะถ้าเกิดผมอัดเงินลงไปแล้ว GDP มันก็ต้องขึ้น พอขึ้นตัวหารมันก็ทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP อาจจะลดลงก็ได้นะ เขาก็พูดในมุมนั้น แต่ถ้าพูดถึงในมุมยอดหนี้มันขึ้น ให้เห็นภาพว่าเขาคิดกันแบบนี้” นายอรรถวิชช์ กล่าว
ส่วนคำถามว่า “ดิจิทัล วอลเล็ต เป็นโครงการที่จะก่อหายนะหรือไม่?” นายอรรถวิชช์ ให้ความเห็นว่า “ยังพูดได้ยาก” รู้เพียงว่าจะมีเม็ดเงินมหาศาลเข้าสู่กระเป๋าประชาชน และมีเม็ดเงินมหาศาลสำหรับใช้อุปโภค-บริโภค ดังนั้นเครื่องยนต์ 2 ตัว (การบริโภคและรายจ่ายภาครัฐ) ติดแน่นอน “แต่หากจะมีปัญหาก็คือกรณีมีการโกงเกิดขึ้น” เช่น เงินลงทุนจากที่ควรจะเข้าไปถึงกระเป๋าประชาชนแต่กลับนำไปใช้พัฒนาระบบ อาทิ บอกว่าต้องใช้งบฯ 2-3 พันล้านบาท สำหรับพัฒนาระบบ แบบนี้มีปัญหา เพราะหลักการคือแม้จะเป็นดิจิทัลแต่จริงๆ ก็คือการแจกเงิน
หรือพูดง่ายๆ “ดิจิทัล วอลเล็ต คือการแจกคูปองให้ประชาชนใช้” และจริงๆ การแจกไม่ต้องทำในรูปแบบดิจิทัลก็ได้ “แต่หากจะบอกว่าดิจิทัล วอลเล็ต ที่แท้จริงคืออะไร? ให้ลองดูตัวอย่างจากประเทศจีน” แม้จะมีเงินหยวนแบบดั้งเดิม แต่ก็ได้ออกเงินหยวนแบบดิจิทัลมาให้ใช้ด้วยโดยไม่ต้องผลิตธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ ทำให้รัฐบาลจีนประหยัดงบประมาณไปได้พอสมควรต่างจากประเทศไทยที่ระบบชำระเงินออนไลน์ยังตั้งอยู่บนฐานว่าแต่ละคนมีเงินจริงๆ (ธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์)ฝากอยู่ในบัญชีธนาคาร
ดังนั้น “ดิจิทัล วอลเล็ต ของไทยจึงมีลักษณะเป็นคูปอง” เพราะหากบอกว่าเป็นเงินจะขัดกับกฎหมาย พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 ที่รับรองสถานะความเป็นเงินเฉพาะธนบัตรและเหรียญกษาปณ์เท่านั้น อีกทั้งดิจิทัล วอลเล็ต ของไทยยังกำหนดวันหมดอายุ กำหนดว่าสามารถใช้กับสินค้าอะไรได้บ้าง สำหรับตนจึงเห็นว่า “หากจะแจกก็แจกเงินไปเลย หรือหากบอกว่าดิจิทัลก็ต้องทำให้เป็นดิจิทัลจริงๆ” แต่ที่ทำอยู่คือการแจกคูปองแถมยังต้องเสียเงินหลายพันล้านบาทเพื่อวางระบบการใช้คูปองอีก นี่เป็นเรื่องที่ตนคาใจ ไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร
“ยังติดใจอยู่ว่า ถ้าประเทศไทยจะเดินหน้าไปสู่การทำบาทดิจิทัล ผมเห็นด้วย แต่เรื่องนี้คุณต้องแก้ไข พ.ร.บ.เงินตรา แล้วคุยกับแบงก์ชาติก่อน แต่ตอนนี้คือรัฐบาลทำ พอใช้คำว่าดิจิทัล วอลเล็ต มันคือแค่แจกเงินเข้ากระเป๋า ซึ่งความจริงแอปฯ เป๋าตังมันก็มี ก็โอนตรง แอปฯ เป๋าตังที่กรุงไทยเขาใช้อยู่มันก็ได้เหมือนกัน คือเหมือนเขาต้องการจะขึ้นแพลตฟอร์มใหม่ เพื่อให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่เขาทำเอง ซึ่งผมว่านาทีนี้ไม่น่าเกี่ยงกันหรอกว่าอันนี้ผลงานเก่าลุงตู่ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา-อดีตนายกรัฐมนตรี) อันนี้ผลงานคุณเศรษฐา (เศรษฐา ทวีสิน-นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน) ก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาลกันหมดแล้ว” นายอรรถวิชช์ ตั้งข้อสังเกต
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี