ไม่เอานิรโทษเหมาเข่งคดีม.112
พปชร.ค้านสุดลิ่ม!
คว่ำทุกร่างก.ม.ชงสภา
‘ภท.’เตือนเสี่ยงโมฆะ
รวมม.112ส่อขัดรธน.
ยิ่งขยายความขัดแย้ง
พปชร.เปิดจุดยืนค้านสุดลิ่ม! “นิรโทษกรรม” เหมาเข่งรวมคดี ม.112 ประกาศ พร้อมคว่ำร่างก.ม.ทุกฉบับที่ชงเข้าสภา “คารม” มือก.ม.ภูมิใจไทย เตือนพ.ร.บ.นิรโทษฯเสี่ยงโมฆะ ขืนรวมความผิด ม.112-110ส่อขัดรัฐธรรมนูญ ยิ่งเพิ่มขัดแย้ง แนะผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม พิสูจน์ความบริสุทธิ์ตัวเอง ด้าน“ชูศักดิ์”ย้ำ กมธ.นิรโทษกรรม’เสนอความเห็นทุกฝ่าย เพื่อให้ข้อมูลครอบคลุมรอบด้าน-เป็นประโยชน์ในการพิจารณายกร่าง กม.
เมื่อวันที่ 19กรกฎาคม2567 ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงแนวทางของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต่อกรณีการนิรโทษกรรมในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112ว่า หลักการการปกป้องสถาบันฯให้มั่นคงสถาพรเป็นที่ยึดมั่นศรัทธาของประชาชนตลอดไปคือ ไม่ต้องการให้ผู้ใดกลุ่มบุคคลใด มากระทำการใด กระทบกระเทือนต่อสถาบัน พรรคพลังประชารัฐ จึงมีจุดยืนที่แถลงชัดเจนไม่เห็นด้วย ที่จะมีการออกกฏหมายนิรโทษกรรมของผู้กระทำผิดตามมาตรา 112 เราชัดเจนในเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนถึงวันนี้เพื่อยืนยันอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าการนิรโทษกรรม แบบมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไข เราคัดค้านไม่เห็นด้วย
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า สำหรับเหตุผลดังกล่าวมีดังนี้ 1.ประชาชนทั้งประเทศหลายล้านคนที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน จะออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านต่อต้าน หากรัฐสภาออกกฏหมายนิรโทษกรรมมาตรา 112 อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมครั้งใหญ่ ทำให้ประเทศไม่สงบและไม่เกิดความปรองดองของคนในชาติ 2.การนิรโทษกรรม ม.112 จะเป็นการไปฝ่าฝืนและขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา6บัญญัติว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงไว้ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดไม่ได้ การกำหนดมาตรา 112 เพื่อไม่ให้พระมหากษัตริย์ได้รับผลกระทบดังกล่าว หรือการทำให้ความผิดตาม ม.112 จะไม่เป็นความผิดอีกต่อไปและการนิรโทษกรรมมาตรา 112 จะเป็นการฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 3/2567 และยังอ้างคำวินิจฉัยของศาล รัฐธรรมนูญว่าการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทรามและอ่อนแอนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากมีการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่ากี่ฉบับ สส.ของพรรคพลังประชารัฐจะลงมติไม่เห็นด้วยทุกฉบับ” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุ เมื่อถามว่า หากพรรคเพื่อไทยเสนอนิรโทษกรรม มาตรา112 จากกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกฟ้องคดีมาตรา 112 รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ใครหรือพรรคใดจะเสนอก็เป็นเรื่องของแต่ละพรรค แต่อุดมการณ์ และหน้าที่ของพรรคจะคัดค้านทุกวิถีทางไม่ให้มีการเห็นชอบร่างกฎหมายนิรโทษกรรมมาตรา 112
ขณะที่ นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่าขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรกำลังมีการจัดทำพระราชบัญญัติ (พรบ.) นิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่กระทำผิด ระหว่างปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยในการนิรโทษนั้น ไม่นำเอาความผิดเกี่ยวกับชีวิต และความผิดที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงรวมเข้าใน พรบ.การนิรโทษกรรม ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา110และมาตรา112 กรรมการที่ศึกษาเพื่อจัดทำกฎหมายนิรโทษกรรมเห็นว่ามีความอ่อนไหวทางการเมือง มีความเห็นเป็น 3 แนวทาง คือ 1.ไม่ควรนิรโทษกรรม 2.ให้มีการนิรโทษกรรม โดยไม่มีเงื่อนไข 3.ให้มีการนิรโทษกรรม แบบมีมาตรการเงื่อนไข
“ผมขอแสดงความคิดเห็นในฐานะเป็นนักกฎหมาย และเป็นคนที่เคยร่วมชุมนุมกับประชาชนในช่วงปี 2549 ถึงปี 2554 ได้สัมผัสถึงความรู้สึกความคิดเห็นที่แตกต่างในทางการเมืองของประชาชน ได้เห็นความต้องการของประชาชนที่มาเรียกร้องว่า เขาต้องการความเป็นอยู่ที่ดี มาด้วยจิตใจบริสุทธิ์ก็มาก มาแบบมีการจัดการก็มี ดังนั้น เมื่อมีการดำเนินคดีกับประชาชนเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะเขามาชุมนุมตามสิทธิที่เขาเข้าใจ และต้องการเรียกร้องในฐานะประชาชน ดังนั้น การดำเนินคดีกับประชาชนเหล่านี้จึงไม่ถูกต้อง เขาจึงควรได้รับการนิรโทษกรรม” นายคารม ระบุ
นายคารม กล่าวว่า ในส่วนบุคคลที่กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 หรือมาตรา 112 นั้น ต้องเข้าใจว่าความผิดตามมาตรา 107 ถึงมาตรา 112 นั้นกฎหมายบัญญัติไว้ในหมวด 1 ลักษณะ 1 ภาค 2 ประมวลกฎหมายอาญา เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อพิจารณาความผิดฐานนี้ ประกอบกับเนื้อความในรัฐธรรมนูญหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ในหลายมาตรา เช่นมาตรา 2 มาตรา 5 และมาตรา 6 จะเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และ 112 มีลักษณะแตกต่างจากประมวลกฎหมายอาญามาตราอื่น เพราะบัญญัติไว้เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญอย่างมีนัยสำคัญ
“เพราะฉะนั้นถ้ามีคนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญามาตรา 110 หรือ 112 แล้ว ต่อมา ได้มีการออกกฎหมายว่าการกระทำดังกล่าว ไม่ให้ถือว่าการกระทำดังกล่าว เป็นความผิด เพราะการนิรโทษกรรมเท่ากับบุคคลนั้นไม่ได้กระทำผิดเลย ทำให้มีนัยยะว่าอาจเป็นการส่งเสริมให้กระทำผิด และเมื่อกระทำผิดแล้วก็มาออกกฎหมายภายหลังว่าการกระทำดังกล่าวไม่ถือเป็นความผิด โดยอ้างว่าที่กระทำผิดต่อพระมหากษัตริย์ไปนั้น เพราะมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง จึงถือว่าเป็นการส่งเสริมให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า พระองค์อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”นายคารม ย้ำ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามาตรา2ของรัฐธรรมนูญ ที่เขียนไว้ว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์์ทรงเป็นประมุข ยิ่งเป็นการบอกชัดว่าการละเมิดพระมหากษัตริย์์ นั้น คือการเจตนากัดเซาะ บ่อนทำลายระบบการปกครองของประเทศไปด้วย ดังนั้นการละเมิดพระมหากษัตริย์จึงไม่อาจทำได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญาหรือทางใด และไม่ต้องคำนึงถึงมูลเหตุจูงใจในทางการเมืองหรือทางใดใด ไม่อย่างนั้นทุกคนก็เอามูลเหตุจูงใจในทางการเมืองมาอ้าง เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ การนำเอา ปอ. มาตรา110 หรือ112 เข้ามาอยู่ในกฎหมายนิรโทษ จึงทำไม่ได้ เพราะความผิดมาตรา110และ112ไม่เหมือนกับความผิดอาญาทั่วไป จะทำให้กฎหมายนิรโทษกรรมโมฆะ เพราะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา5ค่อนข้างแน่นอน ซึ่งจะทำให้ส่วนดีของกฎหมายและเจตนาดีที่จะนิรโทษกรรมให้ประชาชนที่มาชุมนุมตกไปไม่ได้รับประโยชน์ แทนที่จะลดความขัดแย้งลง แต่จะเพิ่มความขัดแย้งเพราะนำมาตรา110และ112เข้าไปรวมด้วย
“สำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดตามมาตรา 110 หรือ 112 สิ่งน่าจะเหมาะสมและควรทำคือ การให้เขาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้มีเจตนากระทำผิดต่อพระมหากษัตริย์โดยให้เขาได้รับสิทธิประกันตัว หากสุดท้ายผลของคดีเป็นอย่างไร บุคคลดังกล่าวยังมีสิทธิในการขอพระราชทานอภัยโทษต่อองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นพระราชอำนาจของพระองค์โดยแท้” นายคารม ระบุ
ด้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.ว่า ย้ำว่า กมธ.ได้ยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ทำหน้าที่เพียงศึกษาหาแนวทางการยกร่างกฎหมาย เราจึงมีความเห็นร่วมกันว่าการศึกษาควรครอบคลุมทุกเรื่องและทุกความเห็นของทุกฝ่ายเพื่อให้ผลการศึกษานั้นครอบคลุมกว้างขวางมากที่สุด โดยไม่จำกัดหรือต้องมาโหวตกันว่าใครชนะ ใครแพ้ เนื่องจากเรามีความเห็นร่วมกันว่าเมื่อศึกษาแล้วก็ควรจะนำเสนอความคิดทุกฝ่ายทั้งฝ่ายเห็นด้วยฝ่ายไม่เห็นด้วย ข้อสรุปที่แถลงไปเมื่อวานนี้(18 ก.ค.)คือเราเห็นด้วยที่ควรจะให้มีการนิรโทษกรรมความผิดที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเป็นหลัก ตั้งแต่เหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยเห็นว่าความผิดต่อชีวิตที่มีลักษณะละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เป็นการประทุษร้ายต่อชีวิตมนุษย์ไม่ควรให้มีการนิรโทษกรรม
นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่ความผิดประเภทที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ได้แก่ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และมาตรา 112 ในส่วนนี้ กมธ.เห็นว่า ควรจะเสนอความเห็นทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายที่เห็นด้วยหรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้น สามารถแสดงความเห็นของ กมธ.เป็นรายบุคคลได้ เพื่อให้ปรากฏในรายงาน เพียงแต่ไม่ได้นำมาเป็นข้อยุติโหวตกันว่าใครชนะหรือใครแพ้ สำหรับมาตรา110และ112 นอกจากจะมีความเห็นว่าไม่ควรมีการนิรโทษกรรมและควรมีการนิรโทษกรรมแล้ว ยังมีความเห็นอีกส่วนหนึ่ง ที่เห็นว่าอาจจะใช้มาตรการอื่นๆ ที่ได้จากการศึกษา เช่น การนิรโทษกรรมโดยมีเงื่อนไข โดยให้ กมธ.นิรโทษกรรมที่ตั้งขึ้นเป็นผู้พิจารณา ซึ่งตนมองว่าควรจะส่งความเห็นเหล่านี้ไปทั้งหมด เพราะเมื่อเราศึกษาแล้วก็ควรจะศึกษาให้ครอบคลุมทุกด้านเพื่อให้สภาได้เห็นเหตุและเห็นผลในทุกมิติ ทุกความเห็นเพื่อประโยชน์ของการยกร่างกฎหมายในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ ย้ำว่า กมธ.เห็นว่าจะสามารถทำรายงานเสนอต่อสภาได้ทันภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ โดยไม่ต้องขยายเวลาอีก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี