‘ศิริกัญญา’ ซัด ‘งบฯเติมดิจิทัลวอลเล็ต’ จะเล่นแร่แปรธาตุอย่างไรดอกเบี้ยไม่เคยหลอกใคร ยก4เหตุผล ค้านสุดลิ่มชนฝา อัดกู้จนสุดเพดาน เกินเลยไปมาก เอาค่าน้ำค่าไฟมาเป็นรายจ่ายลงทุน โอดตัวเลขโครงการเปลี่ยนไปมา ไร้ชัดเจน ด้าน ‘รมช.คลัง’ ยันทำตามกรอบกฎหมาย-วินัยเงินคลัง มีมาตรการเข้มป้องใช้จ่ายรั่วไหล คุ้มค่า ปชช.ได้ประโยชน์ บลัฟกลับอย่าย่ำอยู่กับที่เอาแต่ ‘แจกเงินสด’ คุมเม็ดเงินไม่ได้
31 กรกฎาคม 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระ2 และวาระ 3 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ที่ใช้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้แปรญัตติ อภิปรายว่า ตนขอแปรญัตติในมาตรา3 เพื่อจะปรับลดงบประมาณให้เหลือ 10,000 ล้านบาท ด้วย 4 เหตุผล เหตุผลแรก เราไม่ควรจะกู้เพิ่มอีกแล้ว โดยฐานะทางการคลังของประเทศ วันนี้มันยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง แต่มันปริ่มเพดานไปหมด ไต่ขอบไต่เส้นไปซะทุกอย่าง
"หนี้สาธารณะท่านจะเล่นแร่แปรธาตุอย่างไรก็ตาม แต่ดอกเบี้ยมันไม่หลอกใคร ในปีงบ 67 68 เราทราบกันดีว่ามีการตั้งงบสำหรับการชำระดอกเบี้ยไว้ไม่พอ ปีที่แล้ว ตั้งไว้ 200,000 กว่าล้าน ยังต้องใช้เงินคงคลังเพิ่มอีก 40,000 ล้านบาท ปี 68 ก็น่าจะไม่พออีกเช่นเดียวกัน ทั้งที่ตั้งไว้ 260,000 กว่าล้าน ปี 69 เฉพาะดอกเบี้ยอย่างเดียว จะขึ้นไป370,000 ล้านบาท หรือ 12% ของรายได้รัฐบาล พอปี 71 ก็สูงขึ้นเกือบ 500,000 ล้านบาท นี่เราไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว เราหารายได้เท่าไหร่ เก็บภาษีได้เท่าไหร่ เอาไปใช้จ่ายเป็นดอกเบี้ยซะทั้งหมด รวมเงินต้นด้วย ก็จะขึ้นไปเกือบ20% มันเป็นปัญหาที่จะผูกพันเราไปอีกในอนาคต ดิฉันจึงเสนอว่าไม่ควรกู้เพิ่มอีกต่อไป" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า การกู้เงินครั้งนี้เป็นการกู้แบบสุดเพดาน ไม่กะว่าจะต้องเผื่อเหลือเผื่อขาด จะเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า กรรมาธิการได้สอบถามหรือไม่ว่ามีการประมาณการรายได้ของปี 67 ไว้หรือไม่ และประเมินว่าจะเก็บพลาดเป้าเท่าไหร่ ตนสังเกตการณ์อยู่ในห้อง ตัวแทนจากกระทรวงการคลังเองบอกว่าประมาณแล้ว แต่ไม่บอกว่าเป็นเท่าไหร่ บอกว่าขอให้เชื่อมั่น ขอให้มั่นใจว่าสุดท้ายแล้วจะไม่มีปัญหา แต่ตัวเลข 9 เดือนออกมาแล้ว กรมสรรพสามิตก็แถลงแล้วว่าเก็บพลาดเป้าเกือบ 60,000 ล้านบาท แต่เราก็ยังมากู้เพิ่มจนสุดเพดาน ถือเป็นการสร้างความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นต่อระบบการคลัง จึงขอยืนยันว่าตนให้งบเพิ่มเติมได้เท่าที่รัฐบาลหารายได้มาได้
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า เหตุผลที่2. ถึงจะกู้ได้ก็ใช้ภายในปีงบประมาณตามกฎหมาย ซึ่งการจะเป็นหนี้ได้ก็ต้องมีระเบียบมารองรับ ตนมองว่าจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานผิดๆ ในอนาคต ซึ่งในห้องกรรมาธิการไม่มีใครตอบได้ว่าเป็นสัญญาประเภทใด ถ้าเป็นสัญญาให้ไม่ถือว่าเป็นการก่อหนี้เหมือนฟ้องร้องกันไม่ได้ และเหตุผลที่3.ต้องทำให้สัดส่วนรายจ่ายลงทุนถูกต้องตามกฎหมาย มองว่าเป็นการทำผิดกฎหมายอีกรอบหนึ่ง ก่อนหน้านี้มีการชี้แจงในห้องกรรมาธิการว่าทำไมถึงคิดว่ารายจ่ายของดิจิทัลวอลเล็ตเป็นรายจ่ายลงทุนถึง 80% ซึ่งพอเข้ามาชี้แจงในห้องวิปฝ่ายค้านก็มีการเปลี่ยนแปลงอีก ใช้วิธีการวิเคราะห์ให้เกิดดอกผลกับไม่เกิดดอกผล แล้วบอกว่าส่วนที่เกิดดอกผลคือรายจ่ายลงทุน
"ไอ้ที่มันจะเข้าว่าเป็นรายจ่ายลงทุนจริงๆ พยายามค้นหาแล้ว ประชาชนช่วยการสแกน QR Code เข้าไปหานะคะ มีค่าที่จะไปซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ จ่ายเป็นค่าเช่าบ้านตีความอย่างกว้าง ใจกว้างที่สุดแล้ว ว่าเป็นรายจ่ายลงทุน มี13% เท่านั้นเอง มันมีปัญหาแน่ๆนะคะ มาตรา20(1) เราต้องมีรายจ่ายลงทุนมากกว่าที่เรากู้เพื่อชดเชยขาดดุล805,000 ล้านบาท แต่ท่านกลับเอาค่าใช้จ่ายการอุปโภคบริโภคตามปกติของครัวเรือนที่เป็นค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟมาบอกว่าเป็นรายจ่ายลงทุนได้ ดิฉันคิดว่ามันเกินเลยไปมาก มาตรา 20(1) ไม่ทำก็ได้ ก็แค่บอกกับสภาฯ แต่ท่านพยายามบิดกฎหมาย" นางสาวศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า และเหตุผลที่4. ยังไม่คุ้มค่าที่จะทำ แหล่งที่มาของเงินเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นจากเดิมที่เคยประเมินเอาไว้ว่าจะโตได้ 1.2-1.8 % มันจะไม่เท่าเดิมอีกต่อไปแล้ว ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลังก็ออกมาบอกในห้องประชุมกรรมาธิการ ตนได้ยินกับหูว่าเขาประเมินให้ใหม่แล้ว เหลือเพียง 0.9 % แต่พอแถลงข่าวรัฐมนตรีช่วยฯ ก็กลับไปใช้ตัวเลข 1.2-1.8% ใช้ตัวเลขสูงไว้ก่อน
“ยิ่งสะท้อนว่าโครงการนี้ไม่ได้มีการประเมินความคุ้มค่า ท่านอาจจะบอกว่าโครงการนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกนี้เลย ไม่รู้ว่าจะประมาณการอย่างไร แต่เราสามารถจะประเมินขั้นต่ำขั้นสูงกันได้อยู่แล้ว ถ้าโครงการนี้มันมีการประเมินอย่างรอบคอบรอบด้าน แต่เนื่องจากมันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแบบนี้ สรุปว่าไม่รู้จะใช้ตัวเลขไหนกันแน่ และเอกสารงบประมาณก็ไม่ได้มีการระบุตัวเลขไว้อย่างชัดเจน ดิฉันจึงไม่สามารถที่จะเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะกมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า การนำเงินไปใช้จ่ายผิดประเภท ไม่ว่าจะเป็นการที่ประชาชนไปคุยกับร้านค้าแล้วนำเงินสดออกมาโดยที่ไม่รับหรือแลกเปลี่ยนสินค้า นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมาตรการป้องกันสิ่งเหล่านี้อย่างเข้มข้น โดยมีการพูดคุยกับสพร. เพื่อกำหนดระบบการตรวจสอบเบื้องต้น และนำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงไปในพื้นที่ที่พบการใช้จ่ายอย่างน่าสงสัย กลไกการเก็บฐานข้อมูลทั้งหมดผ่านระบบบล็อคเชน จะทำให้ข้อมูลที่มีไม่สามารถแก้ไขได้ ข้อมูลที่มีทั้งหมดจะสามารถนำกลับมาตรวจสอบย้อนกลับได้หากมีการใช้จ่ายผิดประเภท ดังนั้นเราเชื่อมั่นว่ามีการป้องกันอย่างเข้มงวด เราพยายามป้องกันการรั่วไหลของเม็ดเงินรัฐ แต่ไม่ถึงกับจำกัดจนกระทั่งซื้ออะไรไม่ได้เลย เรามีลิสต์สินค้าที่ไม่สามารถใช้จ่ายได้ประมาณ10กว่ารายการเท่านั้นไม่ได้ยาวเป็นร้อยเป็นพัน หมายความว่าสินค้าอีกจำนวนมากก็สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ตามปกติ
“แน่นอนว่ามันมีความเปลี่ยนแปลง มันต่างจากการแจกเงินสดแน่นอน ถ้าเรายังจะย่ำอยู่กับที่ จ่ายเป็นเงินสดทุกครั้งๆแล้วเราไม่สามารถควบคุมการใช้จ่ายได้ ไม่สามารถกำหนดสิ่งที่รัฐบาลเติมเงินเข้าไปแล้วอยากจะกำกับให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ เกิดประโยชน์กับสังคมในมิติใด เราก็จะจ่ายเป็นเงินสด แล้วเราก็ไปหวังว่าเขาจะจ่ายที่ท่านต้องการแต่มันไม่เคยเกิด เราจะเดินซ้ำรอยเดิมๆ โดยที่ไม่แก้ไขปรับเปลี่ยนกลไก เป็นไปไม่ได้ วันนี้รัฐบาลนำเทคโนโลยีแบบใหม่เข้ามาเพื่อกำกับให้เงินที่เติมเข้าไปเกิดประโยชน์สูงสุด” รมช.คลัง กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีการมองกันว่าโครงการฯจะกระจุกตัวอยู่ที่รายใหญ่ อาจไม่มีตัวเลขที่เราคาดหวังว่าเป็นสัดส่วนเท่าใดที่ยะไปลงกับร้านใหญ่ หรือร้านเล็ก แต่เราไม่ได้แทรกแซงกลไกการตลาด แต่อย่างน้อยการกำหนดการใช้จ่ายขั้นต้นในระดับอำเภอ 57 อำเภอทั่วประเทศ ที่มีร้านค้าขนาดใหญ่ มีห้างสรรพสินค้า ส่วนมากอยู่ในอำเภอเมือง กับกทม. ถูกตัดออกไปจากการใช้จ่าย ถือเป็นการสร้างโอกาสให้ร้านเล็กระดับชุมชนมีโอกาสในการแข่งขัน ขณะที่กรณีมีประชาชนไปใช้จ่ายร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ เรากำกับว่าเมื่อเม็ดเงินลงไปแล้ว จะต้องไหลไปอีกต่อ คือมีการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า
“เราเชื่อว่าด้วยกลไกที่เรามีจะสามารถทำให้เกิดการหมุนเวียนและกระจายตัวอย่างเหมาะสม ทั้งร้านใหญ่ หรือร้านเล็ก ทุกคนก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน ยืนยันว่าทั้งหมดอยู่ในกรอบของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง การที่บอกว่าจะต้องเป็นหนี้หรือไม่ ผมได้ชี้แจงตามข้อกฎหมายไปหมดแล้วทุกประการ ขึ้นอยู่กับท่านว่าไม่เชื่อ หรือเลือกที่จะไม่เชื่อ ทั้งหมดเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ไม่มีข้าราชการคนไหนจะกล้าไปทำผิดกฎหมายที่ตัวเองเป็นคนถือเพื่อรัฐบาล เป็นไปไม่ได้หากผิดหรือขัดต่อกฎหมายเราก็ไม่พร้อม ยืนยันว่าสิ่งเราทำอยู่ทั้งหมด เป็นไปตามกรอบกฎหมายทุกประการ มีหน่วยงานชี้แจงครบถ้วน เราถึงมั่นใจนำเข้าสู่สภาฯ และพิจารณาในวันนี้ โครงการนี้มีความคุ้มค่าและจะเกิดประโยชน์กับประเทศ และประชาชนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผมขอยืนตามกมธ.เสียงข้างมากมีมติ” นายจุลพันธ์ กล่าว
จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นด้วยในมาตรา3 ตามกมธ.เสียงข้างมาก คือให้คงไว้ตามร่างฯเดิม ไม่มีการแก้ไข
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี