"จริยธรรม"ตรวจสอบได้!!! "สมชาย"ยันสว.ชุดตนเคยทำมาแล้ว เสียดายการเมือง"สืบตระกูล-อุปถัมภ์"ยังคงอยู่
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นการคัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งนำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ภาพที่เห็นยังชี้ว่า การเมืองไทยยังไปไม่พ้นระบบอุปถัมภ์ ซึ่งมุ้งใดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) อยู่จำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะได้ สส. มาจากวิธีใด หรือมาจากแหล่งทุนใดก็ตาม ก็จะแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีตามสัดส่วน เช่น สส. 7-8 คน ต่อเก้าอี้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง เป็นต้น เรื่องนี้ยังไม่สามารถจัดการได้
แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เคยมีมาแล้วหลายกรณี เป็นบรรทัดฐานตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งในมาตรา 160 ยกระดับของบุคคลที่จะเป็นรัฐมนตรีไว้เหนือกว่า สส. คือต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และไม่ประพฤติผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง และในเมื่อ ครม. ชุดนี้ยังไม่สามารถพ้นจากการสืบตระกูลได้ ก็ต้องเอามาตรฐานจริยธรรมมาตั้ง
โดยหากตรวจสอบอย่างเดียวกับที่ สว. ชุดของตนเคยทำในการตรวจสอบบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ โดยประสานขอข้อมูลจาก 19 หน่วยงาน เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ศูนย์ฝากหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตำรวจสันติบาล สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานอัยการสูงสุด ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นต้น ซึ่งก็ได้ข้อมูลที่เป็นปัญหาของบุคคลผู้สมัครเข้ามาจริงๆ
อย่างผู้สมัครองค์กรอิสระ บางคนผ่านขั้นตอนการสรรหามาเรียบร้อยแล้ว ทุกคนต้องเขียนใบสมัครซึ่งก็ไม่ค่อยจะบอกรายละเอียดกันอย่างครบถ้วนทั้งหมด แต่พอไปตรวจแล้วเจอ เช่น บางคนมีคดีในศาลปกครอง 3 คดี หรือมีคดีในศาลยุติธรรม 4 คดี เจอคดีใน ป.ป.ส. เจอคดีบุกรุกที่ ภบท.5 เป็นต้น หรือเจอว่าถือหุ้นสื่อ หุ้นบริษัทที่ได้รับสัมปทานหน่วยงานของรัฐ เจอแม้กระทั่งเป็นหนี้เสียบัตรเครดิต ซึ่งเมื่อเจอแล้วก็ยังให้โอกาสบุคคลนั้นมาชี้แจง
ทั้งนี้ ตนทราบว่าทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ไปขอแบบตรวจสอบจาก สว. มาใช้ แต่จะใช้ทั้งหมดหรือไม่ตนไม่ทราบ แต่หากใช้ทั้งหมดตีองตรวจสอบกับ 19 หน่วยงาน อีกทั้งยังต้องประชาสัมพันธ์ไปยังมหาวิทยาลัย องค์กรของรัฐและสื่อมวลชนอีก 166 หน่วยงาน โดยบุคคลที่พบประวัติมีปัญหา บางคนที่มาชี้แจงก็สามารถหักลบกลบกันได้ แต่บางครั้งก็ไม่ได้ ที่ผ่านมาก็เคยมีผู้สมัครองค์กรอิสระที่แม้จะผ่านกระบวนการสรรหามาแล้ว ขอสละสิทธิ์ในขั้นตอนการตรวจสอบประวัติ ซึ่งก็คล้ายกับบางคนที่ขอถอนตัวจาก ครม. ชุดปัจจุบัน
ส่วนในรายที่ไม่สละสิทธิ์ มีการมาชี้แจงด้วยปากเปล่าบ้าง ด้วยเอกสารบ้าง ก็นำข้อมูลทั้งหมดไปเสนอในที่ประชุมวุฒิสภา ดำเนินการประชุมลับ ให้ สว. ตัดสินใจว่าคนมีปัญหาแบบนี้จะให้ผ่านหรือไม่ ซึ่งก็ไม่ผ่านเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นคำว่ามีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และไม่ประพฤติผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงนั้นสามารถตรวจสอบได้ และ สว. ชุดที่ผ่านมาก็ตรวจมาตลอด
“เราไม่พูดถึงรัฐมนตรีแล้วกัน ในทางการเมือง ทุนการเมืองมีทุนเทาไหม? มีเจ้าพ่อบ่อนพนันออนไลน์ไหม? มีพ่อค้าน้ำมันเถื่อนไหม? มีผู้รับเหมาขี้โกงไหม? มีอดีตข้าราชการทุจริตไหม? คนเหล่านี้วันนี้ก็อาศัยอำนาจทางการเมือง ด้วยการใช้เงินทุจริตเข้าสู่การเมือง แล้วก็ตั้งพรรคการเมืองบ้าง เข้าไปเป็นมุ้งการเมืองบ้าง แต่สิ่งเหล่านี้มันยังอยู่ในข้อมูลที่หน่วยข่าวกรองทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) สันติบาล เขายังมีอยู่?” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลเหล่านี้ นายกฯ หรือ สลค. อยากดูหรือไม่? เมื่อดูแล้วยังจะแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีหรือเปล่า? ซึ่งบางเรื่องอาจเป็นเพียงการประมวลข่าวกรอง ยังไม่มีหลักฐานยื่นดำเนินคดี ก็อาจปล่อยผ่าน แต่บางคนที่เป็นคดีแล้ว เช่น มีคดีอยู่ในศาลชั้นต้น หรืออยู่ระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกา หรือมีรายชื่ออยู่ในบัญชีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน หรืออย่างที่อยู่ใน ป.ป.ช. ที่ทราบว่าส่งข้อมูลให้ สลค. ไปแล้ว จะแบ่งข้อมูลเป็น 2 ระดับ คือ หากยังเป็นเพียงมีผู้มาร้องเรียนก็ยังไม่นับ เพราะเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ไปแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม ก็ต้องให้ความเป็นธรรม
แต่เมื่อเข้ากระบวนการแสวงหาข้อมูลทั้งจากผู้ร้องและผู้ถูกร้อง จนถึงการทำความเห็นส่งถึงเลขาธิการ ป.ป.ช. และส่งเข้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่ามีมูลให้ตั้งกรรมการไต่สวน ในขั้นนี้ตามความเห็นของตนถือว่าหมิ่นเหม่ คือมีมูลบางระดับแต่ยังไม่ชี้มูล และที่ผ่านมา เคยมีอดีต สส. และอดีตรัฐมนตรีบางคน ถูกชี้มูลความผิดครอบครองที่ดินสาธารณะ ป.ป.ช. ชึ้มูล จากนั้นศาลศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่หลวงหรือไม่
หรือกลุ่ม สส. ที่ถูกตัดสินจำคุกคดีเสียบบัตรแทนกัน หลังถูก ป.ป.ช. ชี้มูล ดังนั้นในความเห็นของตน มาตรฐานทางจริยธรรม หากไปอยู่ในชั้นไต่สวน ส่วนที่ชี้แจงว่ายังไม่ชี้มูล หรือแม้แต่ถึงศาลแล้วยังไม่ถึงที่สุด 3 ศาล ยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ถือได้ตามนิตินัย ส่วนเรื่อง ครม. ชุดปัจจุบัน ตนไม่ได้บอกว่ามีปัญหาถึง 11 คน แต่เป็น 11 ประเด็น คือไม่ถึง 10 คน แต่บางคนอาจมี 2 ประเด็น ส่วนเรื่องน้ำหนักของประเด็น บางคนบอกมีถึง 5 คน แต่ตนเห็นที่มีความเสี่ยงมากอยู่ 2 คน ส่วนเสี่ยงปานกลางคือคดีในศาลยังไม่สิ้นสุด จะตีความว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ แค่ผู้ร้องเขาก็คงร้อง
“แล้วระหว่างร้องเกิดศาลพิพากษาให้ผิด อันนี้เสี่ยงกลางก็จะกลายเป็นเสี่ยงมาก อีกสัก 1-2 ราย ที่ปัญหาที่ ภบท. อันนี้เสี่ยง เพราะมันมีมาตรฐานที่ 27 สส. ถูกส่งเข้าไป แล้วก็มีอดีต สว. ด้วย แล้ว ป.ป.ช. ชี้มูลไปแล้ว ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าเหตุใดยังไม่ชี้มูลเพิ่มในบางราย ตอนนี้ก็มีอยู่ 2 แม้จะเอาออกไปแล้ว ท่านหนึ่งบอกว่าครอบครองที่ ภบท. 5 แล้วท่านไปเช่ากับกรมธนารักษ์แล้ว มันคนละส่วน ที่ ภบท. 5 ที่ท่านไปคือภาษีบำรุงท้องที่ จะเป็นที่เปล่าสาธารณะของหลวง หรือที่ป่าสงวน อันนี้เราไม่ทราบ แต่ความผิดได้สำเร็จแล้ว” นายสมชาย ระบุ
นายสมชาย ยังกล่าวอีกว่า ในกรณีที่ดิน ภบท. 5 มีบุคคลที่เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช. ตอนเป็นรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ว่าเป็นเจ้าของ ซึ่งต้องยื่นในหมวดค่าเช่า กรณีเช่ากับกรมธนารักษ์ หรือยังมีอีกรายที่ตอนแรกระบุครอบครองที่ดิน ภบท. 5 จำนวน 125 ไร่ แต่ต่อมาหายไปจากบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งความผิดสำเร็จแล้ว และยังไม่รู้ว่าหายไปไหน อาจสละคืนไปแล้วหรือมอบให้บุคคลอื่น แต่หาก ป.ป.ช. ชี้มูล ก็จะเข้าข่ายแบบเดียวกับคดีที่ดินใน จ.ราชบุรี
โดยรวมคือมีบุคคลใน ครม. ชุดปัจจุบัน มีความเสี่ยง 6 คน ในจำนวนนี้มีเสี่ยงมาก 2 คน แต่ไม่อยากลงรายละเอียดเป็นรายบุคคล เพราะวัดไม่เท่ากัน อย่างทีมกฎหมายของพรรคเพื่อไทยและ สลค. เขามองว่าไม่เสี่ยง และต้องบอกว่า สว. ชุดของตน ในการตรวจประวัติบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ไม่เคยถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะกฤษฎีกาเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล
อย่างเรื่องครอบครองที่ดิน ภบท. 5 กฤษฎีกาไม่สามารถชี้ได้ว่าผิดหรือถูก ทำได้เพียงให้ความเห็นว่าสุ่มเสี่ยงที่จะผิด หรือคดีที่ศาลตัดสินไปแล้ว กฤษฎีกาอาจให้ความเห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามนิตินัย แต่จะมีความเสี่ยงหรือไม่นั้นไม่สามารถให้ความเห็นได้ การส่งให้กฤษฎีกาจึงไม่ต่างจากการปรึกษาทนายความของรัฐบาล ส่วนที่มีข่าวว่า ได้ขอให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ร่วมตรวจสอบด้วย นายมีชัยก็อยู่ในกฤษฎีกาอยู่แล้ว แต่ตนไม่แน่ใจว่าเรื่อที่พิจารณาส่งเข้าคณะใหญ่หรือเข้าคณะที่ตั้งขึ้นใหม่
แต่นายมีชัยก็คงให้ความเห็นเพิ่มไม่ได้ เช่น ป.ป.ช. ชี้มูลมาแล้ว เข้าข่ายผิดหรือไม่ แต่อีกด้านหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่ถามไปด้วย อย่างกรณีการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้ถามไปถามในมาตรา 160 (6) และ (7) และเท่าที่ทราบมา ทางกฤษฎีกาก็ทักท้วงแล้วว่าเหตุใดไม่ถามมาให้ครบทุกข้อในมาตรานี้
“ผมสนับสนุนให้ตรวจให้ละเอียด แม้วันนี้ที่ผมออกมาทักจะบอกตีปลาหน้าไซ 11 คดี หรือ 11 คน หรือ 11 ประเด็นก็ตาม แต่เราได้ยกระดับ ซึ่งเสียดายอยู่นิดเดียว แทนที่จะเอาคนที่มีความรู้ความสามารถมาแทน แม้จะมาในโควตาพรรค เอานักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาของพรรคที่เก่งๆ มาทำหน้าที่รัฐมนตรี กลับยังเอาลูกเอาหลานเอาพี่เอาน้องมาเป็นนอมินี อันนี้วันหน้าก็จะเกิดปัญหา แล้ววัฒนธรรมแบบนี้ไม่ดี” นายสมชาย กล่าว
ชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=ABSBXgR-z4A
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี