ไม่เอาก.ม.สกัดปฏิวัติ
‘อนุทิน’ประกาศจุดยืน‘ภท.’
‘ภูมิธรรม’อ้างแค่ข้อเสนอสส.
“ภูมิธรรม”ขออย่าเพิ่งคิดไกล ปมแนวคิด สส.เพื่อไทย ชงแก้“กฎหมายกลาโหม”ให้อำนาจ ครม.ตั้งนายพล ลดอำนาจการทำ“รัฐประหาร”ขอรอฟังผลศึกษา อ้างแค่ข้อเสนอบุคคล ไม่ใช่จุดยืนพรรค ด้าน“อนุทิน”ย้ำจุดยืน“ภท.”ไม่เอาด้วย “ก.ม.สกัดปฏิวัติ” ชี้นักการเมืองอย่าสร้างเงื่อนไข เสนอ พ.ร.บ.แค่สัญลักษณ์ถึงเวลารัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกอยู่ดี
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.)และคณะ เสนอให้การรับฟังความเห็น ร่างพระราชบัญญัติ (พรบ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ.… เขียนโดยให้อำนาจคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล เพื่อสกัดการรัฐประหาร ว่า ตนในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรอง ต้องรอดูเหตุและผลในที่ประชุม ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ชั้นที่ประชุมสภากลาโหมแล้ว โดยจะมีข้อคิดเห็นและข้อแนะนำปรับปรุง ต้องดูเรื่องหลักการและความเป็นจริงว่าจะจัดการอย่างไร เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ดีทุกคนปรารถนาอยู่แล้ว แต่จะเปลี่ยนได้ถึงขนาดไหนอย่างไร ต้องดูข้อเท็จจริงและดูความเห็นจากทุกฝ่ายฝ่าย
พรบ.สกัดปฎิวัติอย่าด่วนไปคิดแทน
เมื่อถามว่า เห็นด้วยกับหลักการที่ นายประยุทธ์ เสนอหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนเป็นประธานที่ประชุมจึงไม่อยากพูดคุยไปก่อน ขอฟังทุกอย่างก่อน เมื่อถามว่า แนวคิดดังกล่าวอาจจะเป็นการลดอำนาจของทหาร รมว.กลาโหม กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะออกมาอย่างไรอย่าเพิ่งไปคิดว่าลดหรือไม่ เพราะตนไม่มีเจตนาลดอำนาจทหารอยู่แล้ว เพราะเขาก็มีกฎระเบียบกฎหมายของเขาในการควบคุมดูแลเหมือนพลเรือน ซึ่งหากมีปัญหาก็ต้องแก้ไข
ข้อเสนอบุคคล-ไม่ใช่จุดยืนเพื่อไทย
นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึงกรณี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยร่าง พรบ.กลาโหมฯ ฉบับพรรคเพื่อไทยว่า นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ส.ส.เพื่อไทย เสนอมาก็ถือเป็นสิทธิ แต่ในส่วนของตนก็ยึดร่าง พรบ.ฉบับกระทรวงกลาโหม ซึ่งในวันนี้ก็ต้องฟังความเห็นทุกส่วนก่อน ว่าควรจะไปทิศทางใด เพราะหน้าที่เราคือการกลั่นกรองเอกสาร และวาระต่างๆ ที่จะต้องเข้าที่ประชุม ครม. ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่ความเป็นจริง จะทำอย่างไรก็ให้เหมาะสมที่สุด และสิ่งสำคัญไม่ได้ขึ้นอยู่กับลายลักษณ์อักษร แต่อยู่ที่การปฏิบัติ ความร่วมไม้ร่วมมือ และการใช้กองทัพมาช่วยพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้มากที่สุด ส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นแค่องค์ประกอบ ระเบียบสามารถแก้ไขได้
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยยังระแวงว่ากองทัพจะทำรัฐประหาร เพราะทั้งนายประยุทธ์ และ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.เพื่อไทย ก็ผลักดันในเรื่องนี้ นายภูมิธรรมกล่าวว่า สื่อพูดถึงคนสองคน เขามีสิทธิแสดงความเห็น แต่ไม่ใช่ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการอย่างไร ก็ต้องพูดคุยกันอีกที แต่ย้ำว่าต้องดูความเป็นจริง ในส่วนร่างของกลาโหม อยู่ระหว่างการพิจาณารายละเอียดก่อนเข้า ครม. แต่สภากลาโหมได้พิจารณามาเบื้องต้นแล้วและเป็นช่วงรอยต่อรมว.กลาโหมคนก่อน ซึ่งขณะนี้ขอดูรายละเอียดอีกที เมื่อถามว่า ในขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำ กองทัพ และรัฐบาล เปรียบเป็นน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า จะทำให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า กฎหมายยังไม่ได้มีการยืนยัน และไม่ใช่จุดยืนของพรรคเพื่อไทย แต่ทุกคนมีสิทธิแสดงความเห็นว่ามีจุดยืนอย่างไร
‘อนุทิน’ย้ำไม่เอาด้วยกม.สกัดปฏิวัติ
ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม โดยมีข้อสังเกตเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ผบ.เหล่าทัพ และการสกัดการทำปฏิวัติ ว่า เรื่องอื่นตนยังไม่ได้ดู แต่ถ้าเป็นเรื่องการสกัดการปฏิวัติ ตนไม่เห็นด้วย เพราะถ้าจะสกัดการปฏิวัติ ไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง เพราะนักการเมืองก็คือนักการเมือง ต้องทำหน้าที่ให้ดี ทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รักษาความสงบ และอย่าให้แตกความสามัคคี
แค่อย่าทำเข้าเงื่อนไขปฎิวัติพอแล้ว
“เงื่อนไขการปฏิวัติมีอยู่แค่ไม่กี่เงื่อนไข ส่วนใหญ่ก็มาจากนักการเมืองทั้งนั้น เราก็อย่าไปเข้าเงื่อนไขเหล่านั้น มันก็จะปฏิวัติไม่ได้ ต่อให้ออกกฎหมายอะไรมา ถ้ามีการปฏิวัติ สิ่งแรกที่ทำก็คือการฉีกรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ตรงนี้ที่จะทำก็อาจเป็นแค่สัญลักษณ์ บังคับใช้อะไรไม่ได้ ดีที่สุดก็ต้องทำตัวให้ดี ต้องซื่อสัตย์สุจริต อย่าขี้โกง อย่าไปยุแยงให้ใครแตกความสามัคคี อย่าไปลงถนนจนทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทุกอย่างก็มีอยู่แค่นี้
เมื่อถามว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคประชาชน (ปชน.) ผ่านร่างนี้ในสภานั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ถ้าในประเด็นนี้ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ไม่เอาด้วยอยู่แล้ว ส่วนจะผ่านหรือไม่ก็เป็นไปตามกระบวนการ ตามระบอบประชาธิปไตย ตามเสียงส่วนมาก เมื่อถามว่า ร่างจะไปตกในชั้นวุฒิสภาหรือไม่ นายอนุทิน บอกว่า เรื่องนี้ไม่รู้ แต่ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยประเด็นตรงนี้ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าไม่มีความจำเป็น ซึ่งตนอยู่กับการเมืองมานาน เห็นตั้งแต่สมัยปฏิวัติ 23กุมภา2534 สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯซึ่งเงื่อนไขการปฏิวัติสามารถหลีกเลี่ยงได้ทั้งนั้น ถ้าไม่เข้าใกล้เงื่อนไขนั้นก็ปฏิวัติไม่ได้
แก้ศก.-แก้จน-เพิ่มรายได้ปชช.ดีกว่า
“ในมุมมองของพรรคภูมิใจไทย ปัญหาใหญ่ของประเทศ คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาใหญ่ของประชาชน คือ ปัญหารายได้และความยากจน ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ยังเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐต้องเร่งดำเนินการ พรรคให้ความสำคัญปัญหาเหล่านี้มากกว่าการจัดระเบียบ หรือ การจัดโครงสร้าง การบริหารราชการกลาโหมและพรรคภูมิใจไทย ไม่มีความชำนาญ ไม่มีข้อมูลมากพอที่จะให้ความเห็นได้ เราจึงขอสงวนความเห็นส่วนนี้ไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับฟังคำชี้แจงจากผู้เสนอ ร่างพรบ.ก่อน” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า แต่หลักการสำคัญที่ควรต้องมีคือ การเมืองไม่ควรไปก้าวก่ายแทรกแซง กองทัพ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีลักษณะพิเศษ และเป็นสถาบันสำคัญของชาติที่ต้องมีกฎหมายพิเศษ หรือ กฎหมายเฉพาะมากำกับดูแลการบริหาร เพื่อความมั่นคงของชาติ การช่วยเหลือประชาชนเมื่อมีสถานการณ์วิกฤติ ทั้งจากภัยความมั่นคง และภัยธรรมชาติ รวมถึงการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นภารกิจหลักของกองทัพ
รธน.เขียนห้ามไว้ยังทำไม่ได้เลย
“เรื่องออกกฎหมายต่อต้านรัฐประหารต้องดูความเป็นจริงและในทางปฏิบัติ สามารถต่อต้าน สกัดกั้น ได้หรือไม่ จำเป็นต้องออกกฎหมายมาอีกหรือไม่ ในเมื่อรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติ ห้ามผู้ใดกระทำการปฏิวัติ รัฐประหาร ล้มล้างรัฐธรรมนูญและรัฐบาล ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ขนาดรัฐธรรมนูญยังห้ามไม่ได้ ออกกฎหมายใหม่มาจะบังคับใช้ได้จริงหรือไม่” หัวหน้าพรรค ภท.กล่าว
‘วิษณุ’ยกแต่งตั้งตร.ยังไม่ต้องเข้าครม.
นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ. …... โดยแก้ไขให้การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารมาเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตนทราบจากข่าวเท่านั้น ส่วนที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่ากฎหมายฉบับนี้ทำมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วนั้น ตนไม่ทราบ น่าจะกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ทำ อย่างไรก็ตาม กฎหมายสามารถแก้ไขให้สอดคล้องกับกฎหมายอื่นได้ ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการจะแก้ไขเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารให้มาเป็นอำนาจคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องแต่งตั้งนั้น สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มี ไม่เคยคิด เขามาเพิ่มทีหลังสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน
เมื่อถามอีกว่า การมาให้ ครม.แต่งตั้งมันสุ่มเสี่ยงจะทำให้เกิดการระหองระแหง ระหว่างการเมืองกับกองทัพหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ขอตอบว่าสุ่มเสี่ยงต่อการระหองระแหง แต่ขอตอบว่ามันเป็นกิจการที่ขนาดตำรวจยังไม่มา ครม.คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เขาทำเสร็จแล้วก็จบ และกราบบังคมทูลฯ มีแต่พลเรือนที่ต้องมา ครม.เนื่องจากรัฐธรรมนูญไปเขียนเอาไว้
เมื่อถามว่า ดูเหมือนพรรค พท.เป็นห่วงเรื่องการทำรัฐประหาร นายวิษณุ กล่าวว่า มันไม่เกี่ยวกับการรัฐประหาร ถ้าคิดว่าควรแก้ก็แก้ ถ้าคิดว่าไม่ควรแก้ก็ไม่ต้องแก้ เมื่อถามย้ำว่า เมื่อแก้แล้วอาจทำให้การรัฐประหารยากขึ้นหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่รู้ แต่ไม่ได้เกี่ยวประเด็นการรัฐประหารอย่างที่มีใครแสดงความเห็นไว้ ตนไม่คิดอย่างนั้น ต้องไปพูดให้เขาเข้าใจด้วยเหตุด้วยผล ซึ่งมันมีเหตุผลเหมือนกันว่า ทำไมทหารถึงไม่มาที่ ครม.ซึ่งตำรวจก็ไม่มา ครม.เหมือนกันเมื่อถามว่า มันมีกฎหมายอะไรที่จะป้องกันทำรัฐประหารได้จริง นายวิษณุ กล่าวว่า “ผมไม่เชื่อว่ามี”
แก้รธน.รายมาตราจำเป็น-เร่งด่วน
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตนพูดมาตลอดว่าถ้าแก้รายมาตรา ก็เสร็จทัน แต่ถ้าแก้กันเป็นเรื่องใหญ่ๆ ไม่ทันหรอก เพราะใช้เวลาเป็นปี ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้เหมือนร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จะเป็นปัญหาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าแก้รายมาตรา ก็ไม่ต้องทำประชามติ แต่ถ้าไปแก้เรื่องใหญ่ๆ มโหฬาร แล้วแก้หมวดนั้น หมวดนี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ห้ามไว้ว่าถ้าแก้หมวดนั้นหมวดนี้จะต้องไปทำประชามติ แล้วก็ต้องมาเถียงกันว่าทำประชามติกี่ครั้งอีก ดังนั้น แก้เป็นรายมาตราที่อยากจะแก้ก่อน เรื่องไหนเร่งด่วน จำเป็น แต่อย่าไปแตะมาตราที่เขาบอกว่าต้องทำประชามติ ก็จะทำให้เสร็จทัน
แถลงผลงาน12ธ.ค.โอ่ไทยปีทอง68
ขณะที่ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามกำหนดการเดิมการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดให้ประชุมทุกวันอังคาร แต่เนื่องจากสัปดาห์นี้เป็นวันหยุดพิเศษวันรัฐธรรมนูญ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงเลื่อนการประชุมไปเป็นวันพุธที่11ธันวาคม 2567 เวลา 10.00น.ที่ทำเนียบรัฐบาล ขณะที่วันที่ 12ธันวาคมนี้ ที่ห้องประชุมใหญ่ ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ถนนวิภาวดีรังสิต เขตดินแดง กรุงเทพฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และครม.จะแถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลในรอบ 3เดือนและการกำหนดทิศทางของประเทศไทยในปีหน้าเพื่อให้สามารถแข่งขันกับทุกประเทศในโลกได้ จากการรายงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องกันว่าในปี 2568 จะเป็นปีทองของประเทศไทย ทั้งในด้านธุรกิจ ท่องเที่ยว การเกษตร อุตสาหกรรม และการลงทุนในประเภทต่างๆ ที่มีโอกาสที่จะทำให้จีดีพีของประเทศเติบโตได้มากยิ่งขึ้น
ร่วมงานกว่า500คน-ถ่ายสดNBT
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะมอบนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี ภายใต้หัวข้อ“2568โอกาสไทย ทำได้จริง2025 Empowering Thais: A Real Possibility จากผลงานที่เป็นรูปธรรม สู่อนาคตที่ทำได้จริง” ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ระดับกรม ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้ารัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารองค์การมหาชน และสื่อมวลชนเข้าร่วมงานกว่า 500คน รัฐบาลขอเชิญชวนประชาชน ร่วมติดตามงานแถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลรอบ 3เดือนและการมอบนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของนายกฯซึ่งจะถ่ายทอดสดช่องNBT2HDและFacebook Live: Live NBT2HD
ทุกกระทรวงส่งข้อมูลผลงานแล้ว
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงการแถลงนโยบายรัฐบาล ภายใต้หัวข้อ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง 2025 Empowering Thais: A Real Possibility จากผลงานที่เป็นรูปธรรม สู่อนาคตที่ทำได้จริง” ว่า งานด้านความมั่นคงและกระทรวงกลาโหม ได้ส่งข้อมูลให้กับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการที่จะแถลงผลงานแล้ว เช่นเดียวกับกระทรวงอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดใด ๆ ขอให้รอนายกรัฐมนตรีแถลงก่อน
นายกฯยื่นรายการทรัพย์สินครบแล้ว
นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐมนตรีชุดใหม่ ว่าตามหลักแล้ว รัฐมนตรีที่มาจากรัฐบาลชุดเดิม ซึ่งผ่านการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินไปแล้ว ดังนั้น เมื่อมีการแต่งตั้งในรัฐบาลใหม่ จึงไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินอีก ดังนั้นคณะรัฐมนตรีชุดนี้มี 36 คน ในจำนวนนี้ 30 คน เป็นการดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง จึงไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน หนี้สินใหม่ เหลือ 6 คนที่ต้องยื่น หนึ่งในนั้นคือน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยขอขยายเวลาในการยื่นบัญชีมาก่อนหน้านี้ ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ครบเวลาที่ขอยื่นแล้ว นายกฯยื่นรายละเอียดเข้ามาแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจสอบ หากตรวจสอบเสร็จก็จะมีเปิดเผยบัญชีต่อไป หลังที่มีการยื่นมาแล้ว 30วัน ทั้งนี้ การเปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผุ้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อให้ประชาชนชี้ช่อง แจ้งเบาะ แส ให้ข้อมูลว่า สิ่งที่ปรากฏในบัญชีทรัพย์สินนั้นครบถ้วนหรือไม่ อย่างไร เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน หนี้สินต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี