‘รัฐสภา’ไฟเขียวหลักการ‘ร่างพ.ร.บ. ป.ป.ช.เพื่อช่วยเหยื่อผู้ถูกฟ้องคดีปิดปาก-ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมศาลทหาร’ ตั้ง‘กมธ.วิสามัญ35คน’
20 ธันวาคม 2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา(สว.) ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต พร้อมกันจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งมีเนื้อหาทำนองเดียวกัน ผู้เสนอคือครม. และนายวิโรจน์ ลักขณาอดิสร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) และคณะ โดยนายมงคล แจ้งที่ประชุมรัฐสภา ทั้งสองฉบับ จะพิจารณาพร้อมกัน โดยแยกลงมติ ในขั้นรับหลักการแต่ละฉบับ ตามข้อบังคับ ข้อ33 วงเล็บ1 และวงเล็บ 3
นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ในฐานะตัวแทนครม.ชี้แจงหลักการและเหตุผลตอนหนึ่ง ว่า การฟ้องคดีปิดปาก คือการขัดขวาง คุกคาม โดยใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ ยับยั้ง ข่มขู่ประชาชนที่แจ้งเบาะแส ปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ แม้ปัจจุบันมีการให้ความคุ้มครองการแจ้งเบาะแสทุจริต รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 ประกอบกับ พ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 และมาตรา 132 แต่มีผลเพียง ประชาชนผู้แจ้งเบาะแสแล้วถูกฟ้องปิดปาก ต้องไปต่อสู้ด้วยตนเองจนกว่าจะพิสูจน์ให้ศาลเห็น ว่าตนอยู่ในข่ายได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา 132 แต่กฎหมายไม่ได้บัญญัติ กลไกให้ความช่วยเหลือ ระหว่างประชาชนถูกฟ้องคดี ดังนั้น ร่างพ.ร.ป.นี้ จึงมีกลไกคุมครอง ผู้ที่ชี้ช่องเบาะแสทุจริต เป็นหลักเกณฑ์สำคัญป้องกันผู้ถูกฟ้องคดีปิดปาก เมื่อถูกร้องกล่าวโทษ ฟ้องคดี หรือถูกดำเนินการทางวินัย จากการให้ข้อมูลเบาะแสทุจริต ที่ได้รับความคุ้มครองโดยไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย และได้รับความช่วยเหลือในการต่อสู้คดี เช่น การจัดหาทนายความ ให้การสนับสนุน ค่าใช้จ่ายต่อสู้คดี ให้ความช่วยเหลือในการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นต้น
ด้านนายเอกราช อุดมอำนวย สส.กทม.พรรคปชน.ชี้แจงแทนนายวิโรจน์ ตอนหนึ่ง ว่า โดยหลักการ เพื่อยกเลิกการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกับผู้กล่าวหาซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร โดยยกเลิก มาตรา 96 และกำหนดให้บรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีก่อนวันที่จะตราพ.ร.ป.นี้บังคับใช้ ให้โอนไปยังอัยการสูงสุด เป็นผู้ดำเนินการ โดยเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของศาลทหาร ที่ผ่านมามีปัญหา อาทิ ใน พ.ร.บ.อุ้มหาย มีมาตรา 34 บรรดาคดีที่กระทำผิดในพ.ร.บ.อุ้มหาย เช่น กรณีการซ้อมทรมานในค่าย การบังคับพลทหาร หรือซ้อมทรมานให้ถึงแก่ชีวิต เข้าข่ายกระทำความผิดฐานประพฤติชอบ สามารถนำไปขึ้นศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบ แต่ตอนนี้ ยังไม่มีเรื่องสักเคสเดียว ที่ถึงศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบ เพราะอัยการไม่เข้าใจกระบวนการขั้นตอน ก็จะส่งฟ้องไปที่ศาลทหาร ดังนั้น หนึ่งในการแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าว คือการนับหนึ่งให้อัยการสูงสุด เป็นอัยการทหารแทน ดำเนินกระบวนพิจารณาให้ศาลอาญาทุจริต และประพฤติมิชอบ บุคคลใดก็ตาม ที่ใช้อำนาจรัฐในการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมถึงยังแก้ไขความลักลั่นโครงสร้างศาลทหารซึ่งยังไม่มีแผนกที่จัดตั้งเกี่ยวกับการทำงานด้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ไม่มีอัตรากำลังพลและภาระงานที่รับผิดชอบเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ซึ่งรับผิดชอบรูปแบบของไม่เชี่ยวชาญคดีพิเศษๆ แบบนี้ เป็นต้น
ทั้งนี้ภายหลังสมาชิกรัฐสภา อภิปรายเสร็จสิ้น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ให้ที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการหรือไม่รับหลักการ ที่ละฉบับ โดยร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับ ครม.เป็นผู้เสนอ เห็นด้วย 493 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนนไม่มี ถือว่าที่ประชุมรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 35 คน แปรญัตติ 15 วัน
จากนั้นลงมติ ร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับนายวิโรจน์ เห็นด้วย 354 เสียง ไม่เห็นด้วย 129 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง จึงถือว่าที่ประชุมเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยใช้กมธ.ฯชุดเดียวกับฉบับ ครม.เสนอ โดยใช้ร่างของครม.เป็นร่างหลัก
ก่อนปิดประชุมนายวันมูหะมัดนอร์ ได้แจ้งว่า จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาอีกครั้งเพื่อพิจารณาวาระเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่บรรจุระเบียบวาระไปแล้ว โดยจะมีการประชุมในวันที่ 14-15 ม.ค. 68 จากนั้นประธานรัฐสภา สั่งปิดประชุมในเวลา 15.42 น.
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี