'โสภณ'เผยเหตุปะทะเวสน์2ปืนหาย รวม27กระบอกลุยรับมือปิดกทม.
วันพฤหัสบดี ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2557, 14.11 น.
Tag :
9 ม.ค. 57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น. พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ ผบช.ประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบการรักษาความสงบเรียบร้อยการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม กปปส.ที่จะปิด กทม.หรือ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” ในวันที่ 13 มกราคมนี้ กล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์ในสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ได้มีรถยนต์ของตำรวจถูกทุบทำลายและเอาทรัพย์สินอาวุธของราชการไปจำนวนหนึ่ง เท่าที่สำรวจได้ในส่วนของอาวุธปืนตำรวจทั้งหมด 27 กระบอก เป็นของหลวง 21 กระบอก เป็นของส่วนตัวของตำรวจ จำนวน 6 กระบอก
สำหรับปืนของหลวง ประกอบด้วย อาวุธปืนลูกซองยาว 6 กระบอก ของกองร้อยควบคุมฝูงชน ซึ่งใช้สำหรับยิงกระสุนยาง หากนำไปใส่กระสุนจริงจะเป็นอันตรายถึงชีวิต , ปืนยิงแก๊สน้ำตา 12 กระบอก อาวุธปืนสั้นขนาด 0.38 ลูกโม่ 3 กระบอก ทั้งนี้ อาวุธปืนส่วนตัวของตำรวจ 6 กระบอก ที่ถูกขโมยไป เป็นอาวุธปืนสั้นขนาด 9 มม. 2 กระบอก ปืนสั้น .380 จำนวน 1 กระบอก ปืนสั้นขนาด .45 จำนวน 1 กระบอก ปืนอัดอม 1 กระบอก ในส่วนของปืนสั้นขนาด 9 มม.ติดตามและจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว เจ้าของปืนคือ รอง ผบก.ภ.จ.นครสวรรค์ ซึ่งนำรถไปจอดที่สนามกีฬาในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่
นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานได้ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ พบว่ามีหัวกระสุนปืนและปลอกกระสุนที่เก็บได้และพิสูจน์ทราบว่ายิงมาจากนอกรั้วสนามกีฬาเป็นอาวุธปืนสั้น 4 ชนิด คือ .32 .38 .45 และ 9 มม.ในปืนทั้ง 4 ชนิด ได้พิสูจน์ทราบว่ายิงมาจากอาวุธปืนทั้งหมด 16 กระบอก ดังนั้นอาวุธที่ถูกขโมยไปทั้ง 27 กระบอก และอาวุธปืนที่ใช้ยิงเข้ามาอีก 16 กระบอก รวมเป็น 43 กระบอก เฉพาะในวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ยังไม่รวมวันอื่นๆ ที่มีการใช้อาวุธปืนด้วย
พล.ต.ท.โสภณ กล่าวต่อว่า ขอแจ้งถึงพี่น้องประชาชนว่า ความโชติช่วงของประเทศไทยต้องไม่ได้มาจากเชิงตะกอนการเผาไฟของพี่น้องผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย ขอวิงวอนให้ร่วมมือกันยุติปัญหาที่เกิดขึ้น ในส่วนของเจ้าหน้าที่จะเน้นการตั้งจุดตรวจบริเวณโดยรอบจับกุมอาวุธปืน วัตถุระเบิดที่อาจจะนำเข้ามาในพื้นชุมนุม ขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนหากพบเห็นใครมีอาวุธปืนในลักษณะดังกล่าวให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบ เชื่อว่าถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันจะสามารถยุติความรุนแรง ให้การชุมนุมสงบ
พล.ต.ท.โสภณ กล่าวอีกว่า ในส่วนการจับกุมนั้น เนื่องจากเมื่อเกิดการระเบิดแล้ว การหาหลักฐานต่างๆ คงเป็นไปได้ยาก แต่เราจะเน้นการตรวจค้นจับกุมก่อน ที่จะมาใช้ขว้าง เช่น นำติดตัวมาหรือติดมาในยานพาหะนะ โดยจะเน้นการตรวจค้นและจับกุม ซึ่งมีความผิดแต่ก็ไม่ได้มีความผิดในเรื่องของการพกอาวุธปืน โทษก็จะเบาแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถจับกุมได้ ส่วนในเรื่องของกฎหมายเราสามารถทำตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ในเรื่องของพลุและที่ไม่ใช่จำพวกกระสุนปืนจะมีโทษที่เบาลงจะเป็นเพียงแค่โทษปรับเท่านั้น
พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า การตั้งจุดตรวจค้นเป็นเพียงแค่หน้างานเดียว แต่จริงแล้วเรามีหลายหน้างานด้วยกัน โดยจะเป็นเรื่องของการให้บริการ การดูแลความเรียบร้อยของการชุมนุม 7 เวทีหลัก ซึ่งทางตำรวจนครบาล ได้ตั้งที่ทำการส่วนหน้าที่อยู่ใกล้เคียงทุกแห่ง พร้อมที่จะติดต่อ สั่งการ มีรถยก รถพยาบาล รถดับเพลิง ไว้บริการประชาชน นอกจากนี้จะมีการตั้งจุดตรวจ การอำนวยการจราจร และยังมีฝ่ายสืบสวน เก็บรวบรวมหลักฐาน บันทึกภาพ และถอดเทป ตรวจค้นเป็นรายบุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัย มีการพกอาวุธติดตัว ทางเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมพอสมควรเพื่อให้เกิดความรุนแรง
ผบช.ประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ต้องขอความร่วมมือทุกฝ่าย ว่าหากมีเบาะแสหรือพบเห็นบุคคลที่อาจก่อความรุนแรงขึ้น ให้ช่วยแจ้งตำรวจ การจับกุมได้มากเท่าไหร่ ความรุนแรงก็จะเกิดขึ้นได้น้อยลงเท่านั้น และจากการข่าวของเรา พบว่ามีการซื้อกระสุนปืนลูกซองซึ่งเป็นที่หน้ากังวลว่ามีแนวโน้มอาจจะเกิดเหตุความรุนแรงขึ้นได้ ตำรวจจึงขอความร่วมมือ ส่วนการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่จะร่วมกันทั้งตำรวจ 4 กองร้อย และทหาร 5 กองร้อย ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย