“สวนดุสิตโพล” เผยผลสำรวจความเห็นกรณี “ทักษิณ” มีแนวคิดซื้อหนี้แก้ปัญหาให้ปชช. โดย 62% เห็นด้วยเพราะช่วยให้ดอกเบี้ยถูก แต่อีกกว่า 37% ไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่แน่ใจเรื่องความโปร่งใส อาจช่วยปลดล็อกความอึดอัดจากหนี้สิน แต่กังวลจะกลายเป็นการแก้ปัญหาแบบครึ่งๆ กลางๆไม่ยั่งยืนในระยะยาว พร้อมมีข้อเสนอให้รัฐบาลปรับโครงสร้างหนี้ ลดภาระค่าครองชีพ และลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือประชาชนแทนการซื้อหนี้
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม “สวนดุสิตโพล”มหาวิทยาลัยสวนดุสิตสำรวจความคิดเห็นเฉพาะประชาชนที่มีหนี้สินต่อกรณี “ซื้อหนี้..แก้ปัญหาให้ประชาชน” กลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนที่มีหนี้สิน 1,153 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 18-21 มีนาคม 2568 สรุปผลได้ว่า 1. ประชาชนมีหนี้ประเภทใดบ้าง อันดับ 1 มีหนี้ในระบบ (สถาบันการเงิน ธนาคาร บัตรเครดิต) 51.60% อันดับ 2 มีหนี้นอกระบบ (เงินกู้นอกระบบ เจ้าหนี้ส่วนตัว) 29.75% อันดับ 3 มีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ 18.65%
2.ประชาชนมีวิธีจัดการหนี้อย่างไร อันดับ 1 ชำระเฉพาะขั้นต่ำทุกงวด 25.09% อันดับ 2 ผิดนัดชำระบางครั้ง 21.96% อันดับ3 ชำระหนี้เต็มจำนวนทุกงวด 21.35%
3. ประชาชนคิดเห็นอย่างไรต่อแนวคิดของนายทักษิณ ชินวัตร ที่จะซื้อหนี้ประชาชนออกจากระบบธนาคาร ให้ผ่อนชำระใหม่แบบลดภาระ และล้างเครดิตบูโรโดยไม่ใช้เงินของรัฐ อันดับ 1 เห็นด้วย 62.19% เพราะช่วยรวมหนี้ทั้งหมดมาไว้ที่เดียว ดอกเบี้ยถูกลง ช่วยให้คนที่มีหนี้สบายใจขึ้น ไม่เครียด มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เสียประวัติทางการเงินฯลฯ อันดับ 2 ไม่เห็นด้วย 37.81% เพราะไม่แน่ใจเรื่องความโปร่งใส อาจมีผลประโยชน์แอบแฝง ทำให้คนขาดวินัยทางการเงินและกู้เพิ่ม อาจกลายเป็นหนี้เสีย ส่งผลกระทบต่อการเงินของประเทศในอนาคต ฯลฯ
4.ประชาชนคิดว่าแนวคิดซื้อหนี้ของนายทักษิณจะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของคนไทยให้หมดไปได้หรือไม่ อันดับ 1 ช่วยได้ 57.73% เพราะช่วยลดภาระหนี้ ส่งหนี้ได้ตรงเวลา ลดการกู้เงินนอกระบบ ทำให้มีเงินหมุนเวียนมากขึ้น มีเงินเหลือพอไปลงทุนสร้างรายได้เพิ่มฯลฯ อันดับ2 ช่วยไม่ได้ 42.27% เพราะคนขาดวินัย อาจกู้เพิ่มและไม่ใช้คืน หวังรอให้รัฐช่วย ทำได้ยาก ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หนี้ไม่ได้หมดไปแค่เปลี่ยนเจ้าหนี้ ไม่ได้ช่วยคนที่เป็นหนี้นอกระบบ ยังไงก็ยังมีหนี้ ฯลฯ
5.หากไม่ใช้วิธีซื้อหนี้ออกจากระบบธนาคาร คิดว่ารัฐบาลควรใช้วิธีใดแก้ปัญหาหนี้สินของคนไทยอันดับ 1 ปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ขยายเวลาผ่อน ลดค่างวด 67.45% อันดับ2 ลดค่าครองชีพ เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าเดินทาง ค่าครองชีพรายเดือน 64.76% อันดับ 3 ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำลง 61.37%
นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพลกล่าวว่า จากผลสำรวจบ่งบอกถึง “ความทุกข์” ของคนไทยที่มีหนี้และอยู่ในภาวะการเงินที่เปราะบาง แม้มีความหวังต่อมาตรการใหม่อย่างการ “ซื้อหนี้” ที่อาจช่วยปลดล็อกความอึดอัดจากหนี้สิน แต่ก็ยังกังวลว่าจะกลายเป็นการแก้ปัญหาแบบครึ่งๆกลางๆและไม่ยั่งยืนในระยะยาว เสียงส่วนใหญ่จึงเรียกร้องให้รัฐบาลปรับโครงสร้างหนี้ ลดภาระค่าครองชีพ และลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือประชาชน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์มนตรี พานิชยานุวัฒน์ กรรมการบริหารหลักสูตรกฎหมายมหาชนและการบริหารงานยุติธรรม โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิตกล่าวว่า ผลโพลนี้สะท้อนถึงความต้องการของประชาชนที่มีหนี้สินในการหาทางออกที่ลดภาระหนี้ในระยะสั้น แต่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความโปร่งใสและผลกระทบระยะยาว โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยในแนวคิดของการซื้อหนี้ประชาชนออกจากระบบธนาคารเชื่อว่าจะแก้ปัญหาหนี้สินได้
ส่วนแนวทางแก้ปัญหาหนี้สิน หากไม่ใช้วิธีซื้อหนี้ ประชาชนเห็นว่าการปรับโครงสร้างหนี้จะช่วยลดภาระหนี้ระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ การลดค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยก็เป็นมาตรการเสริมที่ได้รับการสนับสนุนอย่างมาก นอกจากนั้น ประชาชนส่วนใหญ่มีหนี้ในระบบ ซึ่งอาจได้รับการดูแลจากสถาบันการเงินที่มีมาตรฐาน แต่หนี้นอกระบบก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ การจัดการหนี้ของประชาชนจะใช้การชำระขั้นต่ำเป็นทางออกที่เลือกใช้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสามารถใช้ข้อมูลผลโพลนี้ ออกแบบนโยบายที่สมดุลระหว่างการช่วยเหลือประชาชนและการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี