'ซูเปอร์โพล'เปิดผลสำรวจ พบ ปชช.กังวลปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง รวมทั้งเสถียรภาพรัฐบาลที่มีความเปราะบาง นอกจากนี้ยังห่วงเรื่องความแตกแยก-อุบัติเหตุทางการเมือง
เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2568 ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง เสถียรภาพของรัฐบาลในสายตาของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น 1,148 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 24 - 26 เม.ย.2568 ที่ผ่านมา
ผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 71.7 มีความสนใจข่าวสารเกี่ยวกับเสถียรภาพของรัฐบาลในระดับ "มากถึงมากที่สุด" ร้อยละ 15.4 ระบุ “สนใจ ปานกลาง” ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 12.9 เท่านั้นที่สนใจในระดับ "น้อยถึงไม่สนใจเลย" อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับข่าวด้านปัญหาค่าครองชีพ ค่าน้ำค่าไฟ และปากท้อง พบว่าประชาชนให้ความสนใจในระดับสูงกว่าที่ร้อยละ 85.2 ร้อยละ 10.4 ระบุ “สนใจ ปานกลาง” และร้อยละ 4.4 ระบุ “สนใจน้อย ถึง ไม่สนใจเลย” ตามลำดับ ชี้ให้เห็นว่าแม้ปัญหาปากท้องจะยังเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก แต่เสถียรภาพทางการเมืองก็ได้รับความสนใจในวงกว้าง สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจและการเมืองที่ประชาชนตระหนักชัด
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนเพียงร้อยละ 27.8 ที่มีความเชื่อมั่นในระดับ "มากถึงมากที่สุด" และร้อยละ 20.5 ระบุ “เชื่อมั่น ปานกลาง” ว่ารัฐบาลจะรักษาเสถียรภาพได้ ขณะที่ร้อยละ 51.7 มีความเชื่อมั่นในระดับ "น้อยถึงไม่เลย" ตัวเลขนี้สะท้อนถึงความเปราะบางของภาพลักษณ์รัฐบาล และแสดงว่าประชาชนมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อทิศทางของการเมืองในระยะสั้น
ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนมีความเป็นห่วง "การยุบพรรคการเมือง" สูงสุดที่ร้อยละ 29.1 ตามมาด้วย "คดีความทางการเมืองของนักการเมืองสำคัญ" ที่ร้อยละ 25.7 และ "การยุบสภา" ที่ร้อยละ 23.9
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อ "การแตกแยกของพรรคร่วมรัฐบาล" ร้อยละ 21.5 และ "การลาออกของรัฐมนตรีสำคัญ" ร้อยละ 20.7 ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ชี้ให้เห็นว่าประชาชนจับตา "อุบัติเหตุทางการเมือง" ซึ่งอาจเป็นชนวนจุดประกายให้เกิดความไม่แน่นอน และกระทบต่อทั้งความต่อเนื่องทางนโยบายและเศรษฐกิจของประเทศ
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ผลการสำรวจของซูเปอร์โพลในครั้งนี้ชี้ชัดว่า ประชาชนให้ความสำคัญทั้งต่อปัญหาเศรษฐกิจพื้นฐาน และเสถียรภาพทางการเมืองอย่างลึกซึ้ง ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างสองปัจจัยนี้สะท้อนว่าการเมืองไม่สามารถแยกขาดจากคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ ขณะเดียวกัน ระดับความเชื่อมั่นที่ต่ำต่อเสถียรภาพรัฐบาลในอนาคต พร้อมกับความกังวลต่อ "อุบัติเหตุทางการเมือง" บ่งชี้ว่ารัฐบาลต้องเผชิญกับโจทย์ใหญ่ในการรักษาเสถียรภาพ และบริหารความเสี่ยงทางการเมืองในสภาวะที่ความไว้วางใจของสังคมยังไม่แน่นแฟ้น เพียงพอ
ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ยังกล่าวถึงข้อเสนอแนะด้วยว่า รัฐบาล และบุคคลสำคัญทางการเมือง น่าจะพิจารณาทางออกทางการเมืองภาพใหญ่ของประเทศในระยะสั้นนี้ ได้แก่
(1) เร่งสร้างความมั่นคงทางการเมืองควบคู่กับเศรษฐกิจ รัฐบาลควรบูรณาการการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องกับการเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อสร้างพลังศรัทธาใหม่จากประชาชน
(2) บริหารความเสี่ยงเชิงรุกต่ออุบัติเหตุทางการเมือง เตรียมแผนรับมือกรณียุบพรรค ยุบสภา หรือการลาออกของผู้นำสำคัญอย่างโปร่งใส เพื่อลดความวิตกของประชาชน
(3) สร้างการสื่อสารเชิงบวกที่โปร่งใสและสม่ำเสมอ การสร้างพื้นที่สื่อสารที่โปร่งใส ตรงไปตรงมา จะช่วยลดความวิตกเกี่ยวกับข่าวลือและสร้างความเชื่อมั่นในตัวสถาบันการเมือง
(4) ส่งเสริมเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล เสริมสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวภายในรัฐบาล เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งภายในที่อาจกลายเป็นชนวนของอุบัติเหตุทางการเมือง
(5) สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เชิญชวนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไปให้เข้ามามีบทบาทร่วมในการผลักดันนโยบายสำคัญ เพื่อสร้างเสถียรภาพที่ยั่งยืนจากฐานรากของสังคม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี