‘นักวิชาการธรรมศาสตร์’เผยกระบวนการ‘เจรจาสันติภาพ’ที่ชะงักร่วม 1 ปี อาจส่งผลให้‘ไฟใต้’ปะทุขึ้น ระบุสถิติชี้ชัดช่วยลดเหตุการณ์ความไม่สงบได้จริง เชื่อความรุนแรงทำเป็น‘ขบวนการ’ สูญเสียความชอบธรรมทางการเมือง แนะรัฐพูดคุยกับหลายกลุ่ม-หลายวาระ ยอมรับกังวล‘ภูมิธรรม’ให้สัมภาษณ์ ถามถ้าไม่เริ่มเจรจาจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นตัวจริง ห่วงกระแสการสร้างความเกลียดชังแบบเหมารวมเป็นอุปสรรคขวางกั้นสันติภาพ
6 พฤษภาคม 2568 ดร.ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า เหตุผลที่ทำให้ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ปะทุขึ้นในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจมาจากการหยุดชะงักของกระบวนการเจรจาสันติภาพ ซึ่งพบว่าได้หยุดนิ่งมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้ว ซึ่งข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ชี้ชัดว่า นับตั้งแต่มีการเริ่มต้นกระบวนการเจรจาสันติภาพในปี 2556 เป็นต้นมา พบว่าสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นั่นเพราะกระบวนเจรจาสันติภาพเป็นพื้นที่ให้คู่ขัดแย้งสามารถต่อรอง แลกเปลี่ยนข้อมูลและมีส่วนสร้างความไว้วางใจต่อกัน เพื่อระงับไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้นได้
ดร.ชญานิษฐ์ กล่าวว่า การที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เคยให้สัมภาษณ์ว่า “เราจะไม่คุย ถ้าไม่ใช่ตัวจริง” นั้น เป็นการสร้างเงื่อนไขในการพูดคุยสันติภาพที่น่ากังวล เพราะถ้าไม่เริ่มต้นคุยแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ ในขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ที่มีการทุ่มงบประมาณจำนวนมากต่อความพยายามแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ทางการไทยยังไม่ทราบเลยหรือว่าใครเป็นตัวจริงหรือไม่เป็นตัวจริง
“ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น หากยังไม่เกิดกระบวนการพูดคุยกันอีก อาจแปลความได้ว่าทั้งรัฐบาลไทยและขบวนการติดอาวุธไม่ได้มีเจตจำนงที่จะสร้างสันติภาพอย่างแท้จริง ผลคือความชอบธรรมของทั้งรัฐบาลและขบวนการจะลดลงเรื่อยๆ และทั้งสองฝ่ายก็จะไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างที่พยายามกล่าวอ้างมาโดยตลอด เพราะขณะนี้ประชาชนประสานเสียงต้องการให้เกิดการพูดคุย ฉะนั้นการพูดคุยเร็วเท่าไหร่ยิ่งเป็นผลดีกับทุกฝ่ายมากขึ้นเท่านั้น” นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าว
นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวอีกว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงต่อพลเรือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ภาคประชาสังคมและประชาชนกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่เป็นชาวมลายูและไทยพุทธ ต่างก็แสดงความต้องการไปในทิศทางเดียวกัน คือเรียกร้องให้รัฐบาลและขบวนการกลับสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพโดยเร็ว
ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเครือข่ายวิชาการ PEACE SURVEY นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 จนถึง พ.ศ.2566 รวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นทั้งชาวมลายูและคนไทยพุทธ อายุ 18-70 ปี จำนวนรวมกว่า 10,581 คน ทั่วจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 7 ครั้งสนับสนุนให้ใช้การพูดคุยสันติภาพเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความรุนแรง และไม่เคยมีผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนครั้งใดเลยที่ได้รับคำตอบว่าสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพน้อยกว่าร้อยละ 55
“ความไม่สงบจนเป็นผลให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อยนั้นถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่ง แม้ว่าหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอาจจะเป็นการกระทำจากขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) แต่ล่าสุดขบวนการ BRN ก็ได้ออกแถลงการณ์แสดงเสียใจต่อเหตุรุนแรงและยืนยันไม่มุ่งโจมตีพลเรือน แม้ว่าการปะทุขึ้นของความรุนแรงในปี 2547 จะสามารถทำความเข้าใจได้ว่าเป็นผลมาจากประวัติศาสตร์และความรู้สึกที่ได้รับการกดขี่หรือถูกกระทำ แต่ก็คงไม่มีเป้าหมายไหนจะสูงส่งพอที่จะอนุญาตให้คุณทำร้ายคนชรา เด็ก และผู้พิการได้ มันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถยอมรับได้” ดร.ชญานิษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ แม้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในทางหนึ่งจะเป็นการต่อสู้กันทางอาวุธ แต่ในอีกมุมก็ยังเป็นพื้นที่ของการต่อสู่ทางการเมืองด้วย เพราะทั้งรัฐไทยและขบวนการติดอาวุธ ต่างฝ่ายต่างก็ต้องพยายามช่วงชิงความชอบธรรมระหว่างกันด้วย ส่วนตัวมองว่า การที่ขบวนการติดอาวุธทำเช่นนี้ย่อมส่งผลให้ตัวขบวนการฯ ต้องสูญเสียความชอบธรรมทางการเมืองไป ถือเป็นความพ่ายแพ้ทางการเมืองอย่างสำคัญ
ดร.ชญานิษฐ์ กล่าวอีกว่า ความน่ากังวลต่อปรากฏการณ์ความรุนแรงต่อเป้าหมายพลเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นอีกประการหนึ่งคือ กระแสการเหมารวมและเกลียดชังมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องให้รัฐใช้ความรุนแรงปราบปรามอย่างเด็ดขาดโดยไม่แยกแยะเป้าหมาย อารมณ์โกรธแค้นของสังคมอาจทำให้หลงลืมข้อเท็จจริงสำคัญประการหนึ่งไปว่าการมีอัตลักษณ์มลายูและนับถือศาสนาอิสลามไม่ได้หมายความว่าใครคนหนึ่งจะต้องเห็นด้วยหรือสนับสนุนขบวนการไปโดยปริยาย ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ก็ไม่ต่างจากปุถุชนที่ไหนๆ ตรงที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยและสงบสุข การเหมารวม โหมกระแสความเกลียดชังและเรียกร้องให้รัฐปรามปรามด้วยความรุนแรงโดยไม่แยกแยะ น่าจะยิ่งส่งผลให้สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยิ่งห่างไกลออกไปอีก
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี