"นายกฯอิ๊งค์" ประกาศ พ.ค.ของทุกปี เป็น “เดือนแห่งสุขภาพใจ” สธ.เผยคนไทยเผชิญปัญหาสุขภาพจิตกว่า 2 ล้านคน สานพลัง สสส.-WHO-ภาคีเครือข่าย เปิด 6 มาตรการ คาดโปรแกรม ต่อ-เติม-ใจ ฮีลใจทุกกลุ่มเสี่ยง เครียด-ซึมเศร้า ตั้งเป้าเข้าถึงประชาชน 1 ล้านคน ใน 3 ปี เพื่อยกระดับการป้องกันสุขภาพจิตระดับประเทศ
6 พฤษภาคม 2568 เมื่อเวลา 15.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “เดือนแห่งสุขภาพใจ Mind Month” จัดโดยกรมสุภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การอนามัยโลก (WHO) และภาคีเครือข่าย พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการ “สุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน” และร่วมเสวนา “สุขภาพใจ เริ่มต้นได้ที่ครอบครัว” ร่วมกับตัวแทนครอบครัวในสายอาชีพต่างๆ กว่า 20 ครอบครัว
โดย นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่รัฐบาลประกาศให้เดือน พฤษภาคมของทุกปี เป็น “เดือนแห่งสุขภาพใจ” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของช่วงเวลาแห่งความเข้าอกเข้าใจ ซึ่งทั้ง 6 มาตรการที่ สธ.ร่วมกับภาคีเครือข่าย นำเสนอในครั้งนี้จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน และทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพจิตมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาสุขภาพจิต ตั้งเป้าให้เกิดขึ้นภายในเดือน พ.ค. 37 แห่ง และภายในสิ้นปี 370 แห่ง ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการสร้างกลไกให้ประชาชนตระหนักในการดูแลสุขภาพใจของตนเอง เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลประกาศไว้ต่อรัฐสภา ปัญหาสุขภาพทางใจเป็นปัญหาสำคัญที่ถูกมองข้าม ซึ่งตนให้ความสำคัญ เพราะแม้เรามีร่างกายสมบูรณ์ แต่หากสุขภาพใจไม่แข็งแรงการทำเรื่องต่างๆ ให้สำเร็จก็เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการเปิดใจรับฟังโดยไม่รีบตัดสินหรือให้คำปรึกษา ถือเป็นการเสริมความเข้าใจปัญหาและสร้างความเข็มแข็งทาง โดยเฉพาะต้องทำความเข้าใจด้วยว่า เมื่อเราประสบปัญหาทางใจการเข้าพบแพทย์ รับคำปรึกษาไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลก แต่เป็นการที่เราเริ่มรู้ตัวว่าจะดูแลตนเองอย่างไร
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่า ปัจจุบันคนไทยกว่า 10 ล้านคน ต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า วิตกกังวล ภาวะเครียดสะสมรุนแรง และจิตเภท กว่า 2 ล้านคน เข้ารับการรักษาในระบบบริการสาธารณสุข ดังนั้น สธ. จึงได้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อน 6 มาตรการสำคัญในปีนี้ ได้แก่ 1. ส่งเสริมพัฒนาการและความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัย ด้วยโปรแกรมกิจกรรมกลุ่มเชื่อมระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และเด็ก 2. พัฒนาระบบ HERO แพลตฟอร์มสุขภาพจิตในโรงเรียนให้ครูสามารถประเมินสุขภาพเด็กในเบื้องต้นได้ 3. ส่งเสริมการดำเนินการด้วยระบบ Holistic Health Advisor หลักสูตรดูแลสุขภาพจิตวัยทำงาน 4. จัดตั้งศูนย์ให้การปรึกษาสุขภาพจิต รองรับการดูแลผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตทั้งแบบ On-Site และ Online 5. พัฒนาระบบต่อเติมใจ แพลตฟอร์มฝึกจิตบำบัดด้วยตนเอง และ 6. เปิดให้บริการแพลตฟอร์มสุขภาพจิตดอทคอม เป็นช่องทางหลักช่วยให้ประชาชนมีความรอบรู้สุขภาพจิตยิ่งขึ้น
ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า วัยทำงานอายุ 30 - 39 ปี มีความเสี่ยงเครียดและซึมเศร้ามากกว่า 20% ส่วนผู้สูงอายุ 60 ขึ้นไป มีความเสี่ยงเครียดและเสี่ยงซึมเศร้ามากกว่า 500,000 คน ซึ่งไม่เพียงกระทบคุณภาพชีวิต แต่ยังสร้างภาระทางสังคมและครอบครัว สสส.จึงได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิต และองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดตัวโครงการในเดือนแห่งสุขภาพใจ สร้างนวัตกรรมสุขภาพจิตเชิงป้องกันภายใต้ชื่อต่อ-เติม-ใจ ซึ่งเป็นโปรแกรมฝึกจิตบำบัดด้วยตนเองภายใน 5 สัปดาห์ ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยการทำแบบประเมินควบคู่กับการดูแลโดยผู้ช่วยออนไลน์ หรือ e-Helper และเปิดโอกาสให้ครอบครัวมีบทบาทในการแนะนำและติดตามผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีความเครียดสูงเข้าใช้โปรแกรมเพื่อลดภาวะเครียดและซึมเศร้าเบื้องต้นก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา และส่งต่อผู้ที่มีภาวะรุนแรงสู่หน่วยบริการได้รวดเร็วขึ้น โดยตั้งเป้าให้ประชาชนเข้าถึงระบบภายในปี 2568 อย่างน้อย 200,000 คน และขยายสู่ 1 ล้านคน ภายใน 3 ปี เพื่อยกระดับการป้องกันสุขภาพจิตระดับประเทศ หากสนใจทดลองใช้งานโปรแกรมสามารถเข้าไปได้ที่ www.ต่อเติมใจ.com
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี