‘ปธ.กมธ.พัฒนาการเมืองฯ’ หวัง ‘เลขาสภาฯ’ นำข้อทักท้วง - เสียงวิจารณ์ประชาชนเข้าที่ประชุมผู้บริหารเคาะจะยุติโครงการใดบ้าง ชี้จะให้ ‘กมธ.งบประมาณฯ’ ตัดเองไม่ได้ หวั่นหน่วยงานเสนองบไม่สมเหตุสมผลมาอีกในอนาคต
เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2568 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง สื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมกมธ.ฯ พิจารณาด้วยการตรวจสอบงบประมาณของรัฐสภา 15 โครงการที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงหรือเติมแต่งอาคาร ซึ่งได้ทำคำขอไปในงบประมาณปี 2569 ว่า กมธ.ฯ ยึด 3 หลักด้วยกันคือ การตรวจสอบงบประมาณไม่ใช่แค่ว่าการจัดสรรงบประมาณชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องตรวจสอบความเหมาะสมด้วย ถึงแม้งบประมาณบางส่วนจะเป็นไปตามระเบียบ แต่เราจำเป็นต้องตั้งคำถามว่า ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด การจัดสรรงบประมาณจัดลำดับความสำคัญอย่างเหมาะสมหรือไม่ในการแก้ปัญหาให้ประชาชน
หลักที่ 2 คือการจัดการงบประมาณปี 2569 เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ จึงควรประหยัดงบประมาณในส่วนที่ฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็น และหลักที่ 3 บ่อยครั้งงบประมาณถูกอ้างว่าเพื่อภาพลักษณ์ของรัฐสภาแต่ภาพลักษณ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความยิ่งใหญ่ของอาคาร แต่ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการทำหน้าที่แก้ไขกฎหมาย และเป็นตัวแทนแก้ไขปัญหาให้ประชาชน
นายพริษฐ์ กล่าวต่อไปว่า จากการซักถามหน่วยงานยาวนานเกือบ 4 ชั่วโมง เห็นว่ามีขั้นตอนต่อไป คือ การตั้งข้อสังเกตในภาพรวม เพราะตอนนี้มีหลายปัญหาที่เห็นรายโครงการ สืบเนื่องมาจากแผนดั้งเดิมของอาคารรัฐสภามีปัญหา ทางหน่วยงานยืนยันว่าแม้หลายโครงการจะเป็นการแก้ไขปรับปรุงบางส่วน แต่ส่วนหนึ่งก็เพราะแผนดั้งเดิมไม่ได้ครอบคลุมองค์ประกอบดังกล่าวตั้งแต่ต้น เราจึงต้องการเรียกเอกสารเพื่อตรวจสอบแผนดั้งเดิมโดยละเอียดว่าแผนดังกล่าวผ่านมาได้อย่างไร นอกจากนี้ ที่มาของ 15 โครงการ เมื่อรับฟังจากตัวแทนที่มาชี้แจงเบื้องต้น มีโครงการบางส่วนที่ถูกชงขึ้นมาจากหน่วยงานราชการ แต่บางส่วนก็ถูกชงขึ้นมาจากคณะกรรมการพิเศษ ที่มีคำถามว่าอาจจะถูกตั้งโดยฝ่ายการเมือง
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการอาคารจอดรถเพิ่มเติมที่พบข้อพิรุธค่อนข้างมาก มีคำของบประมาณเป็นงบผูกพัน 3 ปี รวมกัน 4,600 กว่าล้านบาท แม้จะยังไม่ได้รับอนุมัติจากสำนักงบประมาณ แต่มีข้อกังวล เช่น แผนดั้งเดิมของอาคารจอดรถที่มีอยู่อาจขัดกับข้อบัญญัติ กทม. ที่กำหนดไว้ว่าอาคารแต่ละประเภท เมื่อคำนวณจากพื้นที่ตารางเมตร ต้องมีที่จอดรถทั้งหมดกี่ที่ ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วจะออกมาได้ 3,500 คัน แต่แผนดั้งเดิมออกแบบไว้ให้มีที่จอดรถเพียง 2,000 คันเท่านั้น
“คำถามที่ตามมาคือ เมื่อขัดกับข้อบัญญัติของ กทม. แล้วใครจะรับผิดชอบ ผมเห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะบอกว่าต้องเพิ่มจำนวนที่จอดรถให้สอดคล้องกับกฎหมาย แต่ต้องมารับผิดชอบโดยภาษีของพี่น้องประชาชน” นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการพิเศษที่ถูกตั้งขึ้นมา และเป็นผู้ชงเรื่องการสร้างอาคารที่จอดรถเพิ่มเติม เสนอให้เพิ่มที่จอดรถเพิ่มจากเดิมอีก 4,600 ที่ รวมเป็น 6,500 ที่ เราต้องการตรวจสอบว่าใช้สูตรคำนวณใดให้ได้ตัวเลข4,600 ที่ออกมา ดูไม่สมเหตุสมผลกับจำนวนของผู้ที่เข้าใช้บริการรัฐสภาพร้อมกันในวันเดียว เหมือนเป็นการตั้งสมมติฐานที่สูงเกินไป
นอกจากนี้ ต้องตรวจสอบว่าใช้สูตรคำนวณใดจึงต้องใช้งบประมาณสร้างอาคารจอดรถถึง4,600 ล้านบาท ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐสภากำลังเปิดประมูลบริษัทมาออกแบบอาคารจอดรถด้วยงบประมาณ 10,000 5 ล้านบาท แต่ไม่ได้ตั้งประมาณไว้ไม่ปี 2568 แต่นำงบประมาณที่เหลืออยู่จากปี 2567 โอนมาใช้ในส่วนนี้ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าไม่เคยมีการโอนงบประมาณในลักษณะนี้มาก่อน ถึงแม้จะมีระเบียบของรัฐสภารองรับ แต่มีความจำเป็นอย่างไรที่ต้องใช้งบประมาณมากขนาดนี้ในการว่าจ้างบริษัทมาออกแบบอาคาร โดยมีบริษัทเสนอราคาเข้ามา 3 แห่ง แต่บริษัทที่ชนะยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญา เพราะบริษัทอื่นที่ไม่ได้รับคัดเลือก ได้ทำเรื่องอุทธรณ์เข้ามา จึงต้องตรวจสอบต่อไปว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร และเวลานี้ยังทันอยู่ที่จะยับยั้งการเซ็นสัญญานี้
นายพริษฐ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการโรงภาพยนตร์ 4D ที่ได้รับการอนุมัติไปแล้ว 180 ล้านบาท ข้อสังเกตคือหน่วยงานไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดที่ทำให้รู้สึกว่าโครงการนี้มีความคุ้มค่า มีเหตุจำเป็นใดในการทำระบบภาพยนตร์4D เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการต้อนรับประชาชนที่มาเยี่ยมชมรัฐสภา และเนื้อหาอะไรที่ต้องใช้ระบบ 4D เท่านั้น แล้วจะทำให้ประชาชนหรือนักศึกษาอยากมาเยี่ยมรัฐสภาเพิ่มขึ้นอีกกี่คน หน่วยงานก็ตอบไม่ได้ ทำให้เห็นว่าโครงการนี้ไม่ได้ถูกคิดขึ้นมาอย่างละเอียด ส่วนโครงการศาลาแก้ว 123 ล้านบาท ก็ทำนองเดียวกันที่คำตอบวันนี้ไม่ได้ทำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วน ห้องประชุมงบประมาณ
สำหรับขั้นตอนต่อไป ก็หวังให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรนำข้อสังเกตของกรรมาธิการและเสียงทักท้วงของประชาชนเข้าสู่ที่ประชุมผู้บริหาร ซึ่งมีประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรร่วมด้วย ในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ และขอให้ที่ประชุมมีมติออกมาอย่างลายลักษณ์อักษร ว่าหลังจากข้อทักท้วงของคณะกรรมาธิการและประชาชนแล้ว จะยุติการเดินหน้าโครงการใด
“เพราะไม่เพียงพอที่จะอ้างว่า ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณฯ ไปตัดงบประมาณเอาเอง ซึ่งจะเป็นการสร้างมาตรฐานให้ในอนาคต หน่วยงานสามารถเสนอโครงการที่ไม่สมเหตุสมผลเข้ามาได้ เพื่อให้ สส. ปรับลดเอง เป็นสิ่งสำคัญเมื่อได้ยินเสียงของประชาชน และถูกตั้งข้อสังเกตจากคณะกรรมาธิการแล้ว ที่ประชุมผู้บริหารควรมีมติที่จะทบทวนและยุติโครงการใด” นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า คำยืนยันของที่ประชุมผู้บริหารนั้น จะทำให้กรรมาธิการวิสามัญงบประมาณฯ ตัดงบประมาณดังกล่าวได้ง่ายขึ้น และสามารถป้องกันความเสี่ยงในอนาคตที่ถึงแม้จะถูกตัดงบประมาณออกไปแล้ว แต่ผู้บริหารงานจะใช้วิธีโอนงบ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี