“หมอวรงค์” เตือนสติ “สมศักดิ์” ย้ำสิ่งที่รมว.สธ.ต้องรู้ถ้ายับยั้งมติแพทยสภา โดยไม่มีเหตุผลทางการแพทย์สนับสนุน และนำข้อมูลที่แพทย์มายื่นขอความเป็นธรรมมาเป็นเหตุผล ระวังมีคนไปร้องผิดม.157 ต่อปปช. ด้านรมว.สธ.เผยยังไม่ชัด ยับยั้งมติ‘แพทยสภา’หรือไม่ อ้างรอข้อมูลก่อนตัดสินใจ ยกกฎหมายให้อำนาจ‘สภานายกพิเศษ’ลั่นไม่อยากให้มีก็ไปแก้กม.ย้ำต้องพิจารณาให้ดี ไม่เช่นนั้นเสี่ยง‘ม.157’ผลประชุม 10 ขุนพลนัดแรก ยังขาดข้อมูลขั้นตอนกก.กลั่นกรองแพทยสภา รอช้าสุด26พ.ค.ก่อนสรุปส่ง’สมศักดิ์’
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คเตือนสตินายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข โดยแสดงความเห็นต่อคณะทำงานที่นายสมศักดิ์ ตั้งขึ้นมา 10 คน ให้มาช่วยพิจารณามติแพทยสภาให้ลงโทษแพทย์ 3 คนที่อนุมัติให้นายทักษิณเข้ารักษาตัวชั้น 14 รพ.ตำรวจว่า ดูแล้วน่าจะผิดทิศผิดทาง เสี่ยงทำให้นายสมศักดิ์ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
นพ.วรงค์ให้เหตุผลว่า 1.มติแพทยสภา เป็นเรื่องจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพ แต่คณะทำงานที่ตั้งขึ้น10 คน กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย 8 คน เป็นแพทย์ 2 คน จะเอานักกฎหมายมาพิจารณาจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์อย่างนั้นหรือ 2.ถ้าดูตามขั้นตอนกฎหมาย อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี ในฐานะสภานายกพิเศษ มีอำนาจเพียง “เห็นชอบหรือยับยั้งมติแพทยสภา” นั่นคือเห็นชอบหรือไม่ ที่จะตักเตือนแพทย์ 1คน และพักใบประกอบวิชาชีพแพทย์อีก 2 คน ถ้าคุณไม่เห็นชอบ คุณมีเหตุผลทางการแพทย์อะไรมาสนับสนุน เพื่อลดหรือเพิ่มความหนักเบาของโทษทางจริยธรรม ซึ่งขณะนี้คำสั่งแพทยสภาที่เป็นทางการ ยังไม่ออกมา เพราะทุกอย่างยังอยู่ในขั้นตอน การที่แพทย์ 2คน อ้างข้อมูลใหม่มาร้องขอความเป็นธรรม จึงเสี่ยงที่มีการแทรกแซงการพิจารณาคดีจริยธรรมโดยฝ่ายการเมือง
นพ.วรงค์ระบุด้วยว่า การร้องขอความเป็นธรรมไม่ใช่ขั้นตอนนี้ ต้องรอให้ทุกอย่างจบมีคำสั่งแพทยสภาออกมาเป็นทางการก่อน การมาร้องระหว่างการพิจารณายังไม่เสร็จ จึงเสี่ยงแทรกแซงคดีสูงมาก
“สิ่งที่นายสมศักดิ์ต้องรู้ ถ้าคุณยับยั้งมติแพทยสภา ที่ไม่มีเหตุผลทางการแพทย์สนับสนุน และไปเอาข้อมูลที่แพทย์มาร้องมาเป็นเหตุผล ผมเชื่อว่ามีคนไปร้องมาตรา157 ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)แน่ ที่สำคัญถ้าคุณยับยั้ง หากแพทยสภามีมติไม่ถึง 2/3 ของคณะกรรมการทั้งหมด ไม่ใช่ทุกอย่างจบ กฎหมายยังให้คณะกรรมการฯแพทยสภา เริ่มต้นลงมติเพื่อลงโทษใหม่ โดยใช้ชุดข้อมูลของอนุกรรมการสอบสวนชุดเดิม เพราะกฎหมายให้ความสำคัญกับความจริงที่อนุสอบสวนสอบมา คุณอย่าคิดว่า ทุกอย่างจะจบลงง่ายๆ”นพ.วรงค์ระบุ
ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแพทยสภาส่งมติมาให้พิจารณาลงโทษแพทย์3 คน กรณีส่งนายทักษิณไปรักษาที่รพ.ตำรวจว่า คณะกรรมการเสนอความเห็นสภานายกพิเศษเพื่อพิจารณาตามมาตรา 25 แห่งพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ที่ตนตั้งขึ้น มีหน้าที่ให้คำปรึกษาตน ทั้งนี้ การพิจารณาแพทยสภาต้องผ่านคณะกรรมการ 4 ชุดคือ
คณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมชุดเฉพาะกิจ เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวมีมติจะส่งให้คณะกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจ เมื่อทำงานจบแล้วจะส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรอง จากนั้นนำเข้าคณะกรรมการแพทยสภาที่มีคณะกรรมการ 70 คน พิจารณาโทษ ซึ่งตนได้ข้อมูลจากคณะกรรมการทั้ง 4 ชุด แต่ยังไม่ได้คำตอบ หากได้คำตอบมาแล้วจะประชุมร่วมกับคณะกรรมการที่ตนตั้งขึ้นตามมาตรา 25วันนี้ตนยังไม่สามารถบอกข้อมูลได้ว่าจะยับยั้งหรือไม่ เพราะข้อมูลยังไม่ครบ ยังมีเอกสารที่ต้องเอานำมาเสนอเพื่อให้สอดคล้องกับที่เริ่มมาตั้งแต่เรื่องจริยธรรม
ผู้สื่อข่าวถามว่าข้อมูลยังไม่ครบ จะประชุมได้หรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า อยู่ที่คณะกรรมการฯ เพราะตนเชิญมาเป็นที่ปรึกษา ก็ควรให้อิสระกรรมการแต่ละคน ยังมีเวลาอยู่ เอกสารมากเหลือเกิน ตนอ่านไม่ไหว ซึ่งต้องทำภายใน 15 วัน อย่างหนังสือมติแพทยสภามาวันที่ 16 พฤษภาคม ก็นับไปอีก 15 วันรวมวันเสาร์อาทิตย์ น่าจะประมาณวันที่ 31 พฤษภาคม ก็ควรต้องพิจารณาแล้วเสร็จวันที่ 28-29 พฤษภาคม
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ข้อมูลการรักษา ผลสอบของคณะกรรมการต้องออกมาจากแพทยสภาใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ตนดูในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตนตามมาตรา 25 และจะรับฟังจากคณะกรรมการเสนอความเห็นสภานายกพิเศษฯที่ตั้งขึ้นมาเป็นหลัก
เมื่อถามว่า อดีตแพทยสภาออกมาตั้งคำถามว่า หากมีพ.ร.บ.แพทยสภาฉบับใหม่ ควรให้อำนาจสภานายกพิเศษยับยั้งมติแพทยสภาหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า “นั่นสิ กฎหมายเขียนไว้ทำไม ต้องไปเปลี่ยนกฎหมายใหม่ เพราะผมทำตามกฎหมาย ถ้าผมไม่ทำตามกฎหมายก็จะมีความผิด เหมือนแพทยสภาถ้าไปพิจารณาแล้วทำให้ผู้ที่ถูกพิจารณาโทษรู้สึกว่าไม่ผิด เขาฟ้องร้อง จะเป็นปัญหา เหมือนผมไม่ดำเนินการอะไร ปล่อยไว้เฉยๆ ก็อาจถูกฟ้องร้องได้ ถ้าคิดว่าสภานายกพิเศษไม่มีประโยชน์ กฎหมายก็ต้องเปลี่ยน แต่ตรงนี้ผมถูกบังคับด้วยกฎหมาย เลยต้องทำงาน”
ถามว่ากำหนด 15 วันที่สภานายกพิเศษต้องพิจารณามติแพทยสภาจะเริ่มนับตั้งแต่วันไหน นายสมศักดิ์กล่าวว่า ตนคิดว่าถ้าข้อมูลครบก็จะใช้เวลา 15 วันหลังได้รับหนังสือจากแพทยสภา ทั้งนี้ จากการขอข้อมูลไปครั้งที่สอง หากได้กลับมาข้อมูลก็ครบแล้ว จะพยายามไม่ขอขยายเวลา
ถามถึงกรณีแพทยสภาแนบเอกสารมาในรายงานว่า นายทักษิณไม่ได้ป่วยวิกฤติ ตรงนี้จะขอข้อมูลเพิ่มอีกหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ส่วนตนเข้าใจว่า เขาพิจารณาไปหมดแล้ว ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้ก็ยังไม่ได้พูดถึง และมีการเสนอความเห็นมายังสภานายกพิเศษ ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา 157 เกี่ยวข้องกับคนที่อยู่ในกระบวนการทั้งหมดรวมถึงตน และคนที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการแต่ละชุด ฉะนั้น เราต้องพิจารณาให้ดีตามอำนาจหน้าที่ที่เรามี
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ได้อ่านหนังสือของนายแพทย์โรงพยาบาลตำรวจที่ร้องขอความเป็นธรรมหรือยัง นายสมศักดิ์กล่าวว่า ดูแล้ว ตนจึงขอเอกสารจากแพทยสภาว่าตรงกับสิ่งที่เขาร้องเรียน ขอร้อง ขอความเป็นธรรมมาหรือไม่ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับมาตรา 157
กรณีนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ระบุหากยับยั้งมติแพทยสภาโดยไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ สภานายกพิเศษอาจโดนมาตรา 157 นายสมศักดิ์กล่าวว่า คนต้องถูกตรวจสอบโดยกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการของแพทยสภาทุกชุด เราต้องระวังว่าอะไรที่ควรหรือไม่ควร ต้องดำเนินการไม่ให้ขัดกับมาตรา 157 เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
เวลา 13.30 น.ที่กระทรวงสาธารณสุข มีการประชุมคณะกรรมการเสนอความเห็นสภานายกพิเศษเพื่อพิจารณา ตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 พิจารณาปมมติแพทยสภาลงโทษแพทย์รักษานายทักษิณ ชินวัตรที่รมว.สาธารณสุขแต่งตั้ง เพื่อพิจารณาก่อนส่งกลับคณะกรรมการแพทยสภาว่าจะเห็นด้วย หรือวีโต้ ภายใน 15 วัน โดยวันนี้คณะกรรมการเข้าประชุมนัดแรกครบทุกคน และประชุมบริเวณใกล้ห้องทำงานรมว.สาธารณสุข ที่ชั้น 4 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ขณะที่นายสมศักดิ์ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย
หลังหารือนายกองตรีธนกฤตจิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข แถลงว่าการประชุมนัดแรกเป็นการพิจารณาเอกสารจากแพทยสภา ซึ่งมีหลายพันหน้า แต่คณะกรรมการเห็นว่า มีเอกสารบางส่วนยังขาดในขั้นตอนต่างๆของแพทยสภา ทำให้คณะกรรมการมีความเห็นว่า ต้องให้สภานายกพิเศษขอข้อมูลเพิ่มเติม หากแพทยสภานำส่งข้อมูลได้เร็ว ก็ะสามารถสรุปเรื่องนี้ได้อย่างรวดเร็ว และประธานที่ประชุมมีความเห็นว่า หากได้ข้อมูลแล้วให้มีความเห็นตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งถือเป็นหลักในการวิเคราะห์ กรรมการจะพิจารณารายบุคคลที่ถูกแพทยสภาพิจารณา โดยมี 4 คน แม้แพทยสภาจะมีมติลงโทษ 3คน แต่กรรมการจะพิจารณาทั้งหมดแบบรายบุคคล
“เราจะเร่งประชุมในสัปดาห์นี้ หากเอกสารแพทยสภาส่งมาไว แต่หากเลยสัปดาห์นี้ ก็จะประชุมสัปดาห์หน้าคือวันที่ 26 พฤษภาคม เวลา 14.00 น. และเสนอต่อสภานายกพิเศษ คาดว่าต้องแล้วเสร็จส่งสภานายกพิเศษภายใน 29 พฤษภาคมซึ่งข้อมูลที่ขาดหายไปและเราต้องการคือ ของคณะกรรมการกลั่นกรอง ของแพทยสภา” นายกองตรีธนกฤต กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี