‘สวนดุสิตโพล’ชี้ปชช.มอง‘ฮั้วสว.’สะท้อนสรรหาไม่โปร่งใส จี้ปฏิรูปโครงสร้างการเมือง
25 พฤษภาคม 2568 “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศที่สนใจติดตามข่าวการเมือง เรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไร กับ กรณีข่าวฮั้ว สว.” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,211 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 20-23 พฤษภาคม 2568 สรุปผลได้ดังนี้
1. ประชาชนคิดอย่างไรต่อกระแสข่าว กรณีฮั้ว สว.กับพรรคการเมือง
อันดับ 1 ไม่เชื่อมั่นในระบบการเมืองไทยในปัจจุบัน 56.73%
อันดับ 2 หากผิดจริง อยากให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย นำผู้กระทำผิดมารับโทษ 53.34%
อันดับ 3 ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของ สว.และนักการเมืองยิ่งเสื่อมเสีย 52.93%
2. ประชาชนคิดว่ากรณีฮั้ว สว. เกิดจากสาเหตุใด
อันดับ 1 ระบบการเลือกตั้ง สว. ความไม่โปร่งใสในกระบวนการขั้นตอน 60.36%
อันดับ 2 พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน 59.70%
อันดับ 3 เป็นเกมการเมือง แข่งขันกันระหว่างกลุ่มต่างๆ 57.56%
3. ประชาชนคิดว่าความขัดแย้งจากกรณีฮั้ว สว. จะส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐบาลหรือไม่
อันดับ 1 ส่งผลกระทบ 66.15%
อันดับ 2 ไม่ส่งผลกระทบ 33.85%
4. ประชาชนคิดว่าควรแก้ไขปัญหากรณีฮั้ว สว. อย่างไร
อันดับ 1 เร่งปฏิรูประบบการเลือกตั้ง สว. 61.81%
อันดับ 2 มีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้น โปร่งใสมากขึ้น 55.34%
อันดับ 3 รอให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการ 50.87%
5. จากกรณีฮั้ว สว. ประชาชนได้รับผลกระทบอะไรบ้าง
อันดับ 1 เกิดความไม่ไว้วางใจในสังคม เกิดความขัดแย้งทางความคิด 57.12%
อันดับ 2 ประชาชนรู้สึกไม่มั่นใจในระบบประชาธิปไตย 54.30%
อันดับ 3 ทำให้ประชาชนสนใจติดตามการเมืองมากขึ้น 48.84%
นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลโพลสะท้อนว่าจากกรณีข่าว ฮั้ว สว. ประชาชนไม่เพียงแค่ไม่เชื่อมั่นในระบบการเมือง แต่ยังต้องการให้ปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะระบบการเลือกตั้ง สว. และกระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใส ความไม่ไว้วางใจที่เพิ่มขึ้นและความรู้สึกไม่มั่นคงในประชาธิปไตยเป็นสัญญาณที่รัฐบาลต้องให้ความสนใจก่อนจะกระทบต่อเสถียรภาพในระยะยาว
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจริญพูล หัวหน้าศูนย์พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการด้านกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า กรณีข่าว “ฮั้ว สว.” ไม่เพียงแต่สะท้อนปัญหาความไม่โปร่งใสในกระบวนการสรรหา สว. แต่ยังตอกย้ำถึงความไม่เชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบการเมืองไทย สถานการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากย้อนดูพัฒนาการทางการเมืองจะเห็นว่าตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 การได้มาซึ่ง สว. สะท้อนถึงอำนาจที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง ทั้งการเกิดขึ้นของ “สภาผัวเมีย” หรือ “ปลาสองน้ำ” ล้วนแสดงให้เห็นถึงการแทรกซึมของฝ่ายการเมือง ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ คสช. มีบทบาทในการแต่งตั้งและสรรหา สว. ยิ่งสร้างข้อกังขาต่อความชอบธรรมในการใช้อำนาจ
ทั้งนี้ สถานะของ สว. ที่ควรเป็นกลไกตรวจสอบกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และนำมาซึ่งเรียกร้องให้ปฏิรูประบบการได้มาซึ่ง สว. ดังนั้น ความคาดหวังของประชาชนจึงมิได้อยู่ที่การเปลี่ยนตัวบุคคลเท่านั้น แต่ต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สะท้อนถึงความเป็นประชาธิปไตยและมีความถูกต้องยุติธรรมในกระบวนการ อย่างไรก็ตามคำถามสำคัญคือ เราจะปฏิรูปอย่างไร เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เหมาะสมกับบริบททางการเมืองของประเทศไทย
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี