'ผู้นำฝ่ายค้าน' ประเดิมซัด ‘นายกฯ’ ละเลยคุมงบประมาณ ลามกลายเป็นวิกฤตการเมือง สู่ระบบ ‘รัฐขูดรีด’ ความเชื่อมั่นประชาชนพังไปแล้ว
วันที่ 28 พฤภาคม 2568 เมื่อเวลา 17.15 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 วงเงิน3.78ล้านล้านบาท วาระแรก
โดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรลุกขึ้นอภิปรายว่า เป็นปีที่2ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่จัดงบขาดดุลสูงเกือบติดเพดาน ทำให้ต้องกู้ชดเชยการคลังสูงสุดในรอบ 36 ปี นับจากปี2532 สิ่งที่น่ากังวล ไม่ใช่การกู้แต่คือรัฐบาลใช้เงินเกินตัวโดยไม่มีแผนการลงทุนหรือการหารายได้รองรับ โดยการกู้นั้นไม่สร้างอนาคตให้ประเทศ โดยงบประมาณที่เสนอขอ 3.78 ล้านล้านบาท พบว่าใช้ได้จริงเพียง 1 ใน 4 หรือ 1.06 ล้านล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้รัฐบาลปัจจุบันไร้ทิศ ไร้ทาง ไร้ภาพ ไม่สามารถหาทางออกให้ประเทศ แต่ทำให้การบริหารแผ่นดินเดินแบบสะเปะสะปะอยู่ในระบบของราชการประจำ เพราะใช้เวลาแก้ปัญหาขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ได้นำประเทศฝ่าพ้นวิกฤต
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า มติครม. เปลี่ยนงบดิจิทัลวอลเล็ต 1.57 ล้านบาท ไปเป็นงบลงทุนระยะสั้น แต่วิธีการจัดการจริงรัฐบาลไม่มีภาพอะไรในหัว เพราะคือการโยนเงินไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ให้ส่งคำของบประมาณทัน 3 วันแม้จะขยายกรอบงบประมาณ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีแผนแม่บท วิสัยทัศน์ร่วมกับประเทศ ซึ่งตนมองว่าไม่ใช่การกระจายยุทธศาสตร์สู่ท้องถิ่นแต่คือการกระจายภาระไปให้ท้องถิ่นคิดแทนรัฐบาล
“เป็นการกระจายผลประโยชน์ให้กับกลุ่มผลประโยชน์ของรัฐบาลที่รู้ข่าวล่วงหน้า ถึงจัดทำคำขอได้ทันภายในกรอบระยะเวลาอันสั้นใช่หรือไม่ ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงรัฐบาลที่ขาดเจตจำนงในการบริหารประเทศ และกล้าพูดได้ว่าการอภิปรายงบฯ69 บทใช้งบปี68 เพราะไส้ในไม่เปลี่ยน ความไร้ภาพนี้ไม่ใช่บังเอิญ แต่เกิดจากการไร้สภาพของรัฐบาลในการบริหารประเทศ” นายณัฐพงษ์ อภิปราย
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ อภิปรายว่า ประเทศไทยอยู่ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อของวิกฤตการจัดงบประมาณปี2569 คือ บทพิสูจน์ว่าจะผ่านไปได้หรือไม่ ทั้งประเด็นสงครามการค้าที่มีผลกระทบต่อการส่งออก และซ้ำเติมจากการสวมสิทธิและสินค้าเถื่อนราคาถูกจากต่างประเทศ ทั้งนี้จีดีพีของการผลิตและการบริโภคที่สวนทาง สะท้อนว่าการแจกเงินใช้ไม่ได้อีกต่อไป ทั้งนี้ตนมองว่าหากมีการปฏิรูประบบงบประมาณ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมได้ ทั้ง การรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างสมดุล การลงทุนเครื่องจักรเศษฐกิจใหม่ เช่น การลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทค การฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว ไม่ใช่ใช้งบลงทุนเพื่อตัดถนน ขุดคลอง สร้างอาคาร
“การจัดทำงบประมาณปี69 คือ การจัดกลุ่มตัวเลขไม่ใช่การให้ความสำคัญก่อนหลัง ทั้งนี้มีผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณ เพื่อทำงบประมาณรูปแบบใหม่และธรรมนูญปลดล็อคท้องถิ่น หากเสนอสภาฯ ไม่ผ่าน เพราะรัฐบาลไม่คิดเปลี่ยนแปลงของการจัดงบทำให้มองไม่เห็นยุทธศาสตร์ใดๆ จากงบสูตรเดิม อยากให้ความหวังกับประชาชนด้วยว่าประเทศไทยไม่ขาดเงิน จะฝ่าวิกฤตได้ รัฐบาลต้องบริหารเงินแผ่นดินที่อยู่ในทุกหน่วยงานของรัฐ รวมถึงรัฐวิสาหกิจ เฉพาะที่มีอยู่เท่ากับ 7-8 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็น 40% ต่อจีดีพีแต่ปัญหาไม่มีใครเชื่อมโยงเงิน รัฐวิสาหกิจต่างลงทุน และท้องถิ่นไม่เชื่อมโยงการบริหารประเทศ” ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าว
นายณัฐพงษ์ อภิปรายต่อว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ขาดเงิน แต่ขาดการใช้เงินและลงทุนอย่างมีเป้าหมาย โดยงบปี2569 เช่น รัฐบาลทุ่มงบกับการจัดการน้ำ ตลิ่ง เขื่อน คลองมากกว่าเพิ่มพื้นที่รับน้ำ หรือระบบเตือนภัย งบเกษตรฯเน้นการเยียวยาไม่มีการลงทุน งบซอฟท์พาวเวอร์กลายเป็นงบอีเว้นท์ ประชาสัมพันธ์ซ้ำซ้อน งบสิ่งแวดล้อมเน้นสร้างซ่อมมากกว่าการแก้เชิงระบบ งบดูแลคนพิการตกหล่อน กระจัดกระจาย ซ้ำซ้อน ขาดการเข้าถึงอุปกรณ์พื้นฐาน ดังนั้นต้องเปลี่ยนวิธี เช่น งบประกันสินเชื่อเอสเอ็มดี เพื่อเพิ่มตัวคูณในระบบเศรษฐกิจถึง 7 เท่า งบช่วยเหลือเกษตรกรเปลี่ยนจากแจกเป็นเงินลงทุนอย่างมีเป้าหมาย สนับสนุนเครื่องจักรเฉพาะพื้นที่ พืช และเฉพาะเวลาเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดโลกร้อน
“โลกเปลี่ยนแปลง แต่งบประมาณไทยไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีวิธีการใช้งบที่คุ้มค่าแม้นายกฯ ไม่ได้ทำงบประมาณ แต่คือคนที่คุมสำนักงบประมาณ เมื่อปล่อยให้ประเทศไทยใช้งบแบบไร้เป้าหมาย ไม่ปรับทิศทาง หรือเปลี่ยนทีม จึงต้องตั้งคำถามว่าประเทศไทยมีคนที่เป็นผู้นำรัฐบาลอยู่จริงหรือไม่ สิ่งที่เห็นในร่างพ.ร.บ.งบฯ69 นายกฯไม่เคยลงมาดูว่าเป้าหมายที่ประกาศหน่วยงานตั้งงบประมาณไว้หรือไม่ หรือทบทวนปรับเป้าหมาย รวมถึงไม่ตัดงบประมาณที่ซ้ำซ้อนเพื่อทำให้การทำงานดียิ่งขึ้น” นายณัฐพงษ์ กล่าว
นายณัฐพงษ์ อภิปรายต่อว่า ตนขอเตือนนายกฯ ว่าวันนี้ไม่ใช่การทำงบประมาณที่ผิดพลาด แต่คือกระจกที่สะท้อนไปยังตัวนายกฯ ว่าไม่มีเป้าหมายให้ประเทศ ละเลยการทำหน้าที่ผู้นำรัฐบาล ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยประกาศต่อสภาฯว่าจะปฏิรูประบบราชการที่ทันสมัย แต่การจัดงบประมาณสูตรเดิม เหมือนกับว่าประเทศไทยไม่เคยมีนายกฯ อยู่
“เราไม่เคยมีผู้นำที่รู้จักใช้อำนาจเปลี่ยนงบประมาณที่ล้มเหลวเพื่อไม่ให้ประเทศล้มเหลวไปด้วย ผมขอย้ำว่าสถานการณ์ตอนนี้ไม่ใช่วิกฤตการคลัง แต่เป็นวิกฤตทางการเมือง เป็นวิกฤตของสถาบันรัฐไทยที่เริ่มเป็นระบบขูดรีดทั้งนี้ประเทศไทยเกือบจะเป็นรัฐล้มเหลว หากจัดทำงบประมาณแบบเดิมที่ไม่เปลี่ยน นายกฯไม่ปรับการทำงาน วันนี้ประเทศไทยไม่ใช่รัฐล้มเหลวที่สมบูรณ์ โครงสร้างรัฐไม่พัง แต่ความเชื่อมั่นของประชาชนพังไปแล้ว” นายณัฐพงษ์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี