ไทยเตรียมเข้าร่วมประชุม‘รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน’ ครั้งที่ 58 และการหารือระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 8 - 11 ก.ค.นี้ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
3 กรกฎาคม 2568 ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายพลพงศ์ วังแพน อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ แถลงภาพรวมและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 58 และการหารือระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง หรือ AMM/PMC โดยนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 58 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 8 - 11 กรกฎาคม 2568 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศ หรือผู้แทนจาก 30 ประเทศและองค์กรเข้าร่วมการประชุมด้วย สำหรับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะหารือเกี่ยวกับพัฒนาการความร่วมมือของอาเซียนภายใต้แนวคิดหลัก “Inclusivity and Sustainability” ของมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ซึ่งจะช่วยเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 47 ในเดือนตุลาคม 2568 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์
การเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ไทยจะได้แสดงท่าทีและแสดงจุดยืนของไทยต่อสถานการณ์ในภูมิภาค ต่อสถานการณ์โลก รวมไปถึงเรื่องของการผลักดันความร่วมมือในด้านต่างๆอีกด้วย ในการประชุมครั้งนี้ ไทยยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการในภูมิภาคและสถานการณ์โลกที่สำคัญ กับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศคู่เจรจาของอาเซียน 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ รวมทั้งผ่านกรอบการประชุมต่าง ๆ อาทิ การประชุมอาเซียนบวกสาม การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) รวม 17 การประชุม อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะทำหน้าที่ประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-เกาหลีใต้ ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลีใต้ วาระปี 2567-2570 รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ยังจะใช้โอกาสนี้ผลักดันความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ อาทิ ภัยความมั่นคงของมนุษย์ ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ อาชญากรรมออนไลน์ และการพัฒนาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งความพยายามในการรับมือกับสถานการณ์โลกที่ผันผวน และการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคภายใต้มุมมองของอาเซียนต่ออินโด - แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP)
นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ใช้โอกาสในการพบหารือทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะมีรัฐมนตรีต่างประเทศและผู้แทนจาก 30 ประเทศและองค์กรเข้าร่วม ทั้งประเทศมหาอำนาจ (เช่น จีน สหรัฐฯ รัสเซีย) และองค์กรสำคัญ เช่น EU จึงเป็นโอกาสสำคัญในการพบหารือทวิภาคีกับมิตรประเทศทั้งในอาเซียนและนอกอาเซียน เพื่อผลักดันประเด็นความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง การค้า การลงทุน สาธารณสุข และการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดันในการประชุครั้งนี้ ได้แก่ (1) การส่งเสริมความเป็นแกนกลางและเอกภาพของอาเซียน (2) การส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (3) ความร่วมมือด้านดิจิทัล (4) การพัฒนาที่ยั่งยืน ย้ำบทบาทของไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (5) การส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ เน้นการแก้ปัญหาภัยความมั่นคงข้ามพรมแดน อาทิ online scam อาชญากรรมไซเบอร์ และยาเสพติด ปัญหาหมอกควันข้ามแดน และ (6) สถานการณ์ในเมียนมา สนับสนุนบทบาทนำของอาเซียนในระยะการฟื้นฟูหลังเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา และ สนับสนุนให้เกิดการหารือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครอบคลุม
ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ ได้แก่ 1.ส่งเสริมบทบาทนำของไทยในอาเซียน เนื่องจากการประชุม AMM/PMC เป็นเวทีสำคัญที่สะท้อนถึงบทบาทเชิงรุกและสร้างสรรค์ของไทยในเวทีอาเซียน รวมถึงแสดงความพร้อมในการขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม 2.ผลักดันผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและการค้า โดยไทยสามารถใช้เวทีนี้ผลักดันความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่และอยู่ระหว่างเจรจา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม 3.ต่อยอดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการและภาคเอกชนไทย ให้สามารถเชื่อมต่อกับภูมิภาคและตลาดโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นประธานคณะกรรมการการเจรจา Digital Economy Framework Agreement (DEFA)
4.เสริมความมั่นคงและรับมือกับภัยคุกคามใหม่ โดยเฉพาะอาชญากรรมข้ามพรมแดน ยาเสพติด ปัญหาหมอกควัน และอาชญากรรมไซเบอร์ เป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั้งในและนอกอาเซียนเผชิญร่วมกัน 5.ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ประสานงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียน รวมทั้งจะช่วยเสริมบทบาทของไทยในเวทีโลกด้านสิ่งแวดล้อม และอาจเปิดโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนหรือโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศในอนาคต 6.เสริมบทบาทไทยและอาเซียนต่อสถานการณ์ในเมียนมา
นายพลพงศ์ กล่าวอีกว่า เรื่องอื่นๆที่คิดว่าจะมีการยกขึ้นหารือในเวทีอาเซียน นอกจากความร่วมมือต่างๆที่กล่าวไปแล้ว ก็คงจะเป็นโอกาสที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะพูดคุยถึงสถานการณ์ในโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตะวันออกกลาง หรือเรื่องของรัสเซียยูเครน รวมไปถึงเรื่องของเมียนมาร์ซึ่งก็ยังเป็นปัญหาที่จะต้องมีการถกกัน โดยเฉพาะบทบาทของอาเซียนที่จะช่วยในเรื่องของการบรรเทาทุกข์ช่วยในเรื่องของการฟื้นฟูเมียนมาหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว รวมไปถึงเรื่องของการขับเคลื่อนฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นภาพรวมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 58 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเทศไทยสนับสนุนให้ติมอร์ เลสเต เข้าเป็นสมาชิกของอาเซียนใช่หรือไม่ นายพลพงศ์ กล่าวว่า เราสนับสนุน และชัดเจนแล้วว่าที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนได้มีมติแล้วว่าจะรับ ติมอร์ เลสเต เข้าเป็นสมาชิกอย่างเต็มตัว ในการประชุมสุดยอดอาเซียนในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ดังนั้น ในช่วงนี้ก็จะเป็นช่วงที่จะดำเนินการตามขบวนการที่จะทำให้ติมอร์มเลสเตเข้ามาเป็นสมาชิกเต็มตัวได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด สำหรับประเด็นปัญหาติมอร์กับเมียนมา ก็เป็นปัญหาที่ทางอาเซียน คือมาเลเซีย คงจะต้องไปพูดคุยหารือที่จะทำให้ปัญหานี้คลี่คลายลงไป เพราะว่าชัดเจนตั้งแต่ประชุมผู้นำเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาแล้วว่าจะรับติมอร์ เข้ามาเป็นสมาชิกอย่างเต็มตัวภายในปีนี้
ถามต่อว่า ช่วงนี้เหตุการณ์บ้านเมืองเราตอนนี้ไม่ค่อยสงบจะส่งผลอะไรกับการประชุมอาเซียนในช่วงปลายปีหรือไม่ นายพลพงศ์ กล่าวว่า ความจริงเรื่องของประเทศเพื่อนบ้านสองประเทศ ก็เป็น สิ่งที่เราต้องไปบริหารจัดการกัน ในระหว่างสองประเทศ ก็คิดว่าเราก็ยังมีช่องทางที่จะเจรจาพูดคุยกันอยู่ได้ในระดับต่างๆ ที่ผ่านมาเราก็สามารถที่จะคลี่คลายปัญหาระหว่างเพื่อนบ้านด้วยกัน ด้วยความสำเร็จมาโดยตลอด และผมก็คิดว่าแนวทางนี้จะเป็นแนวทางที่นานาประเทศก็สนับสนุน และผมก็เชื่อว่าประธานอาเซียน คือมาเลเซีย ก็คงจะรับทราบสถานการณ์ดี แล้วก็จะสนับสนุนแนวทางตามที่ผมกล่าวไปแล้วนั้น
ถามว่า ที่ผ่านมาประธานอาเซียน และกลุ่มอาเซียนได้มีแนวทางปฏิบัติอะไรในการที่จะลดความขัดแย้งระหว่างไทยกัมพูชาบ้างหรือไม่ อธิบดีกรมอาเซียน กล่าวว่า ขณะนี้ สถานการณ์ ระหว่างไทย -กัมพูชา ที่บริเวณชายแดน เป็นปัญหาระหว่างประเทศเพื่อนบ้านสองประเทศ ณ ขณะนี้สถานการณ์ก็อยู่ในขั้นที่สองประเทศยังบริหารจัดการกันได้อยู่ เพราะฉะนั้น ในเวทีระหว่างประเทศยังไม่มีการหยิบยกเรื่องเหล่านี้มา และคิดว่านานาประเทศก็จะสนับสนุนแนวทางการให้สองประเทศพูดคุยกันหาทางออกร่วมกันต่อไป
เมื่อถามว่า ประเทศที่จะมาประชุมด้วยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศมาเองทั้งหมดหรือไม่ อธิบดีกรมอาเซียน กล่าวว่า ในชั้นนี้ ประเทศหลักๆส่วนใหญ่จะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศมาเองเกือบทั้งหมด เช่น สหรัฐ จีนรัฐมนตรีต่างประเทศก็มาเอง รอยืนยันอยู่แค่สองสามประเทศเท่านั้น ส่วนอินเดียระดับรัฐมนตรีช่วยมาแทน ส่วนที่เหลือยังรอยืนยันอยู่
ถามว่า มาเลเซียเจ้าภาพ เน้นด้านดิจิทัลอีโคโนมีเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจในอาเซียนให้มีความยั่งยืน จะมีความเกี่ยวเนื่องกับการหารือในเรื่องภาษีทรัมป์ หรือไม่ เพราะอาเซียนแต่ละประเทศก็มีปัญหากับเกี่ยวกับเรื่องภาษี จะมีโอกาสหารือในเรื่องนี้หรือไม่
อธิบดีกรมอาเซียน กล่าวว่า เรื่องมาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐ ก็จะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะพูดคุยกัน ซึ่งท่าทีของอาเซียนค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว ว่าในอาเซียนจะไม่มีมาตรการที่จะไปตอบโต้ แต่จะขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศสมาชิกในการที่จะไปเจรจากับทางสหรัฐเอง เพราะว่าผลประโยชน์ของแต่ละประเทศในส่วนนี้ค่อนข้างแตกต่างกันพอสมควร แต่ท่าทีร่วมกันของอาเซียน ในการที่จะรับมือกับผลกระทบในส่วนนี้ เราจะต้องมาเสริมสร้างพลังของอาเซียนเองให้เข้มแข็งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่จะพัฒนาความร่วมมือในนวัตกรรมหรืออุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งเศรษฐกิจดิจิทัลก็เป็นอีกสาขาหนึ่งที่ขับเคลื่อนการพัฒนา หรือการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้มีความเข้มแข็งและแข็งแกร่งมากขึ้นที่จะไปทัดทานหรืออย่างน้อยผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งในเรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัลก็ครอบคลุมค่อนข้างหลากหลาย หมายความว่าประเทศไทยเองก็จะต้องมีการพัฒนาในเรื่องของทรัพยากรต่างๆโดยเฉพาะทรัพยากรบุคคลในเรื่องของไอที ในเรื่องการศึกษาเรื่องนี้เป็นต้น รวมถึงมาตรการทางการค้าการลงทุนที่เอื้อต่อความร่วมมือในด้านนี้ให้มากขึ้น ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้อาเซียนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของการรวมตัวทางเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้น
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี