ฝ่ายค้านจวกรบ.
ไม่มีเสถียรภาพ
เหตุทำสภาล่ม
เชื่อคุมเสียงยาก
“จุลพันธ์” เผยไทยเจรจา“ภาษีทรัมป์” ไม่จบง่าย แต่มีสัญญาณบวก หวังได้เลื่อนช่วงเวลาบังคับใช้มาตรการ 9 กรกฎาคมนี้ ย้ำความสัมพันธ์ 2 ชาติ แน่นแฟ้น เชื่อไทยมีอำนาจต่อรองไม่ด้อยกว่าเวียดนาม ด้าน “ทรัมป์”ร่อนจม.แจ้งอัตราภาษี 100 ประเทศ อาจเจออัตรา 10%
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ว่าแม้ยังไม่ได้ข้อสรุปสุดท้าย แต่ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างเจรจาในหลายระดับ ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้อาจไม่จบง่าย 100% อาจจะต้องเปิดเวทีให้มีการพูดคุยกันต่อ รวมถึงเชื่ออีกว่าสหรัฐฯ จะเข้าใจ และจะมีการเลื่อนกรอบระยะเวลาที่จะมีผลกระทบออกไปอีก ส่วนอัตราภาษีสรุปสุดท้ายจะออกมาอยู่ที่อัตราเท่าใดนั้น ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา แต่เชื่อมั่นว่าจะมีผลลัพธ์ที่ดี
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนผลการเจรจาสหรัฐฯ และเวียดนาม ไม่อยากให้ตกใจ และยอมรับว่าน่าห่วงกับเวียดนาม เนื่องจากอัตราที่เวียดนามได้ คือเวียดนามจะถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 20% ขณะที่สินค้าสหรัฐฯ ที่นำเข้าเวียดนามจะได้อัตราภาษี 0% อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า เทียบกับไทยไม่ได้ เพราะหากมองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศค่อนข้างแตกต่างจากไทยที่มีสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มายาวนาน แม้เรื่องนี้จะใช้ชั่งน้ำหนักในการเจรจามากไม่ได้ แต่ก็เป็นความหวังหนึ่ง
“ฝ่ายไทยมีความหวังว่า ประเทศไทยจะยังคงอยู่ในระดับที่ดีที่สุด หรือจุดที่ก่อนจะมีการเก็บภาษีที่ 10% หรือไม่ แต่จากการติดตามผลการเจรจาของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม พบว่าตัวเลขที่ออกมาค่อนข้างน่าเป็นห่วง ต้องยอมรับว่ามีความกังวล” รมช.คลัง กล่าวและว่า ทีมไทยแลนด์ โดยการนำของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง มีกำหนดการสำคัญในการหารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เพื่อขอเจรจาลดการเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงจากเดิมในอัตรา 36% ที่ผ่านมาไทยยื่นข้อเสนอไปแล้ว และมีสัญญาณตอบรับที่ดีจากสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอฟังว่า ผลเจรจาเมื่อคืนที่ผ่านมาจะมีข่าวดีหรือไม่
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลไม่ได้มองในกรณีเลวร้ายว่าสหรัฐฯ จะกลับไปเก็บภาษีนำเข้าจากไทยที่อัตรา 36% อยู่แล้ว แต่หากการเจรจาไม่เป็นผล และสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราภาษีนิติบุคคลเป็น 36% ไทยก็เตรียมกลไกรองรับไว้แล้ว รัฐบาลจัดสรรเม็ดเงินราว 1 หมื่นล้านบาท จากวงเงินงบประมาณ 1.15 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถนำมาใช้ช่วยเหลือภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น การรักษาการจ้างงาน และการประคับประคองธุรกิจช่วงเปลี่ยนผ่าน
ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า สหรัฐจะเริ่มส่งจดหมายไปยังประเทศต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม เพื่อแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราภาษีนำเข้าสินค้ามายังสหรัฐฯ ที่แต่ละประเทศจะเผชิญว่าเป็นเท่าใด ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนจากแผนเดิมที่ผู้นำสหรัฐฯ เคยให้คำมั่นว่าจะทำข้อตกลงเป็นรายประเทศ โดยทรัมป์ ยอมรับว่าการเจรจาการค้ากับกว่า 170 ประเทศ มีความซับซ้อน พร้อมกับระบุว่า สหรัฐจะส่งจดหมายแจ้งแต่ละครั้งไปยัง 10 ประเทศ ซึ่งจะระบุอัตราภาษีที่แต่ละประเทศจะถูกเรียกเก็บ เช่น 20-30%
ทรัมป์ กล่าวอีกว่า คาดว่าจะมีข้อตกลงที่ลงรายละเอียดกับบางประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังจากสหรัฐฯ ได้ประกาศข้อตกลงทางการค้ากับเวียดนาม เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ทรัมป์กล่าวว่า เขาอยากแจ้งประเทศส่วนใหญ่เกี่ยวกับอัตราภาษีโดยตรงมากกว่าโดยไม่ต้องเจรจาซึ่งมีรายละเอียดมาก ถ้อยแถลงของทรัมป์ ยังเน้นย้ำให้เห็นถึงความท้าทายในการทำข้อตกลงทางการค้าที่ครอบคลุมทุกอย่าง ตั้งแต่อุปสรรคทางภาษีและไม่ใช่ภาษี เช่น การห้ามนำเข้าสินค้าเกษตร
ขณะที่นายสก็อต เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวกับสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์ก ว่าน่าจะมีราว 100 ประเทศ ที่มีแนวโน้มจะเผชิญภาษีต่างตอบแทนที่อัตรา 10% และคาดว่าจะมีการประกาศข้อตกลงการค้ามากมายก่อนเส้นตายในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ ที่ภาษีศุลกากรอาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ส่วนรอยเตอร์ ระบุว่า หากมีราว 100 ประเทศที่ถูกสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าในอัตรา 10% นั่นถือว่าเป็นจำนวนน้อยกว่าที่รัฐบาลทรัมป์ เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ว่าจะมีราว 123 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นประเทศเล็กๆ รวมถึงดินแดนบางแห่ง เช่น เกาะเฮิร์ด และหมู่เกาะแมคโดนัลด์ ที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ของออสเตรเลีย
ทั้งนี้ ทรัมป์ ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดโลกหลังจากประกาศมาตรการภาษีต่างตอบแทนกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อัตราระหว่าง 10%-50% แม้ว่าจะมีการลดภาษีสำหรับประเทศส่วนใหญ่ลงเหลือ 10% เป็นการชั่วคราว เพื่อให้มีเวลาเจรจาต่อรองจนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม โดยหลายประเทศที่เผชิญอัตราภาษีเริ่มต้นที่ 10% นั้น ไม่ได้เจรจาใดๆ กับรัฐบาลทรัมป์ ยกเว้นสหราชอาณาจักร ที่บรรลุข้อตกลงเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่จะคงอัตราภาษีไว้ที่ 10% และยังได้รับสิทธิพิเศษในบางภาคส่วน รวมถึงภาคยานยนต์ เครื่องยนต์เครื่องบิน
ส่วนคู่ค้ารายใหญ่ที่เข้าร่วมการเจรจากับสหรัฐฯ ในขณะนี้ ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้น โดยสหภาพยุโรป (อียู) เผชิญอัตราภาษีต่างตอบแทนที่ 20% อินเดีย 26% และญี่ปุ่น 24% สำหรับประเทศอื่นๆ ที่ยังไม่ได้เจรจาการค้ากับรัฐบาลทรัมป์ เผชิญอัตราภาษีต่างตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นกัน อาทิ ประเทศเลโซโท ที่ 50% มาดากัสการ์ 47% และไทย 36%
อย่างไรก็ตาม เวียดนามที่ก่อนหน้านี้ถูกรัฐบาลทรัมป์ ขู่เก็บภาษีต่างตอบแทนสูงถึง 46% แต่หลังการเจรจาการค้าระหว่างกัน ทรัมป์ ก็ประกาศข้อตกลงการค้ากับเวียดนาม โดยระบุว่าเวียดนามจะเผชิญอัตราภาษีจากสหรัฐฯ ที่ 20% ส่วนสินค้าสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ส่งออกไปในเวียดนาม จะไม่ถูกเก็บภาษี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี