นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้ทหารไทยเหยียบทุ่นระเบิด “กัมพูชา” ไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นทุ่นเก่า เพราะไม่ว่าเป็นทุ่นเก่าหรือทุ่นใหม่ หากตรวจสอบได้ว่ามาจากกัมพูชาก็ถือว่ามีความผิด ฐานละเมิดอนุสัญญาออตตาวา ที่ไทย-กัมพูชาเข้าร่วม แนะภาครัฐเร่งตรวจสอบย้อนกลับว่า ทุ่นระเบิดเป็นของใคร ดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการ พิจารณาใช้มาตรการทางการทูต และยื่นต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวาเพื่อหาทางออก
วันที่ 19 กรกฎาคม 2568 จากกรณีที่ทหารไทยประสบเหตุจากการเหยียบกับระเบิด จนทำให้มีผู้บาดเจ็บ 3 นาย ในพื้นที่ช่องบก อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ขณะออกลาดตระเวนจากฐานปฏิบัติการมรกตไปยังเนิน 481 ชายแดนไทย-กัมพูชา ขณะที่ พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 ได้สั่งการให้หน่วยเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิดพร้อมเก็บรวบรวมหลักฐาน เพื่อส่งให้หน่วยผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดทำการวิเคราะห์ ว่าทุ่นระเบิดดังกล่าวเป็นชนิดใดและมีแหล่งที่มาอย่างไร รวมถึงพิจารณาว่าเป็นการวางไว้นานแล้วหรือเป็นการกระทำล่าสุด โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาตรวจสอบ 2 – 3 วัน
ผศ. ดร.ธนภัทร ชาตินักรบ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ไม่ว่าผลการตรวจสอบจะออกมาว่าเป็นทุ่นระเบิดดังกล่าวจะเป็นของเก่าหรือเพิ่งมาวางใหม่ก็ตาม หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าทุ่นระเบิดนั้นมาจากฝั่งกัมพูชา ก็ถือได้ว่ากัมพูชาได้ละเมิดพันธกรณีตามอนุสัญญาห้ามใช้กับระเบิดต่อต้านบุคคล ค.ศ. 1997 (อนุสัญญาออตตาวา) ที่ทั้งไทยและกัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศภาคีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยอนุสัญญานี้ห้ามการใช้ การผลิต และการวางทุ่นระเบิดประเภทนี้ รวมทั้งกำหนดให้ภาคีต้องดำเนินการเก็บกู้และแจ้งเตือนพื้นที่อันตรายภายในระยะเวลาที่กำหนด
“กัมพูชาเป็นภาคีในอนุสัญญาฯ ตั้งแต่ปี 1999 ดังนั้นหากจะถามว่ากัมพูชาสามารถอ้างได้หรือไม่ว่าทุ่นระเบิดนั้นเป็นของเก่า คำตอบคือ ไม่ได้ เพราะตามข้อ 5 ของอนุสัญญาออตตาวา กำหนดให้ต้องเก็บกู้ทุ่นระเบิดทั้งหมดในเขตอำนาจภายใน 10 ปี แม้สามารถขยายได้ แต่ก็ต้องรายงานหากพื้นที่ชายแดนติดกับไทยยังมีกับระเบิดโดยไม่แจ้งเตือนหรือไม่มีป้ายเตือน ก็ถือว่าละเมิดพันธกรณีด้านการแจ้งเตือนและการป้องกันอันตรายต่อพลเรือน ดังนั้น ส่วนตัวคิดว่าต้องสื่อสารกับสังคมให้ชัด เพราะไม่ใช่ว่าหากเป็นทุ่นเก่าไม่ผิด แต่ถ้าเป็นทุ่นใหม่ ผิด ความจริงคือผิดทั้งคู่ แต่ต้องตรวจสอบที่มาว่าทุ่นระเบิดนั้นมาจากกัมพูชาใช่หรือไม่” นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าว
นอกจากนี้ หากพิสูจน์ได้ว่าทุ่นระเบิดดังกล่าวเข้ามาสู่เขตแดนไทย ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือประมาท ยังอาจเข้าข่ายการก่ออันตรายข้ามแดนซึ่งเป็นหลักกฎหมายจารีตระหว่างประเทศ อีกทั้งอาจถูกพิจารณาว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยของไทย หากเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ไทยมีสิทธิ์ควบคุมโดยชอบด้วยกฎหมาย
ผศ. ดร.ธนภัทร กล่าวต่อไปอีกว่า สิ่งที่หน่วยงานภาครัฐควรพิจารณาดำเนินการต่อไปหลังจากนี้ คือ การเร่งดำเนินงานเชิงรุก หลังจากที่ทำงานเชิงรับมานาน โดยการตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของทุ่นระเบิดว่ามาจากประเทศอะไร กัมพูชาเป็นผู้สั่งนำเข้ามาหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าสิ่งเหล่านี้ สามารถดำเนินการได้ และหากผลการตรวจสอบยืนยันข้อเท็จจริงว่ามาจากกัมพูชา รัฐบาลอาจพิจารณาเดินหน้าทางการทูตเพื่อเจรจาในระดับทวิภาคีกับกัมพูชาเพื่อหาทางออกและมาตรการในการชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงการหารือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้อีกในอนาคต
อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาระหว่าง 2 ประเทศไม่เป็นผล ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ รัฐบาลไทยอาจพิจารณาดำเนินการรายงานต่อไปยังที่ประชุมของรัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวา เพื่อสร้างแรงกดดันทางการทูต ให้ภาคีระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการหาทางออกตามกระบวนการที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเป็นไปตามรายละเอียดข้อตกลงอนุสัญญาออตตาวา
นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวต่อไปด้วยว่า หากตรวจสอบพบว่าเป็นทุ่นระเบิดใหม่ที่กัมพูชาเพิ่งนำมาวางไว้ ส่วนตัวเชื่อว่าไฟของความขัดแย้งที่สุมอยู่ในใจของผู้คน จะลุกลามบานปลายยิ่งกว่าสถานการณ์ปะทะกันของทหารไทยและกัมพูชา เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2568 ซึ่งก็ยังเป็นการปะทะระหว่างทหารด้วยกันเอง แตกต่างจากครั้งนี้ที่ทุ่นระเบิดอาจสร้างความเดือดร้อนต่อชีวิตและทรัพย์สินให้กับพลเรือนได้เนื่องจากอาจจะมีพลเรือนที่ผ่านไปผ่านมาเหยียบได้
ดังนั้น สิ่งที่อยากจะสื่อสารกับสังคมไทยในเวลานี้ คือ เรายังคงต้องรอคอยกระบวนการสืบสวนทางเทคนิคโดยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเสียก่อน หากพบข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ว่าทุ่นระเบิดมาจากกัมพูชา เรายังมีกลไกการแก้ปัญหาทั้งในระดับทวิภาคีหรือระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการทางการทูตที่หลาย ๆ ประเทศใช้ผ่านกลไกที่ประชุมของรัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวา เช่น ความขัดแย้งระหว่างเอกวาดอร์กับโคลัมเบีย หรืออิสราเอลกับเลบานอน ล้วนใช้แนวทางเหล่านี้ในการแก้ไขปัญหาทั้งสิ้น
“ประเด็นที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นที่สร้างความโมโหให้กับคนไทย ในวันนี้เรามีคนไทย ทหารไทยได้รับบาดเจ็บจากทุ่นระเบิดดังกล่าวซึ่งอยู่ระหว่างการพิสูจน์ว่าเกิดขึ้นจากกัมพูชาจริงหรือไม่ หากมาจากกัมพูชาจริง เราจะต้องดำเนินการประท้วงให้ถึงที่สุด นำเรื่องดังกล่าวไปคุยกับกัมพูชาเพื่อหาแนวทางชดเชยเยียวยาที่เหมาะสม และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะนี้ขึ้นอีก นอกจากนี้ เราจะต้องนำเข้าที่ประชุมของรัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวาตามลำดับ เราควรมีแถลงการณ์ออกมา อย่างน้อยที่สุด ควรจะประณามผู้ที่วางทุ่นระเบิด ให้นานาชาติทราบว่า เราไม่ได้นิ่งเฉยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เราควรหลีกเลี่ยง คือ การใช้กำลังสู้รบกัน แม้จะเข้าใจดีถึงความรู้สึกโมโหของผู้คนในสังคม แต่เราก็ควรแยกออกมาให้ชัด เพราะเรื่องนี้ คือ ปัญหาระดับชาติ และระหว่างชาติ ไม่ควรใช้ความเป็นชาตินิยมไปยุยงให้เกิดการปะทะหรือสงคราม” ผศ. ดร.ธนภัทร กล่าว
ทั้งนี้ หากการตรวจสอบว่ากัมพูชามีความผิดจริง กัมพูชาก็ย่อมได้รับผลกระทบทางความเชื่อมั่น จากเวทีระหว่างประเทศว่าไม่สามารถดำเนินการตามข้อตกลงได้ ขาดซึ่งความไว้ใจที่เคยเชื่อว่ากัมพูชาคือต้นแบบของประเทศที่สามารถฟื้นตัวจากภาวะสงคราม อีกทั้งความตึงเครียดที่กำลังได้รับความกดดันทางเศรษฐกิจจากไทย ก็จะยิ่งทวีคูณ สิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นการสร้างความสูญเสียให้กัมพูชาอยู่แล้ว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี